READING

#เด็กไม่ใช่คอนเทนต์ และการแกล้งให้กลัวไม่ใช่เรื่อง...

#เด็กไม่ใช่คอนเทนต์ และการแกล้งให้กลัวไม่ใช่เรื่องสนุก: คุยกับหมอไวน์—จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ผู้มีความสุขเมื่อเห็นเด็กๆ กลับมายิ้มได้

เด็กไม่ใช่คอนเทนต์

ในยุคที่พูดได้เต็มปากว่าเพียงแค่มีโทรศัพท์มือถือ ทุกคนก็สามารถเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์และนำมาเผยแพร่ในอินเทอร์เน็ตเพื่อเรียกยอดวิวยอดไลก์และการเผยแพร่ต่อในวงกว้าง

หนึ่งในประเภทของคอนเทนต์ที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดก็คือ การเก็บภาพหรือคลิปความน่ารัก ตลกขบขัน หรือแม้แต่การสร้างสถานการณ์แปลกๆ เพื่อแอบดูพฤติกรรมของเด็ก ที่นอกจากจะเกิดจากความตั้งใจและเต็มใจของคุณพ่อคุณแม่แล้ว ยังมีคอนเทนต์ไม่น้อยที่เด็กๆ ถูกถ่ายและเผยแพร่โดยคนแปลกหน้าหรือคุณครูที่โรงเรียนอีกด้วย

แคมเปญ #นักเรียนไม่ใช่คอนเทนต์ โดย คุณหมอโอ๋—พญ. จิราภรณ์ อรุณากูร เจ้าของเพจ เลี้ยงลูกนอกบ้าน จึงเกิดขึ้นเพื่อรณรงค์และส่งสัญญาณไปถึงทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และสะกิดเตือนให้คุณครูมองเห็นความสำคัญของการเคารพสิทธิส่วนบุคคลและความปลอดภัยของเด็กๆ

เรามีโอกาสได้พูดคุยกับ คุณหมอไวน์—พญ. นัทธ์ชนัน จรัสจรุงเกียรติ  จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น จาก Washington university in St. Louis ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อขอความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้เด็กเป็นคอนเทนต์ รวมถึงการสร้างสถานการณ์แกล้งให้เด็กตกใจกลัว เพื่อเรียกยอดวิว ยอดไลก์ และความสนุกสนานของพ่อแม่จะส่งผลต่อจิตใจเด็กๆ อย่างไรบ้าง

ทำไมคุณหมอถึงเลือกเรียนต่อเป็นจิตแพทย์เฉพาะทางด้านเด็ก

ชอบบบบ (หัวเราะ) ทำงานนี้แล้วรู้สึกชีวิตมีความหมายนะคะ เวลาเรารู้สึกว่ามีส่วนเปลี่ยนแปลงหรือทำให้ชีวิตของเด็กดีขึ้น มันมีความสุขนะ

ตอนเริ่มเรียนเฉพาะทางที่จุฬาฯ แล้วได้เห็นเด็กๆ เวลาที่เขาเป็นทุกข์ เขายิ้มไม่ออก แต่พอเขามาหาเรา 1-2 ครั้ง แล้วเขายิ้มได้ ก็เลยรู้สึกว่านี่แหละคือสิ่งที่เรากำลัง fighting for คือรอยยิ้มเหล่านี้

เมื่อเร็วๆ นี้ คลิปเปิดฟิลเตอร์ผี แล้วพ่อแม่แกล้งปิดประตูหนีลูก เป็นที่นิยมใน tiktok มาก จนต้องมีหลายคนออกมาเตือนถึงผลเสียที่ตามมา ในฐานะจิตแพทย์เด็ก คุณหมอไวน์อยากแนะนำเรื่องนี้อย่างไร

อย่างแรก คุณพ่อคุณแม่ต้องนึกถึงใจเขาใจเรา เราเป็นผู้ใหญ่ เวลาดูหนังผี เราเป็นยังไง ดูจบแล้วมีผลกระทบกับชีวิตตัวเองยังไง บางคนดูแล้วไม่กล้าอยู่คนเดียว บางคนต้องเปิดไฟนอน ขนาดเป็นสิ่งที่เราเลือกดูเองนะ แต่เด็กๆ เขาไม่ได้เข้าใจโลก หรืออาจจะยังไม่สามารถแยกเรื่องจริงกับจินตนาการได้ เขาก็จะกลัวมาก โดยเฉพาะเด็กวัยอนุบาล เขาจะมีจินตนาการเยอะ บางครั้งเรื่องจริง ก็ยังสามารถใส่จินตนาการของตัวเองเข้าไปได้ และปัญหาก็คือ เวลาคนเราเกิดความกลัว มันมีผลกระทบหลายอย่าง บางครั้งก็ใจสั่น มือเปียก ปวดท้อง มีอาการมากมายไปหมด แต่ผู้ใหญ่ เวลากลัว ยังปลอบตัวเองหรือรู้ว่าจะทำยังไงให้หายกลัวได้ แต่เด็กเขาไม่รู้จะทำยังไง เพราะฉะนั้นผู้ใหญ่ต้องนึกถึงใจเขาใจเราให้มาก

ในกรณีนี้ สำหรับเด็กแล้ว ระหว่างผีกับการที่พ่อแม่ปิดประตูหนีไปแล้วทิ้งให้อยู่คนเดียว สิ่งไหนน่าจะสร้างความกลัวหรือสะเทือนใจได้มากกว่า

หมอว่าเราไม่รู้หรอก แต่ทั้งสองอย่างมันเป็นปัญหาสำหรับเด็กทั้งคู่ ลองสมมติเป็นการพาลูกไปเล่นบ้านผีสิง ถามว่าเด็กกลัวไหม เขาก็กลัวนะ แต่การมีพ่อแม่อยู่ด้วย คอยปลอบ และคอยให้กำลังใจมันย่อมดีกว่า แต่ทั้งนี้หมอไม่ได้แนะนำให้พาลูกไปเที่ยวบ้านผีสิงนะคะ (หัวเราะ)

กลับมาที่กรณีคลิปแกล้งเด็ก ผีเป็นเรื่องน่ากลัวสำหรับเด็กอยู่แล้ว และเวลาที่เด็กกลัว สิ่งที่เขามองหาหรือต้องการที่สุดก็คือพ่อแม่ แต่พ่อแม่ออกไปแล้วปิดประตูทิ้งเขาไว้ มันยิ่งน่าตกใจสำหรับเขา

หรือไม่ต้องมีผีมาเกี่ยวข้อง ลองนึกถึงการทำโทษที่เอาเด็กไปขังให้อยู่ในห้องคนเดียว มันก็ก่อให้เกิดความกลัวได้ ทีนี้พอเด็กกลัวมากๆ ก็จะมีผลต่อพัฒนาการด้านจิตใจและสังคม เช่น เกิดอาการวิตกกังวล ต่อไปเขาอาจจะไม่กล้าห่างจากพ่อแม่ เพราะกลัวว่าจะโดนทิ้ง หรือบางคนก็กลายเป็นกลัวความมืด เข้านอนยาก เพราะเขากระวนกระวายใจเมื่อต้องอยู่ในที่มืด หรือเด็กบางคนก็เกิดพัฒนาการถดถอย อะไรที่เคยทำได้ ก็ทำไม่ได้ หรือมีพฤติกรรมที่เด็กกว่าวัย เช่น กลับไปฉี่รดที่นอนบ้าง หรืองอแงมากขึ้นบ้าง

พ่อแม่บางคนเข้าใจว่า ลูกตกใจกลัวแป๊บเดียวปลอบแล้วก็หาย หรือว่าเด็กลืมง่าย, อย่างนี้จริงไหม

หมอว่าก็แล้วแต่คน เด็กบางคนจำ บางคนก็อาจจะไม่จำ แต่คุณพ่อคุณแม่ต้องลองถามตัวเองว่ามีอะไรที่เราฝังใจมาตั้งแต่เด็ก แล้วมีผลต่อชีวิตในปัจจุบันบ้าง ถ้าเรามี ลูกก็มีได้

