How to help young children to enjoy Maths: เรียนคณิตอย่างไรให้สนุก ฉบับครู John Sheffield โรงเรียนนานาชาติ Shrewsbury City Campus

หากย้อนกลับไปในวัยเรียน เชื่อว่าคณิตศาสตร์ อาจขึ้นแท่นวิชาที่หลายคนเบือนหน้าหนี ส่ายหน้าใส่ เพราะแค่นึกถึงสมการยุ่บยั่บ สูตรการหาค่าพื้นที่ต่างๆ เครื่องหมายและสัญลักษณ์ยึกยือ แล้วยังต้องหาคำตอบที่ถูกต้องจากโจทย์ที่ยากแสนยาก ทั้งหมดนี้คือความไม่สนุกของการเรียนวิชาคณิตศาสต์ ที่นานไปก็กลายเป็นเรื่องน่าเบื่อ และทำให้เรามีทัศนคติที่ไม่ดีต่อวิชานี้ในที่สุด

แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้อีกว่า คณิตศาสตร์นั้นเป็นพื้นฐานสำคัญในการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการชั่งตวงวัด การคำนวณสูตรขนม การบวกลบจำนวนเงินเมื่อซื้อของ หรือคำนวณพื้นที่คร่าวๆ เพื่อจัดเฟอร์นิเจอร์ให้ลงตัว

ในเมื่อเราต้องอยู่กับคณิตศาสตร์ไปตลอดชีวิต ทัศนคติที่ดีต่อการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ควรได้รับการปลูกฝังตั้งแต่วัยเด็ก ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเรียนเพื่อเป็นนักคำนวณที่เก่งกาจ แก้สมการได้ฉับไว แต่เป็นความสนุกเมื่อได้เรียนรู้ ความสนใจเมื่อพบปัญหา และตื่นเต้นเมื่อได้พยายามหาคำตอบ

ซึ่งคนที่จะสร้างหัวใจแห่งความรักที่จะเรียนคณิตศาสตร์ได้ เริ่มต้นจากที่บ้าน คือพ่อแม่ และส่งต่อให้อีกคนสำคัญก็คือ คุณครูคณิตศาสตร์ ที่จะเป็นดั่งนักมายากล เสกเวทมนตร์ตรึงเด็กๆ ให้อยู่กับโลกมหัศจรรย์แห่งตัวเลขเอาไว้ได้

M.O.M ได้มีโอกาสคุยกับคุณครู John Sheffield คุณครูประจำวิชาคณิตศาสตร์ระดับชั้น Year 3 (ประถมศึกษาปีที่ 2) โรงเรียนนานาชาติโชรส์เบอรีกรุงเทพ ซิตี้แคมปัส (Shrewsbury City Campus) ผู้ที่เข้าสู่ความเป็นครูด้วยความตั้งใจที่อยากจะทำให้วิชาคณิตศาสตร์เป็นเรื่องสนุก เพื่อให้เด็กๆ ตื่นตัวอยากเรียนรู้ จนกลายเป็นวิชาโปรด เหมือนที่คุณครูเคยรู้สึกแบบนั้นในวัยเรียน เขาจึงคิดหาแนวทางใหม่ๆ มาใช้ในชั้นเรียนอยู่เสมอ

จากความรัก สู่แพสชันในการทำงาน เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กรักคณิตศาสตร์

“ผมมีความสุขกับคณิตศาสตร์มาตั้งแต่เด็ก สิ่งที่ชอบในวิชานี้ก็คือเราจะรู้ว่าทุกปัญหามันมีทางออกเสมอ ปลายทางจะมีคำตอบรออยู่ ที่เราต้องทำคือทดลองว่าวิธีไหนใช้ได้หรือไม่ได้”

ครูจอห์นเล่าให้ฟังอย่างอารมณ์ดีถึงจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาได้มาเป็นครูคณิตศาสตร์ในทุกวันนี้ ว่ามันเกิดจากความชอบเรียนวิชานี้ตั้งแต่เด็ก บวกกับความเป็นคนชอบทดลองและชอบสอน จึงทำให้เขาเลือกเรียนด้าน Primary Education เอกคณิตศาสตร์

