READING

เลี้ยงลูกอย่างไร ให้ลูกเป็นเด็กรู้จักเอาใจเขามาใส่...

เลี้ยงลูกอย่างไร ให้ลูกเป็นเด็กรู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา

เด็กๆ หลายคนเติบโตมาอย่างคนที่เป็นที่รัก มีคุณพ่อคุณแม่คอยเลี้ยงดูทะนุถนอม เอาอกเอาใจและยกให้ลูกเป็นอันดับหนึ่ง ธรรมชาติการเลี้ยงดูของคุณพ่อคุณแม่ในช่วงขวบปีแรกของลูก มีส่วนทำให้ลูกเรียนรู้ที่จะยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางของทุกคนในครอบครัว

แต่เมื่อลูกเติบโตถึงวัยที่ต้องเข้าสังคม วิธีที่จะช่วยให้ลูกมีความสัมพันธ์อันดีกับคนรอบตัวก็คือ การสอนให้ลูกเติบโตอย่างคนที่รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา ซึ่งเป็นทักษะที่จะช่วยให้ลูกอยู่ในสังคมได้อย่างสงบสุข

1. สอนให้ลูกเรียนรู้และเข้าใจความรู้สึกของตัวเองก่อน

payattention_web_1

การเอาใจเขามาใส่ใจเรา เกิดขึ้นได้เมื่อลูกรู้จักทำความเข้าใจจิตใจของคนอื่น แต่ก่อนจะสอนให้ลูกเข้าใจความรู้สึกคนอื่นได้นั้น ลูกต้องเป็นเด็กที่สามารถเข้าใจความคิดและความต้องการของตัวเองก่อน

คุณพ่อคุณแม่ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีในการสะท้อนความรู้สึก ด้วยการพูดความรู้สึกตัวเอง โดยไม่ใช้อารมณ์ในการแสดงออก เช่น บอกให้ลูกเข้าใจว่าแม่รู้สึกผิดหวังที่ตั้งใจทำอาหาร แต่ลูกไม่ยอมกิน หรือบอกลูกว่า พ่อรู้สึกไม่สบายใจที่รู้ว่าลูกชอบแกล้งคนอื่น การแสดงความรู้สึกให้ลูกรับรู้ เป็นตัวอย่างที่จะทำให้ลูกเข้าใจและสื่อสารความรู้สึกของตัวเองออกมาได้เช่นกัน

2. ช่วยสะท้อนความรู้สึกที่ลูกไม่รู้

payattention_web_2

ลูกอาจจะมีประสบการณ์ชีวิตน้อยเกินกว่าจะเข้าใจความคิดและความต้องการของตัวเองได้ทุกอย่าง บางสถานการณ์ที่ลูกไม่สามารถอธิบายได้ว่าตัวเองกำลังรู้สึกอย่างไร คุณพ่อคุณแม่อาจใช้วิธียื่นมือเข้าไปช่วยให้ลูกได้สะท้อนความรู้สึกของตัวเองออกมา เช่น ลูกเสียใจใช่ไหมที่แม่ไม่ทำตามใจ การช่วยสะท้อนความรู้สึกของลูก นอกจากจะทำให้ลูกรู้ว่ามีคุณพ่อคุณแม่เป็นคนที่เข้าใจแล้ว ยังทำให้ลูกสามารถรับมือกับความรู้สึกของตัวเองได้

3. สร้างความสัมพันธ์กับคนที่แตกต่าง

payattention_web_3

คุณพ่อคุณแม่ควรเปิดโอกาสให้ลูกได้ทำความรู้จักกับผู้คนที่หลากหลาย ไม่ปิดกั้นหรือกีดกันการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่าง

 4. ชวนลูกเล่นบทบาทสมมติ เพื่อสอนให้ลูกลองคิดมุมของคนอื่น

payattention_web_4

เพื่อให้ลูกมีความสามารถในการเข้าใจผู้อื่น คุณพ่อคุณแม่สามารถชวนลูกเล่นบทบาทสมมติ หรือสมมติสถานการณ์เพื่อให้ลูกลองคิดในมุมมองของคนอื่น เช่น ถ้าลูกเป็นพี่แม่บ้านแล้วโดนเรียกให้ทำงานทั้งวัน ลูกจะชอบไหมคะ หรือถ้าลูกเป็นคนที่โดนรังแกลูกจะรู้สึกยังไง

การตั้งคำถามด้วยบทบาทหรือสถานการณ์สมมติจะทำให้ลูกรู้จักคิดในมุมมองของคนอื่นมากขึ้น

5. อ่านนิทานหรือวรรณกรรมให้ลูกฟัง

payattention_web_5

นิทานและวรรณกรรม จะอธิบายความคิดและความรู้สึกของตัวละครมากขึ้น ช่วยให้ลูกรู้จักเชื่อมโยงความเข้าใจนั้นมาสู่ผู้คนในชีวิตจริงได้

  

อ้างอิง
thepotential
KDEQ
เข็นเด็กขึ้นภูเขา
adaypodcast

Anittha R

หลงรักธรรมชาติของความเป็นเด็ก ชอบดูหนัง ชอบหนังสือนิทาน รักการเลี้ยงต้นไม้ และใฝ่ฝันอยากทำสวนกระบองเพรชที่มีดอกเยอะๆ

COMMENTS ARE OFF THIS POST