READING

Interview: ศรีสมร โซเฟร หรือ ‘สองขา’ ผู้ก่อตั้งกลุ...

Interview: ศรีสมร โซเฟร หรือ ‘สองขา’ ผู้ก่อตั้งกลุ่มวาดหวัง ที่ยังคงทำหนังสือให้เด็กๆ ด้วยความหวัง

นิทานวาดหวัง

ย้อนกลับไปประมาณสองปีก่อน มีหนังสือนิทานและหนังสือภาพสำหรับเด็กจำนวน 8 เล่ม ปรากฏตัวขึ้นอย่างเรียบง่าย ผ่านช่องทางการขายเล็กๆ ในเพจ ‘วาดหวังหนังสือ’ ที่มีผู้ติดตามยังไม่มากนัก เมื่อกวาดตามองชื่อเรื่อง ภาพปก และชื่อผู้เขียน ก็ต้องยอมรับว่าเป็นหนังสือเด็กที่แปลกตาและน่าแปลกใจสำหรับเราไม่น้อย

ไม่กี่วันต่อมา หนังสือดังกล่าวก็ได้รับความสนใจมากเป็นทวีคูณ เมื่อตกเป็นที่จับตามองจากผู้หลักผู้ใหญ่ในประเทศ แม้แต่กระทรวงศึกษาธิการ (สมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) ยังสั่งให้มีการตรวจสอบเนื้อหาเพราะเกรงว่าจะมีการบิดเบือน และปลุกระดมเยาวชนไปในทางที่ผิด

แต่จากวันนั้น จนถึงวันนี้ ศรีสมร โซเฟร เจ้าของนามปากกา ‘สองขา’ ที่พ่อแม่ผู้ปกครองหลายคนน่าจะคุ้นเคยในฐานะผู้แต่งนิทานเด็กชุดป๋องแป๋ง (สำนักพิมพ์ Pass Education) ที่ได้รับความนิยมมาอย่างยาวนานมาก่อน ก็ยังคงเดินหน้าทำนิทานวาดหวัง ด้วยความหวังและความเชื่อในพลังของคนที่อยากขยายกรอบของหนังสือเด็กให้สามารถพูดถึงเรื่องจริงในสังคมให้เด็กๆ รับรู้ได้ต่อไป

ทำไมถึงเกิดวาดหวังหนังสือขึ้น

ตอนนั้นเป็นช่วงที่บ้านเมืองอยู่ภายใต้การบริหารของรัฐบาลคุณประยุทธ์ มันทำให้เรารู้สึกอยากทำอะไรสักอย่าง คิดแล้วก็เลยเขียนหลังไมค์ไปชวนเพื่อน และเพื่อนในเฟซบุ๊กที่เราชื่นชม ว่าอยากให้มาร่วมกันทำอะไรในมุมที่เราทำได้ หลายคนเป็นคนรักหนังสือคล้ายๆ กัน จึงตั้งใจมาร่วมกันทำ เราอยากให้มีหลายๆ เสียงเกิดขึ้นในสังคม ไม่ใช่มีแต่เสียงแห่งความเกรี้ยวกราด โกรธ และรู้สึกไร้ทางออก เป็นการเริ่มของคนกลุ่มเล็กๆ ที่วาดหวังว่าจะทำหนังสือให้มีความหลากหลายมากขึ้น อยากจะขยายกรอบของหนังสือภาพของไทยให้กว้างไกลออกไปอีก

เป็นเพราะตัวคุณเองทำงานเกี่ยวกับเด็กและหนังสือเด็กมานานแล้วถูกไหม

ค่ะ เราจบปริญญาตรีประวัติศาสตร์ ตอนเรียนจบใหม่ๆ ก็ไปเป็นข้าราชการครูสอนเด็กในหมู่บ้านกะเหรี่ยงที่สังขละบุรี พอแต่งงาน ก็ติดตามความรักและได้ไปเรียนต่อปริญญาโทด้านการศึกษาพิเศษที่อเมริกา เพราะเมื่อครั้งเป็นครูในหมู่บ้าน  เราเห็นเด็กพิเศษแล้วอยากช่วย อยากสอนเขา แต่แค่ใจที่คิดอยากจะช่วยมันไม่พอ เพราะเราไม่มีความรู้ ไม่มีประสบการณ์  จึงเลือกไปเรียนด้านนี้ และต่อมาก็เป็นครูประจำชั้นห้องเด็กพิเศษในโรงเรียนเรียนร่วมที่ซิลิคอนแวลลีย์ รัฐแคลิฟอร์เนีย

จนปี 2006 ก็ย้ายครอบครัวกลับมาบ้านเกิดสามีที่อิสราเอล เราก็ไปเรียนภาษา แต่ถึงอย่างนั้นภาษาฮิบรูของเราก็ดีไม่พอที่จะเป็นครู ก็เลยลองไปเป็นล่าม ทำงานแปล สอนภาษาไทยให้ผู้ใหญ่ ไปทำอะไรหลายอย่าง แต่สุดท้ายมันไม่ใช่ ก็เลยหยุดและคิดไตร่ตรองว่าเรามีความฝันอะไรที่อยากทำอีก  สิ่งหนึ่งก็คืออยากเขียนหนังสือ ก็เลยเขียนแล้วส่งสำนักพิมพ์มาเรื่อยๆ จนถึงปีนี้มีหนังสือที่เขียนออกมาประมาณร้อยแปดสิบกว่าเล่ม เฉพาะป๋องแป๋งก็เจ็ดสิบกว่าเล่มแล้วค่ะ (หัวเราะ)

ที่จริงเมื่อก่อน หมอนเคยเขียนเรื่องสั้น เขียนบทกวี แต่พอสถานการณ์บ้านเมืองประเทศไทยไม่ค่อยมีเสรีภาพ ไม่สามารถพูดหรือสื่อสารอะไรออกไปตรงๆ ได้ ก็หาที่ลงได้ยาก เราก็เข้าใจ บ.ก. ก็เลยคิดว่าแล้วถ้าเราทำหนังสือเด็กให้มันหลากหลายขึ้นล่ะ เพราะตอนเป็นครูที่อเมริกาต้องอ่านหนังสือให้เด็กฟังวันละ 3 รอบ ตอนย้ายมาอิสราเอลใหม่ๆ เคยทำงานที่โรงเรียนอนุบาลใกล้บ้าน คุณครูเขาก็อ่านหนังสือให้เด็กฟัง ได้เห็นหนังสือเด็กที่หลากหลายมาก แต่ที่เมืองไทยยังไม่มีอย่างนั้น

“เพราะสังคมดีๆ ที่เราใฝ่หา ไม่ได้ได้มาด้วยการนิ่งเฉย”

ที่สหรัฐอเมริกา เขาเปิดกว้างให้เด็กรับรู้เรื่องการเมืองและสังคมมากแค่ไหน

มากเลยค่ะ ตอนลูกเราสามขวบเริ่มไปโรงเรียนอนุบาล โอ้โห ลูกกลับมาร้องเพลง Follow the Drinking Gourd เพราะเดือนกุมภาพันธ์ เป็น Black History Month แล้วเรื่องนี้มันอยู่ในหลักสูตรของเด็กอนุบาล เราเองก็เพิ่งรู้จัก Underground Railroad ที่พูดเรื่องทาสคนดำ พร้อมลูกๆ ตอนนั้น หรือ Rosa Parks ผู้หญิงผิวสีไม่ยอมสละที่นั่งบนรถเมล์ เด็กที่นั่นรู้เรื่องพวกนี้ตั้งแต่สามขวบ

พอลูกขึ้นป. 1- ป. 2 หลักสูตรสังคมศึกษาเขาค่อนข้างชัดเจน และสิ่งที่เขาให้คุณค่า ไม่ใช่เรื่องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ หรือเด็กดีคือเด็กกตัญญู แต่สิ่งที่เขาให้คุณค่าคือการอยู่ร่วมกันในความหลากหลาย เคารพในความเป็นคนของตัวเองและคนอื่น และเขามีวิธีจัดการที่ดี

