เลี้ยงลูกแบบผูกพัน (Attachment Parenting) กำหนดนิสัยลูกได้จริงเหรอ?

เลี้ยงลูกแบบผูกพัน

John Bowlby นักจิตวิทยาชาวอังกฤษ ได้คิดค้น ‘ทฤษฎีความผูกพัน’ (Attachment theory) ขึ้นโดย ให้ความเห็นว่า สายสัมพันธ์ระหว่างลูกกับพ่อแม่ จะมีผลกระทบต่อลูกในระยะยาว หรือกล่าวได้ว่า รูปแบบความผูกพันกับพ่อแม่ หรือผู้ดูแลใกล้ชิดในวัยเด็ก จะส่งผลต่อความสัมพันธ์ใกล้ชิดของคนเราเมื่อเติบโตขึ้น

เพื่อทดลองทฤษฎี เลี้ยงลูกแบบผูกพัน Mary Ainsworth นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน และเป็นลูกศิษย์ของ John Bowlby จึงทำการทดลองที่เรียกว่า Strange Situation หรือการสร้างสถานการณ์ที่ไม่คุ้นเคย โดยนำทารก อายุ 12-18 เดือน จากครอบครัวอเมริกันจำนวน 100 ครอบครัว เข้าไปอยู่ในห้องที่เด็กๆ ไม่คุ้นเคย แล้วคอยสังเกตพฤติกรรมของทารก ผ่านกระจกที่มองเห็นจากด้านเดียว ทั้งพฤติกรรมตอนที่ทารกอยู่กับผู้ปกครอง ตอนที่มีคนแปลกหน้าเดินเข้ามา ตอนถูกทิ้งให้อยู่ตามลำพังกับคนแปลกหน้า และการปล่อยให้ทารกอยู่ในห้องตามลำพัง

โดยผลการทดลองนั้น จะแบ่งพฤติกรรมของเด็กตามลักษณะการเลี้ยงดูของคุณพ่อคุณแม่ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า เลี้ยงลูกแบบผูกพัน และรูปแบบความผูกพันของแต่ละครอบครัว ส่งผลต่อพฤติกรรมของเด็กแต่ละคนอย่างไรบ้าง

1. ความผูกพันที่มั่นคง (Secure Attachment)

Attachment_web_1

การทดลองพบว่า เด็กที่ถูกเลี้ยงโดยคุณพ่อคุณแม่เอาใจใส่ จะมีลักษณะการมองหาหรือกังวลเล็กน้อยเมื่อผู้ปกครองออกจากห้องไป แต่ไม่ได้เป็นมิตรกับคนแปลกหน้ามากนัก และเมื่อผู้ปกครองกลับมา เด็กจะดีใจและมีปฏิสัมพันธ์ด้วยตามปกติ

โดย Mary Ainsworth คาดว่าเป็นเด็กได้รับความรักความอบอุ่นจากคุณพ่อคุณแม่อย่างสม่ำเสมอ ทำให้รู้สึกไว้วางใจว่าคุณพ่อคุณแม่จะกลับมาหาอย่างแน่นอน

2. ความผูกพันแบบหลีกหนี (Avoidant Attachment)

Attachment_web_2

เด็กที่ถูกเลี้ยงแบบถูกละเลย มักจะเลี่ยงการมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น แต่ไม่งอแง และไม่ร้องไห้ ไม่ว่าคุณพ่อคุณแม่จะเดินออกไปจากห้องหรือเดินกลับเข้ามา นั่นอาจหมายความว่าโดยปกติแล้ว เด็กมักถูกละเลย เช่น ปล่อยให้ลูกร้องไห้ กลัว หรือหิวเป็นประจำ จนพวกเขารู้สึกว่าไม่สามารถคาดหวังหรือพึ่งพาคุณพ่อคุณแม่ได้ ทำให้เด็กปิดกั้นตัวเองจากคนภายนอกด้วย

3. ความผูกพันแบบสับสน (Ambivalent Attachment)

Attachment_web_3

เด็กที่ถูกเลี้ยงมาด้วยความสับสน เช่น เดี๋ยวดุ เดี๋ยวไม่ดุ มักแสดงความกังวลเมื่อคุณพ่อคุณแม่เดินออกจากห้องไป แต่จะมีอาการต่อต้าน งอแง และพยายามทำตัวติดหนึบเมื่อคุณพ่อคุณแม่กลับเข้ามา

เพราะก่อนหน้านี้เด็กๆ ไม่ได้ถูกตอบสนองความต้องการอย่างสม่ำเสมอ เช่น เมื่อร้องไห้แล้วถูกปลอบบ้าง ถูกละเลยบ้าง การตอบสนองที่ไม่แน่นอนทำให้พวกเขาเริ่มสับสน ไม่ไว้วางใจและกลัวว่าคุณพ่อคุณแม่จะหายไปอีกครั้ง

4. รูปแบบที่ไม่แน่นอน (Disorganized Attachment)

Attachment_web_4

เป็นรูปแบบความผูกพันที่ถูกเพิ่มเข้ามาภายหลัง เพื่อนิยามเด็กๆ ที่มีพฤติกรรมแตกต่างจากเด็กและการถูกเลี้ยงดูทั้งสามกลุ่ม หรือมีความผสมผสานระหว่างพฤติกรรมทั้งสามรูปแบบนั่นเอง

อ้างอิง
simplypsychology
thepeople
BrandThink
kapook

Supinya R.

ชอบอ่านนิยายสยองขวัญ ชอบเขียนไดอารี่ และเป็นคุณแม่จำเป็นในบางเวลา :-)

COMMENTS ARE OFF THIS POST