READING

5 วิธีรับมือ เมื่อลูกเป็นเด็ก ODD (Oppositional De...

5 วิธีรับมือ เมื่อลูกเป็นเด็ก ODD (Oppositional Defiant Disorder) หรือภาวะดื้อต่อต้าน

การดื้อและซน จัดเป็นหนึ่งในพฤติกรรมตามธรรมชาติของเด็ก แต่ถ้าคุณพ่อคุณแม่เริ่มสังเกตเห็นว่าความดื้อและซนของลูก เริ่มหนักข้อและเหมือนจะมากขึ้นเรื่อยๆ จนผิดปกติไปจากเด็กทั่วไปแล้วละก็ เราอยากให้คุณพ่อคุณแม่ลองทำความรู้จักกับอาการ  ODD (Oppositional Defiant Disorder) หรือภาวะดื้อต่อต้าน

อาการ ODD ของเด็กอาจใกล้เคียงกับเด็กที่มีภาวะสมาธิสั้น (Attention Deficit Disorder) เช่น เหม่อลอย ไม่สามารถรับฟังหรือทำตามคำสั่งได้ วอกแวก อยู่ไม่นิ่ง เรียนรู้สิ่งใหม่ได้ช้า และในเด็กที่มีภาวะ ODD ก็อาจมีพฤติกรรมต่อต้านสังคมแสดงให้เห็นมากกว่าปกติ (วิธีสังเกตว่าลูกกำลังเป็นโรคดื้อต่อต้านหรือไม่)

และหากพบว่าลูกมีอาการ ODD หรือเป็นเด็กที่มีภาวะดื้อต่อต้านแล้ว จะรับมืออย่างไร เรามีวิธีมาบอกค่ะ

1. คุณพ่อคุณแม่ต้องข่มอารมณ์โกรธของตัวเองให้ได้

ODD_web_1

ความดื้อของลูกคือปัจจัยหลักที่ทำให้คุณพ่อคุณแม่ควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ยาก แต่การระเบิดอารมณ์ใส่ลูก ไม่ใช่วิธีรับมือกับความดื้อหรือซนที่ดีแน่ เพราะเด็กที่ได้รับการตอบสนองด้วยการใช้อารมณ์ ท่าทีเกรี้ยวกราด หรือการลงโทษด้วยวิธีรุนแรง จะซึมซับพฤติกรรมเหล่านั้น และสะท้อนกลับมาเป็นอาการดื้อและต่อต้านมากขึ้น

ยิ่งลูกดื้อมากเท่าไร คุณพ่อคุณแม่ยิ่งต้องเรียนรู้วิธีการข่มสติอารมณ์และรับมือทุกสถานการณ์ด้วยความใจเย็น แต่หากจำเป็นต้องลงโทษเพื่อสอนหรือให้บทเรียนแก่ลูก ก็ต้องทำอย่างมีเหตุผลที่อธิบายให้ลูกเข้าใจได้ และมีความเด็ดขาดในคำพูดของตัวเอง เพื่อให้ลูกรู้สึกว่าคำพูดของคุณพ่อคุณแม่เป็นเรื่องสำคัญ

2. สร้างกฎเกณฑ์ร่วมกัน

ODD_web_2

เด็กที่มีอาการดื้อต่อต้านมักพยายามละเมิดกฎเกณฑ์ที่ได้รับอยู่เสมอ ดังนั้นวิธีที่จะลดการต่อต้านกฎของลูกลงได้ก็คือ การให้ลูกมีส่วนร่วมในการสร้างกฎหรือข้อตกลงเท่าที่จำเป็น เช่น หาเวลาที่ลูกกำลังเล่นหรืออารมณ์ดี สร้างข้อตกลงร่วมกัน ด้วยประโยคถามความเห็น “ทุกครั้งที่เล่นของเล่นเสร็จแล้ว เราต้องเก็บเข้าที่เสมอ ลูกเห็นด้วยไหมคะ” และอธิบายถึงข้อดีของการเก็บของเล่นเข้าที่ เพื่อให้ลูกรู้สึกว่าตัวเองได้มีส่วนในการสร้างกฎและจะเคารพกฎนั้นมากขึ้นค่ะ

3. ไม่ใจอ่อนกับบทลงโทษ

ODD_web_3

นอกจากจะตั้งกฎเกณฑ์ร่วมกันแล้ว คุณพ่อคุณแม่อาจจะคิดบทลงโทษเผื่อไว้สักหน่อย เช่น “ถ้าวันไหนลูกไม่เก็บของเล่นเข้าที่ แม่จะเอาของเล่นไปไว้ที่อื่น และลูกก็จะไม่ได้เล่นมันไปอีกสักพัก” เพื่อให้ลูกรู้ว่าถ้าเขาทำผิดจากกฎที่ตกลงกันไว้ จะต้องได้รับการลงโทษอย่างสมเหตุสมผล และที่สำคัญคือคุณพ่อคุณแม่ควรจริงจังกับการลงโทษไม่ใจอ่อน หรือยกเว้นให้ง่ายๆ เพราะจะทำให้ลูกตัดสินใจฝ่าฝืนกฎได้ง่ายขึ้น

4. แสดงให้เห็นว่าคุณพ่อคุณแม่รักเขา แม้ในวันที่เขาทำตัวไม่น่ารัก

ODD_web_4

เด็กที่มีภาวะดื้อต่อต้าน อาจจะถูกลงโทษทั้งจากคุณพ่อคุณแม่หรือคุณครูที่โรงเรียนได้ง่าย ซึ่งหากการลงโทษไม่ได้รับการอธิบายที่ดีพอ อาจทำให้เด็กฝังใจและเข้าใจว่าตัวเองไม่เป็นที่รักของทุกคน และอาจส่งผลให้ลูกมีพฤติกรรมในทิศทางที่แย่ลงเรื่อยๆ

ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรหาเวลาพูดคุยและใกล้ชิดกับลูกให้มาก หากมีการดุหรือลงโทษ ต้องทำด้วยเหตุผลและอธิบายให้ลูกเข้าใจว่าทำไมคุณพ่อคุณแม่จึงต้องใช้วิธีนี้ และอย่าลืมแสดงออกถึงความรัก เพื่อให้ลูกรู้สึกว่าคุณพ่อคุณแม่รักและอยู่ข้างๆ เขาเสมอ แม้ในวันที่เขาเพิ่งจะทำตัวไม่น่ารักมาก็ตาม

5. มองหาความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ

ODD_web_5

หากการรับมือกับความดื้อต่อต้านของลูกดูจะกลายเป็นสิ่งที่เกินกำลังของคุณพ่อคุณแม่แล้ว ควรเริ่มขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ เช่น จิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาเด็ก เพื่อหาวิธีและเทคนิคที่เหมาะสมกับอาการของลูกต่อไปค่ะ

อ้างอิง
cedars-sinai
parentingforbrain
pobpad

Supinya R.

ชอบอ่านนิยายสยองขวัญ ชอบเขียนไดอารี่ และเป็นคุณแม่จำเป็นในบางเวลา :-)

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST