เมื่อลูกถึงวัยที่เริ่มกินอาหารอื่นนอกจากนมแม่ได้แล้ว คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องเตรียมเปลี่ยนตัวเองเป็นเชฟคนเก่ง เตรียมอาหารที่ครบโภชนาการให้ลูก อย่างแรก การทำอาหารให้กับลูกน้อยวัย 6 เดือนขึ้นไป มักจะเป็นอาหารประเภทต้มหรือนึ่ง ส่วนเมนูผัดและทอดที่ต้องใช้น้ำมัน จะเหมาะกับลูกวัย 1 ขวบขึ้นไป เพราะเริ่มมีฟันและระบบย่อยอาหารที่แข็งแรงมากขึ้น
ดังนั้น การใช้น้ำมันใส่อาหารให้ลูกในช่วงวัย 6 -12 เดือน จึงเป็นการหยดน้ำมันลงอาหาร เพื่อเติมไขมันที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตทั้งทางร่างกายและสมองให้กับลูก โดยเฉพาะน้ำมันที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัว เช่นน้ำมันคาโนล่า น้ำมันรำข้าว น้ำมันปลา (ไม่ใช่น้ำมันตับปลานะคะ) เพราะเป็นน้ำมันที่มีกรดไขมันที่ร่างกายสร้างเองไม่ได้ อย่างโอเมก้า 3 ที่มีความจำเป็นต่อการสร้างเซลล์สมองของลูก
สำนักงานโภชนาการกรมอนามัยแนะนำว่า สำหรับเด็กเล็กอายุ 6-12 เดือน ให้ใส่น้ำมันลงในอาหารหนึ่งมื้อ (หรือมื้อใดมื้อหนึ่ง) ของลูก ในปริมาณ ‘ครึ่งช้อนชา’ และสำหรับลูกวัย 1 ขวบขึ้นไป ที่มีน้ำหนักตัวน้อย UCSF Benioff Children’s Hospital โรงพยาบาลให้บริการเฉพาะทางกุมารเวชศาสตร์และความเชี่ยวชาญเฉพาะทางแบบครอบคลุมแก่ทารก เด็ก และวัยรุ่น ประจำรัฐแคลิฟอร์เนีย ให้คำแนะนำว่าสามารถเติมเนย หรือน้ำมันพืช 1 ช้อนชาลงในมื้ออาหารของลูกได้
รู้จักน้ำมันแต่ละชนิด และเลือก ใช้น้ำมันอะไรทำอาหารให้ลูก
1. น้ำมันรำข้าว (Rice Bran Oil)
เหมาะกับการผัด ทอด อบ และหยอดในอาหาร
น้ำมันรำข้าว เป็นน้ำมันที่มีจุดเดือดสูง ไม่มีกลิ่น เหมาะสำหรับทำอาหารประเภททอดและผัด หรือจะหยอดลงในอาหารของลูกน้อยก็ยังได้
คุณสมบัติเด่นของน้ำมันรำข้าวคือ ช่วยลดคอเลสเตอรอล (LDL) มีสารโอรีซานอล (Oryzanol) ช่วยต้านอนุมูลอิสระ และมีวิตามินอี ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้กับลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ยังมีผลการวิจัยใหม่ โดย Dr. Sylvia Becker-Dreps รองศาสตราจารย์ด้านระบาดวิทยาและผู้อำนวยการโครงการ UNC Gillings School of Global Public Health ประเทศนิการากัว พบว่า รำข้าวมีผลดีต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย และยังช่วยป้องกันเชื้อโรคในลำไส้และโรคท้องร่วงในเด็กเล็กได้
นอกจากนี้ น้ำมันรำข้าวยังช่วยบำรุงผิว ป้องกันผิวแห้ง และลดอาการคันหรือระคายเคืองให้กับลูกน้อยได้ เพียงใช้น้ำมันรำข้าวหยดเล็กๆ ทาผิวลูกหลังอาบน้ำ หรือผสมน้ำอาบให้ลูกก็ได้เช่นกัน
2. น้ำมันมะกอก (Olive Oil)
เหมาะกับหยอดใส่อาหาร
น้ำมันมะกอก เป็นน้ำมันที่มีกลิ่นเฉพาะเป็นเอกลักษณ์ มีส่วนประกอบของโพลีฟีนอล (Polyphenol) ช่วยต้านการอักเสบและทำให้หัวใจของลูกแข็งแรง
มีสารต้านอนุมูลอิสระ และวิตามินอี ช่วยพัฒนาภูมิคุ้มกัน เสริมสร้างกระดูก สมอง และระบบประสาทให้เด็กที่กำลังเจริญเติบโตได้
น้ำมันมะกอกที่หาซื้อได้ตามซูเปอร์มาร์เก็ตมีหลายประเภท และสร้างความสับสนให้กับคุณแม่เป็นอย่างมาก เราจึงสรุปคุณสมบัติของน้ำมันมะกอกแต่ละประเภทมาให้ ดังนี้
– น้ำมันมะกอกเอ็กตร้าเวอร์จิ้น เป็นน้ำมันมะกอกบริสุทธิ์ มีกลิ่นมะกอกชัดเจน โดยทั่วไปนิยมใช้ประกอบอาหารที่ไม่ผ่านความร้อน เช่น น้ำสลัด หรือหยดใส่อาหารให้เด็กเล็กวัย 6-12 เดือน เพราะเป็นน้ำมันที่ประกอบด้วยโอเมก้า 3 และ 6 ในปริมาณใกล้เคียงกับน้ำนมแม่
– น้ำมันมะกอกแบบผสม (olive oil หรือ pure olive oil) เป็นน้ำมันที่ผสมระหว่างน้ำมันมะกอกเอ็กซ์ตร้าเวอร์จิ้น กับน้ำมันมะกอกที่ผ่านกรรมวิธีเพิ่มคุณค่าทางสารอาหาร จึงมีคุณค่าทางสารอาหารสูงใกล้เคียงกับน้ำมันมะกอกบริสุทธิ์ แต่ทนความร้อนได้ดีขึ้น ใช้ประกอบอาหารประเภทผัด เช่น ผัดผัก หรือข้าวผัด ที่ใช้ความร้อนไม่สูงมากได้
– น้ำมันมะกอกที่ผ่านกรรมวิธี (light olive oil) เป็นน้ำมันมะกอกที่ผ่านกรรมวิธีทางเคมี เพื่อสกัดเอาสี กลิ่น และรสดั้งเดิมออกไป ทำให้มีสารอาหารน้อยกว่าน้ำมันมะกอกเอ็กซ์ตร้าเวอร์จิ้นและน้ำมันมะกอกแบบผสม รวมถึงราคาย่อมเยากว่า แต่สามารถใช้ทำอาหารได้ทั้งผัดและทอด เพราะทนความร้อนสูง จึงไม่นิยมนำมาหยดใส่อาหารลูกเท่าไรนัก
3. น้ำมันคาโนล่า (Canola Oil)
เหมาะกับการผัด ทอด อบ และหยดในอาหารลูกได้
น้ำมันคาโนล่า สกัดจากเมล็ดของต้นคาโนล่า มีไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยวที่ดีต่อร่างกาย ช่วยลดคอเรสเตอรอล ลดไขมันไตรกลีเซอไรด์ และยังมีโอเมก้า 3 และ 9 สูง ดีต่อสุขภาพของลูก ช่วยพัฒนาสมอง การเรียนรู้ การจดจำได้มี สามารถพัฒนาเซลล์ประสาท และจอประสาทตาให้กับลูกได้ดี โดยเฉพาะในช่วงสองปีแรกของชีวิต
การศึกษา German Infant Nutritional Intervention study (GINI) พบว่า เด็กอายุ 6-12 เดือนที่ได้รับน้ำมันคาโนล่าในอาหารในปริมาณที่เหมาะสม อย่างน้อย 6 สัปดาห์ จะมีร่างกายเจริญเติบโตได้ดี โดยประเมินจากน้ำหนักและความสูงของเด็กที่เพิ่มมากขึ้น
4. น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น
เหมาะสำหรับหยดเพื่อผสมในอาหารที่ไม่ผ่านความร้อนเท่านั้น
จากบทความที่ตีพิมพ์ในวารสาร The Journal of Cosmetic Science พบว่า ในน้ำมันมะพร้าว มีกรดลอริก (lauric acid) เมื่อร่างกายได้รับเข้าไปก็จะกลายเป็นโมโนกลีเซอไรด์ (monoglyceride) ที่มีชื่อว่า มอโนลอริน (monolaurin) ซึ่งเป็นสารชนิดเดียวกับที่พบในน้ำนมแม่ มีส่วนช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้กับลูกน้อย เป็นสารปฏิชีวนะ สามารถฆ่าเชื้อโรคและฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ทั้งยังช่วยให้ร่างกายลูกน้อย สามารถดูดซึมสารอาหารจากผัก เช่น ฟักทอง ผักใบเขียว และแคร์รอต ได้ดี
น้ำมันมะพร้าวช่วยบำรุงผิวและเส้นผม ใช้แต้มบริเวณที่มีแมลงกัดต่อย ช่วยลดการอักเสบได้ หรือจะใช้เป็นน้ำมันนวดตัว สร้างความสบายให้กับลูกน้อยได้ แต่ถึงน้ำมันมะพร้าวจะปลอดภัย แต่สำหรับเด็กบางคน อาจมีอาการแพ้ หรือทำให้ท้องอืดได้ คุณพ่อคุณแม่จึงควรขอคำแนะนำจากคุณหมอก่อนหยดน้ำมันมะพร้าวในอาหารของลูกนะคะ
COMMENTS ARE OFF THIS POST