READING

#ยกเลิกกฎหมายเยาวชน หรือ #แก้กฎหมายเยาวชน เด็กทำผิ...

#ยกเลิกกฎหมายเยาวชน หรือ #แก้กฎหมายเยาวชน เด็กทำผิด ต้องรับโทษยังไงบ้าง?

เด็กทำผิด

ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบัน แนวโน้มปัญหาความรุนแรงในสังคมไทย ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ และสิ่งที่น่าตกใจมากไปกว่านั้น คือผู้ก่อเหตุก็มีอายุน้อยลงเรื่อยๆ เช่นเดียวกัน

พลตำรวจเอกต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้ออกมายืนยันว่า จะปรับลดอายุของผู้กระทำผิดให้ต่ำลง จากอายุ 15 ปี เหลือ 12 ปี เพราะการก่ออาชญากรรมในเด็ก ณ ปัจจุบันมีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งสวนทางกับอายุของผู้ก่อเหตุที่น้อยลงเรื่อยๆ

จึงกลายเป็นที่ถกเถียงของผู้คนในสังคม ส่วนหนึ่งมีความเห็นว่าควรยกเลิกกฎหมายเยาวชน ให้เด็กที่กระทำผิดรับโทษเท่ากับผู้ใหญ่ แต่อีกส่วนหนึ่งก็มีความเห็นว่าควรแก้กฎหมายลดอายุผู้กระทำผิด เพื่อป้องกันและคุ้มครองสิทธิของผู้เยาว์มากกว่า

วันนี้เราจึงได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมายเมื่อ เด็กทำผิด ต้องรับโทษอย่างไรบ้าง

juvenilejustice_1

พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 ได้นิยามความหมายของเด็กและเยาวชน ไว้ดังนี้

1. เด็ก คือ บุคคลที่อายุไม่ถึง 15 ปี

2. เยาวชน คือ บุคคลที่อายุระหว่าง 15-18 ปี

หากเด็กทำผิดต้องได้รับโทษแบบไหน

ประมวลกฎหมายอาญา (ม.73-76) เป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการรับผิดของเด็กและเยาวชนมากที่สุด

juvenilejustice_2

มาตรา 73 ระบุว่า ผู้ที่อายุไม่เกิน 12 ปี ถ้าทำความผิด ไม่ต้องรับโทษ

juvenilejustice_3

มาตรา 74 ระบุว่า ผู้ที่อายุ 12-15 ปี ถ้าทำความผิด ก็ไม่ต้องรับโทษ แต่กฎหมายเปิดช่องให้ศาลมีอำนาจสั่ง ‘มาตรการพิเศษ’ ซึ่งเป็นมาตรการเพื่อฟื้นฟูเด็กที่กระทำผิดได้ ดังนี้

1. ว่ากล่าวตักเตือนเด็ก และปล่อยตัว หรือจะเรียกบิดา มารดา ผู้ปกครองมาตักเตือน

2. วางข้อกำหนดให้บิดา มารดา หรือผู้ปกครองระวังไม่ให้เด็กก่อเหตุร้ายในระยะเวลาที่กำหนด ถ้าทำอีก จะต้องชำระเงินต่อศาลครั้งละไม่เกิน 10,000 บาท

3. ส่งตัวไปสถานศึกษา, สถานฝึกและอบรม, สถานแนะนำทางจิต, หรือสถานที่ที่ตั้งขึ้นเพื่อฝึกและอบรมเด็ก แต่ไม่ให้อยู่จนอายุเกิน 18 ปี

4. กำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมประพฤติก็ได้ โดยแต่งตั้งพนักงานคุมประพฤติคอยควบคุม

5. ส่งมอบตัวให้ไปอยู่กับบุคคลหรือองค์กรเพื่อดูแล อบรม และสั่งสอน

juvenilejustice_4

มาตรา 75 ระบุว่า ผู้ที่มีอายุ 15-18 ปี ถ้าทำความผิด ศาลจะพิจารณาถึงความรู้ผิดชอบ และตัดสินว่าจะสั่งลงโทษหรือไม่ ถ้าตัดสินลงโทษทางอาญาแบบคนทั่วไป จะให้ลดโทษลงกึ่งหนึ่ง แต่ถ้าไม่ลงโทษ อาจกำหนดให้ดำเนินการฟื้นฟูตามมาตรา 74

juvenilejustice_5

มาตรา 76 ระบุว่า ผู้ที่อายุ 18-20 ปี ถ้าทำความผิด ต้องรับโทษอาญาเช่นเดียวกับผู้ใหญ่ แต่ศาลอาจให้ลดโทษ 1/3 หรือกึ่งหนึ่งก็ได้

อ้างอิง
coj.go.th
Thai PBS News
nitilawandwinner

Supinya R.

ชอบอ่านนิยายสยองขวัญ ชอบเขียนไดอารี่ และเป็นคุณแม่จำเป็นในบางเวลา :-)

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST