READING

NEWS UPDATE: อ่านระเบียบ ศธ. ว่าด้วยการ ‘มอบตัว’ จ...

NEWS UPDATE: อ่านระเบียบ ศธ. ว่าด้วยการ ‘มอบตัว’ จำเป็นต้องมีพ่อแม่มาด้วยหรือเปล่า?

นับตั้งแต่วันที่ 13 มิ.ย. 2566 เกิดประเด็น ‘หยก’ นักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ได้ออกมาเผยแพร่เรื่องราวบนเฟซบุ๊กส่วนตัวว่าถูกโรงเรียนไล่ออกเนื่องจากใส่ชุดไปรเวทและทำสีผมไปโรงเรียน วันต่อมาเธอจึงต้องปีนรั้วเข้าโรงเรียน ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เสียงแตกออกเป็นสองฝ่าย ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

ในแถลงการณ์ของโรงเรียนให้เหตุผลเรื่องที่ให้ หยก ออกจากโรงเรียนไว้คือไม่ได้นำแม่ของเธอซึ่งเป็นผู้ดำเนินการขอผ่อนผันการมอบตัวไว้มาเป็นผู้ดำเนินการมอบตัวเธอเข้าเรียนด้วยตนเองในวันที่ 19 พ.ค.ที่ผ่านมา เพราะทางโรงเรียนจะต้องยืนยันข้อมูลจำนวนนักเรียนในระบบจัดเก็บข้อมูลนักเรียนรายบุคคล (DMC) ให้ทันภายในวันที่ 10 มิ.ย.2566 ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ไม่มีข้อมูลของหยกอยู่ในระบบดังกล่าว

ส่วนประเด็นเรื่องพฤติกรรมของหยกนั้นในแถลงระบุว่าทั้งเรื่องไม่ใส่เครื่องแบบ ย้อมผม ไม่เข้าร่วมกิจกรรมของโรงเรียนนั้นทางโรงเรียนไม่เคยปฏิเสธการรับเข้าเรียนแม้นักเรียนจะไม่ให้ความร่วมมือในการปรับพฤติกรรมก็ตาม

ทำให้เกิดประเด็นคำถามตามมาว่าแล้วระบบ DMC คืออะไร สำคัญกับการที่นักเรียนคนหนึ่งจะได้หรือไม่ได้เข้าเรียนจริงหรือไม่ และจำเป็นที่จะต้องมี พ่อ แม่หรือผู้ปกครอง เป็นผู้ดำเนินการมอบตัวเด็กที่สอบเข้าเรียนได้แล้ว

ระเบียบ ศธ.ไม่ระบุว่าต้องมีคุณพ่อคุณแม่เป็นคนมอบตัว นร.เท่านั้น ส่วนประเด็นทางกฎหมายที่ใช้รองรับระบบ DMC มีการแนบเอกสารกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอยู่ในคู่มือของ สพฐ.ดังกล่าวด้วย พบว่ามีกฎหมายที่เกี่ยวกับการยื่นหลักฐานเข้าเรียนอยู่ 2 ฉบับคือ ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยหลักฐานในการรับนักเรียนนักศึกษาเข้าเรียนในสถาบันการศึกษา พ.ศ.2548 และ ระเบียบกระทรวงศึกษาว่าด้วยทะเบียนนักเรียน พ.ศ.2535 (ส่วนที่ 5 ของคู่มือตั้งแต่หน้า 105 หน้า)

ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยหลักฐานในการรับนักเรียนนักศึกษาเข้าเรียนในสถาบันการศึกษา พ.ศ.2548 มีพูดถึงชนิดหลักฐานที่ใช้ยื่นกับโรงเรียนมีการกำหนดไว้ในข้อ 6 ที่กำหนดประเภทเอกสารที่นักเรียนนักศึกษาจะต้องนำมาลงหลักฐานทางการศึกษาโดยจะต้องมีอย่างหนึ่งอย่างใดตามลำดับดังต่อไปนี้

(1) สูติบัตร

(2) กรณีที่ไม่มีหลักฐานตาม (1) ให้เรียกหนังสือรับรองการเกิด บัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน หรือหลักฐานที่ทางราชการจดทำขึ้นในลักษณะเดียวกัน

(3) ในกรณีที่ไม่มีหลักฐานตาม (1) หรือ (2) ให้เรียกหลักฐานที่ทางราชการออกให้ หรือ เอกสารตามที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดให้ใช้ได้

(4) ในกรณีที่ไม่มีหลักฐานตาม (1) (2) และ (3) ให้บิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือองค์กรเอกชน ทำบันทึกแจ้งประวัติบุคคล ตามแบบแนบท้ายระเบียบนี้ เป็นหลักฐานที่จะนำมาลงหลักฐานทางการศึกษา

(5) ในกรณีที่ไม่มีบุคคลหรือองค์กรเอกชนตาม (4) ให้ซักถามประวัติบุคคลผู้มาสมัครเรียนหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำลงรายการบันทึกแจ้งประวัติบุคคลแนบท้ายระเบียบนี้เป็นหลักฐานที่จะนำมาลงหลักฐานทางการศึกษา

ส่วนระเบียบกระทรวงศึกษาว่าด้วยทะเบียนนักเรียน พ.ศ.2535 ข้อ 13 มีการระบุถึงข้อมูลที่ใช้ในการลงทะเบียนวันเดือนปีเกิดในทะเบียนนักเรียนใหม่ไว้ว่าให้สถานศึกษาเรียกเอกสารประกอบการลงทะเบียนตามลำดับความสำคัญ คือ สูติบัตรจริงหรือสำเนา หรือสำเนาทะเบียนคนเกิด หากไม่มีให้เรียกสำเนาทะเบียนบ้านฉบับที่เจ้าบ้านยึดถือไว้เท่านั้น

จะเห็นได้ว่าตามระเบียบ ศธ.ทั้งสองฉบับดังกล่าวที่มีสถานะเป็นกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในขณะนี้เอง กำหนดไว้เพียงแค่ให้ พ่อ แม่ ผู้ปกครองหรือองค์กรเอกชน เข้ามามีบทบาทหน้าที่ในการให้ข้อมูลประวัติของเด็กที่จะเข้าเรียนก็ต่อเมื่อเด็กที่จะเข้าเรียนไม่มีเอกสารสูติบัตรที่ระเบียบ ศธ. ว่าด้วยหลักฐานในการรับนักเรียนฯ ให้ความสำคัญที่สุดไว้ในข้อ 6 (1) หรือที่สำคัญรองลงมาอย่างบัตรประชาชนที่ระบุไว้ในระเบียบ ศธ. และ (2) เท่านั้น และระเบียบ ศธ.ฉบับนี้ยังเปิดโอกาสให้เด็กเป็นผู้ให้ข้อมูลประวัติตัวเองได้โดยการให้สัมภาษณ์ตาม (5) อีกด้วย

 

อ้างอิง
Prachatai

Supinya R.

ชอบอ่านนิยายสยองขวัญ ชอบเขียนไดอารี่ และเป็นคุณแม่จำเป็นในบางเวลา :-)

COMMENTS ARE OFF THIS POST