READING

Shaken Baby Syndrome: เขย่าลูกรุนแรง อันตรายร้ายแร...

Shaken Baby Syndrome: เขย่าลูกรุนแรง อันตรายร้ายแรงถึงชีวิตลูก

Shaken Baby Syndrome

จากข่าวการหายตัวไปของเด็กชายวัย 8 เดือน ซึ่งคุณแม่ได้ให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าลูกถูกลักพาตัวออกจากบ้านไป จนเกิดการสอบสวนและตามหาเด็กชายกันเป็นเวลาหลายวัน ก่อนที่คุณแม่ของเด็กจะยอมรับสารภาพว่า เป็นคนเอาลูกไปทิ้งแม่น้ำ เนื่องจากเผลอทำลูกหลุดมือ ตกกระแทกพื้น ด้วยความตกใจจึงพยายามเขย่าตัวลูก ก่อนที่จะพบว่าลูกหมดสติและเสียชีวิตไปแล้ว

นอกจากนั้น เมื่อย้อนกลับไปปี 2021 เกิดข่าวเศร้าขึ้นในประเทศไต้หวัน เมื่อคุณพ่อมือใหม่ อุ้มและเขย่าตัวลูกชายวัยสองเดือนด้วยความรุนแรงมากเกินไป เป็นเหตุให้ลูกชายเกิดภาวะ Shaken Baby Syndrome และเสียชีวิตในเวลาต่อมา

นพ. สมเกียรติ ลลิตวงศา ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับภาวะ Shaken Baby Syndrome เอาไว้ว่า การเขย่าตัวทารกด้วยความรุนแรง มีความเสี่ยงที่จะทำให้ลูกในวัยทารก โดยเฉพาะช่วงอายุ 3-8 เดือน ได้รับบาดเจ็บทางสมอง จนเกิดปัญหาทางสายตา ลมชัก การเรียนรู้ และสติปัญญา และอาจรุนแรงถึงแก่ชีวิตได้

นอกจากนี้ข้อมูลจากสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ยังระบุว่า ในประเทศไทยมีเด็กที่เข้ารักษาตัวจากภาวะ Shaken Baby Syndrome โดยประมาณ 10-15 คน ต่อปีเลยทีเดียว

Shaken Baby Syndrome คืออะไร?

ShakenBabySyndrome_1

Shaken Baby Syndrome คือ ภาวะสมองกระทบกระเทือนจากการถูกเขย่าร่างกายอย่างรุนแรง มักพบในเด็กอายุน้อยกว่า 1 ปี ที่ถูกอุ้มและเขย่าตัวรุนแรง จนทำให้เนื้อสมองกระแทกกับกะโหลกศรีษะ ทำให้ทารกที่เส้นเลือดในสมองยังไม่แข็งแรงฉีกขาด จากสถิติของ NSPCC พบว่า เด็กทารกที่มีอายุต่ำกว่า 6 เดือน จำนวนหนึ่งในสามคนที่เกิดภาวะ Shaken Baby Syndrome จะสามารถรักษาให้หายเป็นปกติได้ แต่ในขณะเดียวกัน หนึ่งในสามคนก็มีโอกาสที่จะตาบอด เป็นลมชัก และมีปัญหาด้านสติปัญญา และที่เศร้าที่สุดก็คือหนึ่งในสามคนมีโอกาสที่จะเสียชีวิตได้

วิธีการสังเกตอาการ

ShakenBabySyndrome_2

อาการ Shaken Baby Syndrome เป็นการได้รับบาดเจ็บจากภายในร่างกาย ทำให้สังเกตความผิดปกติได้ยากกว่าบาดแผลภายนอก

แต่หากคุณพ่อคุณแม่พบว่าลูกมีอาการเหล่านี้ นี่อาจเป็นสัญญาณที่กำลังบอกว่าลูกกำลังอาจจะเป็นได้รับความกระทบกระเทือนทางสมองได้

• อาเจียน

• หงุดหงิด

• เซื่องซึม

• หายใจติดขัด หรือหายใจลำบาก

• ไม่ยอมกินนม

• หน้าผากหรือศีรษะปูดบวม

 

หากพบอาการเหล่านี้ คุณพ่อคุณแม่ควรรีบพาลูกไปแพทย์เพื่อทำการรักษาอย่างทันท่วงที ไม่เช่นนั้นอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายต่อลูก และที่เศร้าที่สุดคืออาจไม่สามารถช่วยชีวิตเด็กได้ทัน

วิธีป้องกัน

ShakenBabySyndrome_3

คุณพ่อคุณแม่ควรเรียนรู้วิธีการอุ้มทารกที่ปลอดภัย เช่น อุ้มทารกให้แนบและขนานไปกับลำตัว โดยใช้มือข้างหนึ่งประคองศีรษะและลำคอของลูก ส่วนมืออีกข้างหนึ่งใช้ประคองช่วงลำตัว เพื่อป้องกันลูกหงายหลังและหล่นจากอ้อมกอดของคุณพ่อคุณแม่

และที่สำคัญก็คือ คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรเล่นแกว่ง โยน และเขย่าตัวลูกรุนแรง รวมถึงไม่ใช้การเขย่าตัวเพื่อปลอบให้ลูกหยุดร้องไห้อีกด้วย

อ้างอิง
doctor
Hfocus
khaosod

Supinya R.

ชอบอ่านนิยายสยองขวัญ ชอบเขียนไดอารี่ และเป็นคุณแม่จำเป็นในบางเวลา :-)

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST