จู่ๆ เจ้าตัวน้อยก็ร้องไห้โฮขึ้นมาอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย พยายามป้อนนมก็แล้ว เดินเล่นก็แล้ว ก็ยังร้องไม่หยุด ไม่รู้ต้องการอะไร อยากจะถามแต่เจ้าหนูก็พูดคุยโต้ตอบไม่ได้
แต่คุณพ่อคุณแม่ทราบไหมคะว่าแม้ว่าลูกจะยังเล็ก จนดูเหมือนจะไม่สามารถคุยกันเข้าใจได้ เพราะเราไม่เข้าใจลูก ลูกก็บอกหรืออธิบายให้เราเข้าใจได้ แต่ความจริงแล้ว ถึงจะยังพูดไม่ได้ เด็กเล็กก็มีวิธีการที่จะสื่อสารกับคุณพ่อคุณแม่ในแบบของตัวเองเช่นกัน
Baby sign language หรือภาษามือของเด็กเล็ก เป็นอีกหนึ่งวิธีที่คุณพ่อคุณแม่สามารถใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารกับลูกในวัยที่ลูกยังไม่สามารถสื่อสารด้วยภาษาพูดได้นั่นเองค่ะ
แต่จะเริ่มต้นอย่างไรนั้น เรามีคำตอบค่ะ
ควรเริ่มต้นใช้ baby sign language เมื่อไหร่?
จริงๆ แล้ว baby sign language สามารถเริ่มใช้กับลูกได้ตั้งแต่วัยแรกเกิด แต่เด็กจะเริ่มสื่อสารด้วย baby sign language ได้ดีขึ้น เมื่ออายุได้ประมาณ 6 เดือน
แต่คุณพ่อคุณแม่ต้องไม่ลืมว่า เด็กแต่ละคนมีพัฒนาการที่แตกต่างกัน ดังนั้นความสามารถในการสื่อสารของเด็กอาจจะเร็วหรือช้าแตกต่างกันไป
เริ่มใช้ baby sign language อย่างไร
baby sign language เป็นเครื่องมือตัวสำคัญที่ทารกใช้แสดงความรู้สึกและความต้องการของตัวเองออกมาให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจได้ดีที่สุด ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่และเบบี๋จึงเรียนรู้ภาษามือนี้และใช้ร่วมกัน ด้วยวิธีการสอนของคุณพ่อคุณแม่ ดังต่อไปนี้
1. พูดออกเสียงพร้อมทำท่าประกอบ
เมื่อคุณพ่อคุณแม่ต้องการให้ลูกเรียนรู้คำใดคำหนึ่ง สิ่งแรกที่ต้องทำคือการพูดออกเสียงคำนั้นให้ชัดเจน พร้อมทำท่าทางหรือสีหน้าประกอบช่วยเพิ่มให้ลูกเข้าใจคำคำนั้นมากขึ้น เช่น เมื่อต้องการให้ลูกรู้จักและเข้าใจคำว่า ‘กินข้าว’ ก็ควรพูดออกเสียงให้ชัดเจน และทำท่าใช้ช้อนตักอาหารเข้าปาก พร้อมสีหน้าที่ตื่นเต้นและมีความสุขกับการกิน
2. สอนซ้ำๆ ทำให้เห็นบ่อยๆ
จะมีอะไรได้ผลไปกว่าการทำซ้ำๆ สอนซ้ำๆ ให้ลูกเห็นทุกวัน เพราะช่วงแรกลูกอาจจะยังไม่เข้าใจ แต่เมื่อได้เห็นวิธีการสื่อสารของคุณพ่อคุณแม่บ่อยๆ เขาก็จะเริ่มเข้าใจ เลียนแบบ และทำตามได้เอง
คุณพ่อคุณแม่อาจเริ่มสอนภาษามือด้วยคำที่ลูกชอบ จะทำให้ลูกสนใจที่จะเรียนรู้และทำตามมากขึ้น หรือเลือกจากคำที่ต้องในชีวิตประจำวัน เพราะคุณพ่อคุณแม่จะสามารถใช้สื่อสารกับลูกได้ทุกวันค่ะ
3. ทำให้เป็นเรื่องสนุก
แม้ว่าจะเป็นการสอนสิ่งสำคัญให้ลูกเรียนรู้ แต่คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถทำให้การใช้ภาษามือเป็นเรื่องสนุกสนานได้ โดยใช้การสอนควบคู่ไปกับกิจกรรมที่ลูกชอบ เช่น สอนขณะเล่นของเล่นหรือสอนขณะออกไปห้างสรรพสินค้า
นอกจากนี้ยังสามารถเล่นบทบาทสมมติต่างๆ มากมายกับลูก พร้อมกับสอนภาษามือมากมายใส่ลงไปได้อีกด้วย จะทำให้เขารู้สึกสนุกอยากทำอีกเรื่อยๆ
4. ลองถามให้ลูกโต้ตอบกลับดูบ้าง
คุณพ่อคุณแม่สามารถถามคำถามลูกเพื่อกระตุ้นให้ลูกได้โต้ตอบกลับเป็นภาษามือได้ แม้ว่าเด็กบางคนอาจจะนิ่งเฉยไปบ้าง หรือไม่ตอบโต้ด้วยภาษามือที่สอนไป นั่นไม่ได้หมายความว่าเขาไม่ได้เข้าใจ เพียงแต่ลูกอาจเลือกตอบสนองเป็นการจ้องหน้า ขยับมือ ขยับตัวแทน ซึ่งนั่นเป็นสัญญาณที่ดีว่าลูกเริ่มเข้าใจเราแล้ว
5. ความอดทนสำคัญที่สุด
ลูกอาจจะไม่สามารถเข้าใจสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่พยายามสอนและสื่อสารได้ภายในครั้งแรกๆ ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดคือความอดทนไม่ย่อท้อ ให้เวลาลูกได้เรียนรู้จากการทำซ้ำบ่อยๆ ของคุณพ่อคุณแม่ แล้วลูกก็จะสามารถเข้าใจได้ในสักวัน
6. อธิบายคำศัพท์เพิ่มเติมด้วยรูป
คุณพ่อคุณแม่สามารถอธิบายหรือเพิ่มคำศัพท์ให้ลูกได้ด้วยการ์ดคำศัพท์ ภาพการ์ตูน หรือของเล่นที่มีรูปต่างๆ ได้ โดยใช้วิธีการสังเกตว่าลูกชอบอะไรเป็นพิเศษ เช่น หากลูกชอบสุนัขคุณพ่อคุณแม่สามารถเพิ่มภาษามือที่สื่อว่าเป็นสุนัข หรือสัตว์ที่ลูกชอบได้
COMMENTS ARE OFF THIS POST