READING

ลูกกินเลอะเทอะ: พ่อแม่ตามเก็บจนปวดหัวแล้ว ทำยังไงด...

ลูกกินเลอะเทอะ: พ่อแม่ตามเก็บจนปวดหัวแล้ว ทำยังไงดี!?

ลูกกินเลอะเทอะ

เด็กวัยเริ่มหัดกินอาหารด้วยตัวเอง นอกจากจะทำให้คุณพ่อคุณแม่ปวดหัวเพราะความเลือกกินและกินยากแล้ว อีกปัญหาที่มักจะมาคู่กันก็คือ ลูกกินเลอะเทอะ ทำอาหารหกกระจาย ละเลงอาหารเป็นผลงานศิลปะตั้งแต่บนโต๊ะลงมาถึงพื้น

นักวิจัยของมหาวิทยาลัยไอโอวาได้ลองศึกษาจากเด็กอายุ 16 เดือน พบว่าเด็กจะมีพัฒนาการทางด้านภาษา และจะรู้จักชุดคำศัพท์จากวัตถุที่ไม่ใช่เป็นของแข็ง เช่น ซอสหรือครีมได้หรือไม่ โดยให้เด็กๆ นั่งอยู่บนเก้าอี้ทรงสูง หรือเก้าอี้กินข้าวที่เขาคุ้นเคย แล้วนำอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่ใช่ที่ไม่ใช่ของแข็งวางไว้ พบว่าเด็กๆ สามารถเรียนรู้ชื่อของวัตถุหรืออาหารเหล่านั้นได้อย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็น ซอสแอปเปิล พุดดิ้ง ไปจนถึงน้ำผลไม้ เพราะพวกเขาสนุกสนานที่ได้ใช้มือจุ่ม หยิบกิน ขว้างปา และละเลงมันลงบนโต๊ะ

การศึกษานี้ทำให้พบว่า เด็กน้อยวัยเตาะแตะที่ได้มีปฏิสัมพันธ์กับอาหารหลายรูปแบบ มีแนวโน้มที่จะแยกแยะและจำชื่อได้อย่างถูกต้องจากการหยิบจับ ยิ่งไปกว่านั้น เด็กๆ ที่ได้เล่นเลอะเทอะกับอาหาร ก็จะยิ่งเรียนรู้วิธีการกินมากขึ้นตามไปด้วย

ดังนั้น หากลูกกินเลอะเทอะ ชอบเล่น ใช้มือจับ หรือละเลงอาหารคุณพ่อคุณแม่ก็อย่าเพิ่งหงุดหงิดไปนะคะ เพราะนั่นคือหนึ่งในวิธีการเรียนรู้และเสริมสร้างพัฒนาการของลูกนั่นเอง

การให้ลูกได้เล่นกับอาหารเป็นวิธีหนึ่งที่เด็กๆ พัฒนาทักษะการเคลื่อนไหว เป็นการเปิดโอกาสให้ลูกได้สำรวจรูปร่างและรสชาติของอาหาร ได้ใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 และนอกจากนี้การเล่นกับอาหารที่ไม่คุ้นเคยสามารถช่วยให้เด็กๆ เปิดใจลองชิมอาหารใหม่ๆ มากขึ้น แม้ในใจคุณพ่อคุณแม่อยากจะกรี๊ดออกมาก็ตาม

แต่ถ้าจะปล่อยให้ ลูกกินเลอะเทอะ ไปตลอดก็คงจะไม่ดีต่อคุณพ่อคุณแม่เท่าไรนัก ดังนั้นเรามาช่วยให้ลูกกินอย่างสนุก แต่ไม่ขัดขวางต่อพัฒนาการลูกกันดีกว่าค่ะ!

1. ตัดอาหารเป็นเส้นหรือแท่ง

sloppyeating_web_1

คุณพ่อคุณแม่หลายคนคงจะเคยได้ยินวิธีการฝึกให้ลูกกินแบบ Baby Led Weaning (BLW) กันมาบ้างแล้ว นั่นก็คือ ฝึกให้ลูกกินอาหารด้วยการให้หยิบอาหารกินด้วยมือของตัวเอง นอกจากลูกจะได้สัมผัสพื้นผิว ลักษณะความแข็ง ความนุ่มของอาหารได้ด้วยตัวเองแล้ว การหั่นอาหารเป็นเส้นหรือแท่ง ยังช่วยให้ลูกหยิบจับถนัดมือ ไม่ตก ไม่หกเลอะเทอะอีกด้วย

2. อธิบายถึงการกินเลอะเทอะว่าไม่ดีอย่างไร และชมเชยเมื่อลูกทำได้

sloppyeating_web_2

เมื่อลูกกินเลอะเทอะ คงยากที่คุณพ่อคุณแม่จะทำใจเย็นอยู่ได้ บางครั้งก็อดไม่ได้ที่จะหงุดหงิดและต่อว่า แต่ยิ่งว่า ลูกก็ดูเหมือนจะยิ่งท้าทาย ทั้งทำหกเลอะเทอะกว่าเดิม ทั้งโยนอาหารให้โบยบินไปในอากาศ ทำเอาคุณพ่อคุณแม่ถึงกับควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่อยู่ก็มี

แต่ความจริงแล้ว พฤติกรรมการเล่น ละเลง หรือโยนอาหาร อาจเกิดจากการที่ลูกอยากทดลองดูว่า เมื่อถ้าทำสิ่งนี้แล้วจะเกิดอะไรขึ้น เพราะฉะนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรอธิบายให้ลูกเข้าใจก่อนลงมือกินอาหาร ว่าทำไมเราถึงไม่ควรกินเลอะเทอะ เช่น จะทำให้เสื้อผ้าของลูกเลอะเทอะ แล้วเราจะต้องไปอาบน้ำกันใหม่อีกครั้ง จะทำให้โต๊ะอาหารเลอะเทอะ ลูกจะนั่งเล่นตรงนี้ต่อไม่ได้ และอาจเกิดเชื้อโรค หากคุณพ่อคุณแม่ทำความสะอาดไม่ทั่วถึง และเมื่อลูกรู้เหตุผลและสามารถควบคุมตัวเองให้กินอาหารไม่หกเลอะเทอะ คุณพ่อคุณแม่ก็ควรชื่นชมในความพยายามของลูกด้วย

3. ให้ลูกมีส่วนร่วมในการจัดโต๊ะอาหาร

sloppyeating_web_3

อีกหนึ่งข้อที่ (น่าจะ) ช่วยให้ลูกไม่กินอาหารหกเลอะเทอะได้ดี นั่นก็คือ คุณพ่อคุณแม่อาจจะลองชวนลูกจัดโต๊ะอาหารไปด้วยกันค่ะ เมื่อเขาได้เป็นผู้จัดการโต๊ะอาหารด้วยตัวเอง ก็จะมีแรงจูงใจไม่อยากทำโต๊ะอาหารเลอะเทอะ หรือเมื่อกินอาหารเสร็จ ลองให้ลูกช่วยเก็บจานและทำความสะอาดโต๊ะ  ก็จะทำให้ลูกรู้ว่าไม่ควรทำให้โต๊ะอาหารเลอะเทอะ ได้โดยไม่ต้องออกแรงบังคับเลยล่ะค่ะ

4. นั่งกินอาหารร่วมกันเป็นครอบครัว

sloppyeating_web_4

เด็กในช่วงอายุ 2-6 ปี จะเรียนรู้การสร้างบุคลิกและตัวตนโดยเริ่มจากการเลียนแบบพฤติกรรมของคุณพ่อคุณแม่ และคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแสดงออก วิธีการพูด และพฤติกรรมเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวัน

การให้ลูกได้นั่งกินอาหารร่วมกันกับในครอบครัว ก็จะช่วยให้ลูกซึบซับพฤติกรรมบนโต๊ะอาหารจากคุณพ่อคุณแม่ด้วย ดังนั้น หากคุณพ่อคุณแม่เป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูก ก็จะทำให้ลูกเรียนรู้พฤติกรรมการกินอาหารที่ดีตามไปด้วยค่ะ

5. ใจเย็นและอดทน

sloppyeating_web_5

ถ้าทำอะไรไม่ได้จริงๆ การสูดหายใจเข้าลึกๆ ใจเย็น และอดทนน่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด เพราะพัฒนาการของเด็กเป็นไปตามช่วงวัย อยากเป็นนักสำรวจ อยากเป็นนักทดลอง หากคุณพ่อคุณแม่ห้ามปรามมากเกินไป อาจเป็นการขัดขวางพัฒนาการของลูก และส่งผลทำให้ลูกไม่อยากกินข้าวอีกต่อไปเพราะรู้สึกว่าการกินข้าวเป็นเรื่องไม่สนุก หรือการกินข้าวทำให้โดนดุนั่นเองค่ะ

อ้างอิง
raisingchildren
uiowa.edu
yourkidstable
theasianparent
Baby-Led Weaning Thailand
vichaiyut

Supinya R.

ชอบอ่านนิยายสยองขวัญ ชอบเขียนไดอารี่ และเป็นคุณแม่จำเป็นในบางเวลา :-)

COMMENTS ARE OFF THIS POST