พ่อแม่ทุกคนย่อมอยากเลี้ยงลูกให้เติบโตอย่างดี มีความสุข แข็งแรงสมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ รวมถึงมีทักษะชีวิตที่ดีพอที่จะใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีคุณภาพ
แต่เมื่อพยายามศึกษาแนวทางการเลี้ยงลูกจากแหล่งข้อมูลต่างๆ และนำมาปรับใช้ สุดท้ายคุณพ่อคุณแม่ก็ยังไม่แน่ใจว่าควร เลี้ยงลูกแบบไหนดี เมื่อสารพัดวิธีการเลี้ยงดูที่คนอื่นว่าดี กลับใช้ไม่ได้ผลกับลูกของเราอย่างที่คิด
นั่นทำให้คุณพ่อคุณแม่อาจนึกโทษตัวเองว่า ในเมื่อใช้วิธีและแนวทางการเลี้ยงดูเหมือนคนอื่น แต่ทำไมถึงไม่ได้ผลกับลูกของเราเหมือนคนอื่น หรือเพราะเราเองที่เป็นพ่อแม่ที่ไม่ดีพอ จึงไม่สามารถหาวิธีที่ดีที่สุดมาใช้กับลูกตัวเองได้
แต่ความจริงแล้ว ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า เมื่อคุณพ่อคุณแม่นึกสงสัยว่าจะ เลี้ยงลูกแบบไหนดี ก็ขอให้คุณพ่อคุณแม่ตระหนักไว้เสมอว่า การเลี้ยงลูกไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว เพราะเด็กแต่ละคนเกิดมาพร้อมลักษณะนิสัย บุคลิก และความสามารถในการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน การค้นหาแนวทางการเลี้ยงลูกให้เหมาะสมกับเด็กแต่ละคน จึงถือเป็นอีกหนึ่งความท้าทายของบทบาทคุณพ่อคุณแม่ และไม่ใช่เรื่องแปลกหากแนวทางการเลี้ยงลูกที่คนอื่นว่าดีกลับใช้ไม่ได้ผลกับลูกเรา
แต่ถ้าคุณพ่อคุณแม่ทำความเข้าใจหลักการการเลี้ยงลูกที่เหมาะสมแล้ว ก็จะสามารถเลือกแนวทางและสามารถนำวิธีการต่างๆ ไปปรับใช้กับลูกของตัวเองให้ได้ผลดียิ่งขึ้น
1. ทำความเข้าใจนิสัยและพฤติกรรมลูก
เด็กแต่ละคนมีบุคลิก นิสัย และการแสดงออกที่แตกต่างกัน ทำให้แนวทางการเลี้ยงดูที่เหมาะสมกับเด็กแต่ละคนย่อมแตกต่างกันไปด้วย
คุณพ่อคุณแม่จึงควรทำความเข้าใจนิสัยและที่มาของพฤติกรรมเพื่อให้สามารถแก้ปัญหาและปรับพฤติกรรมลูกได้ตรงจุด เช่น ลูกแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว สำหรับเด็กบางคนอาจเป็นเพราะต้องการเรียกร้องความสนใจ ในขณะที่เด็กบางคนแสดงความก้าวร้าวเพราะรู้สึกไม่พอใจ หรือไม่ได้ดังใจ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่จะต้องทำความรู้สึกนิสัยใจคอพื้นฐานของลูกเพื่อมองหาวิธีที่จะแก้ไข
เราแนะนำให้คุณพ่อคุณแม่ลองทำ One-On-One Time หรือ การใช้เวลาส่วนตัวกับลูกแบบหนึ่งต่อหนึ่ง เพื่อให้ลูกได้มีช่วงเวลาคุณภาพในการพูดคุย หรือทำกิจกรรมตามความต้องการของตัวเองกับคุณพ่อคุณแม่ได้อย่างเต็มที่ นอกจากจะทำให้มีเวลาได้เรียนรู้ลักษณะนิสัยและบุคลิกภาพของลูกมากขึ้นแล้ว ยังทำให้ลูกรับรู้สึกถึงความสำคัญของตัวเอง และรับรู้ถึงความรักจากคุณพ่อคุณแม่อีกด้วยค่ะ
2. เปิดใจให้กับแนวทางการเลี้ยงลูกแบบใหม่
เมื่อการเลี้ยงลูกตามฉบับนิยมใช้ไม่ได้ผลกับลูกเรา คุณพ่อคุณแม่อาจต้องลองหาแนวทางที่เหมาะสมกับบุคลิกของลูกมากขึ้น เพื่อช่วยให้ลูกคงความเป็นตัวเอง และยังเป็นการส่งเสริมศักยภาพในตัวลูกให้ถึงขีดสุดอีกด้วย
การเลี้ยงลูกตามบุคลิกแบ่งออกเป็น 4 รูปแบบใหญ่ๆ ดังนี้
• เลี้ยงลูกแบบเอาใจใส่ (Authoritative Parenting Style) เป็นการเลี้ยงลูกแบบที่สนับสนุนให้ลูกมีพัฒนาการตามธรรมชาติ มีอิสระในการทำสิ่งต่างๆ ไม่เคร่งครัดจนเกินไป แนวทางนี้จะเหมาะกับเด็กที่มีพลังในตัวสูง ชอบค้นหาสิ่งใหม่ๆ ทำอยู่ตลอด ไม่ชอบการถูกตีกรอบ
• เลี้ยงลูกแบบทำให้เห็นตัวอย่าง (Positive discipline) เป็นการเลี้ยงลูกที่เหมาะกับเด็กขี้อาย ไม่ค่อยมั่นใจในตัวเอง ต้องการเห็นตัวอย่างจากคุณพ่อคุณแม่ก่อน แล้วจึงทำตาม เเนะนำให้คุณพ่อคุณแม่ลองเสนอแนวทางให้ลูกได้เลือก ชี้แนะวิธีแก้ไขปัญหา และให้รางวัลเล็กๆ น้อยๆ เมื่อลูกทำบางอย่างสำเร็จด้วยตัวเอง เพื่อเป็นการส่งเสริมความมั่นใจให้ลูกอีกขั้นหนึ่ง
• เลี้ยงลูกแบบเข้มงวด (Authoritarian Parenting Style) เป็นการเลี้ยงลูกแบบให้ความสำคัญกับกฎระเบียบ และมีการลงโทษ เมื่อลูกแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสม แนะนำให้นำการเลี้ยงลูกแบบนี้มาปรับใช้กับลูกเพียงชั่วคราว ในช่วงที่ลูกดื้อมาก ไม่เชื่อฟัง หรือแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวเท่านั้น
• เลี้ยงลูกแบบกำหนดขอบเขต (Setting Boundaries) เป็นการเลี้ยงลูกแบบหาจุดเชื่อมกันระหว่างครอบครัว ทำให้เข้าใจตรงกันว่าอะไรคือสิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำ เหมาะสำหรับครอบครัวที่ไม่อยากเลี้ยงลูกแบบปล่อยอิสระหรือเข้มงวดกับลูกมากเกินไป
3. อย่าหวั่นไหวต่อคำพูดคนรอบข้าง
เมื่อคุณพ่อคุณแม่เลี้ยงลูกด้วยวิธีหรือแนวทางที่แตกต่างจากครอบครัวอื่น ย่อมเป็นไปได้ที่จะมีคำพูด คำแนะนำ หรือการเปรียบเทียบที่ทำให้คุณพ่อคุณแม่รู้สึกสูญเสียความมั่นใจ หรือกังวลใจในวิธีการเลี้ยงลูกของตัวเอง
แต่ความจริงคือคุณพ่อคุณแม่ควรมั่นใจในตัวเอง เชื่อมั่นในแนวทางที่ตัวเองเลือก แต่ไม่ปิดกั้นที่จะรับฟังคำแนะนำด้วยความหนักแน่น เพราะถึงอย่างไรคุณพ่อคุณแม่ก็คือคนที่รู้จักลูกดีที่สุด
4. ตระหนักไว้เสมอว่า ‘ชีวิตวัยเด็กของลูกต้องสนุกไว้ก่อน’
ความสุขและความสนุกในวัยเด็กคือหัวใจสำคัญในการเลี้ยงลูก ไม่ว่าคุณพ่อคุณแม่จะเลือกแนวทางการเลี้ยงลูกแบบไหน ถ้ามัวแต่ยึดติดกับการพยายามพัฒนาทักษะลูกมากเกินไป อาจทำให้ลูกสูญเสียธรรมชาติและช่วงเวลาวัยเด็กที่มีค่าของตัวเอง ดังนั้น ไม่ว่าคุณพ่อคุณแม่จะต้องการพัฒนาศักยภาพของลูกมากแค่ไหน ก็ควรรักษาสมดุลให้ลูกได้พัฒนาตัวเองควบคู่ไปกับการเล่นสนุกแบบเด็กๆ ไปพร้อมกันนะคะ
COMMENTS ARE OFF THIS POST