เวลาที่ทารกตัวน้อยค่อยๆ ขยับมือจิ๋วขึ้นมาขยี้ตา ขึ้นๆ ลงๆ อาจดูน่ารักน่าเอ็นดู แต่พอสักพัก หนูน้อยก็จะเริ่มขยี้จนจมูกและหน้าเริ่มแดง มันคงไม่ดีแน่ ถ้าคุณปล่อยให้ลูกทำอย่างนั้นต่อไปเรื่อยๆ
คุณพ่อคุณแม่รู้ไหม ว่าการที่ทารกพยายามขยี้หน้าขยี้ตาตัวเองนั้น แปลว่าเขาพยายามจะสื่อสารสิ่งที่ต้องการให้คุณได้รู้
ถ้ารู้อย่างนั้นแล้ว เรามาดูกันว่า การขยี้ตาของทารกหมายถึงอะไรได้บ้าง
1. หนูง่วง
ถ้าทารกขยี้ตาไปด้วยและหาวไปด้วย หมายความว่าลูกกำลังเหนื่อยและง่วง การขยี้ตาเป็นสัญชาตญาณที่จะช่วยทำให้ดวงตาหายล้า ก็เหมือนกับเวลาที่เราใช้ขาเดินเยอะๆ เราก็ต้องมีการบีบนวด คลายกล้ามเนื้อขานั่นแหละค่ะ
2. ตาหนูแห้ง
ดวงตาจะมีเยื่อและน้ำหล่อเลี้ยงใสๆ คอยหล่อเลี้ยงอยู่ ถ้าเราลืมตาและตาโดนอากาศนานๆ น้ำหล่อเลี้ยงก็จะระเหย ทำให้ดวงตาแห้งได้ การขยี้ตาจะช่วยให้น้ำตาไหลออกมา เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ดวงตานั่นเอง
3. หนูสงสัย
นอกจากที่กล่าวมาแล้ว ทารกอาจอยู่ในช่วงของการพัฒนากล้ามเนื้อ ทำให้เขามีความสงสัย อยากจับนู่นสัมผัสนี่ไปหมด มันก็ไม่แปลก ถ้าลูกจะอยากสำรวจลักษณะของดวงตาโดยการเอานิ้วมือถูและขยี้ไปมา
4. มีอะไรเข้าตาหนูก็ไม่รู้
ทารกอาจขยี้ตาเมื่อมีอะไรมาทำให้ตาระคายเคือง ไม่ว่าจะเป็นฝุ่นผงหรืออะไรก็ตาม ถ้าลูกขยี้ตาจนบวมแดงและร้องไห้ แสดงถึงความไม่สบายตาแล้ว ในเบื้องต้นคุณอาจเอาก้านสำลีจุ่มน้ำเย็นแล้วค่อยๆ บีบให้น้ำไหลลงไปในตาของลูก เพื่อที่ฝุ่นผงจะได้หลุดออกมา และเอาผ้ามาเช็ดรอบดวงตาลูก
ที่สำคัญคือห้ามนำก้านสำลีอันเดิมมาเช็ดกับดวงตาอีกข้างเป็นอันขาด ถ้าอาการยังไม่ดีขึ้น คุณควรพาลูกไปพบแพทย์
ทำอย่างไรทารกถึงจะไม่ขยี้ตาล่ะ
การขยี้ตามากๆ อาจทำให้เกิดบาดแผลทั้งในดวงตา และเล็บของลูกก็อาจไปขีดข่วนผิวหน้าตัวเองได้ ดังนั้น คุณควรห้ามลูกด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
- ถ้าลูกขยี้ตามากเกินไป ให้หาถุงมือมาใส่ให้ลูก เพื่อที่เวลาที่ขยี้ตา เล็บจะได้ไม่ไปข่วนและทำให้เกิดบาดแผล
- เมื่อคุณเห็นลูกขยี้ตา คุณอาจจับมือลูกเพื่อขัดจังหวะ และหาของเล่นมาเบี่ยงเบนความสนใจของลูกแทน
NO COMMENT