READING

สอนลูกเรื่องทางม้าลาย ปลูกฝังวินัย และทักษะการใช้ถ...

สอนลูกเรื่องทางม้าลาย ปลูกฝังวินัย และทักษะการใช้ถนน

ทางม้าลาย

สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่และคุณครู สอนเด็กๆ เกี่ยวกับ ‘ทางม้าลาย’ ก็คือ เพื่อความปลอดภัยในการข้ามถนน เราควรยืนรอสัญญาณไฟ และข้ามถนนตรงทางม้าลาย เพราะเป็นจุดที่รถยนต์จะลดความเร็วและจอดรอเพื่อให้คนเดินข้ามถนนได้

แต่ถึงอย่างนั้น อุบัติเหตุที่เกิดกับคนเดินข้ามถนนจำนวนไม่น้อยก็เกิดขึ้นบริเวณทางม้าลาย จนสังคมต้องตั้งคำถามว่าแล้วเราจะฝากชีวิตและความปลอดภัยในการเดินข้ามถนนไว้กับเส้นสีขาวที่ผู้ใหญ่อย่างเราเองก็คอยสอนเด็กๆ ว่าเป็นบริเวณที่จะสามารถข้ามถนนได้อย่างปลอดภัยจริงหรือ…

อย่างไรก็ตาม วันนี้เราจะมาพูดถึงความเป็นมาของทางม้าลาย กฎหมายทางม้าลาย รวมถึงวิธีทักษะการเดินถนนให้ปลอดภัยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ให้ลูกกันดีกว่าค่ะ

ประวัติความเป็นมาของทางม้าลาย

crosswalk_1

ทางม้าลาย (Pedestrian Crossing) เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 1934 ที่ประเทศอังกฤษ ตอนนั้นทางม้าลายยังไม่มีชื่อเรียกที่แน่นอน แต่มีลักษณะเป็นการใช้สีสีเหลือง-น้ำเงินหรือสีขาว-แดง ทาเป็นเส้นตรงสลับช่องในแนวขวางถนน เพื่อให้คนใช้ข้ามถนนต่อมาจึงเริ่มมีการปรับใช้เส้นสีขาวเหมือนกันทั้งหมด ในปี 1951 พร้อมตั้งชื่อเรียกเส้นตรงนั้นว่า Zebra Crossing ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ ‘ทางม้าลาย’ ในภาษาไทย และเส้นสีขาวนั้นก็ถูกนำไปใช้ในหลายประเทศทั่วโลก

กฎหมายทางม้าลาย

ในประเทศไทย พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มีการระบุกฎหมายเกี่ยวกับทางม้าลายเอาไว้หลายมาตรา ซึ่งสามารถสรุปให้เข้าใจได้ง่าย ดังนี้

มาตรา 21: ผู้ขับขี่รถยนต์ทุกประเภทต้องทำตามสัญญาณจราจรและเครื่องหมายจราจร หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท

มาตรา 22: ผู้ขับขี่ต้องเลี้ยวรถหรือขับรถตรงไปตามทิศทางที่ลูกศรและสัญญาณจราจรชี้ ด้วยความระมัดระวัง และต้องให้สิทธิแก่คนเดินเท้าในทางข้ามหรือรถที่มาทางขวาก่อน

มาตรา 32: ระมัดระวังไม่ให้รถชนหรือโดนคนเดินเท้า หากจำเป็นต้องรีบให้สัญญาณเตือนคนเดินเท้าให้รู้ตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีเด็ก คนชรา หรือคนพิการกำลังใช้ทางเดินเท้า ผู้ขับขี้รถยนต์ยิ่งต้องระวังมากเป็นพิเศษ

มาตรา 46: ห้ามแซงรถคันอื่นภายในระยะ 30 เมตรก่อนถึงทางข้าม ทางร่วมทางแยกวงเวียน หรือเกาะที่สร้างไว้หรือทางเดินรถที่ตัดข้ามทางรถไฟ หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 400-1,000 บาท

มาตรา 57: ห้ามจอดรถในทางข้าม หรือในระยะ 3 เมตรจากทางข้าม หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 500 บาท

มาตรา 70: เมื่อเข้าใกล้ทางร่วม ทางแยก ทางข้ามเส้นให้รถหยุด หรือวงเวียน ต้องลดความเร็วของรถเสมอ

มาตรา 104: ห้ามคนเดินเท้าข้ามถนนนอกทางข้าม ในระยะไม่เกิน 100 เมตรจากทางข้าม

crosswalk_2

มาตรา 105: บริเวณที่มี ‘ไฟสัญญาณจราจรควบคุมคนเดินเท้า’ คนเดินเท้าต้องปฏิบัติตามไฟสัญญาณจราจร ดังนี้

1. สัญญาณจราจรไฟสีแดง ให้คนเดินเท้าหยุดรออยู่บนทางเท้า บนเกาะแบ่งทางเดินรถหรือในเขตปลอดภัย

