READING

รับฟังลูกอย่างเข้าใจ (Active Listening) : ทักษะการ...

รับฟังลูกอย่างเข้าใจ (Active Listening) : ทักษะการพูดคุยสื่อสารกับลูกอย่างเห็นอกเห็นใจ

รับฟังลูกอย่างเข้าใจ

แต่ละวันคนเราต้องเจอเรื่องราวมากมายที่ส่งผลต่อความรู้สึก และต้องการเล่าหรือระบายออกมาให้ใครสักคนได้ฟัง

ไม่ใช่แค่ผู้ใหญ่ที่อยากมีผู้รับฟังที่ดี แต่เด็กเองก็ต้องการคุณพ่อคุณแม่ที่ รับฟังลูกอย่างเข้าใจ (Active Listening) ตั้งใจรับฟังโดยไม่ตัดสิน ไม่ต่อว่า แต่พร้อมที่จะปลอบใจ ให้ความช่วยเหลือ และแก้ไขปัญหาเมื่อลูกต้องการ

แล้วเราจะเป็น พ่อแม่ที่ รับฟังลูกอย่างเข้าใจ หรือใช้การฟังแบบ Active Listening เพื่อสร้างความรู้สึกไว้วางใจและความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับลูกได้ด้วยเทคนิคต่อไปนี้

1. ฟังลูกก่อน แล้วค่อยพูด

ActiveListening_web_1

ถ้าคุณพ่อคุณแม่สอนให้ลูกเรียนรู้ว่าเมื่อไหร่ที่เขาเล่าและพร้อมที่จะระบายความรู้สึกของตัวเองออกมา ก็จะมีคุณพ่อคุณแม่คอยรับฟังด้วยความเข้าใจ ไม่ตัดสินลูก ไม่รีบออกความเห็น แต่เมื่อลูกพูดจบแล้ว จากนั้นจึงค่อยบอกว่าคุณพ่อคุณแม่คิดเห็นอย่างไร ก็จะทำให้ลูกกล้าพูดและเล่าเรื่องราวต่างๆ ด้วยความมั่นคงทางอารมณ์มากขึ้น และยังปลูกฝังนิสัยให้ลูกเป็นผู้ฟังที่ดีต่อไปได้

2. ขอบคุณที่ลูกไว้ใจและเล่าให้ฟัง

ActiveListening_web_2

นอกจากรับฟังด้วยความตั้งใจแล้ว คุณพ่อคุณแม่ควรมีท่าทางหรือภาษากายที่แสดงถึงความห่วงใยให้ลูกรับรู้ได้ และสิ่งสำคัญคืออย่าลืมขอบคุณที่ลูกไว้ใจและเต็มใจเล่าเรื่องราวให้คุณพ่อคุณแม่ฟัง

3. ลองสวมบทบาทเป็นลูกดูบ้าง

ActiveListening_web_3

คุณพ่อคุณแม่ต้องไม่ลืมว่าด้วยกรอบประสบการณ์ของลูกยังน้อยนิด บางครั้งเรื่องที่เล็กน้อยในสายตาคุณพ่อคุณแม่ อาจเป็นปัญหาที่หนักอึ้งสำหรับลูก ดังนั้น การให้คำแนะนำหรือวิธีแก้ไขปัญหา คุณพ่อคุณแม่อาจต้องลองสวมบทบาทเป็นและมองในมุมของลูก สมมติว่าถ้าเป็นตัวเองตอนอายุเท่าลูกจะทำอย่างไร หรือคิดว่าลูกน่าจะทำอะไรได้แค่ไหน เพื่อไม่ให้ลูกรู้สึกว่าคำแนะนำของคุณพ่อคุณแม่เป็นเรื่องยากเกินไป

4. รู้จักถามอย่างมีศิลปะ

ActiveListening_web_4

การที่จะเข้าใจลูกอย่างแท้จริงไม่ได้อยู่ที่การรับฟังอย่างตั้งใจเท่านั้น แต่การตั้งคำถามที่ดีก็จะช่วยให้เข้าใจลูกได้มากขึ้น สิ่งสำคัญของการถามไม่ใช่เพราะคุณพ่อคุณแม่ต้องการเค้นคำตอบจากลูก แต่เป็นการถามเพื่อสะท้อนความรู้สึกของลูก ถามเพื่อแสดงความเห็นอกเห็นใจ ห่วงใย และถามเพื่อช่วยลดความกลัวและความกังวลให้กับลูก เช่น แม่เห็นลูกไม่ค่อยร่าเริง เป็นเพราะลูกมีเรื่องไม่สบายใจใช่ไหมคะ

 

4 เหตุผลสำคัญที่พ่อแม่ควรเปิดใจรับฟังลูกเยอะๆ
อ้างอิง
The Center for Parenting Education
earning-mind

Supinya R.

ชอบอ่านนิยายสยองขวัญ ชอบเขียนไดอารี่ และเป็นคุณแม่จำเป็นในบางเวลา :-)

COMMENTS ARE OFF THIS POST