READING

รับมือกับความเศร้าของลูก : ในวันที่ลูกเศร้า พ่อแม่...

รับมือกับความเศร้าของลูก : ในวันที่ลูกเศร้า พ่อแม่ควรปลอบอย่างไรดี

รับมือกับความเศร้าของลูก

ความเศร้าเป็นหนึ่งในอารมณ์ที่รับมือและจัดการได้ยาก และก็เป็นอารมณ์ที่หลีกเลี่ยงได้ยากที่สุดเช่นกัน

โดยเฉพาะเด็กเล็ก ความเศร้าอาจเกิดจากเรื่องเล็กน้อยที่ผู้ใหญ่คาดไม่ถึง ไม่ใส่ใจ หรือมองข้าม เช่น รู้สึกเศร้าที่ของเล่นโปรดเสียหาย หรือเศร้าที่ทำให้เพื่อนโกรธ แต่ถึงจะไม่ใช่เรื่องใหญ่ คุณพ่อคุณแม่ก็ควรมีวิธี รับมือกับความเศร้าของลูก เพื่อช่วยให้ลูกรู้วิธีจัดการกับอารมณ์และความรู้สึกตัวเองได้ในอนาคต

ดังนั้น ไม่ว่าลูกจะรู้สึกเศร้าด้วยเรื่องใหญ่หรือเล็กน้อยแค่ไหน การรับฟัง ปลอบโยน และให้กำลังใจจากคุณพ่อคุณแม่ ก็คือสิ่งที่จะช่วยให้ลูกคลายเศร้า เข้มแข็ง และเรียนรู้ที่จะรับมือกับความเศร้าของตัวเองได้ดีขึ้นต่อไป

1. รับฟังและอยู่เคียงข้างลูกเสมอ

Sadness_web_1

#ลูกเล่าแม่ฟัง ความเศร้าของเด็กเล็กอาจเป็นเรื่องเล็กในสายตาผู้ใหญ่ เช่น เพื่อนไม่เล่นด้วย เล่นเกมแพ้ วิ่งเข้าเส้นชัยช้ากว่าคนอื่น ของเล่นหาย แต่สิ่งเหล่านี้กลับเป็นรู้สึกที่หนักและหน่วงอยู่ในใจลูก และหากลูกไม่ได้เล่า หรือเล่าแล้วไม่มีคนรับฟังด้วยความเข้าใจ นอกจากจะไม่อาจระบายความเศร้าออกมาแล้ว ยังทำให้ลูกรู้สึกต้องเผชิญเรื่องยากตามลำพังอีกด้วย

#กอดก่อนสอนทีหลัง คุณพ่อแม่คุณแม่ควรทำตัวเป็นผู้ฟังที่รับฟังปัญหาและความเศร้าของลูกด้วยความเข้าใจ เห็นอกเห็นใจ และไม่ตัดสินลูกด้วยมุมมองและการคิดของผู้ใหญ่ แม้การรับฟังอาจไม่ทำให้ลูกหายเศร้าในทันที แต่การตอบสนองลูกด้วยการกอดหรือภาษากายที่อบอุ่นจะช่วยลดทอนความเศร้าในใจลูกได้

#ตอบรับด้วยความเข้าใจ เมื่อลูกสงบลง ค่อยใช้คำพูดที่ทำให้ลูกรู้ว่า คุณพ่อคุณแม่เข้าใจและเห็นอกเห็นใจไปกับความเศร้าของลูก เช่น แม่รู้ว่าเรื่องที่เกิดขึ้นกับลูก เป็นเรื่องที่น่าเศร้ามากๆ หากเกิดขึ้นกับแม่ แม่ก็คงเศร้าเหมือนกัน

#พ่อแม่อยู่ตรงนี้ สิ่งสำคัญนอกจากการรับฟัง โอบกอด และตอบรับอย่างเข้าใจแล้ว ความเศร้าของลูกจะคลี่คลายลงได้ หากคุณพ่อคุณแม่ทำให้ลูกมั่นใจว่า ไม่ใช่แค่ตอนนี้ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่ลูกเศร้าเสียใจ คุณพ่อคุณแม่ก็พร้อมจะอยู่เคียงข้างลูกเสมอ

2. บอกให้ลูกรู้ว่าความเศร้าคือเรื่องปกติของทุกคน

Sadness_web_2

#ความเศร้าเท่ากับเรื่องปกติ Holly Brochmann ผู้เขียนหนังสือเด็ก A Feel Better Book for Little Tears ระบุว่า คุณพ่อคุณแม่ควรแสดงให้ลูกเข้าใจว่า ความเศร้าเป็นเรื่องปกติ อย่าลืมเล่าเรื่องเศร้าของตัวเองในวัยเด็กให้ลูกฟัง เช่น แม่ก็เคยเสียใจที่ทำให้เพื่อนโกรธเหมือนกัน และไม่เป็นไรเลยที่จะพูดไปตรงๆ ว่า ตอนนั้นคุณพ่อคุณแม่เศร้าแค่ไหน ร้องไห้หนักขนาดไหน แต่ต้องไม่ลืมที่จะทำให้เห็นว่า สุดท้ายพ่อแม่ก็ผ่านพ้นความเศร้านั้นมาได้ ดังนั้น วันหนึ่งลูกก็จะเอาชนะความเศร้าได้เช่นกัน

3. เปิดกล่องมหัศจรรย์ในวันที่ลูกเศร้า

Sadness_web_3

เราไม่มีทางรู้ล่วงหน้าว่าลูกจะเจอสถานการณ์ที่ทำให้รู้สึกเศร้าเสียใจตอนไหน แต่คุณพ่อคุณแม่สามารถเตรียมความพร้อมรับมือกับความเศร้าของลูกได้ ด้วยกิจกรรม ‘กล่องมหัศจรรย์ วันที่ฉันมีความสุข’ นั่นคือ ให้ลูกใส่สิ่งของที่ลูกชอบหรือวาดรูปให้กำลังใจตัวเอง เก็บเอาไว้กล่องนี้ เช่น วาดรอยยิ้ม วาดดอกไม้สีสันสดใส วาดใครสักคนที่ใจดี ใส่สิ่งของที่ทำให้ลูกยิ้ม และเห็นแล้วมีความสุขเอาไว้

เมื่อวันที่ลูกเศร้า ลองชวนลูกมาเปิดกล่องมหัศจรรย์นี้ แล้วพูดคุยเกี่ยวกับสิ่งของในกล่องที่ทำให้ลูกมีความสุข ก็จะช่วยให้ลูกหันมานึกถึงสิ่งดีๆ ไม่จดจ่ออยู่กับความเศร้าได้เช่นกัน

4. ระบายความเศร้าผ่านกิจกรรมสร้างสรรค์

Sadness_web_4

Leah Bowen นักบำบัดด้วยการเล่น (Play Therapist) ในรัฐเท็กซัส แนะนำให้ผู้ปกครองเปลี่ยนจากคำพูดปลอบใจอย่างคำว่า ‘อย่าเศร้าไปเลย’ เป็นการระบายความเศร้าออกด้วยการใช้กิจกรรมที่น่าสนใจ เพื่อให้เด็กสามารถแสดงความรู้สึกเศร้าได้อย่างสร้างสรรค์ เช่น ชวนลูกวาดภาพเกี่ยวกับความรู้สึกของตัวเอง อาจใช้สีเป็นตัวกำหนดความรู้สึก หรือร้องเพลงดังๆ และเต้นให้เหงื่อออกเยอะๆ หรือชวนปั้นดินน้ำมันเพื่อปลดปล่อยความเศร้า ก็ยังได้

รวมทั้งการกระตุ้นให้ลูกจินตนาการถึงสถานที่ที่ลูกชอบ เช่น ชายหาด สนามเด็กเล่น สวนสาธารณะ บ้านของคุณปู่คุณย่าที่ต่างจังหวัด หลังจากนั้นก็ให้ลูกสูดหายใจเข้าลึกๆ เพื่อเพิ่มการไหลเวียนของออกซิเจน และทำให้หัวใจเต้นช้าลง ร่างกายก็จะรู้สึกสงบ ก็จะช่วยบรรเทาความเศร้าของลูกได้

อย่างไรก็ตาม ความเศร้าของลูกอาจไม่หายไปในทันที แต่การปลอบโยนของคุณพ่อคุณแม่ จะช่วยให้ลูกมีประสบการณ์รับมือกับความเศร้าด้วยหัวใจที่เติบโตและแข็งแกร่งยิ่งขึ้นได้

อ้างอิง
maginationpressfamily
psychologytoday
ccf.georgetown
developingminds.net.au

Saranya A.

ศรัญญา อ่าวสมบัติกุล: คุณแม่มือใหม่ ที่มีความตั้งใจเลี้ยงลูกชายตัวน้อยด้วยการยึดโยงธรรมชาติ และความคิดสร้างสรรค์เข้าด้วยกัน คุณแม่คนนี้หลงรักและทำงานด้านการเขียนมากว่า 12 ปี ตอนนี้มีความฝันอยากเป็นนักวาดนิทานเด็ก

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST