READING

เล่นแล้วไม่เก็บ : เทคนิคสอนลูกให้รู้จักเก็บของเล่น...

เล่นแล้วไม่เก็บ : เทคนิคสอนลูกให้รู้จักเก็บของเล่นเมื่อเล่นเสร็จแล้ว

เล่นแล้วไม่เก็บ

เด็กเล็กกับการทำบ้านรกเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ยาก เพราะนอกจากเด็กๆ จะต้องมีข้าวของเครื่องใช้เป็นของตัวเองแล้ว ของเล่น ก็เป็นของสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่อยากมีไว้ให้ลูกได้เล่นสนุกและพัฒนาทักษะของตัวเองอย่างเต็มที่

แต่ปัญหาก็คือ ลูกมักจะ เล่นแล้วไม่เก็บ ทำให้ในบ้านเป็นเหมือนสมรภูมิของเล่น เดินไปทางไหน ก็เผลอเหยียบหรือสะดุดของเล่นที่เจ้าตัวแสบทิ้งขว้างเอาไว้เต็มบ้าน และสุดท้ายคุณพ่อคุณแม่ต้องคอยตามเก็บของเล่นลูกเข้าที่อยู่ดี

ปัญหาก็คือ คุณพ่อคุณแม่จะแก้นิสัย เล่นแล้วไม่เก็บ และสอนให้ลูกเต็มใจรับหน้าที่เก็บของเล่นของตัวเองทุกครั้งหลังเล่นเสร็จได้อย่างไร ลองอ่านเทคนิคสอนลูกให้เล่นแล้วรู้จักเก็บที่เรารวบรวมมาและนำไปปรับใช้กับเด็กๆ ดูนะคะ

1. สร้างสรรค์พื้นที่เล่น และจัดระเบียบด้วยกล่องใส่ของ

PutAwayToys_web_1

เปลี่ยนจอมทำบ้านรกให้กลายเป็น ‘นักจัดระเบียบตัวน้อย’ ด้วย การจัดสรรพื้นที่ส่วนหนึ่งของบ้านให้เป็นโซนสำหรับการเล่นของลูกโดยเฉพาะ เพื่อให้ลูกได้เล่นสนุกเต็มที่ และอย่าลืมเตรียม ‘กล่องใส่ของ’ แบ่งสีและขนาด สำหรับใส่ของเล่นประเภทต่างๆ เอาไว้ให้ลูก เช่น กล่องเล็กสีขาวสำหรับใส่ของเล่นชิ้นเล็ก กล่องเล็กสีแดงสำหรับใส่อุปกรณ์วาดเขียน กล่องขนาดใหญ่ สำหรับใส่ลูกบอลและอุปกรณ์กีฬา

มีชั้นหนังสือสำหรับเก็บหนังสือนิทาน มีพื้นที่สำหรับจอดของเล่นชิ้นใหญ่ เช่น จักรยาน จักรยานขาไถ หรือสกู๊ตเตอร์ ที่ลูกสามารถจอดเก็บเข้าที่ได้ด้วยตัวเอง

2. ‘เกม’ ชวนเพื่อนกลับบ้าน

PutAwayToys_web_2

Christina Clemer ครูสอนแนวทางมอนเตสซอรีสำหรับเด็กอายุ 3-6 ปี ที่ได้รับการรับรองโดย American Montessori Society แชร์เทคนิคให้คุณพ่อคุณแม่ลองเปลี่ยนการเก็บของเล่นที่น่าเบื่อให้เป็นเกมน่าสนุก เช่น โยนลูกบอลเข้าตะกร้า เก็บบล็อกตัวต่อใส่ตะกร้าสีแดง เล่นบทบาทสมมติ ให้ของเล่นแต่ละชนิดออกตามหาบ้าน หรือที่อยู่ของตัวเองให้เจอ

กระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นของลูกด้วยคำถาม เช่น ‘แม่สงสัยว่า… หากลูกเล่นเสร็จแล้ว แต่พี่ตุ๊กตาหมีไม่ได้กลับบ้าน เขาจะคิดถึงบ้านมั้ยนะ’

3. สูตรเรียกลูกเก็บของเล่น 5 : 1
นับ ‘ห้า’ ไว้ในใจ แล้วพูดเพียง ‘หนึ่ง’ ครั้งเท่านั้น

PutAwayToys_web_3

Jacqueline Sperling PhD, นักจิตวิทยาคลินิก แนะนำวิธีพูดเพื่อให้ลูกรู้จักการเล่นแล้วเก็บของเข้าที่แต่โดยดี อย่างแรกก็คือ พูดแบบเจาะจงในแต่ละครั้ง แทนการพูดรวมๆ หรือบอกให้ลูกเก็บของหลายอย่างพร้อมกัน เพราะลูกอาจไม่เข้าใจว่าต้องทำอะไรก่อน ต้องเริ่มจากอะไร และต้องเก็บอะไรบ้าง แต่คุณพ่อคุณแม่ควรระบุสิ่งที่ต้องการให้ลูกทำอย่างชัดเจน เช่น เก็บตัวต่อลงกล่องสีส้มนะคะ พอลูกเก็บตัวต่อเสร็จแล้วก็เก็บตุ๊กตาพี่หมีลงกล่องของเขาด้วย

ถ้าพบว่า ลูกเล่นแล้วไม่เก็บ คุณพ่อคุณแม่ควรใช้ประโยคบอกเล่าหรือเชิญชวน แทนประโยคคำถาม เช่น เปลี่ยนการถามลูกว่า เก็บของเล่นเข้าที่ให้หน่อยได้ไหม เป็นการชวนให้ลูกช่วยเก็บของเล่นเข้าที่ หรือบอกว่านี่คือเวลาที่ลูกจะต้องพาของเล่นแต่ละชิ้นกลับบ้านของตัวเองแล้วล่ะ

ปกติเวลาคุณพ่อคุณแม่บอกให้ลูกเก็บของเล่น ลูกมักจะไม่ลงมือทำทันที ดังนั้นให้คุณพ่อคุณแม่ใช้สูตร 5 : 1 คือบอกลูกหนึ่งครั้ง แล้วรอและนับหนึ่งถึงห้าในใจ หากลูกยังไม่ลงมือทำ ค่อยลองพูดซ้ำอีกรอบ ด้วยน้ำเสียงเดิมปกติ แต่เพิ่มการบอกผลที่จะตามมา หากลูกยังไม่เริ่มเก็บของเล่นในตอนนี้ เช่น ถ้าลูกยังไม่เก็บของเล่นลงกล่อง คุณแม่จะเอาไปเก็บไว้ที่อื่น และลูกก็จะไม่ได้เล่นมันอีก หรือใช้การเชิญชวนด้วยคำพูดเชิงบวก เช่น หลังจากเก็บของเล่นแล้ว ลูกจะได้กินเมนูโปรดที่แม่เตรียมไว้ให้สักที

การนับ 1-5 หลังจากบอกให้ลูกลงมือทำอะไร จะช่วยข่มสติอารมณ์ของคุณพ่อคุณแม่ ในช่วงเวลาที่ต้องรอให้ลูกลงมือเก็บของเล่นนั่นเอง

4. รวบตึงเก็บของเล่นรอบเดียว

PutAwayToys_web_4

สำหรับครอบครัวมีของเล่นให้ลูกจำนวนมาก หรือมีลูกหลายคน แต่ละคนมีของเล่นหลายอย่างที่นำออกมาเล่นพร้อมกัน Heidi Murkoff คุณแม่ลูกสามและผู้เขียนหนังสือ What to Expect When You’re Expecting แนะนำว่า ให้คุณพ่อคุณแม่หายใจลึกๆ แล้วลองปรับจากการให้ลูกเล่นของเสร็จแล้วต้องเก็บหลายครั้งต่อวัน เปลี่ยนเป็นให้ลูกทุกคนช่วยกันเก็บแค่วันละหนึ่งก่อนนอน ก็จะช่วยลดแรงปะทะ ไม่ทำให้ลูกรู้สึกเบื่อเกินไปจนเกิดการต่อต้านได้

อ้างอิง
intellectualtakeout.org
health.harvard.edu
mother.ly/parenting

Saranya A.

ศรัญญา อ่าวสมบัติกุล: คุณแม่มือใหม่ ที่มีความตั้งใจเลี้ยงลูกชายตัวน้อยด้วยการยึดโยงธรรมชาติ และความคิดสร้างสรรค์เข้าด้วยกัน คุณแม่คนนี้หลงรักและทำงานด้านการเขียนมากว่า 12 ปี ตอนนี้มีความฝันอยากเป็นนักวาดนิทานเด็ก

COMMENTS ARE OFF THIS POST