READING

แม่กังวลเกินไป: คุณแม่ขี้นอยด์ ส่งผลกระทบถึงลูกยัง...

แม่กังวลเกินไป: คุณแม่ขี้นอยด์ ส่งผลกระทบถึงลูกยังไงบ้าง

แม่กังวลเกินไป

การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่สุดในชีวิตของผู้หญิงคือการเป็นแม่ และต่อให้คิดว่าเตรียมตัวมาดีแค่ไหน พอลูกคลอด คุณแม่ต้องเจอสถานการณ์จริง ต้องเลี้ยงดู รับมือ และแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไม่เว้นแต่ละวัน

จึงไม่แปลกที่การมีลูก จะทำให้คุณ แม่กังวลเกินไป แต่ถึงอย่างนั้นความวิตกกังวลของคุณแม่ นับเป็นวิธีการตอบสนองกลไกการป้องกันตัวเองและลูกให้ปลอดภัยจากอันตราย เพราะความกังวลทำให้คุณแม่สามารถสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับลูกและอันตรายที่จะเกิดกับลูกได้อย่างรวดเร็ว

เว้นแต่ว่าความวิตกกังวลนั้นจะเกิดขึ้นบ่อยและคงอยู่นานจนร่างกายเริ่มตรวจจับความเครียดได้ หัวใจก็จะเริ่มเต้นเร็วขึ้น เพื่อสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ร่างกายจะอุณหภูมิสูงขึ้น แต่ไม่มีไข้ และหยุดย่อยอาหาร ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ มือเท้าเย็นแต่มีเหงื่อออก นอนไม่ค่อยหลับ หรือหลับๆ ตื่นๆ และจะควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ยาก

หากคุณ แม่กังวลเกินไป นอกจากจะส่งผลเสียต่อร่างกายและจิตใจของคุณแม่แล้ว การเป็นคุณแม่ขี้นอยด์ยังส่งผลกระทบถึงการเลี้ยงดูลูกได้

1. เข็มทิศในใจของลูกแปรปรวน

parentalanxiety_web_1

มีคำกล่าวว่า มีลูกก็เหมือนให้หัวใจของคุณแม่เดินไปมาอยู่นอกร่างกาย จึงไม่แปลกที่คุณแม่จะหมกมุ่นอยู่กับความกังวลเกี่ยวกับลูก ตั้งแต่แรกเกิด กลัวว่าลูกจะไม่แข็งแรง จนเติบโตก็กังวลว่าลูกจะมีพัฒนาการล่าช้า เข้าโรงเรียน เข้าสังคม ก็กลัวว่าลูกจะโดนแกล้งและเจ็บป่วย และกังวลจนตัวเองเป็นทุกข์

เมื่อคุณแม่กังวลมากเกินไป ก็จะพยายามปกป้องลูกมากเกินไปทำให้เข็มทิศในใจของลูกแปรปรวน รู้สึกไม่มั่นคง รู้สึกไม่ปลอดภัย ขาดความมั่นใจ และกลายเป็นเด็กวิตกกังวลง่ายเหมือนคุณพ่อคุณแม่

2. ความกังวลของคุณแม่ = ความกลัวของลูก

parentalanxiety_web_2

คุณแม่เคยสังเกตไหมว่า ถ้าคุณแม่แสดงออกว่ากลัวอะไรมากๆ ลูกก็จะซึมซึบความกลัวนั้นไปด้วย เช่น คุณแม่กลัวจิ้งจก ลูก็มักจะกลัวจิ้งจกเหมือนกัน หรือแม้แต่คุณพ่อคุณแม่ที่ชอบแสดงอาการกระวนกระวาย ร้อนรน และกระสับกระส่าย ลูกก็จะเรียนรู้ว่า สถานการณ์ไหนที่ทำให้คุณพ่อคุณแม่วิตกกังวลได้ และมักจะรู้สึกอย่างนั้นเมื่อตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน

แต่หากคุณแม่ให้ลูกได้เรียนรู้การรับมือกับอารมณ์เชิงลบของตัวเองและเผชิญหน้ากับประสบการณ์ที่ยากลำบากได้ เช่น บอกให้ลูกเข้าใจว่าอะไรทำให้คุณแม่ไม่สบายใจและมีวิธีแก้ไขอย่างไร โดยที่ลูกไม่จำเป็นต้องกังวลตามไปด้วย

3. เสี่ยงอาการซึมเศร้าในเด็กได้

parentalanxiety_web_3

มีผลการศึกษาจากJ Abnorm Child Psychol ระบุว่า คุณพ่อคุณแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยความรู้สึกที่วิตกกังวลมากเกินไปนั้น ส่งผลกระทบต่อตัวลูก การเลี้ยงดู และความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่และลูกไปตลอดชีวิต ที่สำคัญอาจทำให้ลูกกลายเป็นเด็กขี้กลัว วิตกกังวลง่าย หรืออาจนำไปสู่อาการซึมเศร้าในเด็กได้

มีคำกล่าวที่เป็นข้อคิดดีๆ จากจดหมายน้อย A Letter to MOM by วีรพร นิติประภา คุณแม่ลูกหนึ่งและนักเขียนรางวัลซีไรต์ ไว้ว่า “จะเก่งกาจหรือผ่านชีวิตมาแค่ไหน พ่อแม่ก็ปกป้องลูกจากความเจ็บปวดไม่ได้ อย่ากีดกันเขาจากการมีชีวิต  จะอย่างไรคุณก็ป้องกันไม่ได้อยู่ดี ปล่อยให้เขารับมือกับปัญหาเล็กๆ ตั้งแต่เด็กๆ เพื่อจะมีวุฒิภาวะรับมือกับปัญหาใหญ่ในโลกของผู้ใหญ่ได้”

4. ก้าวข้ามความวิตกกังวลด้วยการเชื่อใจกันและกัน

parentalanxiety_web_4

ข้อดีของความกังวล คือ คุณแม่จะสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงแม้แต่เรื่องเล็กๆ ของลูกได้อย่างรวดเร็ว และในบางเรื่องความรวดเร็วก็นำไปสู่การแก้ไขได้ทันท่วงที

 แต่จะดีกว่าไหม ถ้าคุณแม่สามารถตอบสนองต่อทุกสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างด้วยหัวใจที่มั่นคง บางเรื่องที่ยังไม่เกิดขึ้น ก็ควรปล่อยวาง บางเรื่องที่แก้ไขไปแล้วและต่อไม่ได้ ก็ควรยอมรับด้วยความเข้าใจ เพราะคุณแม่ได้ทำเต็มที่แล้ว ดังนั้นเมื่อคุณแม่เกิดความวิตกกังวลเรื่องลูกขึ้นมาเมื่อไหร่ ขอให้คุณแม่เชื่อใจตัวเองและลูก ว่าทุกอย่างจะผ่านพ้นไป ไม่ว่าจะง่ายดายหรือยากลำบาก แต่ทั้งหมดก็คือประสบการณ์ชีวิตที่คุณแม่และลูกสามารถเรียนรู้ร่วมกันได้ไปตลอดชีวิต

อ้างอิง
healthline.com
strategicpsychology.com
mindfulmamasclub.com

Saranya A.

ศรัญญา อ่าวสมบัติกุล: คุณแม่มือใหม่ ที่มีความตั้งใจเลี้ยงลูกชายตัวน้อยด้วยการยึดโยงธรรมชาติ และความคิดสร้างสรรค์เข้าด้วยกัน คุณแม่คนนี้หลงรักและทำงานด้านการเขียนมากว่า 12 ปี ตอนนี้มีความฝันอยากเป็นนักวาดนิทานเด็ก

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST