READING

Homeschool—ทางเลือกของนักเรียนนอกโรงเรียน...

Homeschool—ทางเลือกของนักเรียนนอกโรงเรียน

สำหรับคุณพ่อคุณแม่ การเลือกโรงเรียนที่คิดว่าดีและเหมาะสมที่สุด ดูเหมือนจะเป็นภารกิจสำคัญอันดับต้นๆ ในการวางรากฐานการศึกษาให้ลูกน้อย

 

ในยุคที่โรงเรียนมีความหลากหลาย และการเรียนการสอนไม่ได้จำกัดรูปแบบอยู่แค่ในหนังสือเรียนเท่านั้น คำว่าโฮมสกูล (Homeschool) จึงเริ่มกลายเป็นทางเลือกที่ครอบครัวยุคใหม่นึกถึง

แต่ทั้งนี้ ถ้าจะบอกว่าการหาโรงเรียนให้ลูกเป็นเรื่องยากแล้ว การตัดสินใจให้ลูกเรียนโฮมสกูล หรือเรียนหนังสือที่บ้าน ก็ไม่ง่ายสำหรับทุกครอบครัวอีกเช่นกัน

 

เราชวน แฟรี่—รดา นิ่มกิตติกุล และ เฟย์—กมลลักษณ์ นิ่มกิตติกุล สองพี่น้องวัย 16 และ 18 ปี ที่ผันตัวจากนักเรียนในโรงเรียนมาสู่วิถีนักเรียนโฮมสกูล หรือที่พวกเธอเรียกกันว่า ‘บ้านเรียน’ ตั้งแต่ระดับประถม จนตอนนี้เฟย์จบระดับชั้นมัธยมปลาย และกำลังวางแผนเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย ในขณะที่แฟรี่ก็กำลังตามพี่สาวมาติดๆ

เท่านั้นยังไม่พอ พิกซี่—น้องสาวคนสุดท้องของบ้านวัย 11 ปี ก็เป็นอีกคนที่เป็นเด็กนักเรียนบ้านเรียนมาตั้งแต่อนุบาล 1

โฮมสกูลหรือบ้านเรียนให้อะไรกับสาวน้อยสองคนนี้บ้าง คงต้องให้เจ้าตัวเป็นคนเล่าให้ฟังเอง

“การที่ใครสักคนออกมาเรียนบ้านเรียน
ไม่อยากให้มันเป็นเพราะว่าอยู่ในโรงเรียนไม่ได้

แต่ถ้าจะออกมา ก็อยากให้เป็นเพราะว่า
มีคำตอบให้ตัวเองชัดเจนว่าอยากทำอะไร

หรืออยากใช้เวลาเพื่อหาคำตอบว่าเราสนใจมันจริงๆ หรือเปล่า”

เล่าถึงครอบครัวให้ฟังหน่อย

เฟย์: พ่อกับแม่จบนิเทศศิลป์มาทั้งคู่ แม่เป็นแม่บ้านค่ะ ส่วนพ่อก็ทำงานด้านการออกแบบดีไซน์ ตอนแรกก็เป็นคนกรุงเทพฯ แต่พอมีแฟรี่แล้วเขามีปัญหาสุขภาพ ก็เลยย้ายไปอยู่เชียงใหม่ เพราะว่าอากาศมันมีผลกับโรคภูมิแพ้ของเขา

จุดเริ่มต้นของการเรียนโฮมสกูล

แฟรี่: ก่อนหน้านั้นตอนแม่ท้องหนู ก็เลยเอาพี่เฟย์ไปฝากเนอร์เซอรี เหมือนจะไม่มีปัญหาอะไร แต่มีคืนนึงพี่เฟย์เขานอนละเมอร้องไห้ แล้วก็เริ่มเป็นหลายวันติดต่อกัน แม่ก็เลยพาไปหาหมอ

คุณหมอบอกว่าหมอคิดไว้แล้ว เพราะพี่เฟย์มีพัฒนาการเร็วเกินไป ลักษณะการเข้าสังคมเขาก็เลยไม่เหมือนกับเด็กคนอื่น พอต้องไปอยู่รวมกับเด็กคนอื่นนานๆ ก็เกิดความเครียด แล้วมันคงจะสะสมจนเขาเก็บมานอนละเมอ คุณหมอก็ถามว่าคุณแม่รู้จักโฮมสกูลไหม คือคุณหมอบอกว่าอนาคตก็อาจจะมีปัญหาอีก ถ้าพัฒนาการพี่เฟย์เร็วกว่าเด็กคนอื่น

เฟย์: แม่ก็เริ่มศึกษาแล้วก็ลองตั้งแต่ตอนนั้น เพราะถ้าตามกฎหมาย ระดับอนุบาลเขาก็ไม่ได้บังคับว่าลูกต้องเข้าโรงเรียน จนเฟย์เริ่ม ป. 1 หรือ ป.2 ก็มีจดหมายส่งมาที่บ้าน ว่าลูกคุณต้องเข้าโรงเรียนนะ แม่ก็เลยพาไปเข้าโรงเรียน

ก็ไม่มีปัญหาอะไรนะคะ ก็ไปเข้าโรงเรียนตามปกติพร้อมกันสองคนพี่น้อง

เข้าเรียนประถมโดยไม่ต้องจบอนุบาลมาก่อน

เฟย์: โรงเรียนก็มีการทดสอบว่าเราจะเรียนตามเด็กคนอื่นได้ไหม แต่ก็ไม่มีปัญหาอะไร หนูก็สอบได้ ได้เข้าเรียน ป.2 ส่วนแฟรี่ก็เข้าอนุบาลสาม

หลังจากนั้นก็ย้ายไปอยู่เชียงใหม่ เฟย์ก็เรียนโรงเรียนที่เชียงใหม่ตามปกติจนถึง ป.5 พอแฟรี่ ป.3 ก็ออกจากโรงเรียนพร้อมกัน

ตอนนั้นลาออกเพราะ…

แฟรี่: ตอนนั้นพิกซี่เพิ่งเข้าอนุบาล 1 แต่มันเป็นปีที่รี่กับพี่เฟย์ได้ครูประจำชั้นที่ไม่ค่อยดีพร้อมกันทั้งคู่ ก็เลยลาออกพร้อมกันทั้งสามคน

เฟย์: ที่สำคัญคือเรื่องสุขภาพของแฟรี่มากกว่า คือเขาเป็นภูมิแพ้หนักขึ้น เป็นผื่นทุกวัน เพราะเขาเป็นเด็กเรียนดี พอเรียนดีคุณครูก็ชอบถนอม ไม่ให้ออกไปวิ่งเล่น ให้นั่งอยู่แต่ในห้อง เดี๋ยวครูเปิดแอร์ให้ พอผื่นขึ้นทีนึงก็ส่งห้องพยาบาลทีนึง แล้วก็กลับมานั่งเรียนต่อ

คือวิธีของแม่เนี่ย อยากให้มาโรงเรียนแล้วได้ออกกำลังกาย อยากให้ไปวิ่งเล่นบ้าง พออาการแฟรี่แย่ลงเรื่อยๆ จนหมอบอกว่า ถ้าเป็นแบบนี้ไปจนถึงอายุประมาณเท่าไรนะ… (หันไปถามแฟรี่) 12 มั้ง มันจะไม่มีทางหาย ตอนนั้นก็ 9 ขวบแล้ว แม่ก็เลยชัดเจนเลยว่า อยากให้ออกจากโรงเรียนก่อน

ส่วนเฟย์คือเราชอบทำกิจกรรมมาก แล้วปีนั้นไปเจอคุณครูที่เขาไม่ค่อยสนับสนุนให้เราได้ทำกิจกรรมในโรงเรียน ก็เลยได้ออกพร้อมกัน

แฟรี่: แต่ตอนนั้นรี่โอเคกับโรงเรียนมาก ไม่อยากออกเลย ติดเพื่อน

เฟย์: พิกซี่ก็ได้เรียนโรงเรียนแค่อนุบาล 1 เป็นคนเดียวในบ้านที่ได้เรียนโรงเรียนแค่ปีเดียว แล้วก็ออกมาพร้อมกัน มาโฮมสกูลพร้อมกันหมดเลย

เข้าใจเหตุผลที่ลาออกจากโรงเรียนไหม

เฟย์: รู้นะคะ เพราะแฟรี่เคยแอดมิตเข้าโรงพยาบาลมาแล้ว ช่วงนั้นที่บ้านก็เลยสนใจเรื่องสุขภาพของแฟรี่ ว่าจะทำยังไงให้มันดีขึ้น

แฟรี่: คือเราก็เคยโฮมสกูลมาตอนเด็ก เราก็เข้าใจอยู่แล้วว่าจะเป็นประมาณไหน แต่รอบนี้แม่ต้องไปทำเรื่องจดทะเบียนกับเขตฯ (เขตพื้นที่การศึกษา) เพื่อให้มันถูกกฎหมาย เป็นโฮมสกูลโดยสมบูรณ์ หมายถึงถ้าครอบครัวมีลูกอีกก็สามารถเรียนด้วยกันได้โดยไม่ต้องไปจดทะเบียนใหม่

เฟย์: ใช่ค่ะ เหมือนครอบครัวเราเป็นโรงเรียน ถ้ามีลูกอีก จะให้เรียนโรงเรียนเดียวกันหมดก็ได้ แต่บางบ้านพ่อกับแม่ก็จดแยกกันเป็นสองโรงเรียน

แบบนี้เพื่อนบ้านจะส่งลูกมาเรียนกับเราได้ไหม

เฟย์: ได้ค่ะ แต่เขาจะมีลิมิตว่าการจดทะเบียนเป็นโฮมสกูลนี่ จะมีนักเรียนได้กี่คน แต่หนูจำไม่ได้ อาจจะประมาณสิบคน

หมายความว่าพ่อแม่ไม่จำเป็นต้องเป็นคนสอนเอง

เฟย์: เรียกว่าผู้จัดการเรียนการสอนมากกว่าค่ะ หมายถึงว่าแม่ไม่ต้องสอนเองก็ได้ จ้างคนอื่นมาสอนก็ได้ จะคล้ายกับเป็นผอ. โรงเรียน ที่คอยหาคนมาสอนวิชาต่างๆ หรือหาว่าจะต้องพาลูกไปทัศนศึกษาที่ไหน ทำกิจกรรมอะไรมากกว่า

เฟย์—กมลลักษณ์ นิ่มกิตติกุล (ซ้าย) แฟรี่—รดา นิ่มกิตติกุล (ขวา)

ตอนนั้นเริ่มต้นการเรียนการสอนกันยังไง

เฟย์: เริ่มจากแม่ถามว่าอยากทำอะไร ก็จะเป็นแบบนี้เหมือนกันทุกปี คือคอยถามว่าอยากทำอะไร อยากเรียนวิชาอะไร หรืออยากรู้เรื่องอะไรเป็นพิเศษ อยากทำอาชีพอะไร ชอบหรือไม่ชอบทำอะไร เหมือนแม่จะคอยกระตุ้นให้เรารู้จักตัวเอง แล้วพอเรารู้ แม่ก็จะหาคนมาสอนเรื่องนั้นให้

แฟรี่: ทุกปีแม่จะต้องเขียนหลักสูตรว่าเราจะเรียนกันแบบไหน ให้เกรดกันแบบไหน

เป็นการตกลงกันเองภายในครอบครัว

เฟย์: ใช่ค่ะ ก็อาจจะดูว่าลูกเหมาะกับแบบไหน ปีนั้นเราอาจจะชอบกิจกรรม ก็เน้นกิจกรรม เขาก็จะเรียกว่าการทำกลุ่มประสบการณ์ แล้วก็เอากิจกรรมพวกนั้นมาตีความอีกทีว่าเราได้เรียนรู้อะไรบ้าง เช่น กิจกรรมนี้เป็นวิชาคณิตศาสตร์

แล้วมีการประเมินขึ้นชั้นใหม่กันยังไง

เฟย์: แม่เป็นคนประเมิน แล้วก็ให้เกรด ทีนี้ก็ต้องตกลงกับเขตฯ อีกทีว่า เขตฯ จะใช้เกรดที่แม่ประเมินมาเลย หรือว่าต้องมีการทดสอบเพิ่ม อันนี้แล้วแต่เขตฯ ดูว่าจะใช้วิธีไหนกับครอบครัวนี้ อย่างบ้านหนู เขาใช้เกรดของที่บ้านประมาณ 80% และก็เคยมีมาสัมภาษณ์ มาถามว่าเราเรียนอะไรไปบ้าง

มีเพื่อนที่เรียนโฮมสกูลเหมือนกันเยอะไหม

เฟย์: รุ่นเฟย์นี่จะน้อย แต่ก็ค่อยๆ มีเยอะขึ้นแล้ว อย่างตอนนี้จะเห็นคนที่เรียนช่วงประถมปลายเยอะขึ้น แต่ก็จะราวๆ นี้ เพราะว่าพอระดับมัธยมก็จะเริ่มเห็นชัด เช่น คนที่อยากเป็นหมอ หรือเรียนบางอย่างมันก็จำเป็นต้องกลับเข้าโรงเรียน

แพลนการเรียนหลังจากโฮมสกูลแล้ว

เฟย์: ตอนนี้จบ ม.6 แล้ว กำลังเก็บเงินไปเรียนต่อญี่ปุ่นค่ะ ตอนนี้ก็เรียนภาษาด้วย เพราะเฟย์ชอบทำเซรามิก ก็คิดว่าอยากเรียนต่อเฉพาะทางด้านนี้ไปเลย

แฟรี่: กำลังขึ้น ม.5 ก็จะ… เรียนภาษาไทย (หัวเราะ) แล้วก็สอบทุนของจุฬาฯ เพื่อเรียนคณะอักษรฯ ค่ะ

แฟรี่คิดว่าวิธีที่เราเรียนมา มันได้เปรียบหรือเสียเปรียบคนอื่นยังไง

แฟรี่: ก็ถ้าเทียบกับเด็ก ม.ปลาย คนอื่น เราอาจจะรู้ตัวพร้อมกันว่าอยากสอบทุนนี้ แต่หนูคิดว่าคนอื่นเขาก็ต้องเอาเวลาไปเรียนวิชาอื่นด้วย หนูก็น่าจะมีเวลาเตรียมตัวมากกว่า

ก่อนเฟย์คิดว่าจะไปเรียนมหาวิทยาลัยที่ญี่ปุ่น ได้มองมหาวิทยาลัยไทยไว้ไหม

เฟย์: มองค่ะ ก็เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาเยอะเหมือนกัน, ช่วง ม.3 เป็นช่วงที่เฟย์กับแม่จะคุยกันเยอะมาก ต้องคุยกันตลอด หัวหมุนมาก เพราะประเด็นแรกคือ เฟย์ไม่ได้อยากเข้ามหาวิทยาลัย แล้วพอเราเจอสังคมถามเยอะๆ ว่าจะเข้าที่ไหน เรียนต่อที่ไหน มันก็เลยกลับเข้ามาในหัวว่า จะเข้ามหาวิทยาลัย เราก็เฮ้ย อยากตอบได้เหมือนคนอื่นว่าเราจะเรียนที่ไหนดี คือมันเหมือนเราอยากจะมีคำตอบกับเขาบ้าง ตอนนั้นก็คิดว่าเราคงอยากเรียนสถาปัตย์ เพราะมันเป็นอะไรที่ต้องเข้ามหาวิทยาลัยถึงจะเรียนได้

แล้วต่อมาก็เริ่มเห็นชัดขึ้นอีกว่าตัวเองอยากเรียนศิลปะ ก็เริ่มเปลี่ยนมาสนใจพวกจิตรกรรมและประติมากรรมของศิลปากร แต่มีช่วงนึงที่เฟย์จัดแสดงงานเซรามิกของตัวเอง ก็เริ่มมีผู้ใหญ่บอกว่า ถ้างานสไตล์นี้ ไปเรียนต่างประเทศเลยน่าจะเหมาะกว่านะ ก็เลยเริ่มมองญี่ปุ่นหรือสวีเดน และที่อื่นๆ

เฟย์—กมลลักษณ์ นิ่มกิตติกุล

ระหว่างทางมีลังเลเรื่องกลับเข้าโรงเรียนบ้างไหม หรือคุณแม่ตั้งใจว่าอยากให้โฮมสกูลจนจบ ม. 6

แฟรี่: ไม่ได้เป็นความตั้งใจนะคะ แต่ว่าแม่จะดูไปตามรายละเอียดของเรา อย่างของหนู พอรู้ว่าอยากสอบทุน แล้วรายละเอียดของทุนคือต้องการเกรด ม.4-6 ช่วงนั้นหนูเรียนกศน. ไปด้วย แต่ว่าอันนั้นมันเป็นการสอบเพื่อมีวุฒิเทียบเท่า ม.6 แต่ไม่ได้มีเกรด ม.4-6 แม่ก็ถามว่าจะเอายังไง จะกลับเข้าโรงเรียนไหม หรือว่าจะใช้เกรดที่จบกับเขตฯ เหมือนเดิม

สุดท้ายก็เลือกไม่กลับเข้าโรงเรียน

แฟรี่: ใช่ค่ะ ตอนนั้นคิดว่า ถ้ากลับเข้าโรงเรียนเกรดน่าจะแย่ ต้องเรียนตามเพื่อนไม่ทันแน่ เพราะมันมีวิชาที่หนูไม่ได้เรียนตลอด อย่างพวกคณิตศาสตร์

เฟย์: น่าจะต้องใช้เวลาอย่างน้อยปีนึงถึงจะทัน ซึ่งคงจะช้าไปแล้ว เพราะเขาต้องการเกรดของ ม.4 ที่ดีด้วย

น่าจะโดนถามบ่อยแล้วว่าเรียนกันเองแบบนี้เบื่อไหม

เฟย์: ก็มีบ้าง แต่มันไม่ได้เป็นความอยากไปโรงเรียนนะ มันก็แค่อยากเจอคนอื่นบ้างเป็นครั้งคราว คือจริงๆ เราก็มีสังคมเพื่อนของเราอยู่ แต่ไม่ได้เจอกันบ่อย อย่างของเฟย์ ก็จะเป็นเพื่อนจากค่ายเวลาไปทำกิจกรรมช่วง ม.ต้น ของเฟย์จะไปค่ายพวกนี้บ่อยมาก เพราะอายุมันเริ่มถึงเกณฑ์ ซึ่งส่วนมากเขาก็จะอยู่กรุงเทพฯ เป็นคนกรุงเทพฯ เลยเหมือนเราอยู่เชียงใหม่กันมาสิบปี แต่สังคมเพื่อนก็ยังอยู่กรุงเทพฯ มากกว่า

ถ้าย้อนกลับไปแล้วให้ตัดสินใจเองอีกครั้ง คิดว่าอยากเรียนแบบไหนมากกว่า

แฟรี่: จริงๆ ตอนนี้ก็คิดว่าถ้าตอนนั้นไม่ออกจากโรงเรียน เราก็คงยังเรียนได้อยู่ แต่คงไม่ได้คิดจะมาทางสายนี้ เพราะว่าตอนประมาณ ม.3-4 รี่เคยอยากเป็นหมอ

เฟย์: เฟย์ก็เคยอยากเป็นสัตวแพทย์

แฟรี่: คือช่วงนั้นหนูป่วยแล้วหนูต้องเข้าโรงพยาบาล ก็ไปเจอหมอที่หนูรู้สึกว่าโอ้โห สุดยอด เขาเป็นศัลยแพทย์ ผ่าตัดหัวใจเด็ก เราก็รู้สึกว่าโอ้โห เจ๋งว่ะ

จน ป.5-6 ช่วงนั้นคือออกมาเรียนที่บ้านแล้ว ก็ไม่ค่อยได้เน้นหรือพยายามที่จะเรียนวิทยาศาสตร์เท่าไร ก็เลยเริ่มรู้สึกเฉยๆ แล้วก็คิดว่าคงไม่น่าจะเรียนได้มั้ง เพราะเริ่มมาติดอ่านหนังสือด้วย ก็เลยเริ่มเปลี่ยน

เฟย์: ของเฟย์มาเปลี่ยนตอนที่… แม่ให้ลองเลี้ยงไก่ค่ะ (หัวเราะ) จริงๆ เฟย์ไม่ค่อยชอบสัตว์ปีกเป็นทุนเดิม แล้วเรามาเห็นไก่ป่วย เราก็รู้สึกว่าเราไม่ได้แฮปปี้ที่จะต้องเห็นสัตว์ป่วย ไม่น่าจะรู้สึกดีถ้าไปทำงานแล้วต้องเจอสัตว์ป่วยทุกวัน แปลว่ามันคงไม่ใช่แล้ว

แล้วมาทางศิลปะได้ยังไง

เฟย์: จริงๆ ก่อนหน้านั้นก็ทำมาตลอด การวาดรูปเล่นมันก็เป็นกิจกรรมที่ทำมาตั้งแต่เด็ก น่าจะเพราะแม่ก็เรียนศิลปะมา แล้วแม่ก็ชอบเด็ก ตั้งแต่ตอนที่อยู่กรุงเทพฯ แม่ก็ชอบชวนเด็กแถวบ้านมาวาดรูป มาทำงานศิลปะ ก็เลยได้ทำมาตั้งแต่เด็กอยู่แล้ว

แต่คุณแม่ไม่ได้ผลักดันด้านนี้เป็นพิเศษ

เฟย์: ไม่ค่ะ แม่แค่บอกว่า ศิลปะก็เป็นสกิลที่มีติดตัวไว้ก็ดี

“แม่ก็คิดว่า เอ๊ะ เราจ่ายเงินไปขนาดนั้น
ทำไมต้องมาลุ้นว่าลูกจะได้เจอครูคนไหน

ทำไมถึงต้องมาเสี่ยงว่าลูกจะได้เจอครูดีหรือเปล่า
ซึ่งอันนี้นักเรียนอย่างหนูก็ไม่รู้ เราก็เรียนกันสบายใจดี”

บางครอบครัวอาจรู้สึกว่าโฮมสกูลมันเหนื่อย หรือยากกว่าส่งลูกเข้าโรงเรียนเสียอีก

เฟย์: ถ้าเป็นแม่เฟย์ เฟย์ว่าถึงจะเหนื่อยกว่า แม่ก็อยากทำอย่างนี้ แม่เคยเล่าว่า ตอนที่เราเรียนโรงเรียน ตอนจะขึ้นชั้นใหม่ แม่ก็ไปดูบอร์ดที่โรงเรียนประกาศว่า ปีต่อไป ใครจะได้เรียนห้องไหน ได้ครูประจำชั้นคนไหน ที่บอร์ดก็จะมีผู้ปกครองหลายๆ คนมารุมกันดูว่าลูกตัวเองจะได้เรียนห้องไหน แล้วก็ดูชื่อครูประจำชั้น แล้วก็มีคนที่บอกว่า ปีนี้โชคดีที่ลูกได้เจอครูประจำชั้นดี

แม่ก็คิดว่า เอ๊ะ เราจ่ายเงินไปขนาดนั้น ทำไมต้องมาลุ้นว่าลูกจะได้เจอครูคนไหน ทำไมถึงต้องมาเสี่ยงว่าลูกจะได้เจอครูดีหรือเปล่า ซึ่งอันนี้นักเรียนอย่างหนูก็ไม่รู้ เราก็เรียนกันสบายใจดี (หัวเราะ)

แฟรี่: ใช่ ตอนหนูเรียน ป.3 หนูก็ไม่ได้รู้สึกเดือดร้อน ไปโรงเรียนก็สนุกดี ต้องไปห้องพยาบาลทุกวันก็ไม่เป็นไร หนูเป็นเด็กเรียนดีที่ชอบไปโรงเรียน

แฟรี่ดูมีความสุขกับโรงเรียนดี ตอนที่รู้ว่าแม่จะให้ลาออก เราเสียดายไหม

แฟรี่: ก็คิดว่าดี เราจะได้ไปเที่ยวตอนที่คนอื่นเขาไปโรงเรียน (หัวเราะ)

เฟย์: หนูก็ว่าโรงเรียนนี่เหมือนเป็นที่ของแฟรี่เลย เขาเหมาะกับโรงเรียนนะ เพราะสอบแล้วก็จะได้ที่หนึ่งของห้องตลอด ชอบเรียน ไม่ชอบออกแรง

อย่างพิกซี่ก็เหมือนจะเหมาะกับเรียนในโรงเรียน เพราะเขาดูชอบอะไรที่เป็นหลักการมากกว่า ตอนนี้คุณแม่ก็ยังมองโรงเรียนไปด้วยตลอด ไม่ได้ตัดทางเลือกนี้ไป

ถ้าพิกซี่จะกลับเข้าไปเรียนในโรงเรียนอีกครั้ง คิดว่าน่าเป็นห่วงไหม เพราะเขาแทบไม่เคยเรียนในโรงเรียนมาก่อน

เฟย์: ในฐานะของเด็กที่เคยเรียนโรงเรียนมาก่อน เฟย์ว่าก็เสียเปรียบในแง่การเข้าสังคม คือเฟย์ว่าถ้าให้เด็กที่เคยเรียนโรงเรียนมาก่อน ออกมาเรียนบ้านเรียนน่าจะสบาย แต่เด็กบ้านเรียนมันจะมีลักษณะที่ขึ้นอยู่กับแต่ละครอบครัว และเขาไม่เคยต้องเจอความกดดัน การสอบแข่งขัน

เฟย์เคยคุยกับน้องบ้านอื่นที่เรียนบ้านเรียน เขาก็ไม่เก็ตว่าทำไมเด็กนักเรียนต้องไปติว ไปเรียนพิเศษ ต้องสอบแข่งขัน ซึ่งพอไปเข้าโรงเรียน เราก็จะเหมือนเด็กหัวแข็ง ครูก็จะไม่ชอบอีก

แฟรี่: ก็จะเป็นเด็กนอกคอกสูงมาก (หัวเราะ) อย่างพิกซี่ เขาเคยไปทำกิจกรรมที่ต้องเจอเด็กในโรงเรียน ที่เขามีกลุ่ม มีการแซว การแกล้งกัน พิกซี่ก็จะไม่เก็ตวิธีการเล่นแบบนั้น เขาจะรับมือไม่ได้ เขาก็จะหงุดหงิดมาก

เฟย์: เฟย์ว่าสังคมในโรงเรียนมันก็อยู่ยาก คือเราต้องมีกลุ่มมันถึงจะอยู่รอด

แฟรี่: อย่างพี่เฟย์นี่อยู่รอดได้ เพราะพี่เฟย์ไปอยู่กลุ่มเด็กเกเรเลย (หัวเราะ) แต่เขาไม่ได้ทำตัวเกเรนะ คือเข้ากลุ่มไปเลย จะได้ไม่ต้องโดนแกล้ง แล้วตัวเองก็แค่ไม่ไปแกล้งใคร

เฟย์: หนูว่าบ้านเรียนมันเหมาะกับคนที่มีความสนใจชัดเจน หรือไม่ก็ชอบอะไรที่มันไม่ค่อยวิชาการ

แฟรี่: หรือถ้าวิชาการ ก็ต้องวิชาการมากกกกไปเลย คือมากแบบที่โรงเรียนก็สอนเราไม่ได้ เรียนเนื้อหาแบบมหาวิทยาลัยไปเลยอะไรอย่างนี้

มันเรียนไปถึงระดับมหาวิทยาลัยได้ไหม

แฟรี่: ได้นะคะ ถ้าเราหาคนสอนได้ อันนี้หมายถึงในแง่วิชาความรู้นะ แต่ถ้าต้องการใบปริญญา ก็ยังต้องเข้ามหาวิทยาลัยอยู่ดี

แฟรี่—รดา นิ่มกิตติกุล

คิดว่าส่วนมากครอบครัวเพื่อนที่เรียนโฮมสกูลเหมือนกัน เขาเลือกทางนี้เพราะอะไร

เฟย์: อาจจะเป็นครอบครัวที่ลูกยังเล็ก และเขาไม่เจอโรงเรียนที่เหมาะกับลูกจริงๆ พอเขามารู้จักโฮมสกูล ซึ่งในวัยอนุบาลมันลองได้ไม่ยาก เพราะยังไม่ต้องไปจดทะเบียน หนูว่าความยุ่งยากของพ่อแม่ที่จะมาทางนี้จริงจัง ก็คือการเขียนแผนการสอนที่ต้องส่งให้เขตฯ นี่แหละค่ะ

แต่ว่ามันก็มีอีกแบบคือการฝากให้โรงเรียนประเมิน อย่างในกรุงเทพฯ ก็พอจะมีโรงเรียนที่ทำแบบนี้ คือเป็นตัวกลางประเมินเกรดให้ เขตฯ ก็จะเชื่อถือในผลการประเมินมากกว่า เพราะเป็นการให้เกรดจากโรงเรียน

บ้านนี้เคยใช้วิธีนี้ไหม

แฟรี่: เคยค่ะ บ้านเราเคยหลายแบบมาก จดกับเขตฯ จดกับโรงเรียน ศึกษาทางไกล หรือไม่จดเลยอย่างตอนอนุบาล (หัวเราะ)

แบบไหนดีที่สุด

เฟย์: หนูว่ามันขึ้นอยู่กับเงื่อนไขตอนนั้น อย่างตอนนี้แฟรี่ต้องการเกรด ม.ปลายทั้งหมด ก็ต้องตัดศึกษาทางไกลไปเพราะว่ามันไม่ใช่ ตอนที่เราจดกับโรงเรียน ก็เพราะว่าแม่อยากลอง เผื่อมันจะง่ายกว่า เพราะการจดกับเขตฯ ก็มีอะไรยุ่งยาก แต่พอไปลองจดกับโรงเรียนก็พบว่า เออ มันก็ยุ่งยากกันคนละแบบ (หัวเราะ)

ค่าใช้จ่ายในการทำโฮมสกูล

แฟรี่: ในแง่ของการทำให้มันถูกกฎหมายนี่ไม่มีค่าใช้จ่ายเลย ได้รับเงินอุดหนุนด้วย ค่าใช้จ่ายมันจะไปอยู่ที่ความต้องการของลูกมากกว่า อย่างหนูก็ค่าใช้จ่ายเวลาไปทำกิจกรรมบ่อยๆ

เฟย์: หรือสมมติว่าลูกชอบเขียนหนังสือก็มีแค่คอมพ์เครื่องเดียว แต่ถ้ามีลูกชอบตีกอล์ฟ ก็คงไปเสียเงินเป็นค่าอุปกรณ์ตีกอล์ฟอะไรแบบนี้มากกว่า

รู้สึกไหมว่าเรามีความแตกต่างจากวัยรุ่นที่เรียนในโรงเรียน

เฟย์: หนูมีเพื่อนที่โตกว่า และเพื่อนจะชอบชวนเฟย์ไปเที่ยวกลางคืน เพราะเขาคิดว่าเราอายุเท่าเขา เฟย์ก็จะต้องบอกว่าเราเพิ่งอายุ 18 นะ รอก่อน

แฟรี่: ของรี่จะมีเพื่อนที่โตกว่าเยอะกว่ามาก

มีเพื่อนวัยเดียวกันบ้างไหม

แฟรี่: น้อย (หัวเราะ) บางทีหนูก็รู้สึกว่าเราหาคนที่คุยเรื่องเดียวกันยาก ถ้าเราจำกัดว่าเอาคนที่อายุเท่ากัน จะมีสักกี่คนที่คุยเรื่องหนังสือกับหนูได้เยอะๆ แต่พอเราคิดว่าคุยกับใครก็ได้ ก็จะมีคนเยอะมากที่คุยเรื่องนี้ได้ ซึ่งเขาก็จะโตกว่าเรามาก

เป็นเพราะวิธีการเรียนของเรา หรือว่านิสัยส่วนตัวที่ทำให้เราดูโตกว่าคนวัยเดียวกัน

เฟย์: อาจเป็นเพราะสิ่งที่เราทำด้วย มันมีประสบการณ์หลายอย่างที่เราได้มาเพราะว่าเราไม่ได้เข้าไปอยู่ในโรงเรียน

แฟรี่: อย่างรี่มาทำงานขายหนังสือ เราก็รู้จักทำงาน มีความรับผิดชอบ แล้วก็เป็นวิธีที่แม่สอนด้วย หรือไม่ก็เป็นเพราะเป้าหมายของเราไม่เหมือนเด็กในโรงเรียน เพราะเราไปเจออะไรที่มันคนละแบบ ถ้าอยู่ในโรงเรียน อาจคิดว่าต้องเรียนเพื่อเข้ามหาวิทยาลัยให้ได้ก่อน แต่หนูคิดว่าเราเข้าไปเรียนเพื่อที่จะได้ไปทำงานอะไรต่อ

เฟย์: หรืออาจเพราะเราเจอผู้ใหญ่มากกว่าเจอเด็กด้วยกัน ผู้ใหญ่ก็จะถามบ่อย พอถามบ่อยมันก็เหมือนถูกกระตุ้นให้คิด เพราะบางทีผู้ใหญ่เขาก็ข้ามจุดที่อยากรู้ว่าเราอยากเข้ามหาวิทยาลัยอะไรไปแล้ว แต่เขาถามว่าเราอยากทำอะไร มันก็เลยมีอะไรให้เราคิดมากขึ้น

“แม่บอกว่าก็มีคนมาถามเยอะ อยากให้ลูกเรียนแบบนี้บ้าง แต่แม่ก็ไม่ได้แนะนำขนาดนั้น คือแม่จะบอกเสมอว่า บ้านเรียนไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุดนะ มันไม่ได้ดีกว่าโรงเรียนทั่วไป แต่ว่ามันเหมาะกับเด็กคนไหน เหมาะกับครอบครัวแบบไหนมากกว่า”

ถ้าเด็กที่เรียนในโรงเรียนอยากออกมาเรียนโฮมสกูลบ้าง มีอะไรที่เขาควรรู้ไหม

แฟรี่: หนูคิดว่าเขาอาจจะคิดว่ามันสบาย คิดว่าอยู่บ้านเรียนแล้วนอนตื่นสายได้ คิดว่าจะเหมือนอยู่บ้านตอนปิดเทอม ซึ่งสำหรับหนู ปิดเทอมคือเวลาที่พ่อแม่เขาก็อยากให้ลูกได้พัก เพราะว่าเรียนหนังสือมาทั้งปี แต่พอเรียนบ้านเรียน พ่อแม่จะทรีตเราเหมือนคนในบ้าน ตื่นสายไม่ได้ ต้องตื่นเช้า ต้องทำงานบ้าน แล้วก็ไม่มีปิดเทอม

เฟย์: หนูว่ามันก็พูดยาก เพราะบ้านเรียนมันแล้วแต่สไตล์ของแต่ละบ้าน แต่เฟย์ว่าการทำบ้านเรียนมันจะดีหรือไม่ดี ก็คงแล้วแต่ครอบครัว คือตัวเด็กสำคัญมากก็จริง แต่ปัจจัยอื่นในครอบครัวก็สำคัญ แล้วก็มีสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าก็คือญาติพี่น้อง

“คือถ้าการศึกษาไทยมันยังมีคนเรียนได้
มีคนที่จบออกมาเก่งๆ ได้
แปลว่ามันก็ไม่ได้แย่ขนาดนั้น”

บ้านนี้มีปัญหาเรื่องญาติพี่น้องไหม

เฟย์: เคยมีตอนช่วงแรกที่แม่ไม่ได้บอกญาติ ว่าให้ลูกออกจากโรงเรียน เพราะกลัวจะมีปัญหา เวลาโดนถามก็จะบอกว่าเรียนโรงเรียนใกล้บ้าน ชื่อโรงเรียนบ้านเรา ซึ่งไม่มีอยู่จริง (หัวเราะ)

จนวันที่ญาติบอกให้ส่งหลานๆ มาเรียนโรงเรียนเดียวกัน แล้วเขาก็มาจี้ถามแม่ว่า ให้ลูกเรียนโรงเรียนอะไรนะ โรงเรียนบ้านเรามันอยู่ตรงไหน ไม่เห็นรู้จักเลย (หัวเราะ)

แต่มันก็ชัดว่า การที่เราเรียนที่บ้านมันไม่ได้ส่งผลอะไรกับเรา คือตอนที่เขาไม่รู้ ก็ไม่มีใครมาทักว่าเราแย่ลง

แม่บอกว่าก็มีคนมาถามเยอะ อยากให้ลูกเรียนแบบนี้บ้าง แต่แม่ก็ไม่ได้แนะนำขนาดนั้น คือแม่จะบอกเสมอว่า บ้านเรียนไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุดนะ มันไม่ได้ดีกว่าโรงเรียนทั่วไป แต่ว่ามันเหมาะกับเด็กคนไหน เหมาะกับครอบครัวแบบไหนมากกว่า

หนูจะเจอเด็กมัธยมที่บอกว่า เฮ้ย อยากเรียนที่บ้านบ้าง แต่ในความรู้สึกเฟย์ บ้านเรียนมันไม่ได้เท่นะ หรือการที่ใครสักคนจะออกมาเรียนบ้านเรียนเนี่ย ไม่อยากให้มันเป็นเพราะว่าอยู่ในโรงเรียนไม่ได้ แต่ถ้าจะออกมาก็อยากให้เป็นเพราะว่ามีคำตอบให้ตัวเองชัดเจนว่าอยากทำอะไร หรืออยากใช้เวลาเพื่อหาคำตอบให้ตัวเองว่าเราสนใจมันจริงๆ หรือเปล่า ก็เลยออกจากโรงเรียนมาลองดู แบบนั้นถึงจะเท่

แต่ถ้าจะออกมาเพราะมีความคิดว่า โอ๊ย โรงเรียนมันอะไรก็ไม่รู้ คุณครูอะไรก็ไม่รู้ หลักสูตรการศึกษามันอะไรก็ไม่รู้ เฟย์ว่าแบบนั้นมันก็ไม่ใช่ คือถ้าการศึกษาไทยมันยังมีคนเรียนได้ มีคนที่จบออกมาเก่งๆ ได้ แปลว่ามันก็ไม่ได้แย่ขนาดนั้น

ข้อดีที่สุดของการเรียนบ้านเรียน

เฟย์: คอนเนกชั่นค่ะ

แฟรี่: เวลาและโอกาส

แล้วแย่ที่สุดล่ะ

เฟย์: ก็อาจจะเป็นพวกไม่มีความทรงจำวัยเรียน (หัวเราะ)

แฟรี่: เวลาคนถามค่ะ เมื่อก่อนเวลาคนถามว่า อ้าว ไม่ไปโรงเรียนเหรอ ปิดเทอมเหรอ มันจะรู้สึกกระอักกระอ่วน แล้วสุดท้ายก็เคยโกหกไปว่า ใช่ค่ะ ปิดเทอม หรือวันนี้วันหยุด หรือหนูลามา เพราะมันมีช่วงที่เราเด็กและเราตอบไม่ได้ว่า บ้านเรียนคืออะไร และถ้าตอบแล้วก็ต้องอธิบายยาว

เคยตอบว่าเรียนที่บ้าน แล้วเขาก็ อ๋อ… มันเป็นยังไงเหรอ เราก็ตอบไม่ได้ เลยใช้วิธีโกหกไปบ้าง แต่หลังๆ เราเริ่มฟังแม่ตอบ ฟังพี่ตอบ ก็รู้ละ เริ่มตอบเองได้

เฟย์: แย่ที่สุดของเฟย์จริงๆ อาจจะเป็นพวกคำสบประมาท ถ้าคนรู้จักบ้านเรียนเขาก็จะเข้าใจ แต่เคยเจอคนที่ไม่รู้ พอถามว่าเรียนที่ไหน เราบอกว่าเรียนบ้านเรียน เขาก็จะมองเราแง่ลบ เคยมีไปถามแม่เฟย์ว่า ลูกโดนไล่ออกจากโรงเรียนมาเหรอ ท้องหรือเปล่า ติดยาหรือเปล่า

แฟรี่: มีช่วงนึงพี่เฟย์ตัดผมทรงอันเดอร์คัต ยิ่งดูแย่เลย ผมแบบนี้ต้องโดนไล่ออกจากโรงเรียนมาแน่เลย

เฟย์: อันนี้คือแย่ที่สุดนะ แต่ถ้าไม่เลวร้ายมากก็จะเป็นแนวมาลองเชิง เหมือนอยากทดสอบว่าเรามีความรู้หรือเปล่า

แฟรี่: หนูว่าถ้าคนที่รู้จักเราก่อน พอรู้ทีหลังว่าเราเรียนแบบนี้ เขาจะรู้สึกโพซิทีฟกับการเรียนบ้านเรียนมากกว่า

สัมภาษณ์วันที่ 9 เมษายน 2561

FYI:

– ในประเทศไทย โฮมสกูลหรือบ้านเรียน เป็นระบบการศึกษาที่ได้รับการรับรองให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ มาตั้งแต่ พ.ศ. 2542

“ผศ.ดร.วีระเทพ ปทุมเจริญวัฒนา อาจารย์ประจำภาควิชาการศึกษาตลอดชีวิต คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ที่ทำการศึกษาวิจัยเรื่องนี้กล่าวว่า ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โฮมสคูลมีเครือข่ายขยายไปทั่วทุกภูมิภาคของไทยแล้ว จากเมื่อก่อนเราจะเห็นเพียง 50-70 ครอบครัวทั่วประเทศ และกระจุกตัวอยู่ในเขตเมือง แต่ขณะนี้มีไม่ต่ำกว่า 500 ครอบครัวทั่วประเทศ และมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มมากขึ้นอีก” จากบทความ มอง “โฮมสคูล” แล้วย้อนดูการศึกษาไทย เมื่อโรงเรียนไม่ใช่ความหวัง! จาก มติชนสุดสัปดาห์ ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2560

– หลายคนอาจเข้าใจว่า เด็กที่เรียนโฮมสกูลจะมีคุณพ่อคุณแม่เป็นครูผู้สอน แต่ที่จริงแล้ว คุณพ่อคุณแม่อาจทำหน้าที่เป็นผู้จัดการเรียนการสอน คือคิดหลักสูตรและกิจกรรมที่เหมาะกับลูก เพื่อจัดหาคนมาสอนให้ตรงวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้

– วุฒิการศึกษาของนักเรียนโฮมสกูลสามารถได้มาจากหลายวิธี เช่น ครอบครัวจดทะเบียนการศึกษากับเขตพื้นที่การศึกษาของตัวเอง, จดทะเบียนกับโรงเรียนที่เปิดรับรองเด็กในหลักสูตรโฮมสกูล หรือเข้าสอบกับหลักสูตรการศึกษานอกระบบ (กศน.)

– เด็กที่เรียนโฮมสกูลสามารถเปลี่ยนไปเรียนโรงเรียนตามปกติได้

– คุณพ่อคุณแม่สามารถหาข้อมูลเกี่ยวกับโฮมสกูลเพิ่มเติมได้ที่ www.homeschoolnetwork.org หรือ เพจเครือข่ายบ้านเรียนกลุ่ม ILS


Sisata D.

Editor in Chief, ชอบเล่นกับลูกคนอื่นและอัพรูปหลานลงอินสตาแกรม

RELATED POST