READING

เลี้ยงลูกแบบวะบิ-ซะบิ (Wabi-Sabi) : ปรัชญาของชาวญี...

เลี้ยงลูกแบบวะบิ-ซะบิ (Wabi-Sabi) : ปรัชญาของชาวญี่ปุ่นที่เชื่อว่าความสมบูรณ์แบบไม่มีอยู่จริง

เลี้ยงลูกแบบวะบิ-ซะบิ

‘วะบิ-ซะบิ’ (Wabi-Sabi) เป็นปรัชญาเก่าแก่ของญี่ปุ่น ซึ่งมาจากคำว่า Wabi ที่แปลว่าความเรียบง่าย ความสงบ และคำว่า Sabi ที่แปลว่า ความงดงามที่เสื่อมสลายไปตามกาลเวลา

วะบิ-ซะบิ จึงมีแนวคิดที่เชื่อว่าชีวิตไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบ แต่ต้องเรียบง่ายและมีความสุข การ เลี้ยงลูกแบบวะบิ-ซะบิ จึงเป็นการเลี้ยงลูกด้วยการยึดหลักแห่งความสุข สงบ สบายใจ ไม่ยึดติดกับความสมบูรณ์แบบ เพราะเชื่อว่า บางทีความผิดพลาด ก็ทำให้คนเราสามรถเปลี่ยนแปลงและพัฒนาตัวเองไปในทางที่ดีขึ้นได้เช่นกัน

การ เลี้ยงลูกแบบวะบิ-ซะบิ จึงเป็นอีกแนวทางการเลี้ยงดูลูกด้วยความเข้าใจในธรรมชาติของลูกอย่างแท้จริง ช่วยให้ลูกมีความกล้าที่จะใช้ชีวิต ลองทำอะไรใหม่ๆ ไม่กลัวความผิดพลาด และคุณพ่อคุณแม่ก็จะไม่ต้องเคร่งเครียดกับการเลี้ยงลูกมากเกินไปอีกด้วย

เราจึงมาสรุป 4 หลักการหรือหัวใจสำคัญของวะบิ-ซะบิที่คุณพ่อคุณแม่สามารถนำไปปรับใช้กับการเลี้ยงลูกเพื่อการเติบโตอย่างมีคุณภาพและมีความสุขของลูกต่อไปค่ะ

1. สอนลูกให้รู้จักยอมรับความ ‘ไม่สมบูรณ์แบบ’

Wabi-Sabi_web_1

ถึงแม้ว่าความสมบูรณ์แบบจะเป็นสิ่งที่หลายคนต้องการ หรือแม้แต่คุณพ่อคุณแม่เอง ถ้าเลือกได้ก็ย่อมอยากได้สิ่งที่ดีที่สุด สมบูรณ์ที่สุดให้กับลูกน้อย แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่มีทางที่คุณพ่อคุณแม่จะปกป้องลูกจากความผิดพลาดหรือสรรหาสิ่งที่สมบูรณ์แบบให้ลูกได้ตลอดชีวิต

ดังนั้น สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำก็คือ การสอนให้ลูกรู้จัก เข้าใจ และยอมรับความไม่สมบูรณ์แบบทั้งของตัวเอง คนรอบข้าง หรือแม้แต่สถานการณ์ที่ไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง เช่น ลูกอยากสอบได้ที่หนึ่งของห้อง เมื่อทำไม่ได้ก็ผิดหวังมาก คุณพ่อคุณแม่อาจช่วยสร้างความเข้าใจให้ลูกเรียนรู้ว่า การสอบไม่ได้ที่หนึ่งไม่ได้แปลว่าลูกไม่เก่ง หรือพยายามไม่พอ ลูกอาจพยามยามและตั้งใจเต็มที่แล้ว แต่ก็ยังมีคนที่ตั้งใจมากกว่าและทำผิดพลาดน้อยกว่าลูกได้เสมอ

