พ่อแม่ทุกคนย่อมอยากให้ลูกมีสุขภาพดี ร่างกายแข็งแรง ได้รับสารอาหารครบถ้วน แต่จะทำอย่างไรได้ ถ้าคุณพยายามสรรหาอาหารที่ดีให้ลูกแล้ว แต่ลูกสุดที่รักกลับปิดปากแน่น สะบัดหน้าหนี หรือบ้วนอาหารที่คุณบรรจงหามาให้ทิ้ง
วันนี้ M.O.M มี 8 เทคนิคที่จะช่วยให้ลูกเป็นนักกินที่ดี ไม่เลือกกิน (ไม่ใช่กินไม่เลือกนะ!) และเปิดใจที่จะลองกินอาหารที่หลากหลายและไม่เคยกินมาก่อนบ้าง
1. จำกัดขนมระหว่างมื้ออาหาร
ถ้าคุณให้ลูกกินขนมระหว่างมื้ออาหารมากเกินไป ก็เป็นธรรมดาที่ลูกจะไม่หิว และไม่อยากกินข้าวเมื่อถึงเวลาอาหาร เพื่อที่จะไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ คุณควรจำกัดปริมาณของว่าง และควรหยุดให้ลูกกินขนมประมาณ 1-2 ชั่วโมง ก่อนมื้ออาหาร แต่ถ้ากลัวว่าลูกจะหิวก่อนถึงอาหารมื้อต่อไป การให้โปรตีน เช่น ไข่ต้มหรือชีสแท่งเป็นของว่างแทนขนมขบเคี้ยว ก็ช่วยให้ลูกไม่หิวโหยก่อนถึงอาหารมื้อต่อไปได้
2. รับประทานอาหารร่วมกัน
การได้รับประทานอาหารพร้อมหน้าพร้อมตากันในครอบครัว จะช่วยให้ลูกได้เรียนรู้จากการสังเกตพฤติกรรมของคนรอบตัว เพราะฉะนั้น คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องเป็นแบบอย่างที่ดี ไม่เลือกกิน ไม่เขี่ยอาหารทิ้ง กินผักและอาหารที่มีประโยชน์ให้ลูกเห็น และทำแบบนี้ทุกวัน เพื่อให้ลูกซึมซับพฤติกรรมการกินที่ดีจากคุณพ่อคุณแม่
3. อย่าส่งต่อความไม่ชอบอาหารบางชนิดของคุณให้ลูก
มันไม่ผิด ถ้าคุณพ่อหรือคุณแม่จะไม่ชอบกินอาหารบางอย่าง แต่อย่าทำหรือแสดงออกให้ลูกเห็น เพราะจะทำให้ลูกมีอคติกับอาหารนั้นๆ ไปด้วย
4. ทุกคนกินเหมือนกัน
เมื่อลูกโตพอที่จะกินอาหารเหมือนทุกคนในบ้านได้แล้ว ก็ควรให้ลูกได้กินอาหารเหมือนกับคนอื่นในบ้าน ไม่ใจอ่อน แม้ว่าลูกจะร้องไห้งอแง ไม่ยอมกิน คุณก็ไม่จำเป็นต้องรีบไปหาอาหารอย่างอื่นให้ลูกกินทันที
5. อย่ายอมแพ้ ถ้าลูกไม่ยอมกินอาหารแปลกใหม่ในครั้งแรก
คุณอาจลองเริ่มจากเอาอาหารชิ้นเล็กๆ 1-2 ชิ้น วางไว้ในจานลูก ค่อยๆ ให้โอกาสลูกทดลองชิมไปเรื่อยๆ เพราะเด็กก็อาจต้องใช้เวลาเปิดใจรับอาหารที่เขาไม่คุ้นเคยเหมือนกัน
6. ให้ลูกกินข้าวเอง
จัดเตรียมอุปกรณ์การกินข้าวของลูกให้พร้อม ไม่ว่าจะเป็นจาน ชาม ช้อนส้อมสำหรับเด็ก เพื่อฝึกให้ลูกกินอาหารด้วยตัวเอง เพราะการตักอาหารกินเองต้องใช้การทำงานของร่างกายหลายส่วนพร้อมกัน ตากับมือต้องประสานงานกัน ปากต้องอ้ารับช้อนที่กำลังเข้ามา และต้องตักอย่างไรถึงจะไม่หกเลอะเทอะ การกินข้าวเองจึงถือเป็นพื้นฐานที่สำคัญอย่างหนึ่ง สำหรับการพัฒนาทักษะต่างๆ ของเด็กเลยก็ว่าได้
7. อย่าปรุงอาหารรสจัดไป
ต่อมรับรสของเด็กมีความอ่อนไหวกว่าของผู้ใหญ่มาก คุณอาจลองให้ลูกกินอาหารรสอ่อนก่อน เช่น ไข่ตุ๋น โอ๊ตมีล พาสต้า อาหารพวกนี้จะช่วยให้เด็กได้สนุกกับรสชาติที่หลากหลาย
8. จัดวางรูปแบบอาหารให้หลากหลาย
เช่น บางวันคุณแม่อาจหั่นแคร์รอตเป็นลูกเต๋าสี่เหลี่ยม บางวันหั่นเป็นวงกลม บางวันหั่นเป็นดอกไม้ สับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป เพื่อที่ลูกจะได้ไม่ยึดติดกับรูปร่างหน้าตาของอาหารมากจนเกินไป เพราะบางครั้ง เวลาเด็กเจออาหารที่เคยกินหน้าตาไม่เหมือนเดิม ก็อาจไม่คุ้นเคย งอแง และไม่ยอมกินอาหารนั้นก็ได้
NO COMMENT