READING

ลูกไม่ฟัง : ทำไมลูกชอบทำเป็นไม่ได้ยินคุณพ่อคุณแม่ก...

ลูกไม่ฟัง : ทำไมลูกชอบทำเป็นไม่ได้ยินคุณพ่อคุณแม่กันนะ!

ลูกไม่ฟัง

เคยนึกสงสัยไหมคะว่า เมื่อถึงวัยหนึ่ง ทำไมลูกมักจะไม่ค่อยได้ยินเสียงของคุณพ่อคุณแม่ เช่น พูดหรือบอกให้ทำอะไร ลูกก็มักจะเมินเฉย เรียกก็ไม่หัน ห้ามก็ไม่หยุด เหมือนคุณพ่อคุณแม่ไม่ได้พูดอยู่ตรงนั้น

หากคุณพ่อคุณแม่กำลังประสบปัญหา ลูกไม่ฟัง หรือชอบทำเป็นไม่ได้ยิน เวลาที่คุณพ่อคุณแม่บอกให้ทำกิจวัตรประจำวัน เช่น บอกให้ไปอาบน้ำ เรียกให้กลับเข้าบ้าน หรือเตือนให้ขึ้นนอน และแน่ใจว่าลูกไม่ได้มีปัญหาเกี่ยวกับการได้ยินและทักษะการสื่อสาร ก็เป็นเวลาที่คุณพ่อคุณแม่จะต้องลองมาหาเหตุผลที่ทำให้ ลูกไม่ฟัง หรือแกล้งทำเป็นไม่ได้ยิน เพื่อหาวิธีแก้ไข ไม่ปล่อยให้ลูกทำพฤติกรรมนี้จนติดตัวเป็นนิสัยนะคะ

1. ลูกไม่ฟังเพราะพ่อแม่พูดยาวเกินไป

kidsdontlisten_web_1

#ลูกไม่เข้าใจประโยคที่ซับซ้อน เด็กเล็กหรือลูกวัยอนุบาล แม้ว่าจะสามารถพูดคุยโต้ตอบกับคุณพ่อคุณแม่ได้ดี แต่บางครั้ง ลูกอาจยังไม่เข้าใจการใช้รูปประโยคที่ยาวและซับซ้อน หรือการบอกให้ลูกทำอะไรหลายอย่างในประโยคเดียว ลูกจึงเลือกที่จะทำเป็นไม่ได้ยินสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่พูดไปเลยก็ได้

#เริ่มต้นด้วยทีละคำสั่ง แม้ว่าสิ่งเหล่านี้จะเป็นขั้นตอนที่ลูกทำอยู่ทุกวัน แต่เพื่อให้ลูกปฏิบัติตามได้ง่ายและไม่ต้องพูดซ้ำๆ ให้คุณพ่อคุณแม่ค่อยๆ บอกและกำกับลูกทีละขั้นตอน เช่น ให้ลูกตั้งใจทำสิ่งหนึ่งให้เสร็จและค่อยบอกสิ่งที่ต้องทำต่อไป

#แม่ขี้บ่นลูกยิ่งไม่อยากฟัง งานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารคลินิกจิตวิทยาเด็กและวัยรุ่นประเทศสหรัฐอเมริกา ปี 2018 ระบุว่า เมื่อคุณพ่อคุณแม่พูดพร้อมๆ กับแสดงอารมณ์ทางสีหน้าอย่างต่อเนื่อง ลูกจะยิ่งทำเป็นไม่ฟัง หรือไม่สนใจคำพูดของคุณพ่อคุณแม่มากขึ้น

2. ลูกไม่ฟังเพราะรู้ไต๋คุณพ่อคุณแม่หมดแล้ว!

kidsdontlisten_web_2

เวลาที่ลูกไม่ทำตามหรือเมินเฉยต่อคำพูดของคุณพ่อคุณแม่ นั่นอาจเป็นเพราะคุณพ่อคุณแม่เคยใช้วิธีขู่หรือบอกผลลัพธ์ที่ไม่เกิดขึ้นจริงกับลูก เช่น เมื่อลูกงอแงไม่ยอมนั่งคาร์ซีต แล้วคุณแม่เคยขู่ว่าจะปล่อยให้เดินกลับบ้าน แต่ในความเป็นจริง ไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ ย่อมทำให้ลูกเข้าใจว่าคำพูดของคุณแม่ไม่น่าเชื่อถือ และสามารถมองข้ามได้

#งดขู่แต่ทำจริง เพื่อให้ลูกเชื่อฟังและทำตามตั้งแต่คำแรก คุณพ่อคุณแม่ต้องพูดในสิ่งที่ทำได้จริง เพื่อให้ลูกเรียนรู้ว่า คำพูดของคุณแม่แข็งแรง หนักแน่น และเชื่อถือได้ ลูกก็จะเห็นค่าของคำพูดคุณพ่อคุณแม่มากขึ้น

3. ลูกกำลังพยายามแย่งชิงอำนาจน้อยๆ ไว้ในมือ 

kidsdontlisten_web_3

#ลูกต้องการต่อรอง ลูกแค่ต้องการเอาชนะด้วยการไม่ฟังและต้องการเปลี่ยนการทำตามเป็นการต่อรอง จนคุณพ่อคุณแม่หลงกลโดยไม่รู้ตัว เพราะยิ่งต่อสู้กับลูกด้วยการเรียกชื่อซ้ำๆ พูดประโยคเดิมๆ ในขณะที่ลูกเฉยเมยหรือเริ่มยืนยันในข้อต่อรองของตัวเองมากเท่าไหร่ ยิ่งเท่ากับการยื้อเวลาของลูกที่จะไม่ทำตามคุณพ่อคุณแม่ได้ผล

#ให้ลูกพูดซ้ำในสิ่งที่ได้ยิน Amy Morin นักจิตอายุรเวท และอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยนอร์ทอีสเทิร์น ประเทศสหรัฐอเมริกา แนะนำว่าลูกอาจจะต้องการคำอธิบายว่าต้องทำอย่างไรให้มากขึ้น และวิธีที่ใช้ได้ผลก็คือ ให้ลูกพูดซ้ำในสิ่งที่ได้ยิน เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่มีโอกาสอธิบายคำพูดของตัวเองอีกครั้งว่าตกหล่นหรือทำให้ลูกเข้าใจผิดหรือไม่

4. ลูกไม่ชอบน้ำเสียงที่คุณพ่อคุณแม่ใช้

kidsdontlisten_web_4

#ลูกยิ่งไม่ฟังเพราะระดับเสียงที่ดังขึ้น เมื่อลูกไม่ฟัง คุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจจะใช้น้ำเสียงที่ดังขึ้นเรื่อยๆ ไปจนถึงระดับตวาด ซึ่งอาจทำให้ลูกตกใจและได้ผลในครั้งหนึ่ง แต่ในครั้งต่อไป ลูกจะเรียนรู้ว่า การไม่ฟัง จะทำให้คุณพ่อคุณแม่ต้องพยายามส่งเสียงมากขึ้น และเมื่อลูกต้องการเรียกร้องความสนใจหรือทดสอบความอดทนของคุณพ่อคุณแม่ เขาก็จะใช้วิธีเดิมอีก

นักวิจัยที่มหาวิทยาลัยพิตส์เบิร์ก พบว่าการใช้คำพูดที่รุนแรง เช่น การตะโกน ตวาด สบถ หรือดูหมิ่น จะยิ่งทำลูกไม่เชื่อฟังพ่อแม่มากขึ้น และยังส่งผลเสียต่อลูกเช่นเดียวกับการตีหรือลงโทษที่รุนแรงอีกด้วย

#ต้องใจดีแต่ไม่ใจอ่อน ท่าทีที่ใช้พูดกับลูกก็สำคัญ คุณพ่อคุณแม่ควรลดระดับตัวเองลงให้เท่ากับลูก มองตาลูก และพูดกับลูกด้วยข้อความที่ชัดเจน เข้าใจง่าย ใช้น้ำเสียงที่ปกติแต่หนักแน่น รวมถึงเลือกใช้คำพูดเชิงบวก เช่น การเปลี่ยนคำว่า อย่าและไม่ ให้เป็นสิ่งที่ลูกควรทำ เช่น แทนที่จะบอกว่า ‘อย่าตีน้องนะ’ ลองเปลี่ยนเป็นบอกให้ลูก สอนน้องว่าควรทำอย่างไร หรือแทนที่จะตะโกนบอกลูกว่า ‘ห้ามโยนของ’ ลองเปลี่ยนเป็น ‘เดี๋ยวลูกใช้เสร็จแล้ววางลงเบาๆ ก็พอนะ’ ที่สำคัญคือไม่ควรตะโกนเรียกหรือบอกให้ลูกทำอะไรจากที่อื่น เพราะวิธีนี้ลูกจะยิ่งไม่ฟัง ไม่ทำตาม และหลบไปทำอย่างอื่นแทนได้

สุดท้ายเพื่อให้ลูกวัยอนุบาลให้ความร่วมมือในการเชื่อฟังมากขึ้น คุณพ่อคุณแม่ก็ควรเปิดโอกาสให้ลูกได้พูดและทำตัวเป็นผู้ฟังที่ดีของลูกด้วยเช่นกัน

 

อ่านบทความ: 12 พฤติกรรมที่ทำให้ลูกไม่ฟังคุณ
อ้างอิง
tandfonline
verywellfamily
positiveparentingsolutions

Saranya A.

ศรัญญา อ่าวสมบัติกุล: คุณแม่มือใหม่ ที่มีความตั้งใจเลี้ยงลูกชายตัวน้อยด้วยการยึดโยงธรรมชาติ และความคิดสร้างสรรค์เข้าด้วยกัน คุณแม่คนนี้หลงรักและทำงานด้านการเขียนมากว่า 12 ปี ตอนนี้มีความฝันอยากเป็นนักวาดนิทานเด็ก

COMMENTS ARE OFF THIS POST