การอดทนรอคอย ถือว่าเป็นโจทย์ยากสำหรับเด็กปฐมวัย เพราะธรรมชาติของเด็ก เมื่อหิว เจ็บป่วย หรือต้องการอะไรก็อยากได้รับการตอบสนองเดี๋ยวนั้น
แต่เมื่อลูกโตขึ้น สิ่งที่ทำให้คุณพ่อคุณแม่กังวลใจได้ก็คือ ลูกไม่รู้จักรอ หรือมีความอดทนในการรอคอยไม่พอ และมักแสดงออกด้วยการเริ่มใช้ประโยคคำถามว่า ‘เมื่อไหร่’ เพื่อที่จะถามซ้ำๆ ย้ำๆ จนกว่าสิ่งที่ตัวเองรอคอยนั้นจะมาถึง
แต่สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรเข้าใจก็คือ การที่ลูกเริ่มใช้คำถามว่า เมื่อไหร่ นั่นคือการแสดงออกถึงความพยายามที่จะอดทนรอคอย ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี ที่คุณพ่อคุณแม่จะช่วยสอนให้ลูกรู้จักอดทนรอคอย หรือ Delay Gratification ตั้งแต่ยังเล็ก
มีการวิจัยพบว่า เด็กที่มีความยับยั้งชั่งใจ รู้จักอดทนอดกลั้น และรอคอยได้ จะมีผลการเรียนที่ดี เข้ากับผู้อื่นได้ดี รู้จักควบคุมและรับมือทางอารมณ์ของตัวเองได้ดีขึ้น และมีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จในชีวิตมากกว่าคนที่อดทนรอคอยไม่เป็น
คุณพ่อคุณแม่สามารถฝึกฝน และเปลี่ยน ลูกไม่รู้จักรอ ให้เป็นเด็กที่สามารถอดทนรอเวลาที่เหมาะสมอย่างใจเย็นได้ ด้วยเทคนิค ดังนี้
1. ฝึกการจัดลำดับความสำคัญให้กับลูก
David Bredehoft, Ph.D., ศาสตราจารย์กิตติคุณและอดีตประธานสาขาจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัยคอนคอร์เดีย แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่สอนลูกจัดลำดับความสำคัญ จัดการทำสิ่งที่สำคัญที่สุดก่อน แทนการทำสิ่งที่สนุกหรือง่ายที่สุดก่อน แล้วเลื่อนสิ่งที่ยากที่สุดออกไป ซึ่งเป็นทักษะที่ต้องใช้การฝึกฝนและทำซ้ำอย่างต่อเนื่อง เช่น ลูกจะได้ดูการ์ตูนครึ่งชั่วโมง แต่ต้องทำกิจวัตรประจำวันให้เสร็จเรียบร้อยก่อน หรือลูกจะได้ออกไปเล่นสนามเด็กในตอนเย็น แต่จะต้องเก็บกระเป๋านักเรียนให้เข้าที่ เปลี่ยนชุดนักเรียน และทำการบ้านให้เสร็จ
นอกจากนั้นยังสามารถชวนลูกทำรายการสิ่งที่ต้องทำในแต่ละวัน และเขียนกำกับสิ่งสำคัญที่ต้องทำก่อนหลังด้วย ตัวเลข เช่น เลข 1—อาบน้ำแต่งตัว เลข 2—กินข้าวและเก็บจาน เลข 3—เล่นอิสระ เพื่อให้ลูกเรียนรู้ว่า ควรทำสิ่งที่ยากและสำคัญให้เสร็จก่อน ทำสิ่งที่ง่ายลำดับสุดท้าย กระบวนการนี้จะเร็วรวดและได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าการเลื่อนทำสิ่งที่ยากออกไปเรื่อยๆ
2. ชวนลูกสร้างปุ่ม Pause (หยุดชั่วคราว)
คุณพ่อคุณแม่สามารถใช้กลยุทธ์สร้างปุ่มพอสหรือปุ่มหยุดชั่วคราว ด้วยกระดาษสีที่ลูกชอบ วาดรูปสองขีด ติดไว้ที่ตัวลูก แล้วบอกว่า นี่คือ ปุ่มวิเศษ ที่จะช่วยให้ลูกรอคอยได้อย่างสบายใจ
การหยุดชั่วคราวอาจเป็นแนวคิดที่ยากสำหรับเด็กในช่วงแรกๆ แต่สามารถใช้วิธีนี้ค่อยๆ ฝึกฝนลูก จนเกิดเป็นความเคยชิน เมื่อลูกเติบโตขึ้น ปุ่มพอสนี้จะกลายเป็นทักษะอันมีค่า ที่จะช่วยนำทางลูกให้ใช้ชีวิตได้อย่างรอบคอบต่อไป
แต่บางครั้งปุ่มพอสก็ใช้ไม่ได้ผล คุณพ่อคุณแม่สามารถใช้วิธี ‘เบี่ยงเบนความสนใจ’ เช่น ลองไปเดินที่อื่นก่อน หรือไปทำอย่างอื่นเพื่อให้ลูกไม่ต้องจดจ่ออยู่กับการรอคอยเกินไปนัก
3. ใช้กลยุทธ์ที่เรียกว่า If – Then ” ถ้า… แล้ว”
กลยุทธ์ที่น่าสนใจอีกรูปแบบหนึ่ง มาจากแนวคิดของ Walter Mischel ผู้เขียนบทความ Stanford Marshmallow Experiment ที่โด่งดัง ด้วยการฝึกฝนลูกผ่านการวางแบบ If – Then หรือ ถ้า… แล้ว…
ฝึกเริ่มต้นด้วยคำถามว่า ‘ถ้า’ และตอบว่า ‘แล้ว’ เช่น ถ้าอดทนไม่ไหว แล้วจะเกิดอะไรขึ้น ถ้ารออีกนิดอดทนได้อีกหน่อย แล้วจะได้อะไรกลับมาบ้าง
การฝึกฝนด้วยคำว่า ถ้า… แล้ว… ลูกจะเกิดกระบวนการคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล ขั้นตอนทั้งหมดนี้จะช่วยให้ลูกควบคุมตัวเองได้ดีขึ้น
รวมไปถึงการสอนให้ลูกรู้จักการวางแผนสำรอง คิดแผน A B C หากแผนแรกไม่ได้ผล อาจต้องลองแผนสำรองต่อมา และฝึกฝนลูกด้วยการแสดงจำลองสถานการณ์ หรือเล่นบทบาทสมมติ วิธีนี้ก็ช่วยให้ลูกรู้จักการอดทนรอได้เช่นกัน
4. ร้องฮูเร่!!! เมื่อการรอคอยนั้นสิ้นสุด
เพื่อทำให้ลูกรู้ว่า คุณพ่อคุณแม่เข้าใจความรู้สึกของลูกดีว่าการอดทนรอคอยมันยาวนานและยากแค่ไหน เมื่อลูกบรรลุเป้าหมายของการรอคอยในแต่ละครั้ง ให้คุณพ่อคุณแม่กล่าวคำชมเชย หรือรวมเฉลิมฉลองไปกับลูก
ด้วยการร้องฮูเร่!!! ไฮไฟว์ หรือชูสองนิ้วโป้งให้ลูก เป็นการแสดงออกให้ลูกเห็นว่า คุณพ่อคุณแม่ภูมิใจในตัวเขา และยอมรับความสำเร็จเล็กๆ ที่ลูกก้าวผ่านเรื่องยากมาได้ด้วยตัวเอง
COMMENTS ARE OFF THIS POST