2. สัญญาณจราจรไฟสีเขียวให้คนเดินเท้าข้ามทางเดินรถได้

3. สัญญาณจราจรไฟสีเขียวกระพริบ ให้คนเดินเท้าที่ยังไม่ได้เดินข้าม หยุดรอบนทางเท้า บนเกาะแบ่งทางเดินรถหรือในเขตปลอดภัย แต่ถ้ากำลังข้าม ให้รีบเดินอย่างรวดเร็ว

crosswalk_3

มาตรา 106: บริเวณที่มีไฟสัญญาณจราจรควบคุมการใช้ทาง คนเดินเท้าต้องปฏิบัติ ดังนี้

1. สัญญาณจราจรไฟสีแดง ให้รถหยุด ให้คนเดินเท้าข้ามทางภายในทางข้าม

2. สัญญาณจราจรไฟสีเขียว ให้รถผ่านทางด้านหนึ่งของทาง และไม่ให้คนเดินเท้าข้ามทางด้านนั้น

3. เมื่อมีสัญญาณจราจรไฟสีเหลืองหรือไฟสีเขียวกระพริบทางด้านใดของทาง ให้คนเดินเท้าที่ยังไม่ได้ข้ามหยุดรอบนทางเท้า เกาะแบ่งทางเดินรถ หรือในเขตปลอดภัย แต่ถ้ากำลังข้าม ก็ให้รีบเดินข้ามอย่างรวดเร็ว

สิ่งที่ควรจำก็คือ ผู้ขับขี่รถทุกชนิดจะต้องชะลอหรือเตรียมหยุดรถเมื่อพบทางม้าลายในระยะ 3 เมตร และรอให้คนเดินข้ามถนนก่อน จึงขับรถผ่านไปได้ และควรสังเกตไฟสัญญาณสำหรับคนข้ามถนน และขับรถด้วยความระมัดระวังทุกครั้ง

วิธีสอนลูกให้มีทักษะการใช้ถนนอย่างปลอดภัย

crosswalk_4

อุบัติเหตุบนท้องถนน ไม่เพียงเป็นอันตรายและสร้างความสูญเสียให้คนที่ใช้รถใช้ถนนเป็นประจำเท่านั้น แต่เด็กๆ ที่ยังขาดการไตร่ตรองและระมัดระวังตัวเอง ก็มีโอกาสได้รับอุบัติเหตุบนท้องถนนทั้งจากความประมาทของตัวเองและคนอื่นได้

คุณพ่อคุณแม่จึงควรสอนและปลูกฝังทักษะการใช้ถนนให้ลูกน้อย เพื่อลดโอกาสและป้องกันตัวเองจากการเกิดอุบัติเหตุได้

 

1. ปลูกฝังการเดินและระวังรถยนต์ตั้งแต่ยังเล็ก

การสอนให้ลูกมีทักษะเอาตัวรอดบนท้องถนนสามารถทำได้ด้วยการพาลูกออกไปดูรถบนท้องถนน อาจเริ่มจากถนนหน้าบ้านเพื่อให้ลูกเรียนรู้ว่าบนถนน จะมีรถแล่นผ่านไปมาเสมอ ดังนั้นการเดินถนนจะต้องมีสติ รู้จักมองถนน และสังเกตรถยนต์ที่ขับไปมาเสมอ

หากลูกต้องการข้ามถนนเส้นเล็กๆ หน้าบ้าน อาจไม่มีทางม้าลายก็จริง แต่ลูกต้องรอจนกว่าจะแน่ใจว่าไม่มีรถยนต์ผ่านมา หรือรถยนต์อยู่ในระยะไกลแค่ไหนถึงจะปลอดภัยในการข้ามถนนมากที่สุด

 

2. ใช้สะพานลอย ทางม้าลาย และสังเกตสัญญาณไฟก่อนข้ามถนนทุกครั้ง

เมื่อลูกถึงวัยที่ต้องเดินทางไปไหนมาไหนด้วยตัวเอง คุณพ่อคุณแม่ควรที่จะสอนลูกถึงวิธีการข้ามถนนที่ถูกต้อง เช่น ให้ลูกใช้สะพานลอย หรือใช้ทางม้าลายในการข้ามถนนทุกครั้ง ทั้งนี้คุณพ่อคุณแม่ควรสอนเรื่องสัญญาณไฟสำหรับข้ามทางม้าลายด้วย

 

3. สร้างจิตสำนึกที่ดีเมื่อขับขี่รถ

เมื่อคุณพ่อคุณแม่เป็นผู้ขับขี่รถยนต์อยู่ ก็สามารถปลูกฝังวินัยการขับรถและสอนเรื่องความปลอดภัยให้กับลูกได้ เช่น การให้ลูกใช้คาร์ซีตจนกว่าจะโตพอที่ลูกจะใช้เข็มขัดนิรภัยได้ทุกครั้งที่อยู่บนรถ และเป็นตัวอย่างที่ดีในการขับรถบนท้องถนน เพื่อปลูกฝังให้ลูกมีจิตสำนึกในการใช้รถใช้ถนน ก็ถือเป็นการสร้างคนขับขี่รถยนต์ที่มีคุณภาพ ช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุต่อไปได้

อ้างอิง
tnnthailand
matichon
thairath
tqm

Supinya R.

ชอบอ่านนิยายสยองขวัญ ชอบเขียนไดอารี่ และเป็นคุณแม่จำเป็นในบางเวลา :-)

COMMENTS ARE OFF THIS POST