READING

สอนลูกอย่างไร? เมื่อเกิดเหตุการณ์รุนแรงและสะเทือนใ...

สอนลูกอย่างไร? เมื่อเกิดเหตุการณ์รุนแรงและสะเทือนใจ โดยไม่ทำให้ลูกกลัว

ปัจจุบัน สังคมมีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นมากมายไปหมด แม้ว่าอาจจะไม่ได้เป็นผู้ประสบภัยโดยตรง แต่เมื่อทราบข่าวแล้วก็อดที่จะสั่นขวัญหายไม่ได้

และทราบไหมคะว่า แค่เพียงภาพข่าวเสียงบรรยาย หรือเสียงเล่าถึงเหตุการณ์ที่รุนแรง ก็สามารถสร้างผลกระทบทางจิตใจให้เด็กๆ ไม่น้อย ไม่ว่าจะทำให้เด็กรู้สึกหวาดกลัว จดจำภาพได้ติดตา ระแวง และเป็นกังวลกับสิ่งต่างๆ ได้ง่าย ความรู้สึกเหล่านี้อาจจะเกิดขึ้นและหายไปเอง หรือจะเกิดขึ้นและคงอยู่ในจิตใจของเด็กไปตลอดชีวิตก็ยังได้

การหลีกเลี่ยงไม่ให้เด็กรับรู้เรื่องจริง อาจไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้องนัก แต่คงดีกว่าหากคุณพ่อคุณแม่จะเป็นคนอธิบายเหตุการณ์ต่างๆ ให้ลูกฟังด้วยตัวเอง อย่างมีสติและคัดกรอง เพื่อที่จะได้สังเกตความรู้สึกและท่าทีของลูก และพร้อมที่จะปลอบโยนให้ลูกรู้สึกมีความมั่นคงทางจิตใจต่อไป

1. ให้โอกาสลูกได้แสดงความรู้สึกที่มีต่อเหตุการณ์หรือเรื่องราวที่รับรู้มา

Deeplymoved_web_1

คุณพ่อคุณแม่อาจจะไม่อยากให้ลูกพูดถึงเหตุการณ์ที่ผ่านไปแล้วเป็นธรรมดา แต่แทนที่จะปิดกั้น ลองปล่อยให้ลูกได้บอกเล่าความรู้สึกหวาดกลัวหรือสิ่งที่สะเทือนจิตใจตัวเองออกมาให้คุณพ่อคุณแม่ฟัง ถือเป็นการเริ่มเรียนรู้วิธีรับมือกับความรู้สึกหลังเกิดเหตุการณ์รุนแรงไปในตัว

2. มีเวลาตอบคำถามลูกเสมอ

Deeplymoved_web_2

ไม่ใช่แค่เพียงเรื่องราวของเหตุการณ์รุนแรง แต่ยังรวมไปถึงเรื่องต่างๆ ที่อยู่ในข่าวหรือในความสนใจของคนหมู่มาก เช่น เรื่องภัยพิบัติ โรคระบาด หรืออุบัติเหตุสำคัญที่สามารถสร้างความกังวล และหวาดกลัวต่อตัวลูกได้

สิ่งสำคัญคือคุณพ่อคุณแม่ควรมีเวลาที่จะพูดคุยไขข้อสงสัยหรือช่วยหาคำตอบเมื่อลูกมีความสงสัยต่อเหตุการณ์ดังกล่าว พร้อมทั้งแสดงให้เขาเห็นว่าคุณพ่อคุณแม่ไม่ได้ตื่นตระหนกกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จะเป็นการทำให้ลูกรู้สึกมั่นใจ และปลอดภัยที่อยู่กับพ่อแม่ สิ่งที่ไม่ควรทำก็คือการต่อว่าหรือห้ามไม่ให้ลูกถามหรือรับรู้เรื่องราวดังกล่าว

3. สร้างความมั่นใจว่าหากเกิดเหตุร้าย คุณพ่อคุณแม่จะต้องให้ความช่วยเหลือลูกเสมอ

Deeplymoved_web_3

การสร้างความมั่นใจว่าลูกจะปลอดภัยจากเหตุการณ์รุนแรงได้ หากลูกอยู่กับคุณพ่อคุณแม่อย่างมีสติและปฏิบัติตามคำเตือนของผู้ใหญ่ เป็นอีกวิธีที่จะช่วยลดความกลัวของลูกลงได้

4. ทำกิจกรรมของตัวเองตามปกติ

Deeplymoved_web_4

หลังเหตุการณ์รุนแรงผ่านพ้นไป คุณพ่อคุณแม่ควรทำกิจวัตรประจำวัน หรือพาลูกไปทำกิจกรรมที่ลูกชอบตามปกติ เพื่อให้ลูกไม่ต้องไปโฟกัสอยู่กับเหตุการณ์เหล่านั้นมากเกินไป และไม่ทำให้เขารู้สึกว่าเหตุการณ์รุนแรงจะเข้ามาทำให้ชีวิตของเขาเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ไม่ดี

5. สอนให้ลูกรู้ว่าการทำร้ายและทำให้คนอื่นเดือดร้อนไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง

Deeplymoved_web_5

เมื่อเด็กๆ ได้ยินเรื่องราวว่ามีการทำร้ายหรือทำให้คนอื่นเสียชีวิต อาจเกิดความสับสนและเข้าใจผิดว่าการทำร้ายคนอื่นเป็นสิ่งที่ใครก็สามารถทำได้ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงควรสอนลูกให้เข้าใจว่าการกระทำแบบนี้เป็นความผิดที่ไม่มีใครยอมรับ เพราะเป็นการทำให้คนอื่นต้องเดือดร้อน เสียใจ และทุกข์ใจได้

อ้างอิง
centerforparentingeducation
helpguide
wmich

Anittha R

หลงรักธรรมชาติของความเป็นเด็ก ชอบดูหนัง ชอบหนังสือนิทาน รักการเลี้ยงต้นไม้ และใฝ่ฝันอยากทำสวนกระบองเพรชที่มีดอกเยอะๆ

COMMENTS ARE OFF THIS POST