เราต้องไม่ไปตัดสินหรือคิดแทนว่าเดี๋ยวเด็กก็ลืมจริงไหม

ใช่ หรือจะยอมเสี่ยงไหม เพราะไม่มีใครรู้หรอกว่าเด็กคนไหนจะเป็นยังไง แล้วเราจะเสี่ยงกับผลกระทบที่ไม่คุ้ม เพื่อให้ผู้ใหญ่ได้สนุกนิดๆ หน่อยๆ จริงเหรอ มันยังมีความสนุกอย่างอื่นอีกนะ หรือบางคนอาจจะบอกว่า อยากฝึกความกล้าให้ลูก มันก็มีการฝึกด้วยวิธีอื่นที่ดีกว่านี้

ถ้าคุณพ่อคุณแม่ต้องการฝึกให้ลูกมีความกล้าหรือฝึกให้ลูกอยู่คนเดียวได้จริงๆ ควรใช้วิธีการไหน

ก็ไม่จำเป็นต้องสร้างสถานการณ์ให้ลูกกล้ว ส่วนจะวิธีไหน หมอว่าแล้วแต่วัยของลูก เพราะว่าถ้าลูกเล็กเกินไป เช่น อายุต่ำกว่าสองขวบ เขายังไม่เข้าใจหรอกว่าพ่อแม่หายไปไหน เขาจะวิตกกังวล แต่ถ้าวัยอนุบาล หรือวัยที่พูดกันรู้เรื่อง ก็อาจจะบอกลูกตรงๆ ได้ว่า เดี๋ยวแม่จะให้หนูเล่นอยู่ตรงนี้ ส่วนแม่จะไปรอตรงนู้น ต้องค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้ลูกเข้าใจว่าต่อให้พ่อแม่ได้อยู่ด้วย แต่หันมาเมื่อไหร่ พ่อแม่ก็ยังอยู่

แต่ทั้งหมดนี่เราไม่ได้ฝึกกันภายในวันเดียวนะคะ พอเด็กเขาไว้ใจแล้วก็ค่อยๆ ฝึกเพิ่มขึ้น เช่น บอกว่า คุณแม่จะไปอีกห้องแป๊บนึง แล้วเดี๋ยวกลับมา แล้วก็ทำตามสัญญานั้นถ้าลูกเชื่อใจและมั่นใจว่ายังไงพ่อแม่ก็กลับมาหาแน่ๆ เขาก็จะสบายใจ มันคือความผูกพันและการสร้างความเชื่อใจกันระหว่างพ่อแม่ลูก ซึ่งมันต้องใช้ความสม่ำเสมอ ในขณะที่การแกล้งหรือทำให้ลูกกลัว ก็จะเป็นตัวทำลายความไว้ใจนั้น

ถ้าความไว้ใจในตัวพ่อแม่ยังต้องใช้ความสม่ำเสมอ แล้วทำไมการแกล้งหรือทำให้กลัวแค่ครั้งเดียวถึงมีผลกระทบต่อใจเด็กได้มาก

ลองถามตัวเองนะ แฟนรักกันมาเป็นสิบปี เขาทำให้ไม่ไว้ใจครั้งเดียว มันทำลายความเชื่อได้ไหม (หัวเราะ)

แล้วมีโรคหรืออาการทางจิตเวชที่ชัดเจนเลยว่าเกิดจากการถูกทำให้กลัวในวัยเด็กหรือไม่

หมอว่าตอบยาก แต่ว่าส่วนมากจะอยู่ในข่ายอาการวิตกกังวล หรือ Anxiety Disorder หรือเป็นกลุ่ม Phobia เช่น กลัวขึ้นเครื่องบิน กลัวความมืด แต่มันไม่แน่หรอกว่าถ้าโดนแกล้งแล้วจะทำให้เกิดโรคจิตเวชหรือเปล่า ไม่ได้มีอะไรการันตี ร้อยเปอร์เซ็นต์ ว่าทำอย่างนี้แล้วจะเกิดปัญหาอย่างนี้ แต่ถามว่า ถ้ามันมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดปัญหาได้ เราจะเสี่ยงให้ลูกจะกลายเด็กขี้กลัว ขี้กังวล พัฒนาการถดถอย งอแง หรือมีอาการ Temper Tantrums ได้หรือเปล่า เพราะมันเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นได้

“การนิ่งไม่ได้แปลว่าไม่ปกป้องลูก นิ่งแปลว่าจะมีการเข้าไปคุย แก้ปัญหา และเซ็ตกรอบให้คนอื่นรู้ว่าจะมาแกล้งลูกเราแบบนี้ไม่ได้”

แล้วถ้าไม่ใช่คุณพ่อคุณแม่ แต่ลูกถูกแกล้งมาจากคนอื่น พ่อแม่จะช่วยลูกจากสิ่งนี้ได้ยังไง

อย่างแรกคือพ่อแม่ต้องเป็นหลักใจให้ลูกก่อน เพราะความจริงเวลารู้ว่าลูกโดนแกล้งก็ต้องโมโห แต่ลองนึกดูว่าเวลาที่เรากลัว เราต้องการอะไร เราต้องการคนที่นิ่งและอยู่กับเราก่อน แต่การนิ่งไม่ได้แปลว่าไม่ปกป้องลูก นิ่งแปลว่าจะมีการเข้าไปคุย แก้ปัญหา และเซ็ตกรอบให้คนอื่นรู้ว่าจะมาแกล้งลูกเราแบบนี้ไม่ได้

แต่ถ้าคุณพ่อคุณแม่มีแต่อารมณ์โกรธ ก็จะไม่มีพลังงานมาดูแลอารมณ์ของลูก เพราะเรามัวแต่พร้อมบวกจนไม่ได้โฟกัสว่าตอนนี้ลูกใจเสียแย่แล้ว ดังนั้นพ่อแม่ต้องนิ่งก่อน แล้วค่อยไปบวกทีหลัง (หัวเราะ)

พอเรานิ่งแล้วก็ค่อยถามลูกว่ามันเป็นยังไง เกิดอะไรขึ้น และต้องระวังใจตัวเองให้ดีที่จะไม่คาดคั้นเอาคำตอบจากลูกให้ได้ เพราะบางทีเด็กที่ตกใจกลัวมา เขาอาจจะพูดจาไม่รู้เรื่อง แล้วพ่อแม่ก็จะเผลอไปหงุดหงิดหรือโมโหใส่ลูกแทน ดังนั้นเราต้องโฟกัสที่การทำให้ลูกสบายใจด้วยการถาม แล้วช่วยให้เขาได้ process เรื่องราวออกมา เพราะเด็กยิ่งเล็กเท่าไร เขายิ่งมีข้อจำกัดทางภาษา เขาอาจจะไม่รู้จักอารมณ์ที่เกิดขึ้น และไม่รู้ว่าจะเล่ายังไง ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ต้องช่วย เช่น ถามว่า “หนูกลัวเหรอลูก มันใช่ความกลัวไหมลูก หรือว่าหนูโกรธที่เขาแกล้ง หรือลูกแค่ตกใจ” ลองช่วยหาคำศัพท์ให้เขา เพราะตอนที่ลูกคุยให้เราฟัง เขาจะได้เรียบเรียงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสมองเขาโดยอัตโนมัติไปด้วย

หลังจากนั้นก็ให้คำอธิบายกับลูก เช่น กรณีคลิปผีเดียวกันนี้ พ่อแม่อาจจะอธิบายว่าผีที่เห็นคืออะไร แล้วต่อจากนั้นเราต้องไปจัดการเซ็ต boundary กับคนที่แกล้งลูกเราว่าทำแบบนี้ไม่ได้ ซึ่งข้อนี้จะบอกหรือไม่บอกลูกก็ได้ แต่ในความเป็นจริง ถ้าลูกรู้ว่าพ่อแม่ปกป้องเขา ไม่ได้ปล่อยให้ใครมาทำอะไรกับเขาก็ได้ หมอคิดว่ามันก็เป็นการดี

พ่อแม่สามารถแก้ความกลัวของลูกด้วยการเปิดคลิปที่ลูกกลัวให้ดูอีกรอบได้ไหมหรือควรพยายามเลี่ยงไม่ให้ลูกเห็นอีกเลย

หมอคิดว่าแล้วแต่จังหวะและเวลาที่เหมาะสม เช่น อยู่ในบรรยากาศที่ลูกสบายใจ เวลากลางวัน หรือมีคนอยู่กับเขาเยอะๆ ก็สามารถเปิดแล้วชวนลูกให้มาดูด้วยกันได้ คุณแม่อาจจะบอกว่า “แม่ไปดูมาใหม่แล้ว มันน่ากลัวจริงๆ เนอะ แต่ว่ามันไม่ใช่ของจริง หนูอยากลองดูอีกรอบไหม เดี๋ยวแม่อยู่เป็นเพื่อน”

ถ้าเด็กกลัวอะไรที่ไม่น่ากลัว ผู้ใหญ่บางคนอาจจะใช้วิธีเอามาให้หรือพาลูกไปดูอีกรอบ เพื่อตอกย้ำว่ามันไม่ได้น่ากลัวจริงๆ อย่างนี้เป็นวิธีที่ถูกต้องไหม

จริงๆ มันก็แล้วแต่เด็กและแล้วแต่สถานการณ์ เช่น คนกำลังกลัวอยู่แล้วมาบอกว่าต้องไปดูอีก เขาก็จะยิ่งกลัว แต่ถ้าทุกอย่างคลี่คลายแล้ว เราค่อยมาทำให้ลูกเข้าใจความจริงก็ได้

“บางทีผู้ใหญ่ทำไปเพราะเห็นว่าน่ารักหรือเป็นเรื่องตลก อย่างเด็กร้องไห้ ผู้ใหญ่อาจมองว่าตลก แต่สำหรับเด็กมันคือความทุกข์ของเขา และถ้าเขากลับมาเห็นในอนาคต เราทำนายไม่ได้ว่าเขาจะโอเคหรือไม่”

เมื่อเร็วๆ นี้ในประเทศไทยมีแคมเปญ #นักเรียนไม่ใช่คอนเทนต์ เพื่อรณรงค์ให้คุณครูเลิกถ่ายคลิปเด็กนักเรียนมาลงในโซเชียลมีเดีย คุณหมอคิดว่าการกระทำเหล่านี้ส่งผลกับเด็กๆ อย่างไร

หมอว่าตอนเด็กเขาอาจจะยังไม่รู้เรื่องมากนัก แต่ต้องถามว่าสิบปีหรือยี่สิบปีข้างหน้า ถ้าเขามาเห็นตัวเองแล้วเขาจะรู้สึกยังไง เราทำนายไม่ได้เลย

บางทีผู้ใหญ่ทำไปเพราะเห็นว่าน่ารักหรือเป็นเรื่องตลก อย่างเด็กร้องไห้ ผู้ใหญ่อาจมองว่าตลก แต่สำหรับเด็กมันคือความทุกข์ของเขา และถ้าเขากลับมาเห็นในอนาคต เราทำนายไม่ได้ว่าเขาจะโอเคหรือไม่ เพราะฉะนั้น เรื่องหลักที่ควรทำเลยก็คือ consent หรือการขออนุญาต อย่างที่อเมริกา พ่อแม่ส่วนมากเขาจะ blank หน้าลูกไปเลย เพราะเขาคิดว่าลูกยังเล็กเกินไปที่จะเข้าใจเรื่องการให้อนุญาตหรือไม่อนุญาต และอีกอย่างคือเราไม่มีทางรู้คอนเทนต์ที่เราทำไปแล้ว จะไปตกอยู่ในมือใคร ด้วยจุดประสงค์อะไรบ้าง

ถามตรงๆ เลยว่าในอเมริกาหรือต่างประเทศ มีการเผยแพร่ภาพหรือคลิปของเด็กๆ ที่มาจากครูในโรงเรียนบ้างไหม

หมอไม่ค่อยเห็นเลยนะ และหมอรู้สึกว่าครูที่นี่คงมีความรู้สึกว่าเด็กไม่ใช่ลูกเรา จะทำอะไรก็ต้องขอพ่อแม่เขาก่อน แต่เข้าใจว่าสังคมไทยความสัมพันธ์ระหว่างครูกับเด็กอาจจะไม่เหมือนที่นี่ เพราะสำหรับคนไทยครูคือแม่คนที่สอง เขาก็อาจจะลืมตรงนี้ไป

แต่เพื่อความปลอดภัย อย่างน้อยก็ต้องดูว่าคอนเทนต์นั้นเหมาะสมหรือไม่ และขออนุญาตพ่อแม่ของเด็กด้วย ส่วนคุณพ่อคุณแม่เองก็ต้องถามความเห็นของลูก แต่บางทีลูกก็ยังเด็กเกินไปด้วยซ้ำ ดังนั้นมันจึงอยู่ที่วิจารณญาณของคุณพ่อคุณแม่ที่จะต้องไม่ลืมว่าอีกสิบปีข้างหน้าคอนเทนต์ในอินเทอร์เน็ตมันก็จะยังถูกแช่แข็งอยู่อย่างนั้น ในขณะที่สังคมและการรับรู้ของผู้คนเปลี่ยนไปแล้ว

ในทางกลับกัน ถ้าไม่ใช่คุณครู แต่เป็นคุณพ่อคุณแม่เองที่อยากเห็นลูกเป็นคอนเทนต์ หรือเป็นที่รู้จัก เพราะเขามองว่ามันเป็นงานเป็นอาชีพอย่างหนึ่ง คุณหมอคิดว่าการที่เด็กเริ่มมีชื่อเสียงหรือเป็นที่รู้จักในที่สาธารณะส่งผลต่อพัฒนาการและการเติบโตของเด็กอย่างไรบ้าง

หมอคิดว่าขึ้นอยู่กับเด็กและวิธีการทำงานของครอบครัวด้วย เพราะเด็กๆ เขาก็เป็นเหมือนไม้อ่อนดัดง่าย เขาจะแปรผันไปตามสิ่งแวดล้อม เราบอกไม่ได้หรอกว่ามันเสียหรือดีร้อยเปอร์เซ็นต์ มันขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ข้อดีก็มี เช่น ทำให้เด็กกล้าแสดงออกมากขึ้น ทำให้เด็กรู้สึกว่าเขามีความสามารถ มันเป็นช่องทางที่เชื่อมต่อระหว่างเขากับโลกภายนอก แต่ถ้าไม่ได้ระวังหรือมุ่งมั่นมากเกินไป ก็อาจจะกลายเป็นว่าความภูมิใจในตัวเองของเด็กต้องมาขึ้นอยู่กับยอดไลก์ ความนิยม หรือต้องเป็นที่ชื่นชอบของคนภายนอก ซึ่งเป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องคอยสอน หรือทำให้ลูกรู้ว่ามันเป็นแค่กิจกรรมหนึ่งในชีวิตของเด็กธรรมดา

เพราะถ้าตอนเด็กเขาคุ้นเคยกับการเป็น influencer แล้วความนิยมไม่เหมือนเดิมเมื่อโตขึ้น ตัวตนหรือ identity ของเขาจะอยู่ที่ไหน นอกจากนั้นพ่อแม่ก็ต้องคิดเรื่องความปลอดภัยของลูกด้วย

ปัญหาสุขภาพจิตที่พบมากในเด็กอเมริกันคืออะไร

ส่วนใหญ่จะเป็นเคสสมาธิสั้นและซึมเศร้า ยิ่งตั้งแต่มีโควิด ก็มีเด็กฆ่าตัวตายมากขึ้น เคสเด็กที่สุดที่เขาเริ่มมีความคิดอยากฆ่าตัวตายคือ 9 ขวบ

ที่เมืองไทย หากเด็กจะไปพบจิตแพทย์ ต้องมีผู้ปกครองไปด้วย ที่อเมริกาเป็นเหมือนกันไหม

เหมือนกันค่ะ ต้องมี parental consent หรือได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง แต่ก็มีเรื่องที่ยกเว้นได้ เช่น เด็กที่มีปัญหาเกี่ยวกับยาเสพติด ติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ หรือมีการตั้งครรภ์ ก็ไม่จำเป็นต้องรอให้คุณพ่อคุณแม่มาด้วย เพราะว่าเรื่องพวกนี้บางทีเด็กก็ไม่กล้าบอกคุณพ่อคุณแม่ แต่เขาอยากเปิดโอกาสให้เด็กๆ เข้าถึงการรักษาได้ง่ายที่สุด

สัมภาษณ์วันที่ 23 สิงหาคม 2565

Sisata D.

Editor in Chief, ชอบเล่นกับลูกคนอื่นและอัพรูปหลานลงอินสตาแกรม

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST