อาคารไม้ชั้นเดียว ประตูโปร่งโล่ง และหน้าต่างบานใหญ่ที่เปิดเอาไว้ให้แสงธรรมชาติสาดส่องเข้าไปในห้องเรียนอย่างทั่วถึง เสียงอังกะลุงดังคลอเบาๆ มาถึงบริเวณสนามเด็กเล่นที่โล่งกว้าง แต่ร่มรื่นพอที่จะทำให้ไม่ต้องเร่งรีบเดินเข้าหาที่ร่ม ทั้งหมดคือสิ่งที่เราสัมผัสได้ทันทีที่เดินทางมาถึงพื้นที่แห่งนี้
ที่โรงเรียนปัญโญทัย ย่านสุขาภิบาล 5 เราได้รับเกียรติจาก คุณครูเอ็ม—ดร. วีณา ก๊วยสมบูรณ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนปัญโญทัย พาชมและพาไปทำความรู้จักกับโรงเรียนที่เน้นย้ำความเป็นมนุษย์
จุดเริ่มต้นของโรงเรียนปัญโญทัย
โรงเรียนปัญโญทัยเริ่มต้นในปี 2539 เกิดขึ้นจากคุณหมอพร พันธุ์โอสถ ผู้ก่อตั้งโรงเรียนปัญโญทัย ได้มีการริเริ่มทำโรงเรียน โดยใช้บ้านเช่าหลังนึ่งในหมู่บ้านปัญญา ย่านพัฒนาการ เป็นสถานที่เรียนในรูปแบบโฮมสกูล เพื่อจัดการเรียนการสอนให้กับนักเรียนกลุ่มเล็กๆ ซึ่งในจำนวนนั้นก็มีลูกของคุณหมอพรรวมอยู่ด้วย
ช่วงแรก โรงเรียนมีนักเรียนเพียง 7 คน เพราะแนวทางการเรียนการสอนที่ไม่คุ้นเคยในสมัยนั้น ทำให้ผู้ปกครองไม่กล้าส่งลูกมาเรียน ผ่านไป 5 ปี มีเด็กเพิ่มขึ้นจึงย้ายไปที่หมู่บ้านนภาลัย ย่านบางนา
หลังจากนั้นอีก 6 ปี มีนักเรียนทั้งหมด 200 คน สถานที่ก็คับแคบมากเกินไป จึงพยายามมองหาสถานที่ถาวร ในที่สุดจากความร่วมมือร่วมใจของผู้ปกครองและครู โดยผู้มีอุปการะคุณออกเงินซื้อที่ให้ พร้อมกันนั้นหลายฝ่ายในชุมชนก็ช่วยกันออกทุนค่าก่อสร้างอาคารร่วมกับองค์กรสนับสนุนในต่างประเทศ
ปัญโญทัยจึงดำเนินการในสถานที่ของตนเองที่สุขาภิบาล 5 ได้ตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา
หลักสูตรปัญโญทัย
ที่นี่ใช้หลักสูตรวอลดอร์ฟเป็นหลัก โดยจะปรับการเรียนการสอนให้ตรงตามพัฒนาการของเด็กในแต่ละช่วงวัย และปรับวิธีที่นำเสนอและการเรียงลำดับให้เหมาะกับเด็กๆ ดังนั้น แต่ละชั้นเรียนจะมีวิชาเรียนที่แตกต่างกันไป
“เด็กอนุบาลเน้นการเคลื่อนไหวเพื่อใช้ร่างกายเป็นหลัก เพราะถ้าหากเด็กวัยนี้ถูกดึงไปใช้ความคิดเยอะๆ ร่างกายก็จะไม่ได้พัฒนาอย่างเต็มที่ พอชั้นประถม ซึ่งที่นี่มีถึงชั้นประถม 8 เราจะเริ่มใส่วิชาการแต่ยังอิงร่างกายด้วย เช่น วิชาเลข เราก็จะไม่ได้ให้เด็กท่องจำหรือมุ่งเน้นไปที่การทำโจทย์ แต่จะให้เด็กๆ เรียนรู้อย่างธรรมชาติ เช่น นับด้วยการตบมือ หรือการเดินนับก้าว นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมต่างๆ เพื่อพัฒนาทักษะในแต่ละด้าน เช่น เดินป่า ทำนา ทำฟาร์ม ก่อสร้าง
