READING

บังคับลูกไม่ได้ผล : 4 วิธีกระตุ้นพฤติกรรมเชิงบวกให...

บังคับลูกไม่ได้ผล : 4 วิธีกระตุ้นพฤติกรรมเชิงบวกให้ลูก ด้วยแนวคิด Nudge

บังคับลูกไม่ได้ผล

คุณพ่อคุณแม่ย่อมรู้และเข้าใจดีว่าไม่มีใครชอบถูกบังคับให้ทำอะไรโดยไม่เต็มใจ แต่การจะสอนลูกให้เติบโตอย่างมีคุณภาพนั้น จะปล่อยให้ลูกทำอะไรตามใจตัวเองทุกอย่างคงไม่ดีแน่

บางสถานการณ์ คุณพ่อคุณแม่ก็จำเป็นต้องใช้ไม้แข็ง เช่น บังคับให้ลูกเข้านอนและตื่นนอนเป็นเวลา ทั้งนี้ก็เพื่อให้ลูกมีวินัย มีความรับผิดชอบ และดูแลตัวเองได้ แต่บางครั้งคุณพ่อคุณแม่ก็ บังคับลูกไม่ได้ผล เพราะยิ่งใช้ไม้แข็ง ลูกก็ยิ่งดื้อและมีพฤติกรรมต่อต้านกลับมามากเท่านั้น

แนวคิด Nudge (หรือการสะกิดทีละเล็กละน้อย) โดย Richard Thaler ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยชิคาโก้ และผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ประจำปี 2017 มาจากการศึกษากับกลุ่มตัวอย่าง ด้วยการหาวิธีแก้ปัญหาพื้นห้องน้ำผู้ชายในสนามบินอัมสเตอร์ดัมสกปรกเลอะเทอะ เพราะการปัสสาวะไม่ตรงจุด ด้วยการติดสติกเกอร์รูปแมลงวันในโถปัสสาวะชาย ผลปรากฏว่า พื้นห้องน้ำชายสะอาดขึ้นกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ โดยไม่ต้องใช้ป้ายเตือนใดๆ เพราะว่าคุณผู้ชายทั้งหลายจะให้ความสนใจกับการปัสสาวะลงไปที่สติกเกอร์รูปแมลงวัน ทำให้มีปัสสาวะกระเด็นออกมานอกโถน้อยลงมาก ซึ่งนั่นก็คือเป้าหมายในการแก้ปัญหาที่แท้จริงนั่นเอง

ผลงานของศาสตราจารย์ริชาร์ด ทาเลอร์ ชิ้นนี้ แสดงให้เห็นถึงวิธีการกระตุ้นและเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมด้วยวิธีทางอ้อม ก็ส่งผลให้คนเราทำบางสิ่งบางอย่างให้ดีขึ้นได้โดยไม่ต้องบังคับหัวใจสำคัญของทฤษฎีนี้คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งสามารถนำมาปรับใช้กับพฤติกรรมของเด็กๆ ได้ เพื่อให้เกิดกระบวนการคิด และเอื้อต่อการตัดสินใจ ด้วยวิธีการที่แนบเนียนและดีต่อใจเด็กๆ มากที่สุด

ดังนั้น เมื่อ บังคับลูกไม่ได้ผล คุณพ่อคุณแม่อาจใช้แนวคิด Nudge หรือกาสะกิดเบาๆ ให้ลูกรู้ตัว แทนการออกคำสั่งหรือบังคับให้ลูกทำ ด้วย 4 วิธีง่ายๆ ดังนี้

1. สะกิดด้วย ‘คำพูด’ ชวนลูกตัดสินใจ (ใหม่)

Nudge_web_1

ปรับคำพูดใหม่ – Dr.Corinne Masur นักจิตวิทยาคลินิกในฟิลาเดลเฟีย ระบุว่า การสะกิดลูกเบาๆ ด้วยคำพูดใหม่ๆ อาจทำให้ลูกตัดสินใจได้ง่ายขึ้นและเร็วขึ้น

ตัวอย่างเช่น หากต้องการชวนลูกเข้านอน ด้วยประโยคคำถาม “พร้อมเข้านอนหรือยัง” ก็เป็นไปได้ที่ลูกจะปฏิเสธว่า “ยังไม่พร้อม” และสุดท้ายต้องจบที่คุณพ่อคุณแม่บังคับให้ลูกเข้านอนตรงเวลาอยู่ดี

แต่ถ้า ลองใช้วิธีสะกิดให้ลูกรู้ตัว ด้วยประโยคบอกเล่าทั่วไป แล้วเติมเรื่องราวน่าสนุกเข้าไป เพื่อกระตุ้นการตัดสินใจของลูก เช่น เอาล่ะ ได้เวลาเข้านอนแล้ว ลูกอยากจะกระโดดเหมือนกบขึ้นไปบนเตียง หรือเลื้อยเหมือนงูขึ้นไปดีนะ เพราะจะช่วยเปลี่ยนความสนใจลูกจากการคิดว่า พร้อมเข้านอนหรือยัง เป็นการเข้านอนด้วยวิธีไหนมากกว่านั่นเอง

2. ถ้าเสียงสอง เสียงสาม ไม่ได้ผล ลองใช้เสียงที่เงียบที่สุด 

Nudge_web_2

คุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่ มักใช้วิธีสะกิดลูกด้วย ‘เสียง’ เริ่มจากเสียงหนึ่ง นุ่มๆ เบาๆ หากลูกยังไม่ขยับ เสียงสองจะเข้มขึ้น ลูกยังนิ่ง เสียงสามดังขึ้นตามมา เมื่อมาถึงเสียงสี่เสียงห้า นั่นแปลว่าอารมณ์คุณแม่มาเต็มแล้วนั่นเอง!

หากปรับจากทฤษฎีการสะกิดทีละเล็กละน้อยของทาเลอร์ ก็จะพบว่า คุณพ่อคุณแม่สามารถปรับความคิดที่ไม่ค่อยมีเหตุผลของลูกด้วยการใช้เส้นทางใหม่ เบี่ยงเบนความสนใจ เพื่อให้ลูกตัดสินใจได้ง่ายขึ้น

ตัวอย่างเช่น หลังอาบน้ำแล้วลูกชอบวิ่งเล่นจนเหงื่อท่วม ทำให้ตื่นเต้นจนเข้านอนยาก เรียกให้หยุดก็แล้ว บอกให้เข้านอนก็แล้ว สุดท้ายคุณพ่อคุณแม่ก็ต้องใช้เสียงสามบังคับให้ลูกหยุดเล่นเดี๋ยวนี้! และเข้านอนเดี๋ยวนี้! ทุกครั้งไป

แต่ถ้าคุณพ่อคุณแม่ลองเปลี่ยนวิธีเป็น หลังอาบน้ำแต่งตัวให้ลูกแล้ว ชวนลูกทำกิจกรรมที่ไม่ต้องออกแรงและได้เก็บตัวอยู่ในห้อง ด้วยคำพูดสนุกๆ เช่น เรามาเก็บตัวและอ่านนิทานอยู่ในห้องกันจนถึงเวลานอนเลยดีกว่า ก็จะไม่ต้องเหนื่อยกับการใช้เสียงหนึ่ง สอง สาม เพื่อหยุดและบังคับลูกอีกต่อไป

ท้ายสุดลูกก็จะเลือกสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่เลือกไว้ให้อยู่แล้วได้เอง

3. ใช้ระบบ ‘สะสมแต้ม’ แลกของรางวัล

Nudge_web_3

วิธีนี้ทำง่าย ช่วยสะกิดให้ลูกตัดสินใจทำสิ่งที่ควรทำได้ง่ายขึ้น เพียงแค่ใช้กระดาษแผ่นใหญ่ และสติกเกอร์สีสันสดใส เริ่มจากให้คุณพ่อคุณแม่ระบุสิ่งที่ลูกต้องปรับปรุง แล้วเขียนไว้บนกระดาน หรือวาดรูปสิ่งที่ลูกต้องทำและควรทำไว้ด้านหนึ่ง อีกด้านหนึ่งว่างไว้ เมื่อลูกตอบสนองเชิงบวก ทำพฤติกรรมที่น่ารัก ควรให้รางวัลด้วยสติกเกอร์ เช่น รูปหัวใจสะสมไว้ เมื่อครบจำนวน นำไปแลกของรางวัลตามที่ได้กำหนดร่วมกัน

อย่าลืมติด ‘กระดานสะสมแต้ม’ ในจุดที่ลูกเห็นง่ายๆ ได้บ่อยๆ และควรทำซ้ำๆ ให้เป็นกิจกรรมที่ต่อเนื่อง ไม่ใช่แค่เวลาที่ต้องการปรับพฤติกรรมของลูกเท่านั้น

4. สร้างสภาพแวดล้อม ให้เอื้อต่อการตัดสินใจ

Nudge_web_4

Mamas Teresa Palmer และ Sarah Wright Olsen คุณแม่สองคนจากบล็อก Your Zen Mama ได้ใช้แนวคิดกระตุ้นพฤติกรรมที่ดีของลูก ลดพฤติกรรมไม่น่ารัก ด้วยการจัดสภาพแวดล้อมให้ลูกสามารถตัดสินใจทำสิ่งที่เหมาะสมได้ด้วยตัวเอง

ตัวอย่างเช่น ลูกเล่นของเล่นแล้วไม่เก็บ คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องคอยกำชับให้เก็บอยู่เสมอ เมื่อลูกไม่ทำตาม เมื่อนั้น สงครามเล็กๆ ก็เกิดขึ้นได้ทันที

แต่ถ้าคุณพ่อคุณแม่ลองปรับสภาพแวดล้อมหรือพื้นที่ของลูกใหม่ สร้างบรรยากาศให้ลูกรู้สึกอยากเก็บของเล่นด้วยตัวเอง เช่น ใช้กล่องใสที่ติดป้ายกำกับของเล่นแต่ละชนิด วางกล่องนั้นๆ ให้อยู่ในตำแหน่งที่ลูกสามารถหยิบและเก็บเองได้

สะกิดเตือนให้ลูกรักษาเวลาเล่น ด้วยนาฬิกาทรายจับเวลาเล่นหรือจับเวลาที่เหลือ ก่อนลงมือเก็บของเล่น หากลูกยังเมินเฉย คุณพ่อคุณแม่จะต้องคอยสะกิดบอกให้ลูกรู้ตัว เช่น ผ่านไปสิบนาทีแล้วนะ หรือใช้ใช้วิธีนับถอยหลังด้วยน้ำเสียงตื่นเต้นนิดๆ หรือ ประโยคเชิญชวนใหัตัดสินใจ เช่น ใครเป็นเด็กดีที่เล่นแล้วเก็บของ จะได้รับการหอมแก้มจากคุณแม่ฟอดใหญ่ เพื่อช่วยกระตุ้นให้ลูกตัดสินใจลงมือทำได้ง่ายขึ้น

การเสริมสร้างพฤติกรรมเชิงบวก จะช่วยให้ลูกรู้สึกมีความสุข และภาคภูมิใจกับสิ่งที่ทำ สามารถตัดสินใจได้เองอย่างถูกต้องและเหมาะสมตามวัย ในขณะเดียวกันยังเป็นสิ่งที่กระตุ้นให้ลูกอยากจะปรับปรุงพฤติกรรมบางอย่างของตัวเองให้ดีขึ้น โดยไม่ต้องใช้วิธีบังคับกันอีกต่อไป

อ้างอิง
onmanorama
yourzenmama
houghtfulparenting

Saranya A.

ศรัญญา อ่าวสมบัติกุล: คุณแม่มือใหม่ ที่มีความตั้งใจเลี้ยงลูกชายตัวน้อยด้วยการยึดโยงธรรมชาติ และความคิดสร้างสรรค์เข้าด้วยกัน คุณแม่คนนี้หลงรักและทำงานด้านการเขียนมากว่า 12 ปี ตอนนี้มีความฝันอยากเป็นนักวาดนิทานเด็ก

COMMENTS ARE OFF THIS POST