READING

ชวนลูกคุยเรื่องที่โรงเรียน : 4 เทคนิคชวนลูกวัยอนุบ...

ชวนลูกคุยเรื่องที่โรงเรียน : 4 เทคนิคชวนลูกวัยอนุบาลพูดคุยเรื่องที่โรงเรียน

ชวนลูกคุยเรื่องที่โรงเรียน

หลังจากส่งลูกเข้าโรงเรียนพ้นจากสายตาไปครึ่งค่อนวัน พอถึงเวลารับกลับบ้าน คุณพ่อคุณแม่ย่อมอยาก ชวนลูกคุยเรื่องที่โรงเรียน อยากให้ลูกเล่าเรื่องราวที่เจอระหว่างวันให้ฟังบ้าง

ครั้นจะถามด้วยคำถามเดิมๆ ทุกวัน ลูกก็เริ่มเบื่อ ไม่อยากตอบ ไม่อยากเล่า และลูกอาจพบเจอเรื่องน่าตื่นเต้นมากมายจนไม่รู้จะเริ่มเล่มตรงไหน หรืออาจมีบางวันที่ไม่มีอะไรน่าสนใจขนาดนั้นก็ได้

แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไร การ ชวนลูกคุยเรื่องที่โรงเรียน ก็เป็นเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำ และเราก็หวังว่าเปิดเทอมครั้งนี้ คุณพ่อคุณแม่ควรจะได้รับรู้เรื่องราวในโรงเรียนของลูกมากขึ้น ด้วย 4 เทคนิคชวนลูกคุยและเปิดใจเล่าเรื่องราวที่เจอในแต่ละวันให้คุณพ่อคุณแม่ฟังได้อย่างเต็มใจ

1. เริ่มต้นด้วยการเล่าเรื่องตัวเองก่อน

afterschool_web_1

Elizabeth Manly อดีตครูประถมผู้ดูแลเว็บไซต์ Discovery Play With Littles แนะนำว่า เด็กๆ มีแนวโน้มจะเปิดใจมากขึ้น หากคุณพ่อคุณแม่เป็นฝ่ายเปิดใจด้วยการเล่าเรื่องของตัวเองอย่างละเอียดและเฉพาะเจาะจงให้ลูกฟังก่อน เช่น คุณพ่อลืมแก้วกาแฟไว้บนหลังคารถ รู้ตัวอีกที แก้วกาแฟก็หายไปแล้ว คุณพ่อรู้สึกเสียใจที่อดดื่มกาแฟในแก้วนั้น แต่ก็รู้สึกตลกในความขี้ลืมของตัวเอง หากเป็นลูกจะทำยังไงดีนะ

วิธีนี้จะทำให้ลูกเริ่มอยากแบ่งปันเรื่องราวของตัวเองและเข้าใจวิธีการพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องราวประจำวันของตัวเองมากขึ้น

2. ถามคำถามที่น่าสนุก

afterschool_web_2

Dana Basu นักจิตวิทยาคลินิก ระบุว่า บางครั้งคำถามกว้างๆ อย่างคำว่า ‘วันนี้เป็นอย่างไรบ้าง’ ก็ใหญ่เกินกว่าเด็กเล็กจะคิดคำตอบ และเด็กอนุบาลส่วนใหญ่ก็ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นตอบที่เรื่องไหน

แต่ถ้าเปลี่ยนเป็นการถามเฉพาะเจาะจง ด้วยคำถามสั้นๆ และใช้น้ำเสียงเชิญชวนให้พูดคุย เด็กๆ มักจะตอบได้ในทันที เช่น วันนี้ตอนวิชาพละลูกได้เล่นอะไรบ้าง กินอะไรเป็นของว่าง เล่นกับใครตอนพักกลางวัน หรือเพื่อนสนิทลูกมาเรียนหรือเปล่า ฯลฯทางด้าน Jessica Graham คุณแม่และนักเขียนฟรีแลนซ์ประจำเว็บไซต์  Parent Map แนะนำให้พ่อแม่ลองถามลูกด้วย #คำถามแสนสนุก เช่น วันนี้มีเรื่องตลกๆ เกิดขึ้นไหม วันนี้ชอบมากอะไรที่สุด มีอะไรที่ลูกไม่ชอบสุดๆ ไปเลยหรือเปล่า แล้วคุณพ่อคุณแม่อาจจะแปลกใจในคำตอบของลูกก็ได้

รวมทั้ง #การตั้งคำถามเชิงสมมติ ก็ช่วยเป็นตั้งต้นบทสนทนาให้ลูกได้ดี เช่น ถ้าลูกสามารถส่งหุ่นยนต์ไปโรงเรียนแทนได้หนึ่งวัน ลูกคิดว่าเขากลับมาจะเล่าอะไรให้ฟังบ้าง พอเริ่มใช้สถานการณ์สมมติ ก็จะช่วยให้ลูกกล้าพูดเรื่องที่ลังเลหรือไม่แน่ใจมากขึ้น แม้ลูกอาจจะเล่าเรื่องราวที่ผสมจินตนาการเข้าไปบ้าง แต่อย่างน้อยก็เป็นการเริ่มต้นที่ดีและคุณพ่อคุณแม่ก็จะได้ฟังเรื่องราวของลูกมากยิ่งขึ้น

3. เล่นเกมเปิดใจ

afterschool_web_3

Grace Poole ผู้เชี่ยวชาญด้านการเลี้ยงดูและผู้ก่อตั้ง Parenting Under Pressure แนะนำให้ผู้ปกครองชวนลูกเล่นเกมหรือทำกิจกรรมสนุกๆ เพื่อช่วยให้ลูกเปิดใจมากขึ้น และถ้าจะให้ได้ผล ก็ต้องชวนกันเล่นอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ลูกรู้สึกว่าครอบครัวคือพื้นที่ที่สามารถเล่นสนุก ปรึกษา และวางแผนร่วมกันได้

เกมที่น่าสนใจ เช่น  High Low Buffalo ซึ่งคล้ายกับการเล่น ‘เก้าอี้ดนตรี’ เริ่มต้นด้วยการเปิดเพลง แล้วให้ทุกคนเดินไปรอบๆ โต๊ะ บนโต๊ะมีคำว่า High Low และ Buffalo เมื่อเพลงหยุด ให้มือแตะที่คำไหนก็ได้ทันที หากได้ High ต้องบอกว่า วันนี้มีเรื่องอะไรที่ทำให้มีความสุขแบบสุดๆ หากได้ Low ต้องบอกว่า วันนี้เจอเรื่องอะไรที่ทำให้แย่แบบสุดๆ ส่วนคำว่า Buffalo เล่าเรื่องอะไรก็ได้อยากเล่า เรื่องงี่เง่าที่ทำแล้วตลกตัวเอง หรือความลับที่อยากจะไม่ลับอีกต่อไป

แต่ในความจริงแล้ว คุณพ่อคุณแม่สามารถใช้เกมอะไรก็ได้ เพื่อเปิดใจลูกวัยอนุบาล ลูกอาจจะสนุกไปกับเกมที่เล่นกับคุณพ่อคุณแม่ จนลืมไปเลยว่า ตัวเองกำลังเล่าเรื่องราวหรือเผลอเผยความลับของตัวเองอยู่

4. วิธีนอกกรอบด้วยการ ‘ไม่ถาม’ และ ‘ไม่สบตา’ แต่กอดแน่นๆ แทน

afterschool_web_4

Elle Kwan จาก Hand in Hand Parenting แนะนำวิธีถามแบบ ‘นอกกรอบ’ นั่นก็คือการไม่ถาม แต่ให้กอดลูกแน่นๆ หรือแตะมือกันหนักๆ ก่อนแล้วใช้เวลาระหว่างทางกลับบ้านอย่างมีความสุข ทำอะไรสนุกๆ ตลกๆ และหัวเราะไปกับลูก เมื่อลูกมีความสุข ก็จะเป็นเวลาที่เขาพร้อมจะเล่าเรื่องราวต่างๆ ในโรงเรียนที่พบเจอให้คุณพ่อคุณแม่ฟังได้เอง

#พ่อแม่คือเซฟโซน คุณพ่อคุณแม่ต้องไม่ทำให้ลูกรู้สึกว่ากำลังถูกคาดคั้นให้ตอบหรือเล่ามากเกินไป แม้ว่าเรื่องราวในโรงเรียนจะเป็นไปได้ด้วยดีและมีอะไรให้พูดถึงมากมายก็ตาม แต่สิ่งที่ลูกต้องการมากที่สุดเมื่อกลับถึงบ้านก็คือ ความอบอุ่น ปลอดภัย และรู้สึกสบายใจจากทุกอย่างมากกว่านั่นเอง

#ชวนลูกคุยแบบไม่ต้องสบสายตา Varda Meyers Epstein ผู้เชี่ยวชาญด้านการเลี้ยงดู นักเขียน และบรรณาธิการเว็บไซต์ Kars4Kids ระบุว่า บางครั้ง การ ‘ไม่สบตา’ ก็ใช้เริ่มบทสนทนาได้ เช่น ลองชวนลูกคุยตอนที่คุณแม่กำลังหันหลังล้างจานอยู่ หรือระหว่างการเดินกลับบ้าน เพราะเด็กๆ จะเปิดใจคุยกับคุณพ่อคุณแม่ได้ง่ายขึ้นด้วยท่าที่สบายๆ เช่นนี้

สิ่งสำคัญที่สุดคือ การค้นหาวิธีต่างๆ เพื่อเริ่มการพูดคุยกับลูกในสไตล์ของคุณพ่อคุณแม่ให้เหมาะสมกับอุปนิสัยและบุคลิกของลูก เพื่อให้ลูกรู้สึกเต็มใจและอยากจะแบ่งปันทุกเรื่องราว หรือทุกความรู้สึกให้คุณพ่อคุณแม่รับรู้ไปด้วยกัน

อ้างอิง
parentmap
verywellfamily

Saranya A.

ศรัญญา อ่าวสมบัติกุล: คุณแม่มือใหม่ ที่มีความตั้งใจเลี้ยงลูกชายตัวน้อยด้วยการยึดโยงธรรมชาติ และความคิดสร้างสรรค์เข้าด้วยกัน คุณแม่คนนี้หลงรักและทำงานด้านการเขียนมากว่า 12 ปี ตอนนี้มีความฝันอยากเป็นนักวาดนิทานเด็ก

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST