READING

ลูกชอบกินขนมมากเกินไป ทำยังไงดี?...

ลูกชอบกินขนมมากเกินไป ทำยังไงดี?

ลูกชอบกินขนม

ตอนลูกยังเล็ก พ่อแม่อาจจะสามารถควบคุมดูแลอาหารการกินให้ลูกได้ใกล้ชิด แต่พอลูกโตพอที่จะได้ทำความรู้จักกับขนมหรือของกินเล่นนอกเหนือจากอาหารที่คุณพ่อคุณแม่เตรียมไว้ให้ คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องเผชิญปัญหา ลูกชอบกินขนม ที่ไม่มีประโยชน์ และดูเหมือนว่าจะชอบมากกว่าอาหารดีๆ ที่คุณพ่อคุณแม่อยากให้กินเสียอีก

ปัญหา ลูกชอบกินขนม มากเกินไป เป็นอีกหนึ่งปัญหาหนักใจสำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่ลูกวัยอนุบาล ด้วยหน้าตาของขนมและรสชาติที่ถูกการปรุงแต่งมาจนเป็นที่ถูกอกถูกใจเด็กๆ ทำให้คุณพ่อคุณแม่หลายคนเป็นห่วงว่าลูกจะได้รับโภชนาการไม่ครบถ้วน

เรามีเคล็ดลับดีๆ ที่จะช่วยคุณพ่อคุณแม่รับมือกับลูกที่กำลัง ชอบกินขนม มากเกินไปมาฝากกันค่ะ

1. จัดรูปแบบให้ลูกมีมื้ออาหารที่แน่นอน

snackobsessed_web_1

ปัญหาของเด็กติดขนมคือการร้องขอขนมหรือของว่างตลอดเวลา แต่ Sarah Remmer นักโภชนาการที่สอนผู้ปกครองถึงวิธีการเคี้ยวอาหารในวัยเด็ก ให้คำแนะนำเกี่ยวกับปัญหาลูกติดการกินขนมหรือของว่างมากเกินไปว่า คุณพ่อคุณแม่ควรสร้างรูปแบบบางอย่างเกี่ยวกับมื้ออาหารและของว่าง เพื่อให้ลูกของคุณได้เรียนรู้ว่าการกินอาหารแต่ละครั้งไม่ใช่เรื่องที่จะทำเมื่อไหร่ก็ได้ แต่ควรเว้นช่วงเวลาของการกินอาหารประมาณ 2-4 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับช่วงวัยของลูก เช่น เด็กวัยหัดเดินอาจใช้เวลาระหว่างมื้ออาหารหลักกับของว่างประมาณ 2-3 ชั่วโมง ในขณะที่เด็กก่อนวัยเรียนและเด็กวัยเรียนอาจใช้เวลา 3-4 ชั่วโมง

เช่น ถ้าอาหารเช้าของลูกคือเวลา 7:30 น. คุณแม่อาจจะให้ลูกกินของว่างตอน 10:30 น. และอาหารกลางวันตอน 13.00 น. ไม่ว่าลูกจะร้องขออย่างไรก็ไม่มีการให้ขนมหรือของว่างก่อนเวลาอย่างแน่นอน

การสร้างรูปแบบเกี่ยวกับเวลากินอาหารและของว่าง จะช่วยให้เด็กๆ เรียนรู้การควบคุมการกินอาหารของตัวเองให้เพียงพอที่จะไม่หิวหรืออิ่มเกินไปก่อนจะถึงเวลาของอาหารมื้อถัดไป

2. เปลี่ยนขนมขบเคี้ยวเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ

snackobsessed_web_2

โดยทั่วไปขนมที่เด็กๆ ชอบมักจะมีรสหวานและมีคาร์โบไฮเดรตสูง แต่ขนมขบเคี้ยวบางประเภทก็เต็มไปด้วยเครื่องปรุงที่มีส่วนผสมของโซเดียม เพื่อสร้างรสชาติปรุงแต่ง ให้อร่อยและถูกใจเด็กๆ มากขึ้นไปอีก (ผู้ใหญ่ก็ชอบนะรสชาติแบบนี้)

แต่ร่างกายคนเราต้องการโซเดียมในปริมาณไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวันเท่านั้น ซึ่งเด็กๆ สามารถได้รับโซเดียมที่มาพร้อมกับอาหารในปริมาณที่เพียงพอกับความต้องการของร่างกายอยู่แล้ว การกินขนมขบเคี้ยวในปริมาณมากจึงทำให้ร่างกายได้รับโซเดียมมากเกินความจำเป็น

สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำก็คือเมื่อถึงเวลากินขนมหรือของว่าง ให้เปลี่ยนขนมขบเคี้ยวของลูกให้เป็นขนมที่มีประโยชน์ มีไฟเบอร์และโปรตีนมากขึ้น เช่น อะโวคาโด โยเกิร์ตรสธรรมชาติ แครกเกอร์ธัญพืช ซีเรียล กราโนล่าแท่ง หรือผลไม้ แทนขนมขบเคี้ยวกรุบกรอบทั่วไป

3. อธิบายให้ลูกเข้าใจผลเสียของการกินขนมมากเกินไป

snackobsessed_web_3

การคอยห้ามไม่ให้ลูกกินขนมอาจจะทำร้ายจิตใจลูกมากเกินไป แต่คุณพ่อคุณแม่สามารถสร้างความเข้าใจกับลูกได้ด้วยการอธิบายว่าการกินขนมมากเกินไป จะส่งผลเสียต่อร่างกายลูกอย่างไรบ้าง เช่น ชวนลูกคุยเรื่องการทำงานของไต—อวัยวะที่คอยทำหน้าที่กำจัดของเสียในร่างกาย หากลูกกินขนมขบเคี้ยวมากเกินไป ทำให้ไตต้องทำงานหนักเพื่อกำจัดโซเดียมที่เกินความต้องการของร่างกายออกไป หรือเล่านิทานเกี่ยวกับพฤติกรรมการกินที่ไม่เหมาะสม เพื่อให้ลูกเข้าใจว่าทำไมคุณพ่อคุณแม่ต้องคอยควบคุมการกินขนมนั่นเอง

4. มีศิลปะในการห้ามหรือปฏิเสธเมื่อลูกขอ

snackobsessed_web_4

ถ้าลูกรู้สึกหิวหรืออยากกินขนม นอกเหนือจากเวลากินของว่างที่ตกลงกันไว้ การปฏิเสธลูกว่า ‘ไม่’ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จะยิ่งกระตุ้นห้ลูกรู้สึกหิวและต้องการกินขนมมากขึ้น นั่นจะยิ่งทำให้คุณพ่อคุณแม่รับมือกับการขอกินขนมของลูกยากยิ่งขึ้น แต่การยอมตามใจลูกก็ไม่ใช่ทางออกที่ดี

สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำก็คือใช้คำพูดที่แสดงถึงความเข้าใจในความต้องการของลูก แต่ก็ยังคงยึดมั่นในหลักการของตัวเอง เช่น เมื่อลูกบอกว่า “ขอกินแครกเกอร์หน่อยได้ไหม” แทนที่จะตอบว่าไม่ ให้ลองเปลี่ยนเป็นตอบว่า “ได้สิ เราจะกินแครกเกอร์พร้อมกันหลังอาหารเย็น”

อ้างอิง
sg.theasianparent
sarahremmer
crystalkarges

Supinya R.

ชอบอ่านนิยายสยองขวัญ ชอบเขียนไดอารี่ และเป็นคุณแม่จำเป็นในบางเวลา :-)

COMMENTS ARE OFF THIS POST