“เพื่อนๆ มักบอกว่าพวกเขาไม่ชอบวิชาคณิตศาสตร์ เพราะเขาไม่เข้าใจและทำโจทย์ไม่ได้ ผมก็จะสงสัยเสมอว่าเป็นเพราะอะไร ที่ผมเลือกเรียนด้านการสอนคณิตศาสตร์ ก็เพราะผมจะไม่อยากให้เด็กๆ เกิดความรู้สึกแบบนั้น จนคิดว่าคณิตศาสตร์เป็นเรื่องยาก ผมอยากให้นักเรียนของผมรู้สึกสนุก และรักวิชานี้เหมือนที่ผมรัก”

ทำไมคุณถึงอยากให้ทุกคนสนุกกับคณิตศาสตร์

เพราะว่าตัวเลขมันอยู่ในทุกที่ อยู่ในชีวิตประจำวัน เราซื้อของ ดูเวลา เข้าธนาคาร ออกกำลังกาย นัดหมาย จะต้องไปถึงเมื่อไหร่ และจะกลับเมื่อไหร่ เราคาดคะเน ดูความเป็นไปได้ของสิ่งต่างๆ กราฟ ชาร์ต ทุกอย่างมันคือคณิตศาสตร์ทั้งสิ้น ซึ่งบ่อยครั้งคนจะไม่ได้มองคณิตศาสตร์ในมุมนี้ แต่จะไปคิดถึงการคำนวณอะไรที่ยาก ทั้งที่จริงแล้วเป็นเรื่องใกล้ตัวมาก

แม้กระทั่งเวลาที่เราขับรถ และ GPS บอกเราว่า เรากำลังช้าไป 5 นาทีแล้ว คุณอยากจะแซงรถคันข้างหน้า คุณจึงเหลือบตามองรถที่อยู่ข้างหลัง แล้วก็คำนวณและคาดคะเนทุกอย่างในหัวโดยอัตโนมัติ ว่าความเร็วเราเพียงพอไหม เราควรจะแซงออกไปหรือเปล่า พื้นที่ห่างระหว่างรถสองคันนั้นพอให้รถของเราแทรกเข้าไปไหม

นี่เป็นตัวอย่างที่ว่าคณิตศาสตร์อยู่รอบตัวเราตลอดเวลา

Shrewsbury City Campus

แล้วเราจะสร้างความความสนุกในวิชานี้ได้อย่างไร ในเมื่อปฏิเสธไม่ได้ว่ามันก็มีส่วนที่ยากอยู่จริงๆ 

การวางรากฐานและค่อยๆ เพิ่มระดับความรู้ความเข้าใจในคณิตศาสตร์เป็นสิ่งสำคัญ ที่เราต้องทำเป็นขั้นเป็นตอน และไม่เร่งรีบ

ช่วงปฐมวัย (0-5 ปี) เป็นพื้นฐานของทุกสิ่ง และเป็นช่วงสำคัญว่าเราจะสร้างทัศนคติที่ดีต่อการเรียนรู้ได้อย่างไร โดยเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์ที่ค่อนข้างยาก แต่ในขณะเดียวกันก็สำคัญ ดังนั้นผู้ใหญ่ต้องทำอย่างไรก็ได้เพื่อที่จะมั่นใจได้ว่า เด็กจะไม่มองมันเป็นวิชาที่น่าเบื่อ แต่ต้องรู้สึกสนุกและท้าทาย เพราะถ้าความประทับใจแรกไม่ดีแล้ว ยิ่งเรียนไปในระดับที่สูงขึ้น เช่น ในระดับชั้นมัธยม ที่ทุกอย่างเริ่มเป็นเรื่องทฤษฎีจับต้องได้ยากขึ้น เขาก็จะเบื่อและไม่ชอบวิชานี้ไปแล้ว

คณิตศาสตร์ในวัยเด็กเล็ก จึงไม่ใช่การคิดคำนวณ แต่เป็นการทำความรู้จักกับตัวเลข กับจำนวน ได้นับเลข สร้างแพตเทิร์นต่างๆ เรียนรู้คำศัพท์พื้นฐานอย่าง มากกว่า น้อยกว่า และเท่าไร เริ่มต้นที่จะคาดเดาหาผลลัพธ์อย่างง่ายๆ พร้อมกับฝึกตั้งคำถาม

เมื่อเริ่มเข้าชั้นประถมต้น เราจะนำความรู้พื้นฐานทั้งหมดนั้นมาต่อยอดสู่การคำนวณอย่างง่าย โดยยังใช้ภาพเข้ามาช่วยสื่อความหมาย เมื่อโตขึ้นจึงจะเป็นการทำงานโดยตรงกับตัวเลขและสัญลักษณ์ คำนวณสิ่งที่มันจับต้องได้ยาก เข้าใจคอนเซ็ปต์ที่มันซับซ้อนขึ้น โดยไม่ต้องใช้ภาพเข้ามาช่วย จนชั้นมัธยม ถึงจะเป็นการคำนวณชั้นสูง เช่น สมการเชิงซ้อน ฟังก์ชั่น แคลคูลัส เรขาคณิต ฯลฯ ค่อนไปในทางทฤษฎี ที่สามารถเชื่อมโยงเข้ากับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ของโลกใบนี้

Shrewsbury City Campus

ในฐานะคุณครูคณิตศาสตร์ชั้นประถม วิธีการที่คุณใช้ในห้องเรียนกับเด็กๆ เพื่อให้เขาสนุกและเข้าใจเนื้อหา เป็นอย่างไร 

แต่ก่อนเราเรียนคณิตศาสตร์ด้วยวิธีการแบบเดิมๆ คือมีแนวทางเดียวเพื่อให้ได้มาซึ่งคำตอบ วิธีที่ครูสอนคือวิธีที่ดีที่สุด และนักเรียนต้องทำตามวิธีนี้ แต่เมื่อเวลาผ่านไป มีงานวิจัย บวกกับประสบการณ์ส่วนตัวของผม พบว่า เด็กทุกคนมีวิธีการเรียนรู้ที่ต่างกัน มันไม่มีทางที่ทุกคนจะใช้วิธีการเดียวกันในการเรียนรู้ มันอาจจะเวิร์กกับเด็กคนหนึ่ง แต่สำหรับเด็กที่ยังไม่เข้าใจล่ะ…

และอีกอย่างที่เราเพิ่งพูดถึงกันไปก็คือ ที่คนเราโตขึ้นแล้วรู้สึกว่าคณิตศาสตร์เป็นเรื่องยาก หรือมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อวิชาคณิตศาสตร์ มันอาจเป็นเพราะเราไม่เคยได้รับประสบการณ์ หรือไม่เคยมีใครทำให้ดูว่าที่จริงแล้วมันมีหลายวิธีเลยที่เราสามารถหาคำตอบ ถ้าเราพบวิธีการที่เข้ากับเรา เราก็จะสนุกกับวิชานี้มากขึ้นก็ได้

ผมจึงใช้แนวทาง ‘Varied Fluency Approach’ เป็นแนวทางที่มุ่งมองหาวิธีการที่หลากหลายมากที่สุดในการหาคำตอบหนึ่งคำตอบ ยิ่งครูสามารถนำเสนอวิธีการที่มากเท่าไร เด็กจะยิ่งมีโอกาสเข้าใจมากขึ้นว่าวิธีไหนที่ใช่สำหรับพวกเขา และช่วยลดโอกาสที่เด็กๆ จะคิดว่า ฉันคิดไม่ออก ฉันไม่เข้าใจ และฉันไม่ชอบวิชาเลข

สิ่งที่ตามมาคือ เมื่อเด็กมีโอกาสได้มองเห็นว่ามีวิธีการมากมายที่จะหาคำตอบได้ ก็จะเกิดความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในหัวข้อนั้นๆ

อยากให้ช่วยยกตัวอย่างการใช้แนวทาง Varied Fluency Approach

เด็กๆ กำลังเรียนการแก้โจทย์โดยใช้ Formal Column Method (การตั้งตัวเลขในแต่ละหลักให้ตรงกันแล้วคำนวณทีละหลัก) โจทย์คือ 4002+3998 ตัวเลขมันค่อนข้างใกล้เคียงกันมากนะ เด็กคนหนึ่งใช้เวลาสักพัก เพื่อเขียนตัวเลขชุดนั้นลงบนกระดาษแล้วคำนวณ ส่วนเด็กอีกคนยกมือตอบคำตอบทันที โดยไม่ต้องลงมือเขียน เพราะเขาสามารถสร้างภาพในหัวและมองเห็นมันเป็นจำนวน 4000+4000 ได้

