เด็กเล็ก ที่ยังขาดประสบการณ์ต่างๆ ในชีวิต มักเข้าใจ (ไปเอง) ว่า เมื่อต้องการอะไร แค่เพียงแสดงออก บอก หรือร้องขอกับคุณพ่อคุณแม่ แล้วทุกคนก็จะพยายามจัดหาทุกอย่างมาให้
เมื่อลูกเริ่มเข้าโรงเรียน มีเพื่อนใหม่ มีสังคมเล็กๆ เป็นของตัวเอง คุณพ่อคุณแม่หลายคนน่าจะเคยเจอปัญหา ลูกอยากมีเหมือนคนอื่น เช่น เห็นเพื่อนที่โรงเรียนมีกระติกน้ำลายตัวการ์ตูนที่ชอบ ก็กลับมาบอกคุณพ่อคุณแม่ว่าอยากใช้กระติกน้ำอย่างนั้น และอาจเลยเถิดเป็นความอยากได้อยากมีสิ่งของที่มีราคาแพง หรือเกินความจำเป็น เพียงเพราะเห็นเพื่อนคนอื่นมีเท่านั้น
การปฏิเสธเมื่อ ลูกอยากมีเหมือนคนอื่น เป็นเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่ต้องใช้การพูดคุยด้วยเหตุผลและพยายามสร้างความเข้าใจว่าทำไมคุณพ่อคุณแม่ถึงไม่ตอบสนองหรือให้ตามความต้องการลูกทุกอย่างได้ ด้วยเทคนิคดีๆ ดังนี้
1. ปฏิเสธ แบบไม่ปฏิเสธ
Vanessa Jensen, PsyD, นักจิตวิทยาจากคลินิกเด็กคลีฟแลนด์ ระบุว่า แม้ว่าการปฏิเสธสิ่งที่ ลูกอยากมีเหมือนคนอื่น จะเป็นเรื่องปกติ แต่การพูดคุยกับลูกว่า ทำไมลูกจึงต้องการสิ่งนั้น และอธิบายว่าเพราะอะไรคุณพ่อคุณแม่ถึงไม่ซื้อให้ก็เป็นเรื่องสำคัญ
ลองเปลี่ยนจากการปฏิเสธว่า ‘ไม่ได้’ เป็นคำพูดเชิงบวก เช่น แม่คิดว่าลูกยังเล็กเกินไปที่จะใช้สิ่งนั้น แต่เมื่อลูกโตขึ้นอีกนิด เราลองมาดูกันใหม่ก็ได้ อธิบายว่าบางทีลูกก็ต้องมีสิ่งของที่แตกต่างจากเพื่อนบ้าง ไว้เราลองมาช่วยกันนึกอีกที หรือบอกให้ลูกเข้าใจว่าสิ่งของนั้นไม่จำเป็นหรือไม่เหมาะกับลูกอย่างไร
แต่ทั้งนี้ ก่อนที่จะปฏิเสธหรือคิดเหมาไปว่าลูกอยากมีเหมือนคนอื่น คุณพ่อคุณแม่ควรลองถามเหตุผลว่า เพราะอะไรลูกจึงอยากได้ของสิ่งนั้น
สำหรับเด็กวัยอนุบาล การปฏิเสธแบบไม่ปฏิเสธ คือวิธีพูดคุยที่ละมุนละม่อม และแสดงออกถึงการรับรู้ความรู้สึกของลูก ก่อนที่จะค่อยๆ เบี่ยงเบนความสนใจจากลูกนั่นเอง
2. อธิบายความแตกต่าง ระหว่าง ‘ความอยากได้’ (want) กับ ‘ความจำเป็น’ (needs)
เด็กๆ ต้องค่อยๆ เรียนรู้และแยกแยะความแตกต่างระหว่างสิ่งของที่ ‘อยากได้’ กับสิ่งของที่ ‘จำเป็น’ และวิธีที่ทำให้ลูกเข้าใจมากขึ้นก็คือ การอธิบายให้ลูกเห็นภาพ เช่น การเล่นเกม ด้วยการแบ่งกระดาษออกเป็นสองช่อง ช่องแรก สำหรับเขียนรายการสิ่งของที่พ่อแม่อยากได้ ช่องที่สองสำหรับรายการสิ่งที่จำเป็นต้องใช้ แล้วชวนลูกช่วยคิด พิจารณาว่า เมื่อคุณพ่อคุณแม่พูดถึงสิ่งของอะไรขึ้นมา ของนั้นควรเขียนลงไปอยู่ในช่องไหน เช่น ยาสระผม ควรอยู่ในสิ่งของจำเป็น รถของเล่น ควรอยู่ในช่องของที่อยากได้ ระหว่างนั้น ลูกอาจจะมีคำถามเกิดขึ้นมากมาย เช่น ทำไมรถของเล่นถึงไม่ใช่สิ่งจำเป็น คุณพ่อคุณแม่ต้องเตรียมตัวรับมือเจ้าหนูช่างสงสัยให้รัดกุม แล้วค่อยๆ อธิบายให้ลูกฟังด้วยเหตุผลที่เข้าใจง่าย
3. ชวนลูกเป็น ‘นักจัดการเงินทอง’
Dr. Elizabeth Kilbey นักจิตวิทยาเด็ก อธิบายว่า ความอยากได้ของเด็กไม่มีขีดจำกัด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเด็กๆ มักมีความคิดว่า เงินเป็นสิ่งมหัศจรรย์และสามารถใช้ได้เรื่อยๆ ไม่สิ้นสุด ดังนั้นลูกจึงมักไม่เข้าใจว่าทำไมคุณพ่อคุณแม่ถึงปฏิเสธไม่ซื้อของที่ลูกต้องการให้
แต่เมื่อลูกอายุ 5 – 7 ขวบ คุณพ่อคุณแม่สามารถอธิบายให้ลูกเข้าใจข้อจำกัดของการใช้เงินได้ ด้วยการทำลิสต์ของใช้ สิ่งใดสำคัญที่สุดไว้ด้านบนสุด พากันสังเกตป้ายราคา และคำนวณจำนวนเงินที่มีอยู่ นอกจากเด็กจะได้เรียนรู้เรื่องราวการใช้เงินแล้ว ยังได้ฝึกทักษะทางคณิตศาสตร์ไปในตัว
ส่วนเด็กโต อายุ 8 -12 ปี ลองปล่อยให้ลูกเรียนรู้จากความผิดพลาดทางการเงิน เช่น ลองให้ลูกซื้อของที่อยากได้ตามเพื่อน และพบว่าไม่ได้ดีหรือเหมาะกับตัวเองอย่างที่คิด และนี่จะกลายเป็นประสบการณ์ที่สอนให้ลูกรู้จักคิดทบทวนความอยากได้ของตัวเองให้ดี และเรียนรู้ว่าการประหยัดอดออมมีผลดีกับตัวเองอย่างไร
4. เปิดโอกาสให้ลูกเป็น ‘พ่อค้าแม่ค้า’ สักครั้ง
เมื่อลูกอยากได้สิ่งของเหมือนคนอื่น อย่าเพิ่งปฏิเสธลูกตั้งแต่แรก แต่ลองให้โจทย์ลูก เช่น มีวิธีไหนที่จะทำให้ลูกมีเงินมากพอมาซื้อสิ่งของเหล่านั้น แล้วชวนลูกให้ลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง
เด็กวัยอนุบาลจะเริ่มเข้าใจว่า การขายของเป็นวิธีที่ทำให้ได้เงินมาใช้จ่ายต่อไปคุณพ่อคุณแม่ลองชวนลูกคุยด้วยการตั้งคำถามไปเรื่อยๆ ว่าลูกอยากลองขายอะไร ขายให้ใคร ควรคิดราคาเท่าไหร่ ขายดีไหน แล้วถ้าขายไม่ได้ หรือขายได้เงินไม่พอตามที่ต้องการลูกมีแผนสำรองอย่างไร
หากเป็นไปได้ คุณพ่อคุณแม่ควรลองให้ลูกมีประสบการณ์หาเงินด้วยตัวเองดูสักครั้ง อาจเป็นกิจการเล็กๆ เช่น ทำคุกกี้ขายญาติๆ หรือเพื่อนบ้าน เพื่อให้ลูกรู้จักคุณค่าของเงินที่ต้องหามาด้วยตัวเอง ไม่แน่ลูกอาจลืมเรื่องของที่อยากได้ แล้วหันมาสนใจกับธุรกิจเล็กๆ ของตัวเองแทนก็ได้
COMMENTS ARE OFF THIS POST