READING

NEWS UPDATE: ยูกันดาสั่งปิดโรงเรียนทั่วประเทศ หลัง...

NEWS UPDATE: ยูกันดาสั่งปิดโรงเรียนทั่วประเทศ หลังมีเด็กนักเรียนเสียชีวิตจากเชื้อไวรัสอีโบลา 8 ราย

เจเน็ต มูเซเวนี รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการของสาธารณรัฐยูกันดา ประเทศในทวีปแอฟริกา ประกาศปิดโรงเรียนทั่วประเทศภายในเดือนนี้ หลังโรคอีโบลาระบาดหนัก

สถานการณ์ล่าสุด มีรายงานยืนยันพบผู้ป่วยโรคอีโบลา 23 รายในหมู่นักเรียน และเด็กเสียชีวิตไปแล้ว 8 รายจากโรคดังกล่าว ทำให้รัฐบาลพิจารณาปิดโรงเรียนเพื่อหยุดการแพร่ระบาดในเด็ก

มูเซเวนีกล่าวว่า เบื้องต้นจะพิจารณาปิดโรงเรียน 5 แห่งในกรุงกัมปาลา ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศ รวมถึงเขตวากิโซที่อยู่ใกล้เคียง และมูเบนเด ซึ่งเป็นศูนย์กลางของการระบาดในปัจจุบัน

“คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้มีการปิดโรงเรียนระดับเตรียมประถมศึกษา, ประถมศึกษา และมัธยมศึกษา ตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน โดยถือเป็นการปิดภาคเรียนไปในตัว และรัฐบาลหวังว่าจะช่วยตัดวงจรการระบาดของไวรัสอีโบลาในเด็กได้” มูเซเวนีกล่าวเสริม

เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ยูกันดาเพิ่งขยายเวลาล็อกดาวน์เขตมูเบนเดและคาสซานดา เป็นเวลา 3 สัปดาห์ โดยทั้งสองเขตเป็นศูนย์กลางการระบาดโรคอีโบลา ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปแล้วกว่า 50 ราย

มาตรการดังกล่าวรวมถึงเคอร์ฟิวตั้งแต่เช้าจรดค่ำ, การห้ามเดินทางส่วนบุคคล และการปิดตลาด, บาร์ และโบสถ์

นับตั้งแต่มีการประกาศการระบาดของโรคอีโบลาในเขตมูเบนเดเมื่อวันที่ 20 กันยายน โรคนี้ได้แพร่กระจายไปทั่วประเทศยูกันดา ไม่เว้นแม้แต่เมืองหลวงกัมปาลา

อีโบลาจัดอยู่ในกลุ่มโรคชนิดเดียวกับโรคไข้เลือดออก โดยเป็นโรคติดต่อรุนแรงที่เกิดจากเชื้อไวรัสและสามารถทำให้เสียชีวิตได้ ชื่อของโรคถูกตั้งตามชื่อแม่น้ำในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (DRC) ที่เชื้อไวรัสดังกล่าวถูกค้นพบเป็นครั้งแรกในปี 2519

การแพร่เชื้อจากมนุษย์สู่มนุษย์สามารถเกิดได้ผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่งในร่างกาย โดยอาการเจ็บป่วยหลักคือ มีไข้, อาเจียน, มีเลือดออก และท้องร่วง

ผู้ที่ติดเชื้อจะไม่แพร่เชื้อจนกว่าจะแสดงอาการ โดยเชื้อมีระยะฟักตัวอยู่ที่ 2 วัน ถึง 21 วัน

ปัจจุบันยังไม่มียาที่ได้รับอนุญาตในการป้องกันหรือรักษาโรคอีโบลา แม้ว่าจะมีการพัฒนายาทดลองอยู่หลายตัวก็ตาม การระบาดของอีโบลานั้นยากต่อการควบคุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสภาพแวดล้อมในเมืองใหญ่

อ้างอิง
thaipost

Supinya R.

ชอบอ่านนิยายสยองขวัญ ชอบเขียนไดอารี่ และเป็นคุณแม่จำเป็นในบางเวลา :-)

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST