READING

อยากให้กรุงเทพฯ เป็นยังไง: ในสายตาคุณพ่อ รองผู้ว่...

อยากให้กรุงเทพฯ เป็นยังไง: ในสายตาคุณพ่อ รองผู้ว่าฯ และหัวหน้าครอบครัว ‘หวังสร้างบุญ’

ศานนท์ หวังสร้างบุญ

ตั้งแต่กรุงเทพฯ มีผู้ว่าราชการชื่อ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ต้องยอมรับว่า หนึ่งในทีมงานที่ได้รับการจับตามองในฐานะ รองผู้ว่าฯ ที่อายุน้อยที่สุดในปฐพี เอ๊ย! น้อยที่สุดเท่าที่ประเทศไทยเคยมีมาก็คือ รองผู้ว่าฯ ศานนท์ หวังสร้างบุญ ชายหนุ่มวัย 33 ปี ที่ก่อนหน้านี้ เราได้เห็นการให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการเข้ามารับตำแหน่งอย่างไม่ทันตั้งตัวมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง

นอกจากตำแหน่ง รองผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานครแล้ว คุณศานนท์ ยังเพิ่งได้รับตำแหน่ง คุณพ่อมือใหม่ ของลูกชายวัย 10 เดือน ที่มีชื่อแสนน่ารักว่า ‘ตื่นเช้า’ เราแอบคิดว่า หรือการตื่นเช้า จะฝังอยู่ในสายเลือดและจิตใจของทีมงานผู้ว่าฯ ชัชชาติทุกคน ขนาดคุณศานนท์ยังใช้คำว่า ‘ตื่นเช้า’ มาเป็นชื่อลูกชายสุดที่รักกันเลยทีเดียว

แต่เมื่อเรามีโอกาสแอบถามถึงที่มาของชื่อตื่นเช้า จาก หนูดี—จิตชนก ต๊ะวิชัย ภรรยาผู้อยู่เบื้องหลังการตัดสินใจครั้งสำคัญของคุณพ่อน้องตื่นเช้า คำตอบกลับตรงกันข้าม “อ๋อ… เพราะว่าพ่อเค้าเป็นคนตื่นสายค่ะ”

เราพอจะรู้ว่า ครอบครัวคุณศานนท์ (ภรรยาและลูกชาย) ทำธุรกิจและใช้ชีวิตอยู่ที่จังหวัดเลยเป็นหลัก แต่เมื่อหน้าที่การงานทำให้คุณพ่อต้องปักหลักทำงานและใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงเทพฯ มากกว่า การเปลี่ยนแปลงจึงไม่ได้เกิดขึ้นกับตัวคุณศานนท์เท่านั้น

เมื่อเวลาของการรับตำแหน่ง ผ่านมาได้สักระยะ เราจึงถือโอกาสขอเข้าไปพูดคุยกับครอบครัว หวังสร้างบุญ อย่างพร้อมหน้าพร้อมตา เพราะหัวหน้าครอบครัวนี้คงจะไม่ได้มาทำหน้าที่นี้ หากไม่ได้ความเข้าใจอย่างที่สุดจากคนสำคัญในครอบครัว

ทั้งสองคนเติบโตมาในครอบครัวและการเลี้ยงดูที่เหมือนหรือต่างกันอย่างไร

ศานนท์: ผมโตมาในครอบครัวคนจีนที่ทำงานค้าขาย แต่พอช่วงปี 2540 ที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ คุณพ่อก็เลยไม่ได้ทำงาน หัวเรี่ยวหัวแรงหลักของบ้านก็กลายเป็นคุณแม่ ตอนเด็กๆ ผมก็ต้องช่วยงานที่ร้าน ช่วยงานที่บ้าน เรียกง่ายๆ ว่าเป็นคนทำงานมาตั้งแต่เด็ก

เป็นเด็กแบบไหน

ศานนท์: เป็นเด็กเรียนเลยครับ เป็นคนชอบเรียน แต่ก็เตะบอลเล่นกีฬา แล้วตอนเด็กๆ ก็ชอบได้เป็นหัวหน้าห้อง แต่ไม่ได้ถือว่าเป็นเด็กทำกิจกรรมอะไรใหญ่โต

หนูดี: เราเกิดในครอบครัวข้าราชการ คุณพ่อคุณแม่เป็นข้าราชการ แต่มีจุดพลิกผันตรงที่คุณพ่อเสีย ตอนเราอายุ 8 ขวบ คุณแม่ก็เลยกลายเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว แต่ด้วยความที่จังหวัดเลยที่เราเกิดและโตมันเป็นจังหวัดท่องเที่ยว มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาตลอด คุณแม่ก็เริ่มเห็นโอกาสที่จะทำธุรกิจ ก็เลยออกจากราชการแล้วมาทำธุรกิจท่องเที่ยว ทำลานกางเต๊นท์ ตั้งแต่ช่วงที่เราอยู่มัธยมต้น แล้วเราก็ช่วยคุณแม่มาตั้งแต่ตอนนั้น ก็เลยกลายเป็นเด็กที่ช่วยกิจการครอบครัวมาตลอดเหมือนกัน

เป็นลูกสาวที่คุณแม่เลี้ยงดูแนวไหน เช่น เข้มงวด หรือค่อนข้างอิสระ

หนูดี: คุณแม่จะเลี้ยงแบบไม่ได้มีกรอบอะไรมาก แต่เราก็รู้ว่าเขามีความคาดหวัง เพียงแต่เขาไม่ได้แสดงออก และเขาไม่เคยแสดงความเสียใจออกมา เวลาที่เราไม่เป็นไปตามที่เขาคาดหวัง เราก็เลยมีความก้ำกึ่งครึ่งๆ กลางๆ เพราะรู้ว่าแม่คาดหวังอะไร แต่ก็รู้ว่าตัวเองทำได้แค่ไหน มันก็เลยมีช่วงที่ต้องคุยกับแม่เพื่อหาตรงกลางร่วมกัน แล้วก็ผ่านมันมาได้

ถ้าวันนี้คุณศานนท์ไม่ได้ทำงานอย่างที่เป็นอยู่ ครอบครัวหวังสร้างบุญจะกำลังทำอะไรอยู่ที่ไหน

ศานนท์: ก็คงอยู่ที่เลยมากกว่า แต่ผมก็คิดว่าจะกลับมาทำโฮสเทลที่เคยทำไว้ที่กรุงเทพฯ อยากจะรีโนเวตใหม่ แล้วเปิดใหม่ช่วงปลายปี หลังจากนั้นก็คงอยู่เลยครึ่งนึง อยู่กรุงเทพฯ ครึ่งนึง

แล้วที่คิดว่าจะไปอยู่จังหวัดเลย ตั้งใจว่าจะทำอะไร

ศานนท์: กิจการที่นู่นก็มีอะไรที่ต้องปรับเยอะเหมือนกัน (หมายถึงกิจการรีสอร์ตของครอบครัวภรรยา) เราก็คิดว่าค่อยๆ ทำไป เพราะเป็นธุรกิจโรงแรมเหมือนกัน แล้วก็กะว่าจะทำธุรกิจอาหาร เพราะว่ามันก็เชื่อมโยงกันได้ อันนี้คือสิ่งที่แพลนไว้หลวมๆ ยังไม่ได้ตกผลึกขนาดนั้น

แล้วพอต้องรับตำแหน่ง ที่คิดไว้มีอะไรเปลี่ยนไปบ้าง

ศานนท์: ก็คือเปลี่ยนหมดเลย เพราะทั้งหมดที่พูดมาก็ยังไม่ได้ทำ (หัวเราะ)

เป็นแค่การ pause ไว้ก่อน หรือคิดว่าต้องเปลี่ยนแผนไปเลย

ศานนท์: ผมคิดว่าแผนนั้นมันทำได้ตลอดชีวิต เหมือนที่คุณแม่หนูดีทำ เขาก็สามารถทำได้ตลอดชีวิต เราก็คิดว่าถ้าถึงเวลานั้น เราคงกลับไปทำได้ มันก็แค่ช่วงนี้ที่ต้องบริหารทุกอย่างให้ได้ ต้องทำให้ทางนั้นมีกำไร ต้องมีลูกน้อง ส่วนโฮสเทลทางนี้ก็ต้องทำใหม่ แต่คงเป็นการหาตัวแทนมาทำมากกว่า

ตอนที่ตัดสินใจว่าจะอยู่ทำงานที่กรุงเทพฯ ปรึกษากันยังไง

ศานนท์: ผมก็ โทร. ไปถามเขาตอนนั้นเลย เฮ้ย เธอ อาจารย์เขาชวน…

หนูดี: เราเคยผ่านจุดที่ไม่ให้เขาทำบางอย่างที่เขาอยากทำมาแล้ว แล้วรู้เลยว่าเขาไม่มีความสุข เหมือนเราไป pause ความสุขเขาไว้ ครั้งนี้ก็เลยคิดว่า ในเมื่อเราเห็นมาตลอดว่ามันเป็นงานที่เขาทุ่มเทมานานมาก เขาอยู่กับทีมอาจารย์ชัชชาติมาตั้งแต่ที่อาจารย์คิดจะสมัครผู้ว่าฯ โดยที่ยังไม่รู้ว่าจะมีการเลือกตั้งเมื่อไหร่ เราเห็นเขาทำมาตั้งแต่ตอนนั้น ปีแรกที่มีโควิด-19 เขาก็ปรับอินเทอร์เน็ตทั้งบ้าน เพื่อให้ทำงานได้ ใช้ประชุมได้ เรารู้ว่าเขามีแพสชั่นกับงานนี้มากๆ และถ้าไปหยุดความสุขเขา มันก็คงไม่มีอะไรขับเคลื่อนชีวิตเขาแล้ว เลยคิดว่า ให้เขาทำอะไรที่อยากทำดีกว่า

“ถ้าเขาไม่ได้ทำงานนี้มาตั้งแต่แรก แล้วอยู่ดีๆ อาจารย์มาชวนให้ไปเป็นรองผู้ว่าฯ หน่อยสิ เราก็คงให้เขาปฏิเสธ เพราะรู้สึกว่าอาจจะเป็นงานที่ฉาบฉวย แต่พอเป็นสิ่งที่เขาตั้งใจทำมาตลอด ก็เลยไม่ลังเล คิดว่าเราควรให้เขาทำสิ่งที่มีความสุข แล้วเขาจะได้กลับมามีความสุขกับครอบครัวได้”

ตอนนั้นตอบตกลงทันที หรือขอเวลาตัดสินใจก่อน

หนูดี: ตกลงทันที แต่สมมติ ถ้าเขาไม่ได้ทำงานนี้มาตั้งแต่แรก แล้วอยู่ดีๆ อาจารย์มาชวนให้ไปเป็นรองผู้ว่าฯ หน่อยสิ เราก็คงให้เขาปฏิเสธ เพราะรู้สึกว่าอาจจะเป็นงานที่ฉาบฉวย แต่พอเป็นสิ่งที่เขาตั้งใจทำมาตลอด ก็เลยไม่ลังเล คิดว่าเราควรให้เขาทำสิ่งที่มีความสุข แล้วเขาจะได้กลับมามีความสุขกับครอบครัวได้

แล้วคิดว่าการแยกกันอยู่มากกว่าได้อยู่ด้วยกัน มันจะส่งผลกระทบกับครอบครัวหรือลูกที่ยังเล็กไหม

หนูดี: เราคิดว่า ณ วันที่ตอบตกลง มันยังไม่จำเป็นต้องคิดว่าเราจะทำยังไงต่อไป เดี๋ยวเราค่อยมาคุยกันก็ได้ ว่าจะให้ลูกมาหา หรือว่าเขาจะกลับไปได้บ่อยแค่ไหน มันเป็นเรื่องที่ค่อยมาคุยกันต่อได้ แต่โอกาสที่เขาจะได้ทำสิ่งที่อยากทำมันมาถึงแล้ว คือเรารู้ว่าเขาอยากทำกรุงเทพฯ ให้ดีขึ้น และเขาก็อยากกลับไปทำบ้านเราที่นู่นให้ดีขึ้นเหมือนกัน แต่ถ้าเขาได้ทำตรงนี้ก่อน วันนึงเขาก็กลับไปช่วยเราที่นู่นได้