อีกโจทย์คือ ผมถามนักเรียนว่า 47+28 จะได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นเลขคู่ใช่หรือไม่ เด็กบางคนบอกได้ทันทีว่า ไม่ใช่ เพราะเขามองออกว่า 7+8 ได้ 15 ในขณะที่บางคนบอกว่าผิดเพราะพวกเขาคำนวณโจทย์นี้เสร็จแล้ว จึงตอบได้ว่ามันไม่ใช่เลขคู่ แต่บางคนก็ไม่ต้องแก้โจทย์เลย แต่เขาให้เหตุผลว่ามันเป็นไปไม่ได้เพราะเลขคู่จะไม่เกิดจากเอาเลขคี่บวกเลขคู่ เราจึงได้มองเห็นเหตุผลที่หลากหลายในการแก้ปัญหาของเด็กๆ

จะเห็นว่าเด็กแต่ละคนมีวิธีการและความถนัดแตกต่างกัน เขาอาจจะเลือกวิธีการแบบเดิม หรือจะวาดเป็นภาพ ใช้จุด เส้น มาแทนตัวเลข แต่ไม่ว่าเด็กจะเลือกใช้วิธีไหน มันก็มีความหมายมาก นี่คือวิธีการที่เขาคิดและเลือกใช้ มันเวิร์กสำหรับเขา ผมว่ามันสำคัญมากที่เราจะต้องเชื่อและยอมรับในวิธีการและวิธีคิดที่แตกต่างเหล่านั้น

ถ้าวิธีการของเด็กทำให้ได้คำตอบที่ผิด

เรากำลังพูดถึง What they’ve done กับ Why เหมือนการเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปประเทศอังกฤษ มันก็มีหลายเส้นทาง หลายวิธีการ แต่จุดหมายปลายทางของเราเหมือนกัน สิ่งนั้นคือ journey ถ้าเด็กมีโอกาสในการแสดงออกว่าเขากำลังทำอะไร และทำไมเขาถึงทำด้วยวิธีการนี้ เมื่อเขาได้เล่าหรือนำเสนอวิธีการ พวกเขาจะค่อยๆ เข้าใจและเริ่มมองเห็นภาพในหัว ว่าจริงๆ แล้วเขาทำอีกวิธีก็ได้

หรือในอีกทาง ถ้าเด็กเลือกใช้วิธีการที่ค่อนข้างจะแปลกประหลาดมาก ผมก็จะให้โอกาสเขา แม้คำตอบมันจะผิด แต่จะให้เขาได้อธิบายถึงสิ่งที่ทำ และให้เหตุผลว่าทำไมถึงทำแบบนั้น ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว เมื่อเด็กได้อธิบาย เขาจะมองออกด้วยตัวเองทันทีว่า ที่เขาคิดมันผิดตรงไหน หรือถ้าเด็กยังมองไม่ออก ก็ถือว่าเป็นโอกาสสำหรับครูอย่างผมที่จะเข้าใจว่าเด็กต้องการให้เราช่วยตรงไหน อย่างไรบ้าง

ผมบอกเด็กๆ เสมอว่า ใครๆ ก็มีโอกาสทำผิดพลาด ผมเรียนรู้มากขึ้นจากการทำผิดพลาด ดังนั้นการตอบผิดไม่ใช่เรื่องใหญ่

Shrewsbury City Campus

ดูเหมือนว่าเด็กๆ ได้อะไรมากกว่าแค่การคำนวณในวิชาคณิตศาสตร์

ผมคิดว่าการคิดในเชิงคณิตศาสตร์ (Mathematical Thinking) เป็นทักษะที่สำคัญกับชีวิต เริ่มต้นตั้งแต่เราเจอปัญหา เราจะพยายามหาทางแก้ไข ที่ส่วนใหญ่มักจะนึกถึงแค่ทางเดียว แต่เมื่อเด็กได้ฝึกที่จะหาวิธีการหลากหลายมาแก้โจทย์ เขาก็จะนำไปปรับใช้ในทุกเรื่องของชีวิตได้

แต่ก่อนอื่นคือเขาต้องมองเห็นความผิดพลาด ครูสามารถเป็นตัวอย่างให้เด็กๆ เห็นได้ว่าความผิดพลาดไม่ใช่เรื่องใหญ่ ผ่านน้ำเสียงที่เราพูด เช่น “โอ้ ครูทำผิดอีกแล้ว ขอบคุณมากที่อธิบายให้ครูฟัง ครูได้มุมมองและเรียนรู้จากเธอเยอะเลย”

สิ่งที่ผมชอบทำคือ แก้โจทย์ใน worksheet และตอบให้ผิดทุกข้อ ผมส่งกระดาษแผ่นนั้นให้เด็กๆ ให้พวกเขาเป็นครูตรวจดูว่าผมทำผิดตรงไหน ต้องแก้อย่างไร สำหรับเด็กๆ มันสนุก เพราะเขาชอบการได้ทำอะไรที่ต่างออกไป แถมยังได้บอกว่า “ครูน่ะทำผิด” เด็กๆ ชอบอยู่แล้ว และผมก็ชอบยิ่งกว่าที่ได้ถามเด็กๆ กลับไปว่า “ทำไมมันถึงผิดล่ะ” เหมือนเราได้เล่นด้วยกัน

ทักษะต่อมาคือการแก้ปัญหา มันคือชีวิตบนโลกจริง เราเชื่อมโยงโจทย์ให้ใกล้เคียงกับชีวิตจริง เช่น คนไปซื้อของในตลาด การกะประมาณชั่งตวงวัดเพื่อทำขนม หรือดูนาฬิกาเพื่อออกกำลังกาย เมื่อเด็กมีความรู้พื้นฐานและเข้าใจคอนเซ็ปต์เบื้องต้น เขาจะสามารถเชื่อมโยงไปสู่การประยุกต์ใช้กับสถานการณ์จริงได้ และรู้สึกว่าคณิตศาสตร์ไม่ใช่เรื่องไกลตัว

การคิดนอกกรอบและการคาดคะเน เป็นคอนเซ็ปต์ที่สูงขึ้นของการเรียนคณิตศาสตร์ บวกกับที่โชรส์เบอรีเราสนับสนุนให้ทั้งครูและนักเรียน ใช้ ‘คำถามปลายเปิด’ ให้ได้มากที่สุด เพราะมันไม่จำเป็นว่าจะต้องมีคำตอบเพียงหนึ่งเดียว แต่จะเป็นอะไรก็ได้

วิชาคณิตศาสตร์ในเด็กชั้นประถมต้น ยังต้องการอะไรที่จับต้องได้และมองเห็นภาพชัด ผมชอบชั้นเรียนหนึ่งมาก เด็กๆ เรียนเรื่องรูปทรงสามมิติ ที่จะประกอบด้วยหน้า เส้นขอบ และจุดยอด (faces, edges and vertices) ผมใช้มาร์ชเมลโลว์และสปาเกตตี้เพื่อสร้างรูปทรงเพื่อให้เด็กมองเห็นเป็นรูปธรรม เขาจะสามารถนับได้ทันทีว่ามีด้านและมุมเท่าไร

สิ่งที่ท้าทายขึ้นคือเมื่อต้องสร้างปริซึ่ม ที่จำนวนเหลี่ยมมุมเพิ่มขึ้น เด็กจะค่อยๆ เพิ่มมุมเข้าไปที่ด้านล่าง จนมันกลายเป็นสี่เหลี่ยม ต่อไปเป็นห้าเหลี่ยม หกเหลี่ยม ยิ่งเพิ่มด้านเข้าไปที่ฐานเท่าไร พวกเขาจะเริ่มมองเห็นภาพเป็นแพตเทิร์นว่าจำนวนมุมจะเพิ่มขึ้นสองเท่าของฐาน เส้นขอบจะเพิ่มสามเท่า และจำนวนหน้าของปริซึ่มจะมีค่าเท่ากับฐานบวกสองเสมอ เด็กๆ จะมองเห็นและค้นพบด้วยตัวเอง และยังคาดคะเนได้ว่า หากมีการเพิ่มจำนวนต่อไป ผลลัพธ์ควรจะออกมาเป็นอย่างไร เมื่อมองเห็นแพตเทิร์น ก็จะสามารถคาดคะเนได้ และยังสามารถตรวจสอบจนพบคำตอบด้วยตัวเองได้ ดังนั้น ต่อให้ผมถามพูดถึงปริซึ่มที่มีฐานเป็นร้อยมุม เขาก็จะตอบได้ เพราะเขามองเห็นแพตเทิร์นแล้ว มันเป็นความสามารถที่เราต้องสร้างให้เกิดขึ้นเรื่อยไปจนกว่าเด็กๆ จะจบการศึกษา

เมื่อเราใช้สิ่งที่จับต้องได้ มันจะทำให้เด็กๆ พบคำตอบได้ด้วยตัวเอง เป็นการสร้างความมั่นใจ จนเกิดเป็นความเชื่อมั่นว่าเขาสามารถพิสูจน์จนเจอคำตอบเองได้ เขาจะมีส่วนร่วม และสนุกที่จะหาคำตอบ เด็กบางคนอาจไม่จำเป็นต้องพึ่งสิ่งที่จับต้องได้ เพราะเขาสร้างภาพในหัวและเข้าใจ จนตอบออกมาได้เลย นั่นก็เป็นวิธีของเขา แต่ในเด็กที่ไม่ถนัด เขาก็ยังใช้วิธีนับมาร์ชเมลโลว์ได้ และแน่นอนว่า เด็กๆ ชอบกิจกรรมนี้เพราะพวกเขาจะได้กินมันตอนจบคลาส (หัวเราะ)

Shrewsbury City Campus

พ่อแม่ คุณครู หรือผู้ใหญ่ ควรคาดหวังอย่างไรต่อการเรียนคณิตศาสตร์ของเด็กๆ 

ในวัยแรกเริ่ม อย่างแรกคือต้องทำให้เด็กเห็นให้ได้ว่า คณิตศาสตร์นั้นอยู่ทุกที่ ไม่ใช่ด้วยการคำนวณ แต่เป็นการเชื่อมโยงเอาวิถีชีวิตและสิ่งที่เขาเล่น ให้มองเห็นเป็นคณิตศาสตร์ เช่น บล็อกไม้มีกี่ชิ้น แล้วเป็นสีฟ้ากี่ชิ้น หรือชวนลูกดูนาฬิกาไปด้วยกัน  เพราะสิ่งรอบตัวและวิถีชีวิตประจำวันสำคัญมาก สำคัญกว่า worksheet เพราะมันจะทำให้เด็กพบว่าคณิศาสตร์เป็นเรื่องสนุก

สองคือต้องหล่อเลี้ยงหัวใจให้สนุกสนานกับคณิตศาสตร์ สิ่งที่สำคัญคือเราต้องตั้งคำถามเสมอ ทำตัวสงสัย คอยตั้งคำถามว่าทำไมลูกถึงคิดแบบนั้น ลูกรู้ได้อย่างไร และรับฟังความคิดเห็นของเขา แล้วหาคำตอบไปด้วยกัน

สุดท้ายคือต้องมีความเชื่อมั่นว่า เด็กย่อมแตกต่างและมิวิธีการที่ไม่เหมือนกันในการเรียนรู้ ดังนั้น เด็กที่ตอบได้เร็ว แสดงว่าเขาเข้าใจและมีภาพในหัวที่ชัดเจน แต่คนที่ยังตอบไม่ได้ ไม่ได้หมายความว่าเขาไม่เข้าใจ แต่มันอาจไม่ใช่วิธีที่เหมาะกับเขา ก็ต้องหาวิธีการอื่นมาช่วยหาคำตอบ ซึ่งมันอาจจะต้องใช้เวลา ก็ไม่เป็นไร หรือบางคนไม่สามารถสร้างภาพในหัวได้ แต่เขาเขียน วาดภาพบนกระดาษ หรือหยิบจับสิ่งของมาใช้แทนได้ นี่คือความแตกต่าง ที่ทำให้ทุกคนสามารถสนุกกับคณิตศาสตร์ได้ด้วยวิธีการในแบบฉบับของตัวเอง


COMMENTS ARE OFF THIS POST