สำหรับคุณพ่อคุณแม่ยุคใหม่แต่ละบ้านย่อมมีเทคนิคการเลี้ยงลูกที่หลากหลาย แต่ก็มีเป้าหมายเป็นการหล่อหลอมให้ลูกเติบโตเป็นคนที่มีคุณภาพ
ครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ในการวางรากฐานชีวิตให้ลูก ดังนั้นลูกจะเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่แบบไหน มีลักษณะนิสัยอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดูจากคุณพ่อคุณแม่
‘Gentle Parenting’ เป็นอีกหนึ่งเทคนิคการเลี้ยงลูกด้วยความอ่อนโยน หรือที่เรียกว่าการเลี้ยงแบบ ‘อ่อนโยน แต่ไม่อ่อนแอ’ ซึ่งเทคนิคนี้ได้ถูกทดลองใช้ในหมู่คุณแม่ยุคใหม่และกำลังเป็นที่ยอมรับมากขึ้นเรื่อยๆ ในต่างประเทศ
การเลี้ยงลูกด้วยความอ่อนโดยนี้จำเป็นต้องอาศัยความใส่ใจ ความเข้าใจ ในการเลี้ยงดู ซึ่งนั่นไม่ได้หมายความว่าคุณพ่อคุณแม่จะต้องตามใจ หรือปล่อยปะละเลยลูกแม้ว่าลูกจะมีพฤติกรรมที่ไม่ดี แต่ในทางกลับกัน Gentle Parenting เป็นการทำให้ทั้งพ่อแม่และลูกต่างหากที่เรียนรู้ไปพร้อมกับการทำความเข้าใจในสภาวะอารมณ์และพัฒนาการของเด็ก รวมไปถึงการใส่ใจในความรู้สึกของลูกด้วย
ทีนี้เรามาดูกันว่า ถ้าอยากเลี้ยงลูกด้วยเทคนิค Gentle Parenting คุณพ่อคุณแม่จะต้องเข้าใจในหลักการอะไรบ้าง
1. การเลี้ยงดูที่เข้าใจพัฒนาการและธรรมชาติของเด็ก
บางครั้งคุณพ่อคุณแม่อาจจะไม่เข้าใจในพัฒนาการของลูกมากพอ จึงเป็นไปได้ว่าการเลี้ยงดูบางอย่าง อาจขัดขวางพัฒนาการของลูกโดยที่ไม่รู้ตัว เช่น เมื่อเห็นลูกติดกระดุมเสื้อด้วยตัวเองไม่ได้ คุณพ่อคุณแม่ก็รีบเข้าไปให้ความช่วยเหลือทันที แต่ที่จริงแล้ว ควรลองให้ลูกพยายามทำด้วยตัวเองก่อน ถ้าลูกยังทำไม่ได้ค่อยสอนและให้ลูกลองทำด้วยตัวเองอีกครั้ง ทำแบบนี้ จะช่วยส่งเสริมให้ลูกมีพัฒนาการที่ดียิ่งขึ้น
2. สร้างและกระตุ้นพฤติกรรมที่เหมาะสมตามวัย
พัฒนาการของลูกเป็นสิ่งสำคัญ เพราะฉะนั้นควรกระตุ้นพัฒนาการให้เหมาะสมกับช่วงวัย ด้วยการหากิจกรรมทำกับลูกเพื่อส่งเสริมให้ลูกได้เข้าใจกับสิ่งต่างๆ รอบตัว
ในขณะเดียวกันหากคุณพ่อคุณแม่รีบเร่งให้ลูกเรียนรู้มากเกินไป อาจจะทำให้ลูกรู้สึกเบื่อหน่าย และไม่ตื่นเต้นกับการเรียนรู้ต่อไปในอนาคต
3. แก้ไขพฤติกรรมที่เป็นปัญหาของลูกอย่างสร้างสรรค์
เด็กแต่ละช่วงวัยมีพฤติกรรมและพัฒนาการที่แตกต่างกันไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดู และสภาพแวดล้อมรอบตัวในบางครั้งลูกอาจมีพฤติกรรมที่ไม่ดี เช่น ชอบขว้างปาข้าวของ คุณพ่อคุณแม่ควรหาสาเหตุและแก้ไขพฤติกรรมดังกล่าว โดยอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจเรื่องช่วงวัยและพัฒนาการของลูก จึงจะสามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุด
โดยหลังจากเข้าใจในหลักการทั้ง 3 ข้อแล้ว เราลองมาดูกันดีกว่า ว่าคุณพ่อคุณแม่ควรทำอย่างไรบ้างกับลูกในแต่ละช่วงวัย
อายุ 0-1 ขวบ
ช่วงวัยนี้ลูกยังไม่สามารถพูดหรือทำในสิ่งที่ต้องการทุกอย่างด้วยตัวเองได้ ดังนั้นเมื่อลูกต้องการที่จะแสดงออกถึงความต้องการหรืออยากได้ความช่วยเหลือลูกจะแสดงออกมาโดยการร้องไห้ คุณพ่อคุณแม่จึงควรจะพยายามพูดคุยหรือแสดงพฤติกรรมอย่างโยนต่อลูกน้อย เช่น ลูกร้องไห้ อาจไม่ได้แปลว่าหิวนมเสมอไป ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงควรสังเกตว่าที่ลูกร้องแต่ละครั้งเพราะอะไร แล้วค่อยอุ้มลูกขึ้นมาปลอบอย่างอ่อนโยน
สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับลูกในวัยนี้ คือการสร้างความผูกพันและความใกล้ชิดอย่างสม่ำเสมอดังนั้นในช่วงวัยนี้ การอุ้ม พูดคุย และให้ความรักความอบอุ่นกับลูก จะทำให้ลูกเรียนรู้พฤติกรรมที่อ่อนโยนได้
อายุ 1-3 ขวบ
ช่วงวัยนี้ลูกสามารถเรียนรู้และเข้าใจกับสิ่งต่างๆ รอบตัวได้มากขึ้น มีพัฒนาการทุกด้านเพิ่มขึ้น แต่จะมีอารมณ์อ่อนไหวง่าย อาจส่งผลให้เด็กทำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมมากขึ้น
แม้ช่วงวัยนี้ลูกจะสามารถเข้าใจเหตุผลได้มากขึ้น แต่ในบางครั้งเด็กจะยังแสดงออกพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น เอาแต่ใจหรือเหวี่ยงวีนเมื่อไม่ได้ในสิ่งที่ต้องการ เพราะเป็นช่วงวัยที่สามารถเข้าใจสิ่งที่คุณแม่คุณพ่อสื่อสารได้แล้ว จึงอาจเกิดการต่อต้าน และมีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง คุณพ่อคุณแม่ควรตั้งสติและใช้ความอ่อนโยนให้ลูกสงบลง พยายามทำให้ลูกพูดความรู้สึกออกมาแทนที่จะแสดงออกด้วยการใช้อารมณ์ เพราะการที่ลูกสามารถบอกความรู้สึกตัวเองได้ จะทำให้ลูกค่อยๆ คลายอารมณ์ลง และมีเหตุผลมากขึ้น
แล้วคุณพ่อคุณแม่จึงค่อยใช้เหตุผลคุยกับลูกถึงสาเหตุของปัญหาและแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด เช่น เมื่อลูกก้าวร้าว ห้ามดุหรือสั่งไม่ให้ลูกทำอีก ให้พูดจาด้วยความอ่อนโยนถึงพฤติกรรมที่ลูกแสดงออกมาทำให้คุณพ่อคุณแม่เสียใจอย่างไร
อายุ 3-6 ขวบ
ช่วงวัยนี้อาจจะเป็นการเรียกว่าวัยต่อต้านเลยก็ว่าได้ เพราะลูกน้อยเริ่มเข้าสู่สังคมใหม่ เขาจึงเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น มีความต้องการและมีความรู้สึกที่ชัดเจน จึงมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมบางอย่างที่คุณพ่อคุณแม่อาจจะต้องเตรียมความพร้อมในการรับมือให้ได้
ลูกจะเริ่มอยากใช้ความคิดของตัวเอง เพราะกำลังเข้าสู่ช่วงวัยแห่งการเรียนรู้ ลูกน้อยยังคงตื่นเต้นในการเจอสังคมใหม่มากขึ้นเรื่อยๆ อาจทำให้เขาเริ่มต่อต้านด้วยคำว่า “ไม่”
คุณพ่อคุณแม่จึงควรเข้าใจในพัฒนาการและส่งเสริมลูกด้วยการใช้ความอ่อนโยนรับมือกับความก้าวร้าวที่ลูกแสดงออกมา เช่น ลูกไม่ยอมกินข้าว ก็ไม่ควรที่จะบังคับให้กินข้าว คุณพ่อคุณแม่ควรทำให้ลูกรู้สึกว่าการกินอาหารไม่ใช่เรื่องน่าเบื่อ เพิ่มลูกเล่นให้ลูกน้อยรู้สึกสบายใจแทนที่จะกดดันว่าลูกต้องกินข้าวชามนี้ให้หมด
ถ้าหากเด็กแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมขึ้นมา ควรจะบอกเหตุผลว่าพฤติกรรมที่ลูกแสดงออกมาไม่ดีอย่างไร แต่เมื่อลูกทำดีควรที่จะชมในสิ่งที่ลูกทำ เด็กจะมีความภาคภูมิใจในตนเอง ทั้งนี้ช่วงวัยดังกล่าวเป็นวัยแห่งการจดจำ ดังนั้นหากคุณพ่อคุณแม่ปฏิบัติตัวไม่เหมาะสมกับลูก ลูกก็จะจดจำเช่นเดียวกัน
COMMENTS ARE OFF THIS POST