ความตาย เป็นสิ่งที่เราสมควรจะสอนเด็กหรือไม่ หากคิดเร็วๆ อาจมองว่าเป็นเรื่องที่โหดร้ายหรือยากเกินไปสำหรับเด็ก แต่หากคิดต่อไปอีกก็จะพบว่า ความตายเป็นเรื่องใกล้ตัวของเราทุกคนมาก และเราไม่มีทางรู้ล่วงหน้าได้เลยว่าเด็กจะต้องพบเจอกับการสูญเสียเมื่อใด
การสร้างความเข้าใจให้เด็กเรียนรู้ว่าการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ทุกอย่างเป็นไปตามธรรมชาติ จึงเป็นเรื่องสำคัญ นิทานหลายเรื่องจึงเกิดขึ้นเพื่อเข้ามาเป็นผู้ช่วยคุณพ่อคุณแม่ บอกเล่าเรื่องราวที่น่าเศร้านี้อย่างละมุนละม่อม
วันนี้เรามีนิทานที่เกี่ยวกับความตายมาแนะนำคุณพ่อคุณแม่ 3 เรื่องด้วยกัน
1. The Heart and the bottle
แต่งโดย: Oliver Jeffers
สำนักพิมพ์: HarperCollins Children’s Books
เรื่องราวของเด็กหญิงธรรมดาผู้มีความสงสัยใคร่รู้ และตื่นตากับทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัว เช่นเดียวกับเด็กสาวทั่วไป ซึ่งในทุกๆ ช่วงเวลาเธอจะมีคนคนหนึ่งอยู่กับเธอเสมอ (น่าจะเป็นคุณพ่อ คุณปู่ หรือคุณตา ซึ่งในเรื่องไม่ได้บอก)
จนกระทั่งวันที่คนคนนั้นจากไป ทิ้งไว้เพียงเก้าอี้ที่ว่างเปล่า
เด็กหญิงจึงเก็บหัวใจที่เปราะบางของเธอใส่ไว้ในขวดโหล และคล้องมันไว้ที่คอ วันเวลาผ่านไปหัวใจของเธอปลอดภัยดี แต่ตัวเธอที่เติบโตขึ้นนั้นไม่เหมือนเดิม เธอเลิกให้ความสนใจ เลิกสงสัยใคร่รู้ ความสุขและความสนุกกับสิ่งต่างๆ ได้จากไปพร้อมกับการสูญเสียครั้งนั้น
กระทั่งวันหนึ่ง เธอได้พบกับเด็กหญิงที่ช่างสงสัย ช่างสนใจ เด็กหญิงเข้ามาถามสิ่งต่างๆ กับเธอ แต่เธอตอบไม่ได้ คำตอบทั้งหมดอยู่ในหัวใจ ซึ่งมันอยู่ในขวดโหล เธอจึงพยายามเอาหัวใจออกมา สุดท้ายเด็กหญิงคนนั้นก็ช่วยนำหัวใจของเธอออกมาได้ หัวใจเธอยังคงปลอดภัยนอกขวดโหล เธอมีความสุข และกลับสนใจสิ่งต่างๆ อีกครั้ง และในตอนนี้ เก้าอี้ก็ไม่ว่างเปล่าอีกแล้ว
นิทานใช้สัญลักษณ์เก้าอี้ที่ว่างเปล่า แทนการจากไปของคนสำคัญ ไม่จำเป็นต้องมีฉากที่โหดร้ายในการอธิบายถึงความตาย แต่ก็ทำให้เราเข้าใจ และ สะเทือนอารมณ์ได้
การเก็บหัวใจไว้ในขวดโหล คือการปกป้องตัวเองจากความเศร้า แต่การปกป้องอย่างนั้นก็ไม่เกิดประโยชน์ เมื่อเด็กหญิงอีกคนมาย้ำเตือนให้เธอหวนนึกถึงช่วงเวลาดีๆ และตัวเองคนเดิมที่เคยมีความสุข ความบริสุทธิ์ของเด็กหญิงก็ได้ช่วยเยียวยาหัวใจที่ผ่านเรื่องราวร้ายๆ ของเธอได้
2. GRANDPA GREEN
แต่งโดย: Lane Smith
สำนักพิมพ์: TWO HOOTS
เนื้อเรื่องบรรยายล้อไปกับภาพสวนสีเขียวที่ถูกตัดแต่งขึ้นตามเรื่องราวในอดีตของคุณปู่ โดยมีหลานชายตัวน้อยเดินสำรวจสวนนั้น และเล่าเรื่องราวตั้งแต่ปู่ยังเด็ก วัยเรียน วันทำงาน จนแต่งงาน มีลูกหลาน ให้ผู้อ่านฟัง
