ผลการศึกษาในปี 2023 พบว่าผู้ปกครองกว่า 35 เปอร์เซ็นต์ยินยอมให้ลูกเป็นอินฟลูเอนเซอร์หรือเป็นที่รู้จักของคนแปลกหน้าในโลกโซเซียลได้
สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่า แม้ความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของลูกจะเป็นเรื่องสำคัญ แต่คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองหลายคนก็ยินดีเมื่อ ลูกเริ่มเป็นที่รู้จัก เพราะนั่นอาจหมายถึงโอกาสทางอาชีพและการหารายได้ที่มากขึ้น
อินฟลูเอนเซอร์เด็กมักมีจุดเริ่มต้นมาจากการผลักดันและสนับสนุนของคุณพ่อคุณแม่ ที่เห็นว่าลูกมีรูปร่างหน้าตาน่ารักน่าเอ็นดู มีแววหรือมีความสามารถด้านใดเป็นพิเศษ จนทำสิ่งนั้นได้ดี
การเป็นอินฟลูเอนเซอร์รุ่นจิ๋วอาจไม่ใช่เรื่องเสียหาย แต่การพาลูกไปอยู่ในพื้นที่สาธารณะ ที่ไม่สามารถควบคุมความคิดเห็นและเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากใครได้ ก็อาจส่งผลกระทบกับจิตใจลูกและคนในครอบครัวได้เช่นกัน
ดังนั้น หากคุณพ่อคุณแม่อยากให้ ลูกเริ่มเป็นที่รู้จัก และเลือกเส้นทางสายอินฟลูฯ ให้กับลูก สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ การดูแลอย่างใกล้ชิดและคอยให้คำแนะนำที่เหมาะสมกับลูก ด้วยเทคนิคและวิธีคิด ดังนี้
1. เบื้องหลังคนสำคัญที่สุดคือ คุณพ่อคุณแม่
Mitch Prinstein, Ph.D ผู้อำนวยการฝ่ายจิตวิทยาคลินิก แห่งมหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนา ระบุว่า คุณพ่อคุณแม่ควรตรวจสอบให้แน่ชัดว่า เนื้อหาที่นำเสนอเกี่ยวกับลูกนั้นเป็นเรื่องถูกต้องและเหมาะสมตามช่วงวัยของลูก ตามหลักคิด ดังนี้
• ส่งเสริมให้ลูกมีความเป็นตัวของตัวเอง บอกให้รู้ว่าการที่ลูกได้รับความสนใจจากผู้คนมากมายในโซเชียลมีเดีย อาจทำให้ลูกรู้สึกดีเพียงชั่วคราว แต่การเห็นคุณค่าและมั่นใจศักยภาพของตัวเองต่างหาก คือความรู้สึกที่ดีแบบถาวร
• สนับสนุนให้ลูกสร้างเป้าหมายของตัวเอง โดยไม่ยึดติดกับผลลัพธ์ในโลกโซเซียล สิ่งนี้จะช่วยพัฒนาตัวตนของลูกให้ชัดเจนในวัยผู้ใหญ่ได้มากยิ่งขึ้น
• แนะนำสิ่งที่ดีให้กับลูก เช่น วิธีการสื่อสารทางกายภาพ วิธีพูดในที่สาธาณะ มารยาท และการปฏิบัติตัวกับคนอื่น โดยเฉพาะผู้ใหญ่ ด้วยการให้เกียรติและจริงใจ
• สอนให้ลูกรู้จัก ‘สงสัย’ เพราะสิ่งที่ลูกเห็น อาจเป็นเพียงคอนเทนต์ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อหวังผลทางใดทางหนึ่ง ดังนั้น ลูกไม่ควรเข้าใจว่าทุกอย่างที่เห็นในอินเทอร์เน็ตต้องเป็นเรื่องจริงเสมอไป
• วางแผน คุณพ่อคุณแม่ต้องช่วยกันวางแนวทางการเรียน ตารางการสร้างคอนเทนต์ วิธีการนำเสนอ การใช้เทคโนโลยีต่างๆ รวมไปถึงวิธีการรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ในโลกโซเซียล
2. เสริมสร้างเกราะป้องกันให้ใจลูกแข็งแกร่งและมั่นคง
สิ่งที่มาพร้อมกับการเป็นที่รู้จัก หรือถูกมองว่าเป็นบุคคลสาธาณะ อาจทำให้มีโอกาสถูกวิจารณ์ คุกคาม และกลั่นแกล้งด้วยการแสดงความคิดเห็นเชิงลบ ซึ่งเป็นเรื่องยากที่เด็กจะรับมือและแก้ปัญหาด้วยตัวเองได้
คุณพ่อคุณแม่จึงต้องเตรียมความพร้อม สร้างเกราะป้องกันใจของลูกให้เข้มแข็ง ทำให้ลูกมีความมั่นใจ สร้างความไว้วางใจ และกระชับสายสัมพันธ์ของครอบครัวให้แน่นหนา เพื่อส่งเสริมให้ลูกเป็นเด็กที่กล้าเผชิญกับความจริงไม่ว่าจะในอินเทอร์เน็ตหรือชีวิตจริงก็ตาม
3. บาลานซ์ชีวิต (ลูก) ให้สมดุล
คุณพ่อคุณแม่ต้องแบ่งเวลามาชวนลูกออกจากโลกออนไลน์ เพื่อคืนความเป็นเด็กตามวัยให้กับลูกบ้าง ปล่อยให้ลูกได้ใช้ชีวิตสนุกสนานกับกลุ่มเพื่อน ใช้เวลากับคุณพ่อคุณแม่อย่างอิสระ หรือเลือกทำกิจกรรมที่ตัวเองชอบได้โดยไม่กระทบหน้าที่หลัก ก็คือรับผิดชอบการเรียนของตัวเองด้วยนั่นเอง
4. คิดก่อนกดปุ่ม ENTER
Elana Pearl Ben-Joseph, MD กุมารแพทย์และบรรณาธิการด้านการแพทย์ที่ Nemours KidsHealth แนะนำให้ผู้ปกครอง ย้ำเตือนลูกเรื่องคิดก่อนทำ และการคิดให้รอบคอบ ก่อนกดปุ่ม ‘ENTER’ ในโลกออนไลน์
โดยเฉพาะในเด็กโตที่สามารถเข้าถึงโซเซียลมีเดียได้ด้วยตัวเอง อธิบายให้ลูกเข้าใจว่าก่อนที่จะกดปุ่มเพื่อโพสต์รูป คลิป หรือข้อความอะไรก็ตาม จะต้องคิดทบทวนให้ดีเสมอ เพราะบางอย่างเมื่อเข้าสู่อินเทอร์เน็ตแล้ว ไม่ว่าลูกจะกลับมาลบหรือแก้ไขอย่างไรก็ตาม ย่อมมีโอกาสที่จะคงอยู่ในโลกออนไลน์ต่อไป
และรวมไปถึงการโพสต์ที่เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวหรือตำแหน่งที่อยู่แบบเรียลไทม์ ก็อาจทำให้ลูกเกิดอันตรายหรือถูกคุกคามได้
COMMENTS ARE OFF THIS POST