พอถึงช่วงมัธยมปีที่ 3 – 6 เด็กก็จะเริ่มใช้ระบบความคิดมากขึ้น ที่นี่นักเรียนเราไม่ต้องเลือกว่าจะเรียนสายวิทย์หรือสายศิลป์ เพราะเรามีสายเดียวคือวิทย์และศิลป์รวมกัน พอถึง ม.6 เด็กทุกคนก็จะได้ทำโปรเจ็กต์ในสิ่งที่เขาสนใจ ซึ่งสิ่งที่เราเห็นจากนักเรียนของเราก็คือความมุ่งมั่นตั้งใจ ทำให้เรามั่นใจว่าไม่ว่าเขาจะไปเจออะไรที่ยากๆ ในชีวิต เขาก็จะสามารถรับมือและผ่านสิ่งเหล่านั้นไปได้
ทำไมถึงมีชั้นประถมถึง 8 ปี
โรงเรียนเรามีแนวคิดที่จะพยายามรักษาวัยเด็กไว้กับเด็กๆ ให้มากที่สุด ไม่เร่งรัดให้เขารีบโตรีบก้าวสู่ความเป็นผู้ใหญ่ก่อนเวลา เพื่อให้เขามีชีวิตวัยเด็กที่สดใส แทนที่จะถูกทำลายไปด้วยปัจจัยต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อความบริสุทธิ์ของวัยเด็ก
เราจะสังเกตได้ว่า เด็กที่ใช้เวลาในโรงเรียนประถม 6 ปี พอขึ้นมัธยม เขาถูกบังคับและเร่งรัดให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่มากเกินไป แทนที่เขาจะได้เรียนรู้พื้นฐานและทักษะต่างๆ สำหรับก่อนเข้าวัยรุ่น กลายเป็นว่าเขา
ความพิเศษของการมีครูประจำชั้นคนเดิมตลอด 8 ปี
ในชั้นประถมทั้ง 8 ปี เด็กจะมีครูประจำชั้นคนเดิม เพื่อติดตามพัฒนาการความก้าวหน้าของเด็กแต่ละคนอย่างต่อเนื่อง เพราะคุณครูจะรู้จักนักเรียนของตัวเองเป็นอย่างดี และสามารถเอาใจใส่เด็กแต่ละคนในทุกด้าน ไม่เฉพาะด้านวิชาการ แต่รวมถึงพฤติกรรม ทัศนคติ และการอยู่ร่วมกันในสังคม
ที่โรงเรียนเราใช้วิธีนี้เพราะเด็กวัยนี้เป็นช่วงที่กำลังพัฒนาอารมณ์ความรู้สึก ดังนั้นเขาจึงต้องการคนที่ชี้นำด้วยความรัก ซึ่งต้องอาศัยความผูกพันที่ต้องใช้เวลาพอสมควร ไม่ใช่เจอกันแค่ปีเดียว
โรงเรียนที่ไม่มีการสอบ
เด็กอนุบาลจะไม่มีการสอนให้อ่าน เขียน หรือคำนวณโจทย์เลข แต่เราจะให้เด็กเรียนรู้ผ่านการเล่น การทำกิจกรรมต่างๆ ของเล่นสำหรับเด็กจะเป็นของง่ายๆ เป็นของที่มาจากธรรมชาติ เช่น ไม้ ผ้า เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กได้พัฒนาจินตนาการและความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ได้อย่างเต็มที่
ในส่วนของเด็กประถมก็จะไม่มีแบบเรียน แต่เราจะให้เด็กเรียนรู้จากครูผู้ศึกษาค้นคว้าในเรื่องนั้นๆ ก่อนจะนำมาถ่ายทอดผ่านประสบการณ์ชีวิตของตัวเอง ประกอบกับความเข้าใจในธรรมชาติของเด็ก การเรียนการสอนจึงเป็นไปอย่างมีชีวิต เพื่อให้เด็กเกิดจินตนาการ ไม่ใช่เก็บเป็นข้อมูลไว้เพื่อส่งกลับคืน
ส่วนในระดับมัธยมโรงเรียนจะจัดเตรียมหนังสือที่สอดคล้องกับเนื้อหาวิชาและพัฒนาการของนักเรียนไว้ให้นักเรียนศึกษาค้นคว้า
ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลเราจะไม่ประเมินเด็กนักเรียนด้วยการสอบในทุกระดับชั้น แต่จะใช้เป็นวิธีการวัดประเมินผล เนื่องจากจำนวนเด็กในแต่ละห้องมีไม่มาก และคุณครูประจำชั้นรู้จักเด็กแต่ละคนในห้องเป็นอย่างดี จึงสามารถสังเกตและประเมินได้ว่าการเรียนรู้ของเด็กแต่ละคนเป็นอย่างไรบ้าง โดยไม่จำเป็นต้องประเมินด้วยการสอบ ครูจะพูดคุยกับผู้ปกครอง และเขียนรายงานผลการเรียนของเด็กส่งให้
หนึ่งวิชาเรียนหนึ่งเดือน
ในระดับประถมและมัธยม สองชั่วโมงแรกของแต่ละวันจะเป็นการเรียนวิชาใดวิชาหนึ่งต่อเนื่องไปทุกวันเป็นเวลา 3 – 6 สัปดาห์ เพื่อให้เด็กเข้าใจแก่นแท้แห่งการเรียนรู้เรื่องนั้นจริงๆ ไม่ใช่เรียนวันนี้ แล้วสัปดาห์หน้ากลับมาเรียนอีกทีก็ลืมหมด
หลักสูตรที่เน้นย้ำเพื่อเข้าใจความเป็นมนุษย์มากกว่าวิชาการ
จุดมุ่งหมายของเราคือสร้างพื้นฐานความเป็นมนุษย์ให้แก่เด็ก และเมื่อเขามีความเป็นมนุษย์แล้ว ไม่ว่าเขาจะเลือกเรียนสาขาใดหรือทำงานอะไรก็ตาม ก็จะช่วยให้เขามีอิสระทางความคิด รู้จักรับผิดชอบต่อการกระทำของตน พร้อมที่จะทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อโลกและเพื่อนมนุษย์ได้
โรงเรียนที่ไม่มีชุดนักเรียน
ที่นี่ไม่มีเครื่องแบบนักเรียน เพราะเราให้อิสระกับเด็ก แต่ในขณะเดียวกันเราก็พยายามส่งเสริมให้เด็กใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย เป็นตัวของตัวเอง ไม่ตามกระแส ไม่ติดวัตถุนิยม และมีจิตใจที่แข็งแรง
บรรยากาศการอยู่ร่วมกันในโรงเรียนจึงเป็นไปด้วยความเอื้ออาทรและเกื้อกูลต่อกัน ครูจะคอยดูแลส่งเสริมให้เด็กๆ มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกันทั้งทางคำพูดและการกระทำ เห็นคุณค่าของกันและกัน ไม่สนับสนุนให้มีการแก่งแย่ง แข่งขัน กลั่นแกล้ง ล้อเลียน และการทะเลาะวิวาทก็ไม่ใช่เหตุการณ์ปกติสำหรับที่นี่
พื้นที่ปลอดหน้าจอ
เราไม่สนับสนุนให้เด็กใช้สื่อต่างๆ โดยเฉพาะโทรทัศน์ สมาร์ตโฟน และคอมพิวเตอร์ก่อนชั้นมัธยมปลาย เพราะหน้าจอจะส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของเด็ก ไม่ว่าจะเป็นการทำลายจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ของเด็ก ผลกระทบต่อการพัฒนาสมอง และปัญหาการพูด ไปจนถึงการปลูกฝังเหล่าวัตถุนิยม เราก็จะขอความร่วมมือจากผู้ปกครองให้ปลอดหน้าจอที่บ้านด้วย ซึ่งปกติแล้วผู้ปกครองก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี” ครูเอ็มกล่าวทิ้งท้าย
COMMENTS ARE OFF THIS POST