ต้นไม้ในสวนที่ถูกตัดแต่งเป็นรูปต่างๆ เป็นตัวแทนเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต และอยู่ในความทรงจำ จนกระทั่งในหน้าสุดท้าย ต้นไม้ก็ถูกตัดแต่งเป็นรูปของคุณปู่เอง และคนที่กำลังตัดแต่งต้นไม้อยู่ก็คือหลานชาย
สวนของคุณปู่จึงไม่ใช่แค่สวนธรรมดา แต่คือภาพแทนความทรงจำทั้งหมด และท้ายที่สุดเมื่อคุณปู่จากไป คุณปู่ก็จะกลายเป็นความทรงจำเช่นกัน
3. Duck, Death and the Tulip
แต่งโดย: Wolf Erlbruch
สำนักพิมพ์: GECKO PRESS
เมื่อเป็ดมองเห็นความตายเป็นครั้งแรก ทั้งสองได้ทำความรู้จักกัน และเริ่มทำอะไรต่อมิอะไรด้วยกันตลอดทั้งฤดูร้อน บางครั้งเป็ดก็ทำในสิ่งที่ไม่มีใครทำกับความตายมาก่อน เช่น การโอบกอดความตายเพื่อให้ความตายรู้สึกอบอุ่น
กระทั่งถึงเวลาที่เหมาะสม เป็ดค่อยๆ ตายลงอย่าสงบ หลังจากนั้น ความตายก็ทำหน้าที่ของมัน เอาตัวเป็ดไปวางลงในแม่น้ำ และปล่อยให้ร่างของเป็ดไหลไปตามกระแสน้ำจนลับตา…
บางส่วนจากนิทานเขียนไว้ว่า
“You’ve come to fetch me?”
“Oh, I’ve been close by all your life-just in case.”
“In case of what?” asked Duck
“In case something happens to you. A nasty cold; an accident – you never know.”
“Are you going to make something happen?”
“Life takes care of that: the coughs and colds and all the other things that happen to you ducks’ Fox, for example.”
ความตายอยู่กับเราตลอดเวลา และความตายไม่ใช่ตัวร้าย
นิทานเรื่องนี้มีการกล่าวถึงเรื่องการปล่อยวางไว้อย่างน่าสนใจ เป็ดชอบบ่อน้ำของมันมาก ครั้งหนึ่งมันคุยกับความตายขณะจ้องมองบ่อน้ำว่างเปล่าว่า หากมันตายไป บ่อน้ำก็คงต้องโดดเดี่ยว และความตายก็ได้ตอบมันว่า เมื่อเป็ดตายไป ก็จะไม่มีบ่อน้ำของเป็ดอีกต่อไป จึงทำให้เป็ดสบายใจขึ้น
เราต่างก็คือเป็ดที่มีความตายเป็นเพื่อนเดินขนาบข้างไปด้วยตลอดเวลา และวันหนึ่งเราอาจจะเป็นเด็กหญิงที่ต้องเจ็บปวดกับการจากไปของคนสำคัญในชีวิต แต่ได้โปรดอย่าเก็บหัวใจใส่ขวดโหลแบบเด็กหญิง จงเผชิญหน้ากับความสูญเสีย กล้าจะโอบกอดความตาย เพราะไม่ว่าเราจะเป็นฝ่ายที่จากไป หรือเป็นฝ่ายที่สูญเสียคนที่รัก แต่ทุกคนจะยังคงอยู่ในความทรงจำของคนที่รักเสมอ เหมือนที่สวนของคุณปู่ได้จดจำรายละเอียดชีวิตทั้งหมดของคุณปู่เอาไว้ และส่งต่อความทรงจำเหล่านั้นให้หลานชาย
นิทานทั้งสามเรื่องที่เราแนะนำ มีวิธีการที่นุ่มนวลและเป็นมิตรในการพูดถึงความตายผ่านการใช้สัญลักษณ์ที่เข้าใจได้ง่าย เพราะไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ก็ควรจะทำความเข้าใจเรื่องความตาย และหากความตายเป็นเรื่องของทุกคน นิทานเกี่ยวกับความตายก็เป็นเรื่องที่ทุกคนควรอ่านเช่นกัน
COMMENTS ARE OFF THIS POST