2. สอนลูกให้เรียนรู้และยอมรับความรู้สึกของตัวเอง

Wabi-Sabi_web_2

เด็กๆ อาจรู้สึกว่าการรับมือกับความผิดหวังและเสียใจเป็นเรื่องยาก ยิ่งถ้าไม่ได้รับคำแนะนำที่เหมาะสมจากคุณพ่อคุณแม่ ลูกอาจไม่รู้ว่าจะจัดการกับความรู้สึกของตัวเองได้อย่างไร

คุณพ่อคุณแม่จึงควรช่วยให้ลูกเรียนรู้และยอมรับความรู้สึกของตัวเองด้วยความเข้าใจ เช่น เมื่อลูกรู้สึกผิดหวังในผลการเรียนของตัวเอง คุณพ่อคุณแม่อาจช่วยสะท้อนอารมณ์ของลูกว่า พ่อแม่เข้าใจที่ลูกเสียใจเพราะตั้งใจทำอย่างเต็มที่แล้ว แต่ผลกลับไม่เป็นอย่างที่คิด และแนะนำวิธีรับมือกับความเสียใจ เช่น ออกไปวิ่งเล่นผ่อนคลาย หรือทำกิจกรรมอื่นดูบ้าง

3. สอนให้ลูกรู้จักรักและเห็นคุณค่าของตัวเอง

Wabi-Sabi_web_3

คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรทำให้ลูกเข้าใจว่าคุณค่าของลูกขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์แบบหรือความสำเร็จ รวมถึงไม่ควรแสดงความคาดหวังในตัวลูกมากเกินไป แต่ควรสอนให้ลูกรักและเคารพในตัวตนที่ไม่สมบูรณ์แบบของตัวเอง มีความสุขในการพยายามทำอะไรแม้ไม่ผลลัพธ์จะไม่ดีอย่างที่คิด เพื่อให้ลูกเติบโตอย่างคนที่รักและเห็นคุณค่าของตัวเอง ไม่ตัดสินหรือด้อยค่าตัวเองเมื่อทำอะไรผิดพลาด และพร้อมที่จะให้อภัยตัวเองได้เสมอ

4. การเป็นตัวของตัวเองคือความสมบูรณ์แบบอย่างหนึ่ง

Wabi-Sabi_web_4

เด็กๆ อาจมีต้นแบบเป็นคุณพ่อคุณแม่ หรือมีภาพจำของคนที่ประสบความสำเร็จเป็นไอดอล เช่น เพื่อนที่เรียนเก่งและเป็นที่รักที่สุดในห้อง จึงพยายามเรียนรู้พฤติกรรมของเพื่อน เพราะอยากเป็นที่รักเช่นนั้นบ้าง

ความจริงแล้ว การเรียนรู้พฤติกรรมที่ดีของคนอื่นเป็นเรื่องดี แต่คุณพ่อคุณแม่ควรสอนให้ลูกรู้ขอบเขตและให้ความสำคัญกับความเป็นตัวของตัวเองไม่น้อยไปกว่ากัน เช่น ลูกชอบแต่งตัวอย่างนั้น หรือแค่อยากแต่งตัวเหมือนเพื่อนคนนั้นกันแน่ เพราะสุดท้ายแล้วลูกจะต้องเรียนรู้ไม่มีใครที่สมบูรณ์แบบมากพอที่ลูกจะต้องยึดถือหรือทำตามทุกอย่าง และการเป็นตัวของตัวเองที่มีความสุข ก็นับเป็นความสมบูรณ์แบบอย่างหนึ่งเช่นกัน

 

เพราะความไม่สมบูรณ์แบบนี่แหละจะช่วยทำเราให้รู้จักและเข้าใจในธรรมชาติมากขึ้น เหมือนที่ปรัชญาวะบิ-ซะบินิยามไว้ว่า เมื่อเรายอมรับความเรียบง่ายและความไม่สมบูรณ์แบบได้ เราก็จะมีความสุข

 

อ้างอิง
adaybulletin
mangozero
bareo-isyss
anngle

Supinya R.

ชอบอ่านนิยายสยองขวัญ ชอบเขียนไดอารี่ และเป็นคุณแม่จำเป็นในบางเวลา :-)

COMMENTS ARE OFF THIS POST