ในยุคที่การทันโลกทันเหตุการณ์ และเป็นผู้นำกระแสสังคมกลายเป็นหนึ่งในคุณสมบัติสำคัญที่หลายคนอยากมี เราจึงเริ่มได้ยินคำว่า โรคกลัวตกกระแส หรือ FOMO (Fear of Missing Out) มากขึ้นเรื่อยๆ
ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การตกยุคตกกระแสเป็นเรื่องน่ากลัวสำหรับหลายคนก็คือโซเชียลมีเดีย ที่ใช้เป็นเครื่องมือเชื่อมต่อและเป็นส่วนหนึ่งกับโลกภายนอก อาจทำให้เด็กๆ และวัยรุ่นรู้สึกจดจ่อกับความเป็นไปของคนอื่นมากจนรู้สึกเครียดและเป็นกังวล กลัวว่าตัวเองจะพลาดโอกาสทำอะไรเหมือนคนอื่น ตามไม่ทันคนอื่น และเกิดเป็นความไม่พึงพอใจในชีวิตตัวเองได้
ผลสำรวจจาก The National Stress and Wellbeing เกี่ยวกับความเครียดและความเป็นอยู่ที่ดีในออสเตรเลียปี 2015 พบว่าวัยรุ่นออสเตรเลีย 1 ใน 2 คน อยู่ในภาวะ FOMO และยังพบอีกว่า 56 เปอร์เซ็นต์ของวัยรุ่นออสเตรเลีย ใช้โซเชียลมีเดียอย่างหนัก และเกิดความกังวลเมื่อเห็นภาพเพื่อนๆ มีความสุขสนุกสนานโดยที่ตัวเองไม่ได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมนั้นๆ
นอกจากนี้ผลการสำรวจเดียวกันยังแสดงให้เห็นว่า วัยรุ่นและผู้ใหญ่ในช่วงอายุ 18 – 35 ปี ได้รับผลกระทบจากภาวะ FOMO มากที่สุดอีกด้วย
ทำความรู้จัก โรคกลัวตกกระแส (FOMO)
Oxford English Dictionary ได้มีการบัญญัติคำศัพท์ Fear of missing out หรือ FOMO เอาไว้ในปี 2013 โดยให้ความหมายว่า อาการวิตกกังวลว่าตนเองจะตกเทรนด์ ตามไม่ทันกระแส และรู้สึกพลาดกิจกรรมทางสังคม จนนำไปสู่การด้อยค่าตนเอง เช่น วัยรุ่นที่รู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า เมื่อไม่ได้ไปร่วมคอนเสิร์ตที่เพื่อนๆ ไป จนนำไปสู่ความรู้สึกเป็นกังวล หงุดหงิด และเครียดมากกว่าที่ควร
สัญญาณทางพฤติกรรมของลูกวัยรุ่นที่กำลังตกอยู่ในภาวะ FOMO
• ติดโซเชียลมีเดียมากเกินไป
• หมกมุ่นและต้องคอยเช็กหน้าฟีดส์ตลอดเวลาเพราะไม่อยากพลาดเรื่องสำคัญ
• รู้สึกกระวนกระวายใจเมื่อไม่มีอินเทอร์เน็ตและอุปกรณ์สื่อสารในมือ
• กลัวการตกกระแส และไม่อยากพลาดข่าวสาร
• คอยอัปเดตและแชร์เรื่องราวของตัวเองบนโซเชียลมีเดียตลอดเวลา
• เป็นกังวลและไม่สบายใจ เมื่อไม่ได้ทำกิจกรรมหรือไปเที่ยวกับคนอื่น
• ชอบเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น
• พยายามทำตัวให้เป็นที่รักและสนใจของคนอื่น
3 วิธีรับมือ ลูกวัยรุ่นกลัวตกกระแสเกินเหตุ
1. ชวนลูกทำกิจกรรมเพื่อพักจากหน้าจอ
เมื่อคุณพ่อคุณแม่เห็นว่าลูกเริ่มติดโทรศัพท์และใช้โซเชียลมีเดียมากเกินไป อาจพยายามยับยั้งลูกด้วยการตำหนิ ต่อว่า รวมถึงลงโทษด้วยการยึดโทรศัพท์ แต่การทำเช่นนั้น จะยิ่งทำให้ลูกวัยรุ่นรู้สึกเครียด ต่อต้าน และมีพฤติกรรมก้าวร้าวกับคุณพ่อคุณแม่มากขึ้น
ดังนั้น หากคุณพ่อคุณแม่ไม่อยากให้ลูกใช้เวลากับโซเชียลมีเดียมากเกินไป ลองเปลี่ยนวิธีเป็นการชวนลูกทำกิจกรรมอื่นร่วมกัน เช่น ชวนลูกทำขนม ชวนลูกออกกำลังกาย หรือส่งเสริมให้ลูกเลือกกิจกรรมที่ชอบมากขึ้นจะเป็นวิธีที่ดีกว่าค่ะ
2. จดบันทึกอารมณ์เชิงลบ
คุณพ่อคุณแม่อาจสอนให้ลูกรู้ทันอารมณ์และความรู้สึกตัวเอง เช่น เวลาที่ลูกเห็นชีวิตคนอื่นผ่านโซเชียลมีเดียแล้วรู้สึกกระวนกระวายใจ รู้สึกด้อยค่าที่ไม่ได้ทำกิจกรรมเหมือนคนอื่น ลองให้ลูกเขียนบันทึกอารมณ์เชิงลบของตัวเองออก นอกจากจะช่วยให้ลูกได้ระบายความเครียดที่รบกวนจิตใจแล้วยังช่วยทบทวนอารมณ์และสำรวจตัวเองว่าลูกหมกมุ่นอยู่กับความรู้สึกเชิงลบเหล่านี้มากเกินไปหรือเปล่า เมื่อลูกรู้เท่าทันจิตใจอละอารมณ์ของตัวเองแล้ว ก็จะสามารถควบคุมและแก้ไขได้ดีขึ้นอีกด้วย
3. สอนลูกให้อยู่กับความเป็นจริง
คุณพ่อคุณแม่ควรมีส่วนที่จะทำให้ลูกตระหนักถึงการใช้ชีวิตจริงให้มีความสุขไม่น้อยไปกว่าในโลกออนไลน์ ด้วยการพูดคุยและชี้ให้เห็นว่าสิ่งที่ลูกรับรู้ผ่านโซเชียลมีเดียนั้นอาจไม่ใช่ทั้งหมดในชีวิตคนคนนั้น แต่เป็นเพียงบางส่วนที่ต้องการให้คนอื่นรับรู้
ดังนั้น เมื่อลูกลูกรู้สึกเศร้าและกังวลใจเมื่อรู้สึกด้อยกว่าคนอื่น ตกเทรนด์ และไม่ทันกระแส ลองหันกลับมาโฟกัสเรื่องราวดีๆ ในชีวิตของตัวเอง ค้นหาความภาคภูมิใจในตนเอง ก็จะช่วยให้ลูกวัยรุ่นมีความสุขกับชีวิตจริงของตัวเองมากขึ้นได้
COMMENTS ARE OFF THIS POST