READING

ลูกหวงของ: 4 เทคนิครับมือเด็กขี้หวง...

ลูกหวงของ: 4 เทคนิครับมือเด็กขี้หวง

ลูกหวงของ

คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกวัยหัดเดินจนถึงอนุบาล น่าจะเคยสังเกตเห็นพฤติกรรมลูกเป็นเด็กหวงของจนเกิดเป็นปัญหาทะเลาะกับเพื่อน หรือศึกแย่งชิงของเล่นระหว่างพี่น้อง ลำบากถึงคุณพ่อคุณแม่ต้องคอยเป็นกรรมการตัดสินและหาทางแก้ปัญหา ลูกหวงของ อยู่เสมอ

สาเหตุที่ทำให้ ลูกหวงของ พญ. ตวงพร สุรพงษ์พิวัฒนะ จิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่น เขียนอธิบายไว้ในหนังสือ เคล็ดลับเลี้ยงลูก 4 ดี ว่า เด็กอายุหนึ่งขวบครึ่ง ถึงสองขวบครึ่ง มักจะรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัว ทำให้เด็กช่วงวัยนี้จะรู้สึกหวงแหนสิ่งของของตัวเองมากเป็นพิเศษ และเมื่อถูกแย่งของมักจะมีพฤติกรรมรุนแรง ก้าวร้าว ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นพัฒนาการตามช่วงวัยที่เด็กวัยนี้ยังไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตัวเองได้

แต่ถึงแม้คุณพ่อคุณแม่จะเข้าใจว่า ลูกหวงของ เป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้แต่พฤติกรรมหวงของอาจทำให้ลูกเกิดปัญหาในการเข้าสังคม ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับคนอื่น และ การสอนให้ลูกรู้จักการแบ่งปัน รู้จักมีเมตตาต่อผู้อื่น ย่อมเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยปูพื้นฐานให้ลูกเติบโตไปเป็นคนที่มีคุณภาพในสังคมต่อไปได้นะคะ

1. ไม่ลงโทษลูกต่อหน้าคนอื่น

possessive_web_1

เวลาที่ ลูกหวงของ มักจะงอแง โวยวาย หรือใช้ความรุนแรงเพื่อปกป้องของของตัวเอง เมื่อคุณพ่อคุณแม่เห็นพฤติกรรมเช่นนี้ควรรีบเข้าไปหยุดพฤติกรรมของลูกทันที แต่ไม่ควรลงโทษลูกต่อหน้าคนอื่น เพราะจะทำให้ลูกรู้สึกอับอายและส่งเสริมให้ลูกกลายเป็นเด็กก้าวร้าวมากขึ้น ดังนั้นเมื่อคุณพ่อคุณแม่เข้าไปห้ามปรามลูกแล้ว ควรแยกตัวลูกออกมาก่อนแล้วค่อยอธิบายหรือแนะนำว่าลูกควรต่อรองหรือแบ่งปันของนั้นกับคนอื่นอย่างไร

2. สอนลูกให้รู้จักการแบ่งปัน

possessive_web_2

อาการหวงของในเด็กเล็ก มักเกิดจากการที่ลูกยังไม่รู้จักการแบ่งปัน จึงเข้าใจผิดว่าต้องรักษาและหวงแหนของของตัวเองเอาไว้ ดังนั้นเพื่อลดอาการหวงของและป้องกันการเกิดเหตุการณ์ยื้อแย้งจนเกิดการทะเลาะวิวาท คุณพ่อคุณแม่ควรสอนและสร้างข้อตกลงกับลูกก่อนจะปล่อยให้ลูกรับมือกับเหตุการณ์จริง เช่น ถ้าลูกเล่นของเล่นอยู่ แล้วมีคนขอเล่นด้วย ถ้าของเล่นมีชิ้นเดียวให้ผลัดกันเล่น หรือของเล่นที่สามารถเล่นด้วยกันได้ ให้แบ่งกันเล่นนะคะ

3. ของของลูก คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องขออนุญาตลูกก่อนเสมอ

possessive_web_3

เด็กเล็กมักจะมีสิ่งของที่ตัวเองรักและผูกพันมากเป็นพิเศษ และจะรู้สึกอุ่นใจเมื่อมีของชิ้นนั้นอยู่ใกล้ๆ ถ้าหากว่าคุณพ่อคุณแม่จำเป็นที่จะต้องหยิบของของลูกไปที่อื่น ควรบอกและขออนุญาต พร้อมอธิบายเหตุผลให้ลูกเข้าใจเสมอ เช่น จะเอาผ้าห่มเน่าของลูกไปซักเพราะมันสกปรกแล้ว

4. เคารพการตัดสินใจของลูก

possessive_web_4

เวลามีคนมาขอของเล่นที่ลูกกำลังเล่นอยู่ คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรตัดสินใจแทนลูก บังคับให้ลูกรีบส่งของให้คนอื่นทัน หรือแย่งของเล่นออกมาจากมือลูกทันที แต่ควรถามและเปิดโอกาสให้ลูกตัดสินใจเองว่าจะรับมืออย่างไร แบ่งให้เพื่อนได้ไหม แล้วถ้าไม่อยากให้เป็นเพราะอะไร เพราะบางครั้งที่ ลูกหวงของ อาจจะเป็นเพราะเหตุผลเล็กๆ น้อยๆ เช่น กลัวของเล่นหาย กลัวเพื่อนทำของเล่นพัง และเมื่อรู้เหตุผลแล้ว คุณพ่อคุณแม่ควรคอยให้คำแนะนำและสอนให้เห็นถึงประโยชน์ของการแบ่งปันต่อไป หรือลองใช้โอกาสนี้สอนให้ลูกลองเอาใจเขามาใส่ใจเรา เช่น ถ้าลูกอยากเล่นกับเพื่อน แต่เพื่อนไม่ให้ของเล่นเลยจะรู้สึกอย่างไรก็ได้อีกด้วย

—อ่านบทความ: 5 วิธีสอนลูกให้รู้จักการให้ด้วยความเต็มใจ
อ้างอิง
askdrsears
brainkiddy

Supinya R.

ชอบอ่านนิยายสยองขวัญ ชอบเขียนไดอารี่ และเป็นคุณแม่จำเป็นในบางเวลา :-)

COMMENTS ARE OFF THIS POST