READING

ลูกชอบทำร้ายสัตว์ : พ่อแม่จะทำอย่างไรให้ลูกเป็นเด็...

ลูกชอบทำร้ายสัตว์ : พ่อแม่จะทำอย่างไรให้ลูกเป็นเด็กใจดี ไม่มีพฤติกรรมทำร้ายสัตว์

ลูกชอบทำร้ายสัตว์

คุณพ่อคุณแม่ที่มีสัตว์เลี้ยงในบ้านหรือเริ่มพาลูกออกไปเจอกับสัตว์เลี้ยงของคนอื่น นอกจากจะต้องกังวลว่าสัตว์จะทำร้ายลูกเราแล้ว ยังต้องระมัดระวังไม่ให้ลูกเป็นฝ่ายทำร้ายหรือรังแกสัตว์อีกด้วย

โดยเฉพาะเด็กเล็ก ที่อาจตื่นเต้นและแสดงความอยากรู้อยากเห็นผ่านการสัมผัสสัตว์ที่ไม่เหมาะสม เช่น อยากเล่นกับแมวจึงจับหางแมวดึงเข้ามาหาตัว อยากกอดอยากหอมสุนัขด้วยการล็อกคอและกดหัวสุนัขเอาไว้ สำหรับลูกวัยนี้คุณพ่อคุณแม่จึงต้องคอยสังเกตและสอนวิธีเข้าหาสัตว์เลี้ยงที่ถูกต้องให้  แต่หาก ลูกชอบทำร้ายสัตว์ หรือมีพฤติกรรมรุนแรงกับสัตว์ ทั้งที่โตพอจะเข้าใจวิธีการเล่นกับสัตว์ที่ถูกต้องแล้ว นั่นอาจเป็นสัญญาณว่าลูกเจตนาที่จะรังแกสัตว์มากกว่าเข้าหาเพราะความรักและเอ็นดูสัตว์นั้นๆ ได้

Dr. Lim Boon Leng จิตแพทย์เยาวชนประเทศสิงคโปร์ ระบุว่า เด็กเล็กมีแรงจูงใจทำร้ายสัตว์ต่างจากเด็กโต รวมไปถึงผู้ใหญ่ เด็กๆ อาจไม่รู้ผิดถูก ไม่รู้ว่าสิ่งใดควรทำหรือไม่ควรทำ ทั้งยังอยู่ในช่วงวัยอยากรู้อยากเห็นปฏิกิริยาของสัตว์ อยากสำรวจโลกของสัตว์ แต่ก็ยังไม่มีความรู้ความเข้าใจ รวมไปถึง ไม่ได้เจตนา แต่อาจพลั้งเผลอทำร้ายสัตว์ เพียงเพราะต้องการระบายพลังงานด้านลบของตัวเองออกไป

แต่ในบางกรณีเด็กที่ชอบทำร้ายสัตว์ ก็อาจเป็นสัญญาณของการถูกทารุณกรรม หรือล่วงละเมิดจากคนใกล้ชิดได้

ส่วนในผู้ใหญ่และเด็กโต หากคุณพ่อคุณแม่พบว่า ลูกชอบทำร้ายสัตว์ สาเหตุที่พบบ่อยสุดของการทำร้ายหรือทารุณกรรมสัตว์ก็คือความโกรธและไม่สามารถจัดการกับอารมณ์โกรธของตัวเองได้ จนใช้สัตว์เลี้ยงหรือสัตว์อื่นเป็นที่ระบายอารมณ์

แต่ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใด คุณพ่อคุณแม่คงไม่อยากเห็นลูกเป็นเด็กที่มีพฤติกรรมชอบทำร้ายสัตว์ และปลูกฝังให้ลูกเป็นคนจิตใจดี ไม่ทำร้ายคนอื่น หรือแม้แต่สัตว์อื่น ด้วยวิธีดังต่อไปนี้ค่ะ

1. กฎเหล็กสามข้อ ท่องให้ขึ้นใจ

abusesanimals_web_1

โลกของเด็กๆ มักเต็มไปด้วย ‘ความไม่รู้’ แต่สิ่งที่ลูก ‘ต้องรู้’ คือ ข้อห้าม 3 อย่าง คือไม่ทำร้ายตัวเอง ไม่ทำร้ายผู้อื่น (รวมถึงสัตว์) และไม่ทำลายข้าวของ

เมื่อลูกมีพฤติกรรมทำร้ายคนหรือสัตว์ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดต้องเข้าไปหยุดลูกทันที

เช่นเดียวกัน หากลูกใช้ความรุนแรง ทำร้ายตัวเอง หรือทำลายข้าวของ คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องเข้าไปหยุดลูกทันที

สิ่งสำคัญคือคุณพ่อคุณแม่ต้องหยุดลูกด้วยน้ำเสียงที่หนักแน่น ย้ำถึงข้อห้าม 3 ข้อที่ลูกควรยึดมั่น และเมื่อลูกรู้สึกโกรธ ไม่พอใจ หรือห้ามโยนความรู้สึกเหล่านั้นไปลงที่สัตว์เลี้ยงอย่างเด็ดขาด ดังนั้น หากจิตใจลูกยังไม่พร้อมที่จะสัมผัสหรือเข้าหาสัตว์เลี้ยงด้วยความรัก ก็ควรอยู่ให้ห่างจากพวกมันก่อนเท่านั้นเอง

2. อย่าลงโทษลูกด้วยความรุนแรง

abusesanimals_web_2

Aarthi Sankar ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตจาก SPCA แนะนำว่า เมื่อคุณพ่อคุณแม่เห็นว่าลูกทำร้ายสัตว์ จะต้องเข้าไปหยุดพฤติกรรมนั้นและแก้ไขทันที แต่ต้องไม่ใช่การลงโทษลูกด้วยความโกรธ

ความโกรธจะทำให้น้ำเสียงเปลี่ยนไป การลงโทษมักจะรุนแรงขึ้น และไม่ได้เป็นการแก้ไขที่ต้นเหตุ ทั้งยังทำให้ลูกเห็นถึงวิธีระบายความโกรธ ลงไปกับผู้อื่นด้วยวิธีที่รุนแรงเช่นกัน

สิ่งที่ควรทำคือให้คุณพ่อคุณแม่เปลี่ยนจากความโกรธ เป็นโอบกอดลูกด้วยความรักความเข้าใจ พาลูกออกจากสถานการณ์ตรงหน้า พูดคุย ตักเตือน และมอบบทลงโทษด้วยวิธีการเชิงบวก เช่น งดดูการ์ตูน ทำงานบ้านเพิ่มหนึ่งอย่าง เพื่อให้ลูกรู้ว่าการทำร้ายสัตว์ ไม่ใช่พฤติกรรมที่คุณพ่อคุณแม่จะปล่อยผ่านไปเฉยๆ ได้

3. ปลูกฝังลูกเรื่อง ‘เอาใจเขา มาใส่ใจเรา’

abusesanimals_web_3

Anna Dewdney นักเขียนและนักวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน ระบุว่า การเอาใจเขามาใส่ใจเรา คือ การเข้าใจว่าคนอื่น รวมทั้งสัตว์ต่างๆ ก็มีความรู้สึกและต้องการการตอบสนองที่เหมาะสมไม่ต่างจากเรา การฝึกความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น จะช่วยให้เด็กๆ เรียนรู้วิธีมีส่วนร่วมกับผู้คนและสิ่งมีชีวิตอื่นๆ รอบตัว ในขณะเดียวกัน ยังช่วยสร้างทักษะการแก้ปัญหาให้กับเด็กได้

สิ่งที่ช่วยทำให้ลูกเข้าใจเรื่องนี้ได้เป็นอย่างนี้ คือ ให้ลูกได้มีส่วนร่วมในการเลี้ยงและดูแลสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ด้วยการมอบหมายหน้าที่สำคัญให้ทำ เช่น เป็นคนเติมอาหารให้น้องหมาที่เลี้ยงเอาไว้ หรือแม้แต่คอยเติมน้ำให้นกกระจอกที่บินผ่านไปผ่านมาหน้าบ้าน รวมถึงการยกตัวอย่างเปรียบเทียบให้ลูกเข้าใจความรู้สึกของสัตว์เลี้ยง เช่น ถ้าจู่ๆ มีคนเอาไม้มาตีลูก ลูกจะรู้สึกอย่างไร ถ้าลูกทำอย่างนั้นกับน้องหมา น้องหมาก็คงรู้สึกเช่นนั้นเหมือนกัน

4. สอนลูกให้รู้จัก ‘การเข้าหา’ สัตว์เลี้ยงอย่างถูกวิธี

abusesanimals_web_4

NAPPS หรือสมาคมผู้ดูแลสัตว์เลี้ยงมืออาชีพแห่งชาติสหรัฐ แนะนำวิธีสอนลูกให้เข้าหาสัตว์อย่างปลอดภัยทั้งเด็กและสัตว์เลี้ยง ไว้ดังนี้

ข้อห้าม ห้ามดึงหู หาง เท้า หรือขน ห้ามเอานิ้วเข้าไปในปาก หู หรือจิ้มตาของสัตว์ อย่าแหย่สัตว์เลี้ยง อยู่ให้ห่างตอนที่สัตว์กินอาหาร และอย่าแย่งของเล่นจากสัตว์เลี้ยง

สิ่งที่ทำได้คือ ค่อยๆ ลูบบนตัวเบาๆ เรียกชื่อด้วยน้ำเสียงนุ่มนวล โอบกอดด้วยความรักอย่างอ่อนโยนหรือทำให้สัตว์เลี้ยงรู้สึกปลอดภัยเมื่อลูกสัมผัส แต่สิ่งสำคัญคือต้องสังเกตพฤติกรรมว่าเขาพร้อมที่จะเล่นกับลูกหรือเปล่า

รวมไปถึงสัตว์อื่นๆ ลูกไม่ควรพยายามลูบหรือเล่นกับสัตว์ที่ไม่มีคนดูแล โดยเฉพาะสุนัข แม้ว่ามันจะวิ่งเข้ามาหาและดูเป็นมิตรก็ตาม อย่าลืมสอนให้ลูกสังเกตสัญญาณเตือนภัยจากสุนัข เช่น คำรามต่ำ หูลู่ ก้มหัวลงต่ำ หางไม่กระดิก และห้ามเข้าใกล้สัตว์ที่มีลูก เพราะสัญชาตญาณการปกป้องลูกน้อยอาจทำให้สัตว์ดุและระวังตัวมากเป็นพิเศษ รวมถึงไม่เข้าหาสัตว์เลี้ยงของผู้อื่น โดยไม่ได้รับอนุญาตด้วย

 

—อ่านบทความ ให้ลูกเลี้ยงสัตว์: 4 ข้อดี ของการเลี้ยงลูกให้เติบโตไปพร้อมกับสัตว์เลี้ยง
อ้างอิง
todayonline
petsitters.org
pbs.org

Saranya A.

ศรัญญา อ่าวสมบัติกุล: คุณแม่มือใหม่ ที่มีความตั้งใจเลี้ยงลูกชายตัวน้อยด้วยการยึดโยงธรรมชาติ และความคิดสร้างสรรค์เข้าด้วยกัน คุณแม่คนนี้หลงรักและทำงานด้านการเขียนมากว่า 12 ปี ตอนนี้มีความฝันอยากเป็นนักวาดนิทานเด็ก

COMMENTS ARE OFF THIS POST