READING

ลูกพูดคำหยาบ: 4 วิธีรับมือ เมื่อลูกติดพูดคำหยาบมาจ...

ลูกพูดคำหยาบ: 4 วิธีรับมือ เมื่อลูกติดพูดคำหยาบมาจากคนอื่น

ลูกพูดคำหยาบ

คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกอยู่ในวัยกำลังช่างพูด ช่างคุย และช่างจดจำ น่าจะมีความกังวลใจ เมื่อพบว่าลูกเริ่มจำคำพูดที่ไม่น่ารักมาจากคนรอบข้าง หนักเข้าก็เริ่มกลายเป็นปัญหา ลูกพูดคำหยาบ ไม่ว่าลูกจะรู้หรือไม่รู้ความหมายของคำพูดเหล่านั้น แต่การพูดคำหยาบก็เป็นหนึ่งในพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ของคุณพ่อคุณแม่อยู่ดี

แต่เมื่อคุณพ่อคุณแม่พบว่าลูกเริ่มมีคำพูดไม่น่ารัก หรือจดจำคำหยาบมาจากคนอื่นแล้ว ก็เป็นเวลาที่พ่อแม่อย่างเราต้องหาวิธีช่วยให้ลูกเรียนรู้และปรับพฤติกรรม ก่อนที่ลูกจะเคยชินกับการพูดคำหยาบจนติดเป็นนิสัย

ทำไม ลูกพูดคำหยาบ

Swearing_web_1

เด็กก่อนวัยเรียน มักเรียนรู้และซึมซับพฤติกรรมจากคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นท่าทาง พฤติกรรม รวมไปถึงคำพูด ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกวัยตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป จึงควรระมัดระวังทั้งพฤติกรรมและการใช้คำพูดของตัวเอง รวมถึงคนที่ลูกใกล้ชิดให้มากเป็นพิเศษ

โดยเฉพาะการพูดคำหยาบของลูกวัยก่อนเรียนเกิดจากหลายสาเหตุ ตั้งแต่ความต้องการเรียนรู้และทำความรู้จักกับคำศัพท์ใหม่ๆ ที่บางครั้งลูกก็ไม่รู้ความหมายของคำคำนั้นเลย ไปจนถึงการพูดคำหยาบเพื่อเรียกร้องความสนใจจากคนรอบข้าง โดยเฉพาะเมื่อลูกรู้สึกโกรธหรือหงุดหงิดเพราะรู้ว่าเมื่อพูดคำเหล่านี้ออกมาแล้ว คุณพ่อคุณแม่จะต้องเข้ามาห้ามหรือให้ความสนใจตัวเองทันที

4 วิธีรับมือ ลูกพูดคำหยาบ เพราะจดจำมาจากคนอื่น

1. ไม่แสดงปฏิกิริยาเชิงลบต่อการพูดคำหยาบของลูก

Swearing_web_2

คุณพ่อคุณแม่ส่วนมากมักจะตกใจและแสดงปฏิกิริยาเชิงลบออกมาทันที เมื่อได้ยินลูกพูดคำหยาบ ไม่ว่าจะเป็นสีหน้าหรือน้ำเสียง แต่การแสดงออกด้วยความตกใจของคุณพ่อคุณแม่จะทำให้ลูกรู้สึกได้รับความสนใจ และอาจใช้วิธีพูดคำหยาบเพื่อเรียกร้องความสนใจจากคุณพ่อคุณแม่และคนอื่นในครั้งต่อไป

คุณพ่อคุณแม่ควรทำตัวตามปกติ แล้วอธิบายให้ลูกเข้าใจว่าการพูดคำหยาบเป็นพฤติกรรมที่ไม่น่ารัก และบอกถึงผลเสียที่อาจเกิดขึ้นเมื่อลูกพูดคำหยาบ โดยยกตัวอย่างเป็นสถานการณ์ใกล้ตัวลูก เช่น ลูกอาจถูกเพื่อนๆ ที่โรงเรียนมองว่าเป็นคนก้าวร้าวและไม่มีใครเล่นด้วย หรืออาจถูกคุณครูตำหนิได้

2. พาลูกค้นหาคำศัพท์อื่นแทนคำหยาบ

Swearing_web_3

ลูกวัยก่อนเรียนเป็นวัยช่างจดช่างจำเเละกำลังเรียนรู้คำศัพท์ใหม่ๆ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่บางครั้งลูกจะพูดคำหยาบออกมา โดยที่ไม่รู้ความหมายของคำนั้น สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องทำ คืออธิบายให้ลูกเข้าใจว่าคำหยาบคืออะไร จากนั้นจึงบอกความหมายของคำหยาบที่ลูกพูดออกมา และช่วยกันค้นหาคำศัพท์อื่นมาใช้แทนคำหยาบนั้น

3. ให้ลูกนึกถึงความรู้สึกของคนฟัง

Swearing_web_4

บางครั้งลูกก็ไม่ได้ใช้คำหยาบเพื่อเรียกร้องความสนใจจากคุณพ่อคุณแม่เพียงอย่างเดียว ลูกอาจนำคำหยาบไปพูดกับเพื่อนที่โรงเรียน เมื่อเกิดความรู้สึกโกรธหรือต้องการความสนใจได้

คุณพ่อคุณแม่สามารถตั้งคำถาม เพื่อให้ลูกได้ลองคิดตาม และนึกถึงความรู้สึกของคนที่ลูกพูดคำหยาบด้วย เช่น ‘ลูกจะรู้สึกยังไง ถ้าแม่พูดแบบนี้ใส่ลูก’ หรือ ‘ลูกพูดคำหยาบออกมาแล้ว ลูกรู้สึกหายโกรธเพื่อนไหม’ เพื่อให้ลูกเข้าใจว่า หากคนอื่นพูดกับลูกด้วยคำพูดหยาบคาย และความรู้สึกของคนอื่นที่ลูกใช้การพูดหยาบคายเพื่อแสดงความโกรธหรือไม่พอใจใส่เขา

4. เล่นเกมไม่พูดคำหยาบ

Swearing_web_5

การช่วยลูกปรับพฤติกรรมการพูดคำหยาบต้องเริ่มจากการสร้างสิ่งเเวดล้อมที่ดี และมีส่วนร่วมในการปรับพฤติกรรมของลูก เพราะลูกวัยก่อนเรียนจะรู้สึกสนุกเมื่อได้ทำกิจกรรมหรือใช้เวลาร่วมกับคุณพ่อคุณแม่

โดยคุณพ่อคุณแม่อาจชวนลูกเล่นเกมห้ามพูดคำหยาบ และให้รางวัลเล็กๆ น้อยๆ เมื่อลูกไม่เผลอพูดคำหยาบได้ตลอดทั้งวัน เช่น เพิ่มเวลาในการเล่านิทานให้ฟัง ทำอาหารจานโปรดให้กิน หรือพาไปเที่ยวในวันหยุดสุดสัปดาห์

อ้างอิง
raisingchildren
Today
Commomsensemedia

PITTAYARAT CH.

พิทยารัตน์ ชูพล: เด็กผู้หญิงผู้รับบทบาทลูกสาวคนเล็ก ที่ได้รับการเลี้ยงดูด้วยความรักเเละความใส่ใจจากคุณแม่ จนมีความใฝ่ฝันว่าสักวันหนึ่งจะมอบความรักอันยิ่งใหญ่แบบนี้ให้ใครสักคนบ้าง

COMMENTS ARE OFF THIS POST