READING

นักเรียนไม่ใช่คอนเทนต์ : เมื่อสิทธิและตัวตนของเด็ก...

นักเรียนไม่ใช่คอนเทนต์ : เมื่อสิทธิและตัวตนของเด็กนักเรียนสำคัญกว่ายอดไลก์

นักเรียนไม่ใช่คอนเทนต์

ความน่ารักและพฤติกรรมที่ไร้เดียงสาของเด็กๆ มักทำให้ผู้ใหญ่หลายคนอยากถ่ายภาพถ่ายคลิป และเผยแพร่ออกไปบนโซเชียลมีเดียเพื่อส่งต่อความน่ารักสดใสให้กับผู้อื่นได้เห็น

แต่บ่อยครั้ง เรามักเห็นคลิปเด็กๆ ที่ถูกถ่ายโดยคุณครู เหมือนหลงลืมไปว่า นักเรียนไม่ใช่คอนเทนต์ แต่เด็กๆ คือลูกของคุณพ่อคุณแม่ที่เลือกโรงเรียนและไว้วางใจให้คุณครูเป็นผู้ดูแลลูกน้อยของตน และเมื่อคลิปเหล่านี้ถูกแชร์ออกไป หลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่องน่ารักและขบขัน แต่เมื่อมองในแง่ความถูกต้องและเหมาะสมแล้ว นั่นเท่ากับเรากำลังส่งเสริมให้ครูกลายเป็นคนที่มองเห็นการละเมิดสิทธิเด็กเป็นเรื่องธรรมดาใช่หรือไม่

ประเด็น นักเรียนไม่ใช่คอนเทนต์ ถูกนำมาวิพากษ์วิจารณ์อยู่บ่อยครั้ง เพื่อเรียกร้องให้คุณครูตระหนักเกี่ยวกับการเคารพสิทธิเด็กมากขึ้น แม้แต่ กระทรวงศึกษาธิการ ก็เคยออกมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับ ‘ครูยุคใหม่’ โดยระบุว่า คุณครูต้องใส่ใจในสิทธิของนักเรียนและยอมรับความแตกต่าง ตามข้อกำหนดจริยธรรมเจ้าหน้าที่ของรัฐในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ

M.O.M จึงอยากเป็นอีกหนึ่งเสียงเพื่อเรียกร้องให้คุณครูทุกคนตระหนักเรื่อง #นักเรียนไม่ใช่คอนเทนต์ มากขึ้น เราจึงได้ทำสรุป สิ่งที่คุณครูยุคใหม่ควรตระหนักและให้ความสำคัญมากขึ้น มาเพื่อส่งเสริมให้โรงเรียนและคุณครูเป็นพื้นที่ที่คุณพ่อคุณแม่ให้ความวางใจได้ไม่ต่างไปจากบ้านและครอบครัวกันค่ะ

1. ยอมรับความแตกต่าง

Cyberbullying_web_1

คุณครูควรเป็นตัวอย่างที่ดีในการยอมรับความแตกต่าง และสอนเด็กเกี่ยวกับความเท่าเทียมได้เป็นอย่างดี เพราะคุณครูคือคนที่อยู่ในเวลาที่เด็กเริ่มรู้จักเพื่อนใหม่ อยู่ในสถานการณ์ที่เด็กๆ ต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัว ให้เข้ากับสังคมใหม่ๆ คุณครูจึงมีโอกาสที่ดีในการส่งเสริมและสร้างพื้นฐานให้เด็กเรียนรู้และเข้าใจเรื่องความหลากหลายและแตกต่างของผู้คนในสังคมต่อไป

2. มีวุฒิภาวะ

Cyberbullying_web_2

คนเป็นครู ควรมีวุฒิภาวะมากพอที่จะรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น ให้เกียรติและปฏิบัติตัวกับผู้อื่น โดยเฉพาะเด็กๆ อย่างสุภาพ รวมถึงสามารถควบคุมอารมณ์  มีความอดทนต่อสิ่งเร้า เช่น เด็กดื้อและไม่เชื่อฟัง คุณครูที่ดีย่อมสามารถใช้สติในการรับมือกับเด็กๆ ได้

3. ไม่ส่งเสริมการคุกคามทางเพศ

Cyberbullying_web_3

คุณครูยุคใหม่ ต้องไม่มองว่าความน่ารักน่าเอ็นดูเป็นเรื่องสาธารณะ เพราะการถ่ายภาพ ถ่ายคลิปของเด็กเผยแพร่ในอินเทอร์เน็ต อาจเป็นการส่งเสริมให้เกิดการคุกคามทางเพศ การค้ามนุษย์ การล่วงละเมิดทางเพศ และการแสวงหาประโยชน์จากเด็กๆ ทุกรูปแบบได้

4. ป้องกันการกลั่นแกล้ง

Cyberbullying_web_4

แม้พฤติกรรมของเด็กจะดูน่ารักน่าเอ็นดู หรือสร้างความขบขันให้คุณครูมากแค่ไหน แต่รู้หรือไม่ว่าการโพสต์หรือแชร์คลิปเหล่านั้นออกไป อาจเข้าข่ายเป็นการกลั่นแกล้งในโลกไซเบอร์ (Cyberbullying) เพราะอาจเป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจเด็กตอนโตได้ ดังนั้น นอกจากคุณครูควรทำตัวเป็นผู้ปกป้องและป้องกันไม่ให้เกิดการกลั่นแกล้งภายในโรงเรียนแล้ว คุณครูก็ไม่ควรเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการกลั่นแกล้งเสียเองด้วย

5. สนับสนุนพัฒนาการของเด็ก

Cyberbullying_web_5

เป้าหมายของพ่อแม่และผู้ปกครองทุกคน คือคาดหวังว่าโรงเรียนและคุณครูจะช่วยให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ เติบโต และมีพัฒนาการที่ดี ดังนั้น คุณครูควรให้ความสำคัญกับการส่งเสริมพัฒนาการและฝึกทักษะเด็กๆ ด้วยกิจกรรมที่สร้างสรรค์ มากกว่าการให้ความสนใจกับรูปร่างหน้าตา หรือท่าทางตลกๆ ของเด็ก ไม่ว่าจะต้องการหาประโยชน์หรือยอดไลก์ให้ตัวเอง หรือเกิดจากเจตนาที่บริสุทธิ์ก็ตาม

 

#เด็กไม่ใช่คอนเทนต์ และการแกล้งให้กลัวไม่ใช่เรื่องสนุก:
คุยกับหมอไวน์—จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ผู้มีความสุขเมื่อเห็นเด็กๆ กลับมายิ้มได้
อ้างอิง
ศธ.360 องศา
PPTVHD36

Supinya R.

ชอบอ่านนิยายสยองขวัญ ชอบเขียนไดอารี่ และเป็นคุณแม่จำเป็นในบางเวลา :-)

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST