READING

INTERVIEW: เมื่อการแคมป์ปิ้งคือคำว่าครอบครัว คุยกั...

INTERVIEW: เมื่อการแคมป์ปิ้งคือคำว่าครอบครัว คุยกับคุณพ่อคิมหันต์—ณัฐพล ไชยขันธ์ (เจ้าของเพจ GuStory)

เคยคุยกับหลายครอบครัวว่าการมีลูกเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคนเป็นพ่อและแม่อย่างไรบ้าง มานึกตอนนี้ แทบจะไม่มีครอบครัวไหนที่บอกว่าการมีลูกไม่สร้างความเปลี่ยนแปลง เพียงแต่จะเปลี่ยนแปลงด้านไหน เปลี่ยนอย่างไร และมากน้อยแค่ไหนต่างหาก

ตอนเป็นคู่รักหรือสามีภรรยา การเก็บเสื้อผ้าลงกระเป๋าเดินทาง เพื่อไปเที่ยวพักผ่อนดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่ไม่มีใครอยากปฏิเสธ แต่พอมีลูกขึ้นมาสักคน การเดินทางไปเที่ยวกันทั้งครอบครัว ถึงแม้จะมีช่วงเวลาแห่งความสุขเป็นจุดหมายปลายทาง ก็ต้องยอมรับว่า พาลูกไปเที่ยวมันเหนื่อยจริงๆ เล้ย!

พ่อแม่หลายคน ก่อนจะพาลูกไปเที่ยวพักผ่อนแต่ละทีก็เลยต้องเลือกแล้วเลือกอีก ที่พักไหนหรือโรงแรมอะไร ที่พอจะช่วยอำนวยความสะดวกและแบ่งเบาภาระให้ครอบครัวเราได้…

แต่แล้วเราก็พบว่าความสะดวกสบายที่ว่า อาจไม่ใช่การเที่ยวที่ตอบโจทย์สำหรับทุกครอบครัว เมื่อเรามีโอกาสได้พูดคุยกับ คิมหันต์—ณัฐพล ไชยขันธ์ คุณพ่อและเจ้าของแชแนลยูทูบGuStory ผู้รักและหลงใหลการแคมป์ปิ้งที่เคยเกือบละทิ้งความชอบนี้ไปตอนมีลูก จนกระทั่งวันที่พบว่าเขาสามารถพาลูกและแม่ของลูก ออกเดินทางด้วยอุปกรณ์แคมป์ปิ้งเต็มคันรถ ช่วยกันกางเต็นท์ ทำอาหาร และใช้เวลาร่วมกันอย่างมีความสุขได้แม้จะไม่สะดวกสบายเท่าที่พักอื่นๆ ก็ตาม

ขอบคุณภาพจากเพจ GuStory

จุดเริ่มต้นของการไปแคมป์ปิ้ง

ตัวผมชอบเที่ยวแคมป์มาเป็นสิบปีแล้วนะ แต่พอมีลูกปุ๊บ ก็หยุดไปแคมป์ประมาณ 7-8 ปีได้ ระหว่างนั้นก็เปลี่ยนเป็นเที่ยวแนวรีสอร์ตตลอด เพราะคิดว่าลูกยังเล็กและรีสอร์ตก็สะดวกกว่า

แต่พอไปแต่แบบนั้นก็กลายเป็นว่าลูกไม่ค่อยได้ช่วยเหลือตัวเองเท่าไหร่ คือแค่เดินเข้าไปก็มีทุกอย่างซัพพอร์ต มีอาหารเช้า มีเวลคัมดริงก์ มาสังเกตอีกทีก็รู้สึกเหมือนเขาทำอะไรไม่ค่อยเป็น เริ่มมีพฤติกรรมรอเครื่องดื่มมาเสิร์ฟ คอยถามพ่อว่าวันนี้มีอาหารเช้าไหม คือเราอยากให้ลูกตื่นมาแล้วอยากจะหาของกินเองบ้างไม่ใช่แค่นั่งรอที่โต๊ะ รวมถึงเวลาไปรีสอร์ตเขาก็จะไม่ได้เล่นจับดินจับทรายเต็มที่

