READING

โรคหลงตัวเอง (NPD) อาการทางจิตเวชใกล้ตัวลูกที่พ่อแ...

โรคหลงตัวเอง (NPD) อาการทางจิตเวชใกล้ตัวลูกที่พ่อแม่อาจไม่ทันเห็น

โรคหลงตัวเอง (Narcissistic personality disorder) หรือ NPD เป็นอาการทางจิตเวชที่ทำให้เด็กมีบุคลิกเป็นคนชอบยกยอตัวเองมากเกินไป คิดว่าตัวเองเป็นคนเก่งที่สุด มองเห็นคนอื่นด้อยกว่า ไม่มีความเห็นอกเห็นใจ และมักจะมองหาผลประโยชน์จากผู้อื่น

NPD มีสาเหตุค่อนข้างซับซ้อน เช่น เกิดจากพันธุกรรม สภาพแวดล้อม และการเลี้ยงดูของครอบครัว โดยส่วนใหญ่เด็กมักที่ป่วยเป็น NPD มักมาจากครอบครัวที่พ่อแม่เลี้ยงด้วยความคาดหวัง ตามใจลูกมากจนลูกรู้สึกว่าตัวเองมีความสำคัญมากกว่าคนอื่น จึงมองว่าคนอื่นด้อยกว่า และครอบครัวที่มักจะต่อรองด้วยของรางวัลตอบแทนเมื่อลูกทำอะไรสำเร็จ หรืออาจเกิดจากเลี้ยงลูกเชิงลบ ทำให้เด็กเกิดความรู้สึกไม่ดีกับตัวเอง เมื่ออยากเป็นที่ยอมรับของสังคมจึงสร้างกลไกความรักหลงตัวเองขึ้นมาเพื่อให้ตัวเองใช้ชีวิตต่อไป

แต่หากปล่อยทิ้งไว้อาจเป็นปัญหาเรื้อรังด้านความสัมพันธ์ระหว่างลูกกับคนในครอบครัว และสังคมภายนอก รวมไปถึงอาจทำให้เกิดโรคจิตเวชประเภทอื่น เช่นโรคซึมเศร้าตามมาได้อีกด้วย

วิธีการสังเกตเบื้องต้นว่าลูกมีอาการหรือความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหลงตัวเองหรือไม่ คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตได้ดังต่อไปนี้

1. ความต้องการเป็นที่สนใจ

NPD_web_1

เด็กทั่วไป: เด็กย่อมต้องการเป็นที่สนใจ แต่จะเป็นไปตามปกติของช่วงวัย หากพวกเขาได้รับความรักและความเอาใจใส่ เด็กจะมีปฏิกิริยาที่ปลาบปลื้มรู้สึกขอบคุณที่คนรักเขา เข้าใจถึงคุณค่าและความรักที่แท้จริง พร้อมทั้งอยากตอบแทนสิ่งที่ผู้อื่นให้เป็นการตอบแทน

เด็กที่มีอาการ NPD: เด็กต้องการให้พ่อแม่หรือใครก็ได้สนใจ แต่เมื่อได้รับแล้วเด็กจะไม่ได้รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องพิเศษ ไม่ได้ซาบซึ้ง และไม่ได้รู้สึกขอบคุณกับความรักที่ได้รับมา

2. การมองคุณค่าของตัวเอง

NPD_web_2

เด็กทั่วไป: เด็กมักนับถือและเห็นคุณค่าของตัวเอง และสามารถปรับตัวได้อย่างดีเมื่อเผชิญกับความผิดหวัง หรือความผิดพลาดบางอย่างในชีวิต พวกเขาจะเรียนรู้แต่จะไม่ได้นำความผิดพลาดมาบั่นทอนตัวเอง

เด็กที่มีอาการ NPD: ตรงกันข้ามกับเด็กทั่วไป พวกเขามีความคาดหวังกับตัวเองสูง เมื่อทำอะไรผิดพลาดจะรู้สึกแย่และลดทอนคุณค่าของตัวเอง ไม่สามารถปรับตัวให้ยอมรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นแสดงออกมาเป็นอาการโมโห เกรี้ยวกราด และหากต้องเผชิญกับความผิดหวังบ่อยครั้ง อาจนำไปสู่อาการของโรคซึมเศร้าได้

3. การจินตนาการ

NPD_web_3

เด็กทั่วไป: ชอบสวมบทบาทเป็นตัวการ์ตูนที่ชอบ ซูเปอร์ฮีโร่ หรือแม้แต่สมมติว่าตัวเองเป็นนักแสดงชื่อดัง แต่อยู่บนพื้นฐานความเข้าใจที่ว่าสิ่งที่ตัวเองจินตนาการอยู่นั้นไม่ใช่เรื่องจริง

เด็กที่มีอาการ NPD: มักไม่เล่นบทบาทสมมติว่าตัวเองเป็นตัวการ์ตูนที่ชอบ แต่ชอบจินตนาการหรือเข้าใจไปเองว่าตัวเองเก่งกว่า เหนือกว่า และพิเศษกว่าทุกคน และหากเห็นว่ามีใครประสบความสำเร็จหรือได้รับการยอมรับจากคนอื่นมากกว่า เด็กจะรู้สึกอิจฉา และบางครั้งอาจพยายามทำลายความสำเร็จของคนอื่นได้

4. ความสัมพันธ์

NPD_web_4

เด็กทั่วไป: มีความสัมพันธ์ที่ดีกับสมาชิกภายในครอบครัว สามารถเข้าหาพูดคุย และแสดงความรักให้แก่กันได้เป็นอย่างดี

เด็กที่มีอาการ NPD: เด็กมักมีความสัมพันธ์ที่ไม่ค่อยดีกับสมาชิกในครอบครัว รวมไปถึงสังคมภายนอก เช่น กับเพื่อนที่โรงเรียน อาจเป็นเด็กที่ไม่ค่อยมีใครเล่นด้วย มีเพื่อนน้อย เนื่องจากมีนิสัยดื้อ เย่อหยิ่ง ไม่ฟังใคร และชอบเป็นคนออกคำสั่งมากกว่าที่จะถามความเห็น

เข้ารับการรักษาจะดีที่สุด

NPD_web_5

หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตว่าลูกมีอาการคล้ายคลึงกับลักษณะข้างต้น สามารถพาลูกไปพูดคุยปรึกษากับจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นได้ โดยแพทย์จะใช้วิธีการประเมินอาการจากการพูดคุย อธิบายให้เด็กเข้าใจถึงความรัก และถามถึงมุมมองด้านคุณค่าของตัวเอง

หากเข้าเกณฑ์เป็น NPD แพทย์จะมีการพูดคุยเพื่อช่วยปรับพฤติกรรมและความคิดที่เป็นแง่ลบ ด้วยการบำบัดด้วยความคิดเชิงบวกและสร้างสรรค์ โดยแพทย์อาจยังต้องมีการพูดคุยปรึกษากับผู้ปกครองและครอบครัวร่วมด้วยเพื่อให้เข้าใจถึงตัวเด็กร่วมกันแก้ปัญหาพร้อมกัน รวมถึงในบางกรณีอาจมีการใช้ยาในการรักษาร่วมด้วย

โรคหลงตัวเองอาจไม่ใช่โรคที่มีอันตรายร้ายแรงถึงชีวิต แต่เป็นโรคที่สามารถสร้างแผลใจระยะยาวให้แก่เด็กได้ หากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้อง ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นสังเกตพฤติกรรมของลูก และระมัดระวังวิธีการเลี้ยงลูกไม่ให้เข้มงวดหรือตามใจมากเกินไปจะดีที่สุด

 

 

 

อ้างอิง
momjunction
semanticscholar
pobpad

Anittha R

หลงรักธรรมชาติของความเป็นเด็ก ชอบดูหนัง ชอบหนังสือนิทาน รักการเลี้ยงต้นไม้ และใฝ่ฝันอยากทำสวนกระบองเพรชที่มีดอกเยอะๆ

COMMENTS ARE OFF THIS POST