ถ้าวันนั้นหนูดีบอกว่า อย่าเลย คุณศานนท์จะ…

ศานนท์: ผมก็อาจจะไม่ทำ เพราะผมว่าการเลี้ยงลูกมันเหนื่อยนะ เห็นเขาเลี้ยง เราก็รู้ว่ามันไม่ใช่ง่ายๆ และใจผมตอนนั้นก็คิดว่างานนี้มันอาจจะเร็วไปสำหรับผม ผมจะทำได้ไหม เราคิดว่าอายุเราน่าจะไม่ถึงด้วยซ้ำ เพราะเราไม่เคยหาข้อมูลไว้ก่อน คิดว่าต้องสักอายุ 35 ขึ้นไป เรียกว่าไม่มีความรู้เรื่องตำแหน่งมาก่อน แต่ว่ามันเป็นงานที่เราอยากทำอยู่แล้ว

มีแอบคิดไว้บ้างไหมว่าถ้าอาจารย์ชนะเลือกตั้งแล้วเราจะได้ตำแหน่งอะไรสักอย่าง

ศานนท์: ผมคิดว่าอาจารย์เขาน่าจะมีคนในใจเขาอยู่แล้ว แต่จริงๆ ก็รู้ว่าแกไม่ได้มีใครเยอะ เพียงแต่ไม่ได้คิดว่าแกจะมาให้โอกาสแบบนี้ เพราะว่าต่อให้ผมไม่ได้ตำแหน่งรองผู้ว่าฯ ผมก็จะอยู่ในทีมและช่วยแกทำงานอยู่ดี

ผ่านมาถึงวันนี้หนูดีคิดว่าตัดสินใจถูกไหม

หนูดี: ถ้าถามตอนนี้ ก็ยังคิดว่าตัดสินใจถูกอยู่นะ เพราะงานของเราที่เลยมันไม่ได้ยุ่งตลอดเวลา แต่ว่าเราก็เหมือนต้องทำอะไรคูณสอง คือทำงานหนักมากขึ้น เพราะเราตั้งใจว่าจะเลี้ยงลูกเอง อย่างมากก็มีคุณย่าคุณยายในบ้านช่วยเลี้ยง แต่ที่จริงในใจเราลึกๆ คืออยากเป็นแม่ฟูลไทม์ ที่ไม่ต้องทำงานเลยนะ เฝ้าลูกตลอดเวลา (หัวเราะ) แต่พอหน้างานมันไม่ได้ หรือเรียกว่าทำได้แค่ระดับนึง และงานมันก็ยังไม่ถึงจุดที่ยุ่งขนาดที่เราจะทำไปด้วยและเลี้ยงลูกไปด้วยไม่ได้ ตอนนี้ก็เลยคิดว่ามันดีแล้ว อยู่ที่เราจะปรับยังไงให้มันลงตัวมากกว่า

ตอนนี้วิถีชีวิตของครอบครัวเป็นยังไง หาเวลาอยู่ด้วยกันยังไง

ศานนท์: สลับกันเนอะ

หนูดี: สลับกัน อย่างเช่น ถ้าเป็นช่วงวันหยุดยาว ต่างจังหวัดจะค่อนข้างยุ่ง เพราะคนออกไปเที่ยว แต่ในกรุงเทพฯ จะโล่ง และก็โชคดีที่ทุกวันหยุดยาว เขาก็จะได้หยุด เพราะว่าเป็นข้าราชการ เขาก็จะกลับไปช่วยเราที่นู่น ส่วนงานเราก็จะว่างวันธรรมดามากกว่า ก็เป็นฝ่ายพาลูกมากรุงเทพฯ ประมาณเดือนละครั้ง ครั้งละสัปดาห์ ให้เขาค่อยๆ ปรับตัวกับที่นี่ด้วยว่าอยู่ได้ไหม โอเคไหม แต่ช่วงนี้ก็เหมือนคนมีบ้านสองที่

บทบาทหน้าที่การเลี้ยงดูของพ่อกับแม่เป็นยังไงบ้าง 

ศานนท์: เขาหมดเลยฮะ (ชี้ไปทางภรรยาแล้วหัวเราะ)

หลายบ้านมักจะให้แม่เป็นฝ่ายเข้มงวดและพ่อเป็นฝ่ายเอนเตอร์เทน

หนูดี: คิดว่าเขายังเล็กจนไม่รู้จะไปเข้มงวดยังไง นี่อยากให้เลิกกินมื้อดึกยังทำไม่ได้เลย (หัวเราะ) ปกติเราเลี้ยงเองตลอด แต่ช่วงที่เขาเริ่มโตขึ้น ก็เริ่มอยู่กับพ่อได้นานขึ้น พอวันหยุดยาว พ่อก็มีหน้าที่เลี้ยง เพราะว่าแม่จะได้ทำงาน

แต่ที่จริง ก่อนที่พ่อเขาจะเข้ามาทำงานเต็มตัว เราก็ช่วยกันเลี้ยงมาตลอด ตื่นมาดึกๆ ก็จะเห็นภาพเขาหลับไปพร้อมลูก

ศานนท์: ผมก็เลี้ยงได้ แบบไม่มีนมให้ลูกกิน (หัวเราะ)

ที่ผ่านมาตื่นเช้าได้ลองมาใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ สลับกับอยู่บ้านที่ต่างจังหวัด คิดว่าเขาเหมาะกับที่ไหนมากกว่า

หนูดี: ถ้าหมายถึงความชอบของเขา คิดว่าเขายังแยกไม่ออก แต่เราได้เห็นว่าเขาสังเกตมากขึ้น ที่ไหนมีนก มีจิ้งจก หรือระหว่างทางที่เขามา เขาได้เห็นทั้งภูเขาทั้งเมือง เราก็คิดว่ามันคงจะช่วยกระตุ้นพัฒนาการของเขาได้ แต่เราก็ยังไม่รู้ว่าเขาชอบที่ไหนมากกว่า เพราะว่าเขาเด็ก อยู่ที่ไหนเขาก็เล่นได้ทุกอย่าง

“ถามว่าอยากให้ลูกอยู่ต่างจังหวัดไหม ต้องบอกว่า อยากให้ลูกมีคุณภาพชีวิตที่ดี อย่างเราทำงานอยู่กรุงเทพฯ ก็อยากให้กรุงเทพฯ มีอะไรดีขึ้น ซึ่งตอนนี้ก็พยายามทำอยู่”

ในสายตาพ่อแม่อยากให้ลูกเติบโตที่ไหนมากกว่า

ศานนท์: ผมอยากให้อยู่ต่างจังหวัด

หนูดี: เราคิดว่ายุคนี้แล้ว ต่างจังหวัดหลายที่ก็ไม่ได้คุณภาพชีวิตด้อยขนาดนั้น เรามีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง มีอากาศที่ดี มีอาหารที่ดี

ศานนท์: ผมว่ามันเป็นชาเลนจ์ของกรุงเทพฯ ด้วยแหละ จริงๆ แล้วกรุงเทพฯ เรามีทรัพยากรน้อย แต่คนต้องแย่งกันคุณภาพชีวิตต่างจังหวัดก็เลยดีกว่า แล้วกรุงเทพฯ ก็ยังมีโจทย์หลายอย่างที่ต้องพัฒนา เช่น น้ำไม่ระบาย รถติด PM2.5 อะไรพวกนี้ ถามว่าอยากให้ลูกอยู่ต่างจังหวัดไหม ต้องบอกว่า อยากให้ลูกมีคุณภาพชีวิตที่ดี อย่างเราทำงานอยู่กรุงเทพฯ ก็อยากให้กรุงเทพฯ มีอะไรดีขึ้น ซึ่งตอนนี้ก็พยายามทำอยู่

หนูดี: แต่ต่างจังหวัดก็อาจจะเสียเปรียบเรื่องการศึกษา ไม่ได้พูดถึงโรงเรียนนะ แต่หมายถึงทางเลือก อย่างอยู่ที่เลยก็ไม่รู้จะให้ไปเรียนว่ายน้ำที่ไหน แต่มากรุงเทพฯ เขาก็มีโอกาสเรียนว่ายน้ำ มีโรงเรียนสอนดนตรี มีโรงเรียนสอนพัฒนาการให้เลือกเยอะมาก แต่ต่างจังหวัดหายากนะ สมมติถ้าเรามีลูกสาวแล้วเกิดอยากให้ลูกเรียนบัลเล่ต์ขึ้นมา ที่นู่นก็จะไม่มี (หัวเราะ) ยิ่งเราอยู่ต่างจังหวัดที่อยู่นอกอำเภอเมืองไปอีก ก็ยิ่งโอ้โห ไม่รู้จะไปหาที่ไหน

แล้วถ้าถึงเวลาที่ตื่นเช้าต้องเข้าโรงเรียน คิดว่าจะให้เรียนที่ไหน

หนูดี: จริงๆ ตอนแรก ถ้าอยู่ที่เลยก็คิดว่าอยากโฮมสกูล เราจะแบ่งหน้าที่กันว่าใครจะดูแลเรื่องไหน คิดว่าเดี๋ยวต้องเตรียมเขียนหลักสูตร แต่พอตอนนี้ชีวิตมันพลิกผัน พ่อเขามาอยู่กรุงเทพฯ เราก็เลยคิดว่าเดี๋ยวช่วงอนุบาลให้เขาลองเข้าโรงเรียน ได้เรียนรู้สังคม ได้อยู่กับเพื่อนก่อน แล้วพอประถม ค่อยมาคิดเรื่องโฮมสกูลกันอีกที เพราะว่าที่เลยก็มีเด็กๆ รุ่นใกล้ๆ กับตื่นเช้าหลายคน อาจจะมัดรวมแล้วเรียนโฮมสกูลด้วยกันเลย

ยุคที่คนรุ่นใหม่ส่วนมากไม่อยากมีลูก ทำไมครอบครัวเราถึงตัดสินใจมีลูกในช่วงที่ผ่านมา

ศานนท์: ผมรู้สึกว่าบางทีพ่อแม่อาจจะรู้สึกเป็นเจ้าของลูกเกินไป แต่ผมไม่ได้รู้สึกเป็นเจ้าของลูกมาก แต่ก็ไม่รู้ว่าเป็นความคิดที่ถูกหรือเปล่านะ แต่ผมรู้สึกว่าการให้กำเนิดหรือการเลี้ยงดูเริ่มต้น เป็นหน้าที่ของพ่อแม่ แต่ว่าหลังจากนั้นผมก็ไม่ค่อยเป็นห่วงว่าเขาจะเป็นอะไร หรือเจออะไร มันก็เป็นเรื่องของชีวิตเขาแล้ว

หรือว่าคนรุ่นเราอาจจะคิดเยอะเกินไป คิดว่าโลกเป็นแบบนี้มีลูกแล้วเขาจะอยู่ยังไง แต่ว่าเขาเป็นคนอะ เจออะไรก็ต้องสู้ไปดิ สู้ไม่ไหวก็ค่อยว่ากัน แต่ว่าเราไม่อยากเอาข้อจำกัดต่างๆ มาตัดสินว่าเดี๋ยวลูกเกิดมาแล้วจะอยู่ไม่ได้ หรือสู้ไม่ได้ เราอาจจะ underestimate ลูกมากเกินไปก็ได้ จริงๆ แล้วลูกอาจจะชอบความท้าทายก็ได้ (หัวเราะ)

หนูดี: นี่ไม่ได้คิดถึงเรื่องการต่อสู้อะไรอย่างนั้น แต่เรามีความรู้สึกว่า ชีวิตครอบครัวในแบบที่เราโตมา มันทำให้เราอยากเลี้ยงดูใครสักคนที่เราได้เห็นพัฒนาการการเติบโตของเขา ในช่วงเวลานึงที่เรายังมีสิทธิ์ในตัวเขา ก็คือช่วงที่เขายังเด็ก และเราได้เห็นว่าจะส่งให้เขาไปต่อยังไง นี่คือสิ่งที่เติมเต็มความรู้สึกเรา

ศานนท์: ตื่นเช้านี่ก็ผลผลิตโควิดนะ (หัวเราะ)

หนูดี: ใช่ เพราะตอนแรกก็ยังไม่ได้คิดว่าจะมี เราอยากไปดำน้ำก่อน ไม่ได้ดำน้ำมานานมาก มันเป็นมิชชั่นที่อยากทำมาก แต่พอโควิดรอบสองมา เราก็เริ่มคิดว่าไม่รู้จะต้องรออีกนานแค่ไหน งั้นไม่รอละ มีลูกเลย (หัวเราะ)

ภาพรวมของเด็กที่เติบโตในกรุงเทพฯ กับเด็กที่เติบโตต่างจังหวัด มีอะไรที่อยากหยิบข้อดีของแต่ละที่มาผสมกัน

ศานนท์: จริงๆ ก็เป็นเรื่องของโอกาส เด็กกรุงเทพฯ ก็มีทางเลือกมากกว่า มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่ดี ถ้าเรามีเงินมันก็ยิ่งดี มีที่ให้ลูกเรียนว่ายน้ำ มีนั่นมีนี่

หนูดี: แต่ว่าทุกอย่างก็เป็นค่าใช้จ่าย

ศานนท์: และธรรมชาติก็ไม่ค่อยดี อากาศไม่ดี แต่เด็กก็ควรได้อยู่กับดิน ได้เข้าใจธรรมชาติ ไม่ใช่อยู่แต่กับตึกกับปูนกับรถ เราก็ต้องเอามาครอสกัน ถ้าทำให้กรุงเทพฯ เป็นอย่างนั้นได้ก็จบ

อะไรง่ายกว่ากัน…

ศานนท์: ผมว่าคนถามน่าจะรู้คำตอบอยู่แล้ว มันเห็นกันอยู่ (หัวเราะ)

หนูดี: เราว่าทำต่างจังหวัดให้มีโอกาสพอๆ กับกรุงเทพฯ น่าจะง่ายกว่า เพราะว่ามันเป็นไปได้ แต่ว่าหมายถึงพ่อแม่ที่ต่างจังหวัดก็ต้องมีความพร้อมด้วยนะ แต่ข้อดีของต่างจังหวัดก็คือเรายังไปมาหาสู่กันได้ แบ่งปันกันได้ หรือได้อยู่ในสังคมที่ใครเดินผ่านมาก็ทักทาย สวัสดีกันได้ มันก็มีหลายอย่างที่ต่างจังหวัดทำให้เรารู้สึกถึงการมีความสัมพันธ์กับคนอื่นมากกว่ากรุงเทพฯ

ถ้าทำได้อยากเตรียมอะไรในกรุงเทพฯ ไว้รองรับเด็กในรุ่นต่อไป

ศานนท์: จริงๆ กรุงเทพฯ เรามีศูนย์เด็กเล็กที่ชุมชนดูแลอยู่ประมาณสองร้อยกว่าที่ แต่เรามีเด็กที่ต้องดูแลประมาณแปดหมื่นคน ซึ่งกทม. ดูแลเด็กกลุ่มนี้อยู่ประมาณหนึ่งหมื่นหกพันคน มันก็เลยมีแก๊ปของเด็กอีกประมาณหกหมื่นกว่าคนที่พูดง่ายๆ ว่าเขาต้องอยู่อย่างตามมีตามเกิด แต่ในหกหมื่นคนนี้อาจจะมีสัก 1 เปอร์เซ็นต์ที่บ้านรวย คือไม่ต้องการช่วยเหลือดูแลจากเรา แต่ว่าเราก็ยังเหลือเด็กที่เติบโตตามมีตามเกิดเยอะมาก เพราะงั้นผมว่าเราควรทำศูนย์เด็กเล็กให้ดี เพราะถ้าเราไปดูงานวิจัย เขาจะบอกว่าเด็กในช่วงอายุ 0-6 ปี สำคัญมาก เราจะทำยังไงให้เด็กมีพัฒนาการที่ดี มี EF ดี ถ้าเราปล่อยช่วงเวลานี้ แล้วไปดูแลตอนเขาเข้า ป.1 ผมว่าสายไปแล้ว นี่คือหัวใจของเรื่องนี้เลย แล้วมันก็จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้ ถ้าเด็กมีการเติบโตที่ดี สติปัญญาดี เรียนรู้ดี เท่าทันโลก เขาก็จะหลุดจากกรอบ social mobility ไปได้

ซึ่งเป็นไปได้…

ศานนท์: ได้ครับ มีงบประมาณมาแล้ว น่าจะเร็วๆ นี้แหละ


Sisata D.

Editor in Chief, ชอบเล่นกับลูกคนอื่นและอัพรูปหลานลงอินสตาแกรม

COMMENTS ARE OFF THIS POST