เลยคิดว่าไม่ได้แล้ว ก็เริ่มหาข้อมูลเจอว่ามีครอบครัวที่พาลูกไปแคมป์ปิ้งตั้งแต่ 3-4 ขวบ อาจจะลำบากหน่อย เวลาที่ลูกร้องไห้งอแง สภาพแวดล้อมที่แปลก แล้วก็เรื่องความร้อน แต่ลูกเราอายุ 7 ขวบกว่าแล้วนะ มันต้องไปได้แล้วแหละ

ก็ถามลูกว่าอยากไปแคมป์ปิ้งกันไหม ตอนแรกเขาก็ไม่เข้าใจ เราก็ไม่ได้บอกเขานะ เพราะไม่อยากให้คาดหวัง เลยโทร. ไปจองเต็นท์ แล้วก็พาเขาไปเลย พอไปถึงปุ๊บก็บอกแค่ว่าวันนี้เราจะนอนเต็นท์กันนะ แค่นั้นเลย แต่กลายเป็นว่าเขานอนได้ และก็มีความสุขมาก

มีอีกครั้งคือตอนพาเขาไปเที่ยวญี่ปุ่น แล้วบังเอิญไปเจอแคมป์กราวน์ น้องขิมก็พูดขึ้นมาว่าทำไมเด็กญี่ปุ่นดูมีความสุขกับการนั่งกินโมจิย่างอยู่หน้าเต็นท์มาก คือเขาเห็นแล้วก็รู้สึกด้วยตัวเอง เราเลยถามเขาว่าหนูชอบแบบนี้ไหม ลูกก็บอกว่าชอบ เราก็เลยบอกเขาไปว่า ต่อไปนี้พ่อจะพาไปเที่ยวแคมป์ปิ้งจริงๆ แล้วนะ แต่เราจะต้องฝึกความอดทน อากาศร้อนหนูก็ต้องเข้าใจว่ามันเป็นสภาพอากาศของประเทศเรา แล้วถ้ามันร้อนหนูก็ต้องเตรียมพัดลม เตรียมเจลเย็นไปด้วย ปรากฏว่าลูกสาวน่ะชอบ แต่แฟนผมไม่ชอบ (หัวเราะ)

เหมือนว่าการไปรีสอร์ตหรือโรงแรมน่าจะเป็นทางเลือกที่สะดวกกับครอบครัวที่มีลูกมากกว่า ทำไมถึงเลือกที่จะให้ลูกได้รู้จักความไม่สะดวกสบายจากการแคมป์ปิ้ง

แม่มิ้งค์: จริงๆ คือการไปพักโรงแรมราคาแพงเกินไปค่ะ (หัวเราะ) ถ้าเราไปกันแค่สองคน ก็ไม่เป็นไร แต่พอมีลูก เราต้องอัปเกรดห้องพักเป็นแฟมิลี่รูม พอบวกค่าใช้จ่ายอื่นๆ แล้วรู้สึกว่ามันเยอะมาก แต่พอเป็นแคมป์ปิ้ง ราคาอุปกรณ์มันก็ไม่ถูก แต่เราซื้อแล้วมันใช้ได้หลายครั้ง อีกอย่างคือเรื่องประสบการณ์​ เวลาเราได้เห็นลูกวิ่งเล่น ได้ทำอาหารด้วยกัน หรือเห็นลูกช่วยเหลือตัวเองได้ มันก็สนุกไปอีกแบบ

ขอบคุณภาพจากเพจ GuStory

เหตุผลหนึ่งของการพาลูกไปแคมป์ปิ้งคืออยากให้ลูกดูแลตัวเองได้

เราเอาลูกเป็นศูนย์กลางก่อนเสมอ ทำอย่างไรให้ลูกเป็นคนไม่ปวกเปียก ดูแลตัวเองได้ คือเราคิดว่าเด็กผู้หญิงไม่จำเป็นต้องใส่ชุดกระโปรงสีชมพูวิ่งเล่นอย่างเดียว เราอยากให้เขาเป็นคนบู๊ๆ หน่อย อาจเพราะเราเป็นคนต่างจังหวัด แฟนเราเป็นคนกรุงเทพฯ มันลุยเหมือนกัน แต่ลุยกันคนละแบบ เราเลยอยากให้ครึ่งนึงของลูกเป็นเด็กต่างจังหวัด และอีกครึ่งเป็นเด็กกรุงเทพฯ

แล้วการไปแคมป์ปิ้งก็เป็นกิจกรรมที่จะทำให้อีกครึ่งหนึ่งของลูกมีความคล้ายคลึงกับเด็กต่างจังหวัดมากที่สุด คือทำให้เขาเจอธรรมชาติ ปีนต้นไม้เป็น ว่ายน้ำเป็น หรือเจออากาศแบบไหนก็อยู่ได้

การแคมป์ปิ้งของตัวเองระหว่างก่อนและหลังมีลูกต่างกันอย่างไรบ้าง

ต่างมาก ทั้งแง่การใช้ชีวิตในแคมป์ ทั้งภาระหน้าที่ ทั้งความปลอดภัย มันต้องมีการเตรียมตัววางแผนก่อนไป ไม่ใช่ค่อยไปว่ากันหน้างาน เพราะภาระทุกอย่างมันเพิ่มหมด ไม่ใช่ว่ามีลูกไปด้วยหนึ่งคนแล้วแค่เอาที่นอนกับหมอนไปเพิ่มหนึ่งใบ แต่มันหมายถึงเราต้องเพิ่มทุกอย่างทั้งจาน แก้ว ตะเกียบ ช้อน ยากันยุงที่ไม่เคยจุดก็ต้องจุด จากที่ไม่เคยใช้สเปรย์กันแมลงก็ต้องใช้ จากที่เดินไปแล้วจะตั้งแคมป์ตรงไหนก็ได้ แต่ตอนนี้ก็ไม่ได้แล้ว ต้องดูโลเคชั่นว่าหญ้าตรงนั้นนุ่มไหม พื้นเละเป็นโคลนหรือเปล่า ตรงนี้ลูกจะนอนได้ไหม  มีรังปลวกไหม มันมีภาระหน้าที่ความรับผิดชอบเพิ่มขึ้นคนละแบบ

เพราะเรามองว่าคนในครอบครัวอาจจะไม่ได้แฮปปี้เหมือนเราก็ได้นะ แต่ที่เขาไป เพราะเขารักเรา ไม่ว่าจะลูกหรือภรรยา ถ้าเราชวนเขาไปแล้ว เราก็ต้องดูแลเขาให้ดี

ชวนคนที่ไม่ได้ชอบแคมป์ปิ้ง ให้ไปแคมป์ปิ้งด้วยกันได้อย่างไรคะ

ผมไม่ชวนและไม่หว่านล้อมเลยครับ ก็พาไปเลย คือคู่เราเข้าใจและรักกันมาก ทุกสิ่งทุกอย่างมันเริ่มมาจากความรัก ถ้ารักและเข้าใจกัน มันแทบไม่ต้องมาปรับความเข้าใจกันเลยว่าทำไมเธอชอบแบบนั้น ทำไมไม่ชอบแบบนี้ คือถ้าคนใดคนหนึ่งชอบทำอะไร อีกคนก็จะชอบด้วย มันเป็นแบบนั้นมากกว่า

เวลาไปเที่ยวมีหลายคนบอกว่าครอบครัวเราน่าอิจฉา เราก็บอกเพื่อนทุกคนว่า เมียกูไม่ได้ชอบแบบนี้หรอกนะ แต่ว่ากูชอบ เขาก็เลยลดให้ให้ครึ่งนึง ส่วนอะไรที่เราไม่ชอบ เราก็ต้องยอมลดครึ่งหนึ่งเหมือนกัน มันเลยไปด้วยกันได้

ขอบคุณภาพจากเพจ GuStory

เวลาไปแคมป์ปิ้งกันเป็นครอบครัว มีการแบ่งหน้าที่กันอย่างไร 

ผมว่าผมโชคดีอย่างหนึ่งนะ คือบ้านนี้ช่วยกันหมด ภรรยาทำไม่เป็น ก็อาจจะทำอะไรไม่ได้เยอะ แต่ก็พยายามหยิบนู่นนิดนี่หน่อยคอยส่งให้เรา แล้วก็ช่วยกางเต็นท์จนเสร็จ

แต่ว่าเรื่องแบ่งหน้าที่มันเหมือนสัญชาตญาณนะ พอเราเริ่มเซ็ตแคมป์ ยกของ วางของ ภรรยาก็จะเตรียมแก้วใส่น้ำใส่น้ำแข็งไว้ให้ เพราะเขารู้ว่าเดี๋ยวเราจะต้องร้อน เดี๋ยวต้องหิวน้ำ เขาก็จะคอยเดินเอาน้ำมาให้

พอจัดแคมป์เสร็จเขาก็จะดูว่าวันนี้ทำกับข้าวอะไรบ้าง จริงๆ เมนูที่เห็นในคลิป เราทำการบ้านมาแล้วว่าเที่ยวรอบนี้จะทำเมนูอะไรบ้าง ต้องเตรียมวัตถุดิบอะไรบ้าง พอได้เวลาเขาก็จะถามว่าวันนี้ทำอะไร เราก็คอยบอกว่าเดี๋ยวเธอทำแบบนี้นะ เอาเส้นลวกน้ำแบบนี้ ในขณะที่เขาทำ เราก็มาถือกล้องถ่าย ภาพที่ออกมา คือ โอ้โห แม่บ้านทำกับข้าวเก่งจัง แต่จริงๆ คือเราเซ็ตทุกอย่างให้หมดแล้ว เพราะแม่บ้านบ้านนี้ทำกับข้าวไม่เป็นนะ (หัวเราะ)

พอกินเสร็จเขาก็จะช่วยเก็บจานล้างจาน ปูที่นอนในเต็นท์ เอาหมอนมาสูบลม ส่วนหน้าที่อื่นที่ต้องใช้แรง เราก็ทำ

ขอบคุณภาพจากเพจ GuStory

เวลาไปแคมป์ปิ้งน้องขิมมีหน้าที่ช่วยทำอะไร

น้องขิมจะช่วยพ่อตลอดเลย ช่วยจนน่ารำคาญ (หัวเราะ) คืออะไรที่แบกได้ น้องขิมแบกเลย อะไรที่ยกไหวยกเลย กล่องสมอหนักไม่ต่ำกว่าสิบโลฯ น้องขิมก็ยก เราก็ได้แต่ตกใจว่าเอามาได้ยังไง คือมันหนักมาก แต่เขาก็พยายามถือมาได้ เราก็กลัวของหล่นทับเท้าลูก แต่ใจลึกๆ คือของพ่อแพงนะลูก เดี๋ยวพ่อหยิบเอง (หัวเราะ)

ความยากของการพาลูกหรือเด็กไปเที่ยวแคมป์ปิ้งมีอะไรบ้าง

ถ้าถามผม จะยากหรือง่ายมันอยู่ที่อายุของลูก อย่างขิมเจ็ดขวบกว่าจัดว่าง่ายแล้ว เพราะเราสามารถบอกเขาได้ว่าอะไรเป็นอะไร แต่ถ้าลูกเล็กก็จะยากตรงที่พ่อหรือแม่ต้องคอยอยู่กับลูกตลอด จะมาช่วยกันทำอย่างอื่นไม่ได้

ตอนนี้ก็มีแพลนจะพาลูกคนเล็ก (น้องเครป) ไปด้วยเหมือนกัน แต่ต้องวางแผน ต้องทำการบ้านก่อนว่าต้องเอาอะไรไปบ้างหรือต้องทอนของอะไรออก เพราะลูกคนเล็กเพิ่งอายุ 9 เดือน ยังต้องมีรถเข็น เปล ตะกร้าเสื้อผ้า ตะกร้านม ของใช้เขาเต็มไปหมด เรื่องเหนื่อยหรือไม่เหนื่อยอยู่ที่อายุของลูกหรือเด็กที่จะพาไปนี่แหละเลยอะ ว่าเด็กที่พาไปอายุเท่าไหร่

แล้วก็อยู่ที่ความมานะของพ่อแม่ว่าจะอดทนกับสิ่งที่ลูกไปเผชิญไหวไหม แล้วเราเองจะอดทนกับสิ่งที่เราต้องเผชิญกับลูกข้างนอกได้หรือเปล่า คือมันจะมีภาวะที่ลูกจะต้องไปเจอคนเยอะ เจอคนแปลกหน้า เจอสิ่งแวดล้อมที่แปลกไป บางทีเขาตกใจว่าทำไมมีแต่ป่า แต่สำหรับผม ผมว่ามันไม่ใช่ปัญหานะ ถ้าพ่อแม่ใจเย็น อะไรก็ทำได้หมด

ตอนคุณแม่ท้องลูกคนเล็กก็ยังมีการออกไปแคมป์ปิ้งกันอยู่ 

แม่มิ้งค์: ไม่เป็นอะไรนะคะ ไม่แปลกนะ ไม่อะไรเลย ไม่ลำบากอะไร เพราะว่าไม่ได้ทำอะไรอยู่แล้ว (หัวเราะ)

พ่อคิมหันต์: เราถามหมอแล้วว่าท้องอยู่ไปแคมป์ปิ้งได้ไหม หมอบอกว่าได้ แถมบอกอีกว่ายิ่งขยับเยอะ เดินเยอะ ยืนเยอะ ยิ่งดีเพราะจะทำให้คลอดง่าย แล้วเราไม่ได้ไปทำงานหนักหรือทำอะไรที่เสี่ยงต่อเด็ก ผมก็กางคนเดียวได้ เขาก็ทำกับข้าว เตรียมน้ำดื่ม ล้างจาน

ขอบคุณภาพจากเพจ GuStory

คิดว่าประสบการณ์ไปแคมป์ปิ้งให้อะไรกับครอบครัวเราบ้าง

ผมว่าอย่างน้อยก็คือเราได้อยู่ด้วยกันมากขึ้น ปกติไปเที่ยวห้างฯ เราก็จะปล่อยลูกเดินไปเรื่อย แต่พอมาเที่ยวแคมป์เราได้อยู่ด้วยกัน ใช้เวลาร่วมกัน ไม่รู้ว่าคิดไปเองหรือเปล่า แต่เรารู้สึกว่าลูกรักเรามากขึ้น อ้อนเรามากขึ้น เคยถามเขาว่าชอบมาเที่ยวแบบนี้ไหม อยากมาอีกไหม เขาก็บอกว่าชอบ

อีกอย่างเลยคือลูกได้เรียนรู้ที่จะได้ใช้ชีวิตแตกต่างไปจากเดิม ปกติอยู่บ้านก็มีสิ่งอำนวยความสะดวก มีตู้เย็น มีแอร์ มีกูเกิ้ลโฮม แต่เวลาไปแคมป์ไม่มีตู้เย็น ลูกก็ต้องกินน้ำไม่เย็นได้นะ ถ้าไม่มีไฟฟ้าใช้ ก็ต้องอยู่กับเทียนได้นะ ไม่มีพัดลมลูกก็ต้องทนได้นะ เอาง่ายๆ ว่าในภาวะฉุกเฉินลูกต้องอยู่ได้

ผมชอบให้เขาได้อยู่กับดินทรายหรือลำธารแล้วไม่กลัวเลอะ ไม่ขยะแขยง อย่างที่บอกว่าผมเป็นเด็กต่างจังหวัด เราก็อยากให้ครึ่งของลูกเป็นเด็กต่างจังหวัดเหมือนเราด้วย

คิดว่าอะไรคือเสน่ห์ของการไปแคมป์ปิ้ง

ธรรมชาติครับ มันเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างไม่ได้ พวกต้นไม้ใหญ่กว่าจะโตให้เราเห็น กว่าจะให้เราได้กางเต็นท์หลบแดดอยู่ใต้ต้นไม้ คือผมไม่ได้ต้องการอยู่แค่กับตึกกับปูน เพราะเราจะสร้างมันขึ้นเมื่อไหร่ก็ทำได้

แล้วเรามีโอกาสได้เที่ยวได้อยู่กับธรรมชาติ เวลาตื่นขึ้นมา แล้วรู้สึกได้ถึงออกซิเจนที่ต้นไม้คายออกมาตอนเช้า อะไรแบบนี้เราหาในเมืองไม่ได้

ธรรมชาติกับเด็กมันสัมพันธ์กัน แต่เราก็ต้องไม่ประมาทด้วย ลำธารก็ประมาทไม่ได้ กิ่งไม้เปราะๆ แห้งๆ ก็ประมาทไม่ได้ การที่บอกว่าอยากให้ลูกอยู่หรือใกล้ชิดกับธรรมชาติ ก็ต้องไม่ลืมว่าธรรมชาติก็มีอันตรายในแบบของมัน

แล้วความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับธรรมชาติ สำหรับคุณพ่อมันมีความสำคัญอย่างไร

มันสำคัญนะ แต่มากไปก็ไม่ดี เพราะเด็กไม่ได้เข้าใจทั้งหมด เอาง่ายๆ ถ้ารู้ว่าลูกลงเล่นน้ำ ต่อให้เป็นน้ำในลำธาร ผมก็นั่งไม่ติดเลยนะ

ธรรมชาติกับเด็กมันสัมพันธ์กัน แต่เราก็ต้องไม่ประมาทด้วย ลำธารก็ประมาทไม่ได้ กิ่งไม้เปราะๆ แห้งๆ ก็ประมาทไม่ได้ การที่บอกว่าอยากให้ลูกอยู่หรือใกล้ชิดกับธรรมชาติ ก็ต้องไม่ลืมว่าธรรมชาติก็มีอันตรายในแบบของมัน

แต่ทั้งหมดแล้วความปลอดภัยต้องมาเป็นอันดับหนึ่ง ส่วนเรื่องอารมณ์ของคุณพ่อคุณแม่ก็สำคัญมาก ใครบอกว่ารักลูกมาก ไม่เคยตีลูกเลย แต่ถ้ามาเจอสภาวะที่มันลำบากหรือยากกว่าปกติ ก็ต้องเตรียมตัววางแผนให้ดี

สำหรับครอบครัวที่นึกอยากจะพาลูกไปเที่ยวแคมป์ปิ้ง ต้องคำนึงถึงอะไรบ้าง

หนึ่ง—ความปลอดภัย สอง—ความพร้อม สาม—ร่างกายของพ่อแม่ สี่ร่างกายของลูก ห้า—อารมณ์ของพ่อแม่ ถ้าพ่อแม่ใจเย็น ทุกเรื่องก็จะง่ายขึ้นต่อจากนั้นก็คือสถานที่ที่ต้องเลือกให้ดี ถ้ามีเด็กเล็กต้องมีแผนสำรองเสมอ เช่น มีที่พักอื่นใกล้ๆ ไหม ถ้าลูกร้องไห้ทั้งคืนหรืออยู่ไม่ได้จริงๆ จะมีที่พักหรือโรงแรมที่ที่สามารถเข้าพักได้เลยหรือเปล่า ห้องน้ำสะอาดไหม แล้วจุดที่เราไปกางเต็นท์มีเจ้าหน้าที่ดูแลตลอด 24 ชั่วโมงหรือเปล่า เช่น ถ้ามีสัตว์อันตรายอย่างตะขาบหรืองู หรือมีอะไรที่มันเกินการควบคุมของเรา จะมีคนเข้ามาช่วยเหลือเราได้ไหม เจ้าหน้าที่ในที่นี้ ผมไม่ได้หมายถึงเจ้าหน้าที่จุดกางเต็นท์นะ แต่หมายถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือเจ้าหน้าที่กู้ภัย เพราะถ้ามีเหตุฉุกเฉิน เจ้าหน้าที่ดูแลจุดกางเต็นท์ก็อาจจะช่วยอะไรเราไม่ได้เหมือนกัน

แต่ทั้งหมดแล้วความปลอดภัยต้องมาเป็นอันดับหนึ่ง ส่วนเรื่องอารมณ์ของคุณพ่อคุณแม่ก็สำคัญมาก ใครบอกว่ารักลูกมาก ไม่เคยตีลูกเลย แต่ถ้ามาเจอสภาวะที่มันลำบากหรือยากกว่าปกติก็ต้องเตรียมตัววางแผนให้ดี

ถ้าต้องแนะนำสถานที่เริ่มต้นสำหรับพ่อแม่มือใหม่ที่อยากพาลูกไปแคมป์ปิ้ง

แก่งลานรัก จังหวัดสระบุรี, ณ นนท์ลานกางเต้นท์ จังหวัดกาญจนบุรี, กระต่ายกินเนื้อ จังหวัดกาญจนบุรี สามที่นี้มีลานกิจกรรมให้เด็ก มีบ้านไม้ให้เด็กเล่น เดินทางไม่ไกลจากกรุงเทพฯ เพราะว่าเด็กถ้าให้เขาต้องนั่งรถนาน 5-6 ชั่วโมง เขาก็จะเริ่มหงุดหงิด กลายเป็นเที่ยวไม่สนุกไป

ถ้าลูกยังเล็กไม่ควรไปตามอุทยาน เพราะอุทยานจะไม่มีไฟฟ้า อย่างน้อยควรจะเป็นแคมป์ที่มีไฟฟ้า เสียบพัดลมได้ เสียบไฟได้ มีแสงสว่าง เพราะอย่างน้อยสัตว์ดุร้ายก็จะไม่เข้ามาใกล้

และไม่แนะนำอุทยาน เพราะอุทยานต้องการความสงบ เราต้องไม่รบกวนเขา เพราะฉะนั้นถ้ามีเด็กหรือลูกเล็กเกินไปก็จะดูแลเรื่องการส่งเสียงดังรบกวนสภาพแวดล้อมไม่ได้

ขอบคุณภาพจากเพจ GuStory

อุปกรณ์เริ่มต้นสำหรับครอบครัวแคมป์ปิ้งมือใหม่

ที่ขาดไม่ได้คือเต็นท์กับเครื่องนอน สองอย่างนี้สำคัญสุด เต็นท์ควรจะเป็นแบบมีมุ้ง และมีพื้นที่นิดนึง เพราะบางทีเต็นท์เล็กไปหรือแคบไป อยู่กันมืดๆ ลูกก็อึดอัด จริงๆ แค่เต็นท์กับเครื่องนอนสองอย่างนี้ก็ไปเที่ยวได้แล้ว ถ้าไม่ทำกับข้าว เครื่องครัวก็ไม่จำเป็น และอุปกรณ์เพื่อแสงสว่าง อย่างพวกไฟฉาย ไฟสำรองทั้งหลาย แล้วก็เก้าอี้ควรจะมีประจำตัว โต๊ะมีหรือไม่มีก็ได้ ขึ้นอยู่กับลักษณะการเที่ยวของแต่ละครอบครัว

ที่สำคัญคือ ถ้ามีเด็กก็ต้องมียาที่เป็นของเด็กโดยเฉพาะ

แม่มิ้งค์: สำหรับเด็กส่วนใหญ่จะเป็นยากันยุง ยากันแมลงที่ออร์แกนิกค่ะ แล้วก็รองเท้าควรเป็นแบบสวม เพราะเวลาเดินเขาอาจจะเผลอไปเตะสมอเต็นท์คนอื่น เด็กๆ ไม่ควรจะใส่รองเท้าแตะเลย

ช่วงที่ยังมีการแพร่ระบาด COVID-19 ในประเทศ การไปเที่ยวพักผ่อนในโรงแรมหรือที่พักที่มีนักท่องเที่ยวเยอะๆ อาจะทำให้คุณพ่อคุณแม่ไม่สบายใจ เรื่องนี้ส่งผลต่อการเที่ยวแคมป์ปิ้งบ้างไหม 

ถ้าเราไปถึงพื้นที่แล้วก็ไม่ยากนะ ถ้าเดินทางโดยไม่แวะที่ไหนก็ไม่น่ากลัว คือแต่ละพื้นที่เขาก็มีข้อกำหนดของตัวเอง เวลาอยู่ที่ลานกางเต็นท์เราก็ต้องเคารพสิทธิ์ซึ่งกันและกัน และทำตามมาตรการของสถานที่นั้นๆ

เป็นห่วงแค่เรื่องการใช้ห้องน้ำอย่างเดียว เพราะมันต้องใช้ห้องน้ำรวม อันนี้สำคัญ เราเลยเลือกที่ที่ห้องน้ำค่อนข้างสะอาด มีเครื่องทำน้ำอุ่น ไม่เข้าห้องน้ำตอนที่มีคนต่อคิวเข้าเยอะๆ

จริงๆ ช่วงนี้พูดแล้ว เราก็อยากออกไปเที่ยวเหมือนกัน (หัวเราะ)


Anittha R

หลงรักธรรมชาติของความเป็นเด็ก ชอบดูหนัง ชอบหนังสือนิทาน รักการเลี้ยงต้นไม้ และใฝ่ฝันอยากทำสวนกระบองเพรชที่มีดอกเยอะๆ

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST