READING

ทำอย่างไร กับเบบี๋จอมขว้างของกันดีนะ?!...

ทำอย่างไร กับเบบี๋จอมขว้างของกันดีนะ?!

เมื่อเบบี๋เริ่มเข้าสู่วัยหัดเดิน (Toddler) ก็มักจะมีพฤติกรรมบางอย่างที่พัฒนาจนทำให้คุณพ่อคุณแม่รู้สึกตื่นเต้น แต่ก็ยังมีอีกหลายพฤติกรรมที่ทำให้คุณพ่อคุณแม่ต้องปวดหัวไม่น้อย หนึ่งในพฤติกรรมที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กับวัยหัดเดินของลูกก็คือการขว้างปาข้าวของ แรกๆ ก็อาจจะดูน่ารัก แต่เมื่อลูกเริ่มหยิบทุกสิ่งและขว้างปาทุกอย่าง คุณพ่อคุณแม่ก็เริ่มต้องหาทางจัดการกับพฤติกรรมนี้บ้าง

แต่ก่อนจะไปดูวิธีการจัดการ เรามาทำความเข้าใจกันก่อน ว่าการขว้างปาของถือเป็นเรื่องธรรมชาติสำหรับเด็กในช่วงวัย ตั้งแต่ 18 เดือน ไปจนถึง 3 ปี  เพราะเขากำลังเริ่มสำรวจใช้สายตา ประสานกับกล้ามเนื้อมือ ออกแรงขว้างของ พอเขาเห็นว่าสิ่งที่ทำอยู่ทำให้ของนั้นๆ กระเด็นกระดอนไปไกล ก็เริ่มรู้สึกสนุกและตื่นเต้นขึ้นมาได้

แต่ถ้าคุณพ่อคุณแม่ปล่อยให้ลูกหยิบและขว้างปาข้าวของได้ตามใจ ก็อาจจะสร้างปัญหาต่อไปได้

ดังนั้นเราลองมาดูกันดีกว่าว่า จะรับมือกับเบบี๋จอมขว้างของกันได้อย่างไรบ้าง

1. ทำให้ลูกรู้ว่าอะไรสามารถโยนหรือขว้างได้

Throwthings_web_1

การขว้างปาสิ่งของเป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการทางร่างกายของลูก ดังนั้น การห้าม ดุ หรือตีเมื่อลูกขว้างของจึงไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง สิ่งที่ควรทำคือการแสดงให้ลูกรู้ว่าอะไรที่ลูกสามารถหยิบมาโยนหรือขว้างปาเล่นได้ เช่น ลูกบอลยางลูกเล็กๆ และบอกให้ลูกรู้ว่ามีสิ่งของหลายอย่างที่ไม่ควรโยนเล่น เช่น รองเท้า ของใช้ ของมีคม หรือแม้แต่อาหาร ด้วยการบอกให้ลูกรู้ล่วงหน้าว่าเราจะไม่ขว้างปาสิ่งเหล่านี้

2. ไม่ควรห้าม หรือดุว่าอย่างรุนแรง

Throwthings_web_2

หากลูกยังคงขว้างปาสิ่งของที่ไม่ควรขว้าง โดยเฉพาะเมื่อลูกขว้างของใส่คนอื่น คุณพ่อคุณแม่อาจจะตกใจและพยายามที่จะดุและห้ามลูกในทันที  แต่ความจริงแล้ว การที่ลูกขว้างของใส่คนอื่น เป็นวิธีหนึ่งของการเรียกร้องความสนใจ

ดังนั้น ให้คุณพ่อคุณแม่พูดจาปรามลูกด้วยน้ำเสียงที่จริงจัง ว่าเราจะไม่ขว้างปาของใส่คนอื่นนะคะ และพาลูกออกไปจากบริเวณนั้นทันที

3. เก็บสิ่งของที่ลูกขว้างปาเอาไว้ด้วยกัน

Throwthings_web_3

อยู่ดีๆ จะบอกให้ลูกลงมือเก็บของที่ตัวเองขว้างปาออกไป คงเป็นเรื่องยาก สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่สามารถทำได้คือการนั่งลงกับพื้นและชวนให้ลูกช่วยกันเก็บของ เช่น บอกให้ลูกช่วยเก็บลูกบอลมาไว้ที่เดิม ต่อไปถ้าต้องการเล่นอีก จะได้ไม่ต้องคอยมองหา การสอนให้ลูกรู้จักเก็บของจะเป็นการทำให้ลูกรู้จักรับผิดชอบสิ่งที่ตัวเองทำทีละเล็กทีละน้อย

4. เป็นตัวอย่างนักโยนที่ดี

Throwthings_web_4

คุณพ่อคุณแม่ไม่จำเป็นต้องหลีกเลี่ยงการโยนของให้ลูกเห็น แต่คุณพ่อคุณแม่สามารถเป็นตัวอย่างในการโยนของที่สามารถโยนได้ หรือทำให้การโยนของเป็นเรื่องสนุกและเกิดประโยชน์ เช่น โยนทิชชู่ลงในถังขยะ โยนของเล่นลงในกล่องเพื่อเก็บให้เป็นที่

5. ผูกของเล่นติดเอาไว้ที่เก้าอี้หรือคาร์ซีตของลูก

Throwthings_web_5

ถ้าต้องอยู่ในสถานที่ที่ไม่ควรขว้างปาข้าวของ เช่น ในร้านอาหารหรือในรถ คุณพ่อคุณแม่สามารถนำของเล่นผูกเชือกติดไว้กับเก้าอี้ รถเข็นเด็ก หรือคาร์ซีตของลูก เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกขว้างปาสิ่งของไปรบกวนคนอื่นและไม่ทำให้ของนั้นกระเด็นหายไป

อ้างอิง
parentingfirstcry
babycenter
kidspotowing

Anittha R

หลงรักธรรมชาติของความเป็นเด็ก ชอบดูหนัง ชอบหนังสือนิทาน รักการเลี้ยงต้นไม้ และใฝ่ฝันอยากทำสวนกระบองเพรชที่มีดอกเยอะๆ

COMMENTS ARE OFF THIS POST