เด็กแต่ละคนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว บางคนหวงของเล่นมากเป็นพิเศษ บางคนโตแล้วยังปัสสาวะรดที่นอน หรือบางคนเข้าอนุบาลแล้วยังเขียนหนังสือไม่ได้ เอาแต่ระบายสีเล่น จนคุณพ่อคุณแม่กังวลกลัวว่าลูกจะเป็นมีพัฒนาการช้าหรือมีพฤติกรรมไม่น่ารัก
วันนี้ M.O.M รวบรวมพฤติกรรมของลูกรักที่พ่อแม่กังวล แต่เมื่อทำความเข้าใจดีๆ แล้วพฤติกรรมเหล่านี้ไม่น่าหนักใจอย่างที่คิด
1. หวงของเล่น

เรียกได้ว่าของเล่นข้าใครอย่าแตะ หากแตะเพียงนิดเดียวเจ้าตัวเล็กส่งสายตาเขียวปั๊ดมาทันที จนคุณพ่อคุณแม่กังวลไม่อยากให้ลูกเป็นเด็กไม่น่ารัก ไม่มีน้ำใจและสับสนว่าควรจะดุลูกหรือปล่อยไปเฉยๆ
คำแนะนำ: เด็กสองถึงสามขวบยังไม่รู้จักการแบ่งปัน และรักของเล่นเหมือนรักพ่อแม่ หลายครั้งที่เอาตุ๊กตาออกจากมือลูก เหมือนเอาความรักออกจากมือลูกไปด้วย
พฤติกรรมนี้เกิดขึ้นตามธรรมชาติ หากต้องการให้ลูกมีพัฒนาการเร็วขึ้น คุณพ่อคุณแม่ควรเล่นกับลูกบ่อยๆ เพื่อสร้างความมั่นใจว่าพ่อแม่ไม่หายไปไหนและของเล่นก็ไม่หายเช่นกัน
2. ปัสสาวะราด

สองขวบแล้วยังปัสสาวะราด หรือไม่ยอมบอกล่วงหน้า
คำแนะนำ: เด็กวัยสองขวบยังควบคุมการขับถ่ายไม่ดี และการที่ลูกไม่กล้าบอกเมื่อปวดปัสสาวะ อาจเพราะกลัวว่าเคยบอกไปแล้วโดนคุณแม่ทำพฤติกรรมที่ไม่ดีใส่ เช่น หงุดหงิดหรือรำคาญลูก
ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรมองให้เป็นเรื่องธรรมชาติ ไม่บ่นหรือต่อว่า และพาลูกเข้าห้องน้ำ สอนลูกด้วยคำพูดสั้นและชัดเจนว่า ‘ฉี่ตรงนี้นะจ๊ะ’ ลูกจะเริ่มเรียนรู้และมีพัฒนาการดีขึ้น
3. ไม่ยอมเขียนหนังสือ

ลูกจะเข้าอนุบาลแล้วแต่ไม่ยอมหยิบดินสอขึ้นมาเขียนสักที เอาแต่หยิบสีขึ้นมาระบายเล่น จนคุณพ่อคุณแม่กังวลว่าลูกจะเขียนหนังสือไม่ได้หรือเขียนได้ช้า เพราะลูกมัวแต่เล่นระบายสี
คำแนะนำ: ให้ลูกหัดเขียนหนังสือตั้งแต่ก่อนเข้าเรียนอนุบาลไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพ เพราะการหัดคัดไทยเป็นการฝึกกล้ามเนื้อมือบางมัดเท่านั้น จึงทำลายกล้ามเนื้อและสมองของลูกบางส่วน
ดังนั้นการให้ลูกใช้มือได้อย่างอิสระเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ให้ลูกได้ฝึกกล้ามเนื้อครบทุกมัดเช่น ปั้นดินน้ำมัน ระบายสี หรือขยำทิชชู่ และพัฒนาสมองไปตามวัย
4. ขี้อาย

ลูกเป็นเด็กขี้อาย เห็นคนแปลกหน้าทีไรต้องรีบวิ่งมาหลบหลังพ่อแม่ทุกที ถามคำตอบคำและตอบเสียงเบามากๆ
คำแนะนำ: เด็กทุกคนมีลักษณะนิสัยที่แตกต่างกัน คุณพ่อคุณแม่ควรดูด้วยความชื่นชมและค่อยๆ ปรับความคิดลูก ถ้าลูกตอบเบาให้ช่วยลูกตอบ สิ่งที่ไม่ควรทำคือบังคับหรือดุว่า ‘ไม่เก่งเลย’
5. โยนของเล่นลงพื้น

ชอบดึงสิ่งต่างๆ ลงมาหรือโยนของลงพื้น คุณพ่อคุณแม่หลายคนกังวลกับพฤติกรรมนี้ เพราะมองว่าเป็นพฤติกรรมไม่น่ารัก
คำแนะนำ: เด็กวัย 2-3 ขวบ รักการสำรวจและมีความอยากรู้ เมื่อโยนของลงไปแล้วจะเกิดอะไรต่อไป โดยไม่ได้มีเจตนาจะทำลายข้าวของ และคุณพ่อคุณแม่ยังเพิ่มพัฒนาการให้เร็วขึ้นได้ด้วยการสอนลูกให้รู้จักใช้คำแสดงความรู้สึก เช่น ‘ลูกเสียใจที่โยนของเล่น เพราะลูกยังอยากเล่นต่อ’
6. พูดตะกุกตะกัก

พูดตามคนอื่นได้ปกติ แต่เมื่อไรก็ตามที่คิดประโยคพูดขึ้นมาเอง ลูกเริ่มมีอาการพูดติดขัด
คำแนะนำ: เด็กสามขวบพึ่งหัดพูดไม่แปลกที่ลูกจะพูดติดขัดบ้าง แต่เมื่อโตขึ้นอาการจะดีขึ้นเอง คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยให้ลูกมีพัฒนาการดีขึ้นโดยการให้ลูกเติมคำในช่องว่าง หัดอ่านหนังสือออกเสียง และรอให้ลูกพูดจบโดยไม่พูดแทรก เพื่อกระตุ้นสมองให้ลูกพยายามคิด
COMMENTS ARE OFF THIS POST