ทารกการดูดจุกนมปลอม หรือจุกหลอก อาจเป็นภาพที่หลายคนรู้สึกคุ้นเคยและชินตา เหมือนเป็นเรื่องธรรมดาที่เด็กทารกก็ต้องใช้จุกหลอกกันทั้งนั้น แต่เคยนึกสงสัยกันบ้างไหมว่า ความจริงแล้ว ทารกจำเป็นต้องใช้จุกหลอกหรือไม่ และใช้แล้วจะมีผลดีผลเสียอย่างไรกันแน่
เรามีข้อมูลเกี่ยวกับจุกนมปลอมหรือจุกหลอก มาให้คุณพ่อคุณแม่ใช้ประกอบการตัดสินใจค่ะ
ข้อดีของการดูดจุกหลอก
ช่วยให้ทารกมีความสุข
การดูดจุกนม ทำให้ทารกรู้สึกสบาย ผ่อนคลาย และสงบลงได้ คุณพ่อคุณแม่จึงมักจะเห็นว่าเวลาที่ลูกร้องไห้งอแง ก็จะสามารถสงบนิ่งลงได้ด้วยการส่งขวดนมหรือจุกหลอกให้ดูด และสามารถนอนหลับด้วยตัวเองได้ เพราะได้การขยับปากดูดนั้นคือหนึ่งในความสุขของทารกนั่นเอง
ช่วยยื้อเวลาให้คุณพ่อคุณแม่ได้
การให้ลูกดูดจุกหลอกสามารถช่วยเบี่ยงเบนความสนใจของลูกได้ในช่วงเวลาสั้นๆ เช่น ใช้จุกหลอกเพื่อบรรเทาความหิว ขณะที่รอคุณแม่เตรียมนมให้พร้อม
ป้องกันการดูดนิ้ว
ถ้าไม่ได้ใช้จุกหลอก เมื่อถึงวัยหนึ่งทารกก็มักจะใช้ปากอมและดูดนิ้มมือของตัวเองอยู่ดี แต่นิ้วมือของทารกอาจมีเชื้อโรคที่ได้รับมาจากการใช้มือสัมผัสพื้น สิ่งของ และผู้อื่น ทำให้เสี่ยงต่อการที่ลูกจะได้รับเชื้อโรคได้ การใช้จุกหลอกที่ผ่านการทำความสะอาดมาแล้ว จึงช่วยลดการดูดนิ้วและโอกาสที่ลูกจะได้รับเชื้อโรคทางนิ้วมือได้
ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิด SIDS
หลายงานวิจัยในประเทศสหรัฐอเมริกา ระบุตรงกันว่า การให้เด็กดูดจุกหลอกระหว่างนอนหลับ จนอายุถึง 1 ปี สามารถลดโอกาสในการเกิดภาวะหลับไม่ตื่นในเด็กทารก หรือ SIDS (Sudden Infant Death Syndrome: SIDS) ได้
ข้อเสียของการดูดจุกนมหลอก
อาจทำให้เด็กสับสน
หากให้ลูกใช้จุกหลอกเร็วเกินไป หรือเริ่มใช้ตั้งแต่แรกเกิด อาจทำให้ลูกสับสน และไม่รู้ความแตกต่างระหว่างการดูดนมแม่กับจุกหลอก เช่น เผลอใช้วิธีขบแรงๆ กับนมแม่เหมือนที่ออกแรงกับจุกหลอก
ดังนั้น หากต้องการให้ลูกได้ลองใช้จุกนมหลอก ก็ควรรอให้ลูกคุ้นเคยกับการดูดนมแม่สัก 3-4 สัปดาห์ หรือมากกว่านั้นก็ได้
อาจทำให้เด็กติดจุกนมหลอก
หากคุณพ่อคุณแม่ใช้จุกนมหลอกเพื่อช่วยให้ลูกนอนหลับบ่อยเกินไป อาจทำให้ลูกมีนิสัยติดการดูดจุกหลอกตลอดเวลาที่นอนหลับ และตื่นงอแงทันทีที่จุกหลุดออกจากปาก
อาจทำให้ฟันเสียรูป
การใช้จุกนมหลอกในเด็กอายุมากกว่า 10 เดือน ขึ้นไป อาจทำให้มีปัญหาเรื่องฟันเกได้
จุกหลอกที่ไม่สะอาดก็ทำให้ติดเชื้อได้
จุกนมหลอกจะปลอดภัยสำหรับเด็กๆ ต้องได้รับการทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ เพราะหากทารกนำจุกนมหลอกที่ตกพื้นหรือไม่สะอาดเข้าปาก ก็ทำให้ได้รับเชื้อโรคเป็นต้นเหตุของการเจ็บป่วยได้
รวมถึงการที่ทารกใช้จุกนมหลอกต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาจทำให้ความดันภายในหูชั้นกลางของทารกเปลี่ยนแปลง และทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้
COMMENTS ARE OFF THIS POST