คำว่ามีลูกเมื่อพร้อม สำหรับหลายคนอาจนึกถึงความพร้อมทางด้านวุฒิภาวะ และสถานะของครอบครัวเป็นหลัก
แต่ความจริงแล้วความพร้อมอีกอย่างที่จะลืมไม่ได้เลยก็คือความพร้อมด้านเวลา เพราะการเป็น พ่อแม่ที่ไม่มีเวลา เลี้ยงดูหรืออยู่กับลูกมากพอ ก็ส่งผลต่อการเติบโต พัฒนาการ และคุณภาพชีวิตของลูกได้
งานวิจัยโดยมหาวิทยาฮาร์วาร์ด เผยว่า การถูกละเลยจากพ่อแม่ส่งผลต่อสารสื่อประสาทในสมองของเด็ก ทำให้พัฒนาการด้านการเรียนรู้ต่ำกว่ามาตรฐาน มีสภาพจิตใจไม่มั่นคง และอาจเกิดภาวะซึมเศร้าได้ (Depression) เพราะเมื่อลูกเริ่มรู้สึกว่าตัวเองถูกทอดทิ้ง ไม่ได้รับความรักความใส่ใจ และการเลี้ยงดูที่ดี ก็มักจะแสดงอารมณ์และพฤติกรรมด้านลบออกมา หรือพูดอีกนัยหนึ่งก็คือ พฤติกรรมการแสดงออกที่ไม่น่ารักของลูก ส่วนหนึ่งเกิดจาก พ่อแม่ที่ไม่มีเวลา ให้ลูกมากพอนั่นเอง
คุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจไม่แน่ใจว่า แล้วแค่ไหนถึงเรียกว่ามีเวลาให้ลูกมากพอกันล่ะ… เรามีวิธีสังเกตจากพฤติกรรมที่เป็นสัญญาณอันตรายจากลูกน้อยเพื่อบอกว่าคุณพ่อคุณแม่ควรมีเวลาให้ลูกมากขึ้นได้แล้วล่ะค่ะ
1. ลูกเริ่มพูดจาก้าวร้าวและงอแงกว่าปกติ

พฤติกรรมก้าวร้าว งอแง ส่งเสียงดัง หรือแสดงพฤติกรรมผิดแปลกจากปกติ ถือเป็นการแสดงออกขั้นแรก เมื่อลูกาเริ่มรู้สึกไม่ได้รับความรักหรือขาดการเอาใจใส่จากคุณพ่อคุณแม่ หรือเรียกอีกอย่างว่าเป็นขั้นวิธีเรียกร้องความสนใจที่ง่ายที่สุดสำหรับเด็กๆ
ถ้าลูกเริ่มมีพฤติกรรมก้าวร้าวและงอแงให้เห็นบ่อยๆ คุณพ่อคุณแม่อาจต้องลองกลับมาสังเกตพฤติกรรมของตัวเองแล้วว่ามีเวลาให้ลูกน้อยเกินไปหรือเปล่า แล้วคงต้องหาทางจัดสรรเวลาหลังเลิกงานหรือวันหยุดมานั่งเล่น พูดคุย และใช้เวลาที่มีคุณภาพกับลูกมากขึ้นแล้วล่ะค่ะ
2. ลูกเป็นเด็กกล้าๆ กลัวๆ ไม่ค่อยกล้าทำอะไรด้วยตัวเอง

คุณพ่อคุณแม่ที่ไม่ค่อยมีเวลาให้ลูก มักพลาดโอกาสที่จะสอนทักษะต่างๆ ให้ลูกได้เรียนรู้ รวมถึงไม่มีเวลาสังเกตความชอบและความถนัดของลูก ทำให้ลูกไม่ได้รับการสนับสนุนให้กล้าคิดกล้าทำอะไรมากพอ นานไปก็จะทำให้ลูกเป็นเด็กขาดความมั่นใจ ไม่กล้าคิดหรือลงมือทำอะไรด้วยตัวเอง
3. ลูกไม่อยากไปโรงเรียน

มีเหตุผลมากมายที่ทำให้ลูกไม่ชอบการไปโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นการปรับตัวเข้ากับเพื่อนไม่ได้ ถูกเพื่อนรังแก ไม่ชอบคุณครู หรืออยากอยู่บ้านกับคุณพ่อคุณแม่มากกว่า
แต่นอกจากนั้นยังมีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์พบว่า เด็กที่ขาดการดูแลเอาใจใส่จากคุณพ่อคุณแม่ มักจะมี IQ ต่ำ และเรียนรู้ช้ากว่าเด็กที่พ่อแม่มีเวลาและได้รับความใส่ใจเต็มที่ ส่งผลให้ลูกรู้สึกไม่เข้าใจบทเรียน เรียนไม่ทันเพื่อน ทำให้ไม่อยากไปโรงเรียนได้เช่นกัน
4. ลูกไม่อยากคุยกับคุณพ่อคุณแม่

ถ้าคุณพ่อคุณแม่เริ่มรู้สึกว่าเวลาที่ลูกอยู่กับคุณพ่อคุณแม่แล้วมีพฤติกรรมเงียบขรึม ไม่ค่อยพูดจา แต่เมื่อออกไปนอกบ้านหรืออยู่กับคนอื่น กลับทำตัวร่าเริง ช่างพูดช่างคุย นั่นคือพฤติกรรมที่ลูกเริ่มแสดงให้เห็นว่า พ่อแม่ไม่มีเวลา จนไม่ใช่คนแรกที่ลูกรู้สึกสนิทใจด้วยอีกต่อไป
หากถึงขั้นนี้ คุณพ่อคุณแม่ต้องรีบเปลี่ยนแปลงตัวเอง หาเวลาปรับความเข้าใจและกลับมาสานสัมพันธ์กับลูกอีกครั้ง เพราะนี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการมีระยะห่างระหว่างลูกกับคุณพ่อคุณแม่ ซึ่งนำไปสู่ปัญหามากมายในอนาคตได้
COMMENTS ARE OFF THIS POST