คุณพ่อคุณแม่อาจจะเคยสงสัยว่า ทำไมตอนอยู่บ้าน ลูกของเราก็พูดคุย กล้าแสดงออก และเล่นสนุกได้ แต่พอออกไปข้างนอกทีไร เด็กที่เคยสดใสร่าเริง ก็กลายเป็นเด็กขี้อาย หลบตา และไม่กล้าแสดงออกขึ้นมาเฉยๆ
อาการประหม่าเมื่อต้องเข้าสังคม กลัวการพูดคุยกับคนแปลกหน้าหรือการทำกิจกรรมในที่สาธารณะ เช่น การออกไปพูดหน้าห้อง อาจทำให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจว่าลูกเป็นเด็กขี้อาย แต่ถ้าหากว่ามีอาการรุนแรงถึงขั้น ทำให้ใจสั่น มือสั่น หายใจไม่สะดวก เหงื่อออกมาก หรืออาจตื่นเต้นและวิตกกังวลจน ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ทั้งหมดนี่เป็นหนึ่งในอาการของโรคกลัวสังคม (Social Phobia) ที่เกิดขึ้นได้ในเด็ก และอาจส่งผลให้ลูกมีปัญหาด้านบุคลิกภาพและทักษะการเข้าสังคมได้
M.O.M จึงอยากชวนคุณพ่อคุณแม่มาสังเกตพฤติกรรมของลูกให้ดีขึ้นอีกนิดค่ะว่า ลูกเป็นเด็กขี้อายทั่วไปหรือรุนแรงถึงขั้นเป็นโรคกลัวสังคมกันแน่
พฤติกรรมที่อาจบอกได้ว่าลูกกำลังเป็นโรคกลัวสังคม (Social Phobia)
- ลูกเป็นเด็กที่ขี้กังวล ลังเล และไม่กล้าตัดสินใจทำอะไรด้วยตัวเองเพราะกลัวว่าจะผิดพลาด และไม่ชอบที่จะเป็นจุดสนใจในสถานการณ์ต่างๆ
- ลูกพยายามหลีกเลี่ยงการพูดคุยกับคนที่ไม่คุ้นเคย และกลัวการแสดงออกในที่สาธารณะมากผิดปกติ
- ลูกไม่ค่อยสบตาเวลาพูดคุย พูดเสียงเบา พึมพำ เหมือนคนไม่มีความมั่นใจในตัวเอง เช่น มีอาการประหม่า หลบตา และพูดพึมพำเมื่อต้องสั่งอาหารในร้านอาหารด้วยตัวเอง
- ลูกเลือกที่จะเก็บตัวและแยกตัวออกจากกลุ่มเพื่อน ไม่พูดคุยเท่ากับเด็กวัยเดียวกันคนอื่นๆ
- ลูกใส่ใจกับคำพูดและคำวิจารณ์ของคนอื่น จนเก็บกลับมาวิตกกังวลเป็นเวลานาน
นอกจากนี้ อาจทำให้ลูกเริ่มปฏิเสธการไปโรงเรียน (School refusal) เพราะไม่ต้องการพบปะผู้คนหรืออยู่ในสถานการณ์ที่วางตัวลำบาก
ถ้าลูกเป็นโรคกลัวสังคม (Social Phobia) จะรักษาอย่างไร
โดยทั่วไปโรคกลัวสังคมมักจะมีอาการตั้งแต่ยังเด็ก และอาการจะชัดเจนมากยิ่งขึ้นเมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น ซึ่งจะส่งผลต่อการเข้าสังคมและบุคลิกภาพของลูกมากขึ้น
ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงควรสังเกตอาการของลูกเพื่อเข้ารับการแก้ไขอย่างถูกต้องตั้งแต่เนิ่นๆ
คุณพ่อคุณแม่คือการรักษาที่ดีที่สุด
คุณพ่อคุณแม่ควรหาโอกาสให้ลูกได้ลองเข้าสังคมที่หลากหลาย เช่น เล่นกับเพื่อนหลายๆ กลุ่ม พบปะกลุ่มคนใหม่ๆ เมื่อมีโอกาส หากิจกรรมที่ลูกชอบและต้องทำร่วมกับคนอื่น แต่ไม่ควรกดดันหรือเคี่ยวเข็ญให้ลูกทำกิจกรรมที่ต้องรับมือกับความคาดหวังและเคร่งเครียดมากเกินไป เช่น การประกวดที่ต้องใช้ทักษะด้านการแสดงออก เพราะอาจทำให้ลูกเครียดที่ต้องเข้าร่วม และรู้สึกผิดหวังเมื่อทำได้ไม่ดี
นอกจากนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรให้เวลาลูกในการปรับตัว และเมื่อลูกเริ่มทำกิจกรรมด้วยตนเองได้ มีความมั่นใจมันขึ้น การให้รางวัลและคำชมก็เป็นอีกหนึ่งกำลังใจสำคัญที่จะสามารถช่วยผลักดันให้ลูกมีความกล้า และลดอาการของโรคกลัวสังคมได้
COMMENTS ARE OFF THIS POST