ขอเล่าเรื่องลูกเราช่วงอนุบาล (ก่อนขึ้น ป. 1) ลูกถือกล่องข้าวไปโรงเรียน แล้วก็มีเพื่อนมาถามว่า ตอนวันหยุดเธอไปโบสถ์ที่ไหน ลูกก็บอกว่าไม่ได้ไปโบสถ์ เราไป farmers market เพื่อนก็ อ้าว ทำไมไม่ไปโบสถ์ แล้วพระเจ้าของเธอคือใคร ลูกเราบอกว่าไม่มีพระเจ้า ปรากฏว่าเพื่อนโกรธ แล้วกระทืบกล่องข้าวของลูกเรา ลูกเราก็งงมาก พอเลิกเรียนลูกกลับมาเล่าให้ฟัง เราก็ถามว่าลูกรู้สึกยังไง เขาบอกว่ารู้สึกงง แล้วก็รู้สึกแย่ เขาเป็นห่วงเพื่อนว่าถ้าไปทำอย่างนี้กับเด็กคนอื่น หรือถ้าทำตอนที่โตขึ้นไปก็อาจจะถูกตำรวจจับได้ เราก็เลยถามว่าแล้วลูกอยากทำยังไง ลูกก็บอกว่าอยากเขียนจดหมายถึงเพื่อน ถึงครู และพ่อแม่เพื่อนให้ช่วยคุยกับเพื่อนหน่อย แล้วก็พูดในสิ่งที่ลูกอยากบอก และขอให้เราพ่อแม่ช่วยเขียน ช่วยสะกดคำ ช่วยพิมพ์ให้  เขียนเสร็จลูกเป็นคนกดส่งอีเมลให้ครูใหญ่

ตอนสายของวันต่อมา ครูใหญ่ โทร. มาบอกว่าได้คุยเรื่องนี้กับเด็กทั้งสองคนแล้วนะ คือให้เด็กเล่าว่าเกิดอะไรขึ้น ถามแต่ละคนว่ารู้สึกยังไง มันมี process ของการรับฟังกันและกันเกิดขึ้น เด็กก็ได้เรียนรู้ว่าไม่ควรทำแบบนี้ เราต้องเคารพตัวเอง เคารพผู้อื่น และไม่ทำร้ายกัน พอผู้ใหญ่ช่วยเคลียร์ เด็กห้าขวบก็เข้าใจได้และเป็นเพื่อนกันได้ เรื่องแบบนี้เขาสอนกันมาตั้งแต่อนุบาล

วันต่อมาสามีเป็นคนไปส่งลูก ก็เจอพ่อแม่ของเด็กคนนั้น ก็เข้าไปคุยกัน ขอโทษกัน เขาไม่ได้มองว่าทำไมลูกเราต้องไปฟ้องครู แต่เขามองเป็นเรื่องดี เพราะแบบนี้คนของเขาถึงกล้าออกมาเรียกร้องเรื่องต่างๆ ถ้าถามว่ามันเกี่ยวกับการเมืองไหม มันใช่นะ มันคือการปลูกฝังอย่างหนึ่ง หรืออย่างที่อิสราเอลนี่การประท้วงเหมือนเป็นหน้าที่ของทุกคนเลยนะ เพราะสังคมดีๆ ที่เราใฝ่หา ไม่ได้ได้มาด้วยการนิ่งเฉย

วิธีการทำงานของวาดหวัง เหมือนหรือแตกต่างจากตอนที่เขียนหนังสือเด็กก่อนหน้านี้อย่างไร

ก่อนมาทำนิทานวาดหวัง เราเป็นคนเขียน เขียนเรื่องเสร็จก็ส่งอีเมลไปให้ บ.ก. พิจารณา แล้วก็ปรับแก้ตามที่กอง บ.ก. แนะนำ งานเราอยู่แค่ในมุมนักเขียน แต่พอเรามาทำวาดหวังกับเพื่อนกลุ่มเล็กๆ ก็ต้องมีการพูดคุยปรึกษาหารือกัน ตอนทำชุดแรก เรายังไม่รู้เลยว่าต้องกำหนด Theme ออกมายังไง รู้แค่ต้องติดต่อชวนคนมาเขียน ก็ชวนหลายคนมาก เพราะเราอยากให้คนออกมาใช้พื้นที่เล็กๆ ตรงนี้สื่อสารสิ่งที่เขาวาดหวังหรืออยากแสดงออก บทบาทเราก็เปลี่ยนไป เป็น บ.ก. และเป็นผู้ประสานงานด้วย คิดว่าอยากให้หนังสือเป็นอย่างไร คิด เลือก แล้วไปชวนคนมาเขียน ติดต่อนักวาด ฝ่ายศิลป์  ติดต่อโรงพิมพ์ และก็ทำงานร่วมกันเป็นทีมงานเล็กๆ ที่มีใจเดียวกัน อยากเห็นเมืองไทยเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น

เวลาชวนคนมาทำงานหรือเขียนเรื่องให้ เราอธิบายว่าวาดหวังหนังสือคืออะไร

ไม่ได้อธิบายอะไรเลยค่ะ แค่แนะนำตัวว่าชื่อหมอน เขียนหนังสือในนาม ‘สองขา’ นะคะ หมอนกับเพื่อนๆ กลุ่มวาดหวัง อยากเปิดพื้นที่หนังสือภาพสำหรับเด็กและผู้ใหญ่ในแนวใหม่ เล่มบางๆ 24 หน้า อยากเขียนอะไรเขียนได้เลยค่ะ

ตอนชวนพี่ทราย (อินทิรา เจริญปุระ) ก็บอกอย่างนี้ ตอนนั้นพี่ทรายร่วมกิจกรรมและทำอะไรเยอะ พี่ทรายอยากเล่าเรื่องผ่านมุมมองของหมิม—แมวที่พี่ทรายเลี้ยง ส่วนพี่หนูหริ่ง (สมบัติ บุญงามอนงค์) อยากเขียนเรื่องไฟป่า เพราะยังไม่มีใครพูดถึง เราก็ดีใจ และเปิดกว้างให้เขียนได้ เพราะเรามั่นใจว่าคนที่เราชวนล้วนเป็นคนที่มีความปรารถนาดีและตั้งใจดีต่อสังคม

หรือชุดใหม่ที่กำลังทำ ชื่อ ‘เป็นสุขที่สงสัย’ ก็ไปชวนอาจารย์ โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์ มาเขียนเรื่องปรัชญา อาจารย์ก็ยินดี และเขียนเรื่อง ฉันคือใคร คือใครนะ? มาให้ เพราะเป็นคำถามที่มนุษย์ทุกยุคทุกสมัย รวมทั้งตัวเราเองก็เคยแว้บถามตัวเองว่าฉันคือใคร เกิดมาทำไม เกิดมาทำอะไรเหมือนกัน

“สิ่งที่ไม่ใช่อุปสรรคแต่เป็นความยาก คือการที่หลายคนมีกรอบว่าหนังสือเด็กมันต้องสนุกสดใสร่าเริง เพราะเด็กเป็นผ้าขาว ต้องเขียนเรื่องจินตนาการ เขียนให้เป็นเด็กดี”

ถ้าไม่นับเรื่องการถูกมองว่าเป็นหนังสือที่มอมเมาหรือล้างสมองเยาวชน ปัญหาหรืออุปสรรคของการทำวาดหวังหนังสือมีอะไรบ้าง

เคยมีคนโจมตีว่าเรารับเงินมาทำ โอ้โห ชีวิตเราแทบจะไม่เคยให้ใครเลี้ยงข้าวเลี้ยงก๋วยเตี๋ยวเลย จะไปรับตังค์ใครได้ไง เงินทุนนี่เราก็แคะกระปุกตัวเองมาทำค่ะ อุปสรรคจริงๆ เลยก็คือเราขายไม่เก่ง เรารักการทำหนังสือแต่ขายไม่เก่ง โชคดีที่ชุดแรกออกมาแล้วมีนางกวักมาช่วยกวักมือเรียกลูกค้าให้ (หัวเราะ) พอเป็นข่าวออกมา มีคนมาไล่บี้ว่าหนังสือเราเป็นอย่างนั้นอย่างนี้  แล้วหนังสือก็ขายหมดเกลี้ยง ใน 4 วัน (หัวเราะ)

และสิ่งที่ไม่ใช่อุปสรรคแต่เป็นความยาก คือการที่หลายคนมีกรอบว่าหนังสือเด็กมันต้องสนุกสดใสร่าเริง เพราะเด็กเป็นผ้าขาว ต้องเขียนเรื่องจินตนาการ เขียนให้เป็นเด็กดี ซึ่งเราก็เข้าใจนะ แต่นี่แหละที่ทำให้เราต้องทำวาดหวังหนังสือ เราอยากให้ช่วยกันสื่อสาร อยากขยายกรอบของหนังสือภาพและหนังสือเด็กออกไป

ที่แปลกใจและปลื้มใจมากคือได้เจอคนวาดเก่งๆ เยอะมาก และที่เราชวนก็แทบไม่มีใครปฏิเสธเลย หลายคนเพิ่งเคยวาดนิทานวาดหวังเป็นเล่มแรก เลยทุ่มเทกันสุดฝีมือ เราฝันอยากให้มีคนเขียนเยอะๆ อยากให้สำนักพิมพ์ไทยเปิดกว้างมากขึ้น เปิดพื้นที่ให้คนวาดไทยทั้งรุ่นใหม่ รุ่นเก่า รุ่นเก๋า เห็นเขาปล่อยพลังแล้วว้าว ได้งานที่เกินคาดฝันไปมากแทบทุกเล่ม

เราคิดว่าความยากของคนที่ไม่เคยเขียนหนังสือเด็กมาก่อนคือการที่ไม่รู้ว่าทำได้แค่ไหน และอะไรคือความพอดีสำหรับเด็ก คุณคิดว่าอย่างนั้นหรือเปล่า

ใช่เลยค่ะ เพราะหลายคนที่ชวนมาเขียนก็คิดอย่างนี้ หมอนคิดว่ามันเป็นความคลาดเคลื่อนของหนังสือเด็กไทยเลย ตอนทำนิทานวาดหวังใหม่ๆ คนก็ถามว่าเหมาะสำหรับเด็กวัยไหน หมอนบอกว่า 5 ขวบถึง 112 ปี (หัวเราะ) คือเขาอยากให้บอกว่าเหมาะสำหรับเด็กแรกเกิดถึง 3 ขวบ, 3 ขวบถึง 5 ขวบ, 5 ขวบถึง 10 ขวบ หรือเด็กวัยรุ่น หมอนบอกว่า เราอ่านเรื่อง นกกางเขน ตอนเราปิดเทอม ป. 1 แต่เดี๋ยวนี้เราก็ยังหยิบมาอ่านอยู่เลย หรือหนังสือ แมงมุมเพื่อนรัก ก็ยังอ่านอยู่ อ่านได้ทุกวัย เพราะอ่านแต่ละครั้งมันไม่เหมือนกัน คุณอย่าไปจำกัดว่าเด็กควรรู้แค่นี้

อย่างช่วงโควิด-19 ที่บ้านมีคนตาย ทำไมเราถึงไม่พูดถึงความตาย ไม่พูดถึงการสูญเสีย หรือตอนที่มีเรื่องอากง (อำพล ตั้งนพกุล) เขามีลูก 7 คน และหลานที่อยู่ในวัยประถมตั้งหลายคน เราจะไม่มีพื้นที่ให้เด็กๆ พูดถึงเรื่องนี้เลยหรือ เด็กต้องพูดแต่เรื่องฉันเก่ง สอบได้คะแนนดี วิ่งชนะ แต่ไม่มีพื้นที่ให้พูดถึงเรื่องจริงอื่นๆ หรือ และวาดหวังก็ตั้งใจนำเสนอและสื่อในแบบที่พูดคุยกับเด็กได้

หรือเรื่องของน้องวาฤทธิ์ (ชีวิตเล็กๆ เด็กชายวาฤทธิ์ สมน้อย) เขาเป็นพี่คนโตในบ้าน ตอนที่ถูกยิงวาฤทธิ์อายุ 14 ปี  เขามีน้อง (รวมลูกๆ ของน้าด้วย) อายุ 6 ขวบ 3 ขวบ และ 2 ขวบ น้องๆ ถามว่าพี่วาไปไหน เมื่อไหร่จะกลับ เนี่ยค่ะ มันเป็นเรื่องจริงที่มีอยู่ ไม่ใช่เราเขียนเรื่องไม่จริง หรือเรื่องบิดเบือนเลื่อนเปื้อนใส่สมองเด็ก

เราอยากเป็นกำลังใจให้คนกล้าออกมาทำอะไรเยอะๆ และรู้สึกว่าการที่นิทานวาดหวังทำออกมาแล้วเขาจะมาไล่บี้ เอาหมายเอาอะไรมาหาเรา ก็อยากบอกว่าเราฆ่าไม่ตายนะ (ยิ้ม) ส่วนหนึ่งที่เราไม่ยอมตาย เพราะถ้าเราเงียบไป อีกหน่อยจะมีใครกล้าออกมาทำหนังสือแนวนี้หรือที่แหวกขนบอีกหรือ คุณคิดจะกดหัวหรือตีกรอบคนหลายสิบล้านเอาไว้อย่างเดิมๆ หรือ โลกเปลี่ยนแปลงไปทุกวัน เราขอแค่พื้นที่ให้หนังสือได้เติบโตบ้างแค่นี้เอง พอทำแล้วเราก็ได้เห็นพลังของทั้งคนทำและคนอ่านที่เขาพร้อมจะซัปพอร์ต

คิดว่าเสน่ห์ของนิทานวาดหวัง คือการให้อิสระและเปิดกว้างให้พูดสิ่งที่อยากพูดออกมาเป็นหนังสือหรือเปล่า ถึงได้ใจจากทั้งคนทำและคนอ่าน

ใช่ค่ะ เหมือนตอนที่เราบอกพี่หนูหริ่งว่าเขียนเรื่องไฟป่าได้เลยค่ะ  พี่เขาแปลกใจว่าได้จริงหรือ และเขาก็เขียนเรื่อง แค็ก! แค็ก! มังกรไฟ มาให้ ซึ่งเด็กๆ ชอบกันมาก และยังไม่ค่อยมีนิทานไทยที่เขียนถึงมังกร แต่ถ้าเป็นหนังสือแปลจะมีเยอะมาก

สัดส่วนหนังสือแปลในหนังสือเด็กไทยเยอะมากเลย แล้วก็ขายกันแพง เล่มละสองร้อย สามร้อยกว่า ขณะที่พ่อแม่หลายคนยังค่าแรง 300 บาท วาดหวังจึงตั้งใจทำหนังสือดี ราคาไม่แพง เราขายเล่มละ 90 บาท ถึงได้มีบางคนเชื่อว่าเรารับเงินต่างชาติมาทำ ที่เราขายราคานี้ได้เพราะงานส่วนมากเราทำกันเอง และไม่ได้ขายผ่านสายส่ง เราเปิดเพจขายเอง ทั้งที่ขายไม่เก่ง ขายไม่เป็น ไม่รู้จะขายยังไง จะบอกว่า เฮ้ย หนังสือเราดีมาก มันก็ตลกนะ ก็พยายามคิดว่าของดี มันต้องมีคนพูดถึงเอง แต่ในความจริงก็ต้องมีสปอตไลท์ ต้องทำให้คนรู้จักก่อน ถึงได้บอกว่าโชคดี ที่ทำออกมาแล้วมีนางกวักช่วย

ทั้งคุณหมอประเสริฐ (นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์) มาสั่งซื้อไปอ่านเอง และเขียนถึงอย่างจริงจังทุกเล่ม และยังมีสื่อหลายคนเขียนถึง ก็ต้องขอบคุณมากๆ ค่ะ ที่สำคัญคือพ่อแม่ ครู ผู้ปกครองเด็กเขียนมาให้กำลังใจเยอะมาก ส่งถ้อยคำ ส่งรูป ส่งคลิปมาให้ดูมากมาย เห็นคลิปพี่น้องสองคน อายุ 2 ขวบ กับ 3 ขวบ คุยและเล่นทายกันว่า ตัวอะไร เหมือนในเรื่อง เสียงร้องของผองนก มีบ้านหนึ่งส่งรูปลูกชาย 4 ขวบ นั่งไถรถเล่นแล้วก็ท่องกลอนในหนังสือจิตร ภูมิศักดิ์ (จ จิตร ชีวิตอัจฉริยะไทยผู้ใฝ่เรียนรู้) ไปด้วย

เด็กไทยต้องเรียนเรื่องบุคคลสำคัญของไทยมากเหลือเกิน ในส่วนตัวเราคิดว่าจิตร ภูมิศักดิ์  เป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่ง จิตรเป็นอัจฉริยะ นอกจากที่เก่งภาษา ดนตรี ประวัติศาสตร์ ใฝ่รู้ใฝ่เรียน และไม่ว่าจะเจออะไร จิตรก็ยังใฝ่ดี ยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย พร่างพรายแสงมาถึงทุกวันนี้ถึงเด็กรุ่นใหม่ๆ

“เราเชื่อในธรรมชาติของเด็ก เพราะว่าเขาเพิ่งเกิดมาเจอโลกไม่นาน เด็กย่อมมีความใฝ่รู้ อยากรู้จักโลกของเขา”

ผู้ใหญ่ส่วนมากอาจจะคุ้นเคยว่าหนังสือเด็กจะต้องสนุกสนาน เล่าเรื่องสวยงาม แฟนตาซี พอนิทานวาดหวังเลือกเล่าเรื่องจริงของสังคมเลยถูกเพ่งเล็งเป็นพิเศษหรือเปล่า

เพราะว่าเด็กก็อยู่ในความจริง เด็กไม่ได้อยู่ในจินตนาการหรือโลกแฟนตาซีตลอด 24 ชั่วโมง คนไทย 70 ล้านคนเป็นเด็กตั้งเท่าไร เด็กแต่ละคน แต่ละครอบครัวก็ต้องการความหลากหลาย ยกตัวอย่างตอนเราเป็นเด็ก เราก็เป็นเด็กช่างสงสัยนะ ชอบถามนั่นถามนี่ เราถามว่า ทำไม ก. ไก่ ถึงไม่มีหัว ครูก็บอกว่าไม่ต้องถามมาก แค่ท่องไป อักษรสูง อักษรกลาง อักษรต่ำ ใครถามเยอะโดนไล่ไปยืนคาบไม้บรรทัด แต่เราเชื่อในธรรมชาติของเด็ก เพราะว่าเขาเพิ่งเกิดมาเจอโลกไม่นาน เด็กย่อมมีความใฝ่รู้ อยากรู้จักโลกของเขา หนังสือชุดใหม่ที่กำลังทำก็เปิดพื้นที่เรื่องนี้ เด็กสามารถสงสัยได้ว่า ทำไมสัตว์ถึงมีหาง ทำไมคนไม่มีหาง เราเคยถูกตีเพราะถามคำถามนี้ พอไปบอกแม่ แม่ก็บอกว่าสมควรแล้ว ถามทำไมเรื่องแค่นี้ ทำไมไม่เอาเวลาไปท่องสูตรคูณ เราก็บอกว่าสูตรคูณท่องได้แล้วไง (หัวเราะ)

ตอนหมอนไปทำงานเป็นผู้ช่วยครูที่นิวยอร์ก ได้สอนเด็ก ป. 2 ไปสอนวันแรกตกใจมาก โจทย์เลขเขามีข้อเดียวคือ 3+4 เท่ากับเท่าไร ให้เด็กๆ ไปหาคำตอบแล้วเตรียมคำอธิบายมา แล้วตอนเช้าก็มาดูเรื่องที่เด็กไปทำการบ้านมา บางคนเล่าว่าที่บ้านเลี้ยงแม่ไก่สามตัว มีลูกไก่สี่ตัว รวมเป็นเจ็ดตัว จากโจทย์เดียวกัน เด็กในห้องมี 22 คน เราได้เรื่องราวจากเด็กๆ ไม่ซ้ำกัน 22 เรื่อง ที่ทำให้รู้ว่าเขาเข้าใจว่าการบวก หมายถึงอย่างนี้ ถ้าเป็นบ้านเราก็ต้องทำโจทย์เป็นสิบเป็นร้อยข้อ 3+4, 5+7 ทำไปเรื่อยๆ แต่มันเหนื่อยไง ไม่สนุกด้วย แต่พอเราเปิดกว้างให้เด็กได้คิด ได้เล่าเรื่องของตัวเอง มันดีและมีชีวิตชีวากว่าเยอะเลย มีคนหนึ่งเล่าว่า ฉันมีแผลที่แขนสามจุด และมีรอยจี้ที่ก้นสี่จุด เราได้ยินแบบนี้แล้วก็มองหน้ากับครูผู้สอน แล้วก็เรียก social worker มา เพราะคิดว่าเด็กน่าจะถูกทำร้าย จากโจทย์เลขข้อเดียวนี่แหละ เราถึงได้อยากให้เด็กมีพื้นที่ที่สามารถสื่อสารออกมาได้

มีเรื่องที่คนเขียนเสนอมาแล้วเราคิดว่าไม่ทำดีกว่าไหม?

มีค่ะ ที่จริงหลายเรื่องเป็นเรื่องที่ดี บางเรื่องเคยได้รางวัลนิทานเด็กมาแล้ว แต่เราและเพื่อนๆ กลุ่มวาดหวังรู้สึกว่ามันเป็นการเล่าเรื่องที่มีขาวมีดำเกินไป มีคนดี มีผู้ร้ายชัดมาก เราไม่อยากให้มีการตัดสินหรือถูกติดป้ายขนาดนั้น ก็เลยอาจจะไม่เหมาะกับวาดหวัง ณ วันนี้ เดี๋ยวนี้

หลายคนที่เราไปชวนมาเขียน เขาก็เขียนดี แต่มันอาจจะยังมีอะไรที่ต้องปรับ เรานึกถึงคนอ่านเป็นหลัก และเราก็ขอบคุณทุกคนที่สนใจ เต็มใจ ตั้งใจส่งเรื่องมาให้วาดหวังค่ะ เราในฐานะนักเขียนก็บอกกับสำนักพิมพ์หรือ บ.ก.อยู่เสมอว่าถ้าอยากให้ปรับแก้ไขอะไร บอกมาได้เต็มที่ เพราะสุดท้ายมันจะเป็นผลงานของพวกเราทุกคน เราอยากทำให้ดีที่สุด และเราไม่ได้อยู่ในประเทศร่ำรวย ที่มีระบบห้องสมุดที่เด็กหรือใครๆ ก็เข้าถึงหนังสือได้ คนไทยจะให้ลูกอ่านหนังสือสักเล่มพ่อแม่ต้องซื้อ เพราะฉะนั้นเราก็อยากทำให้มันดี น่าอ่าน และมีอะไรที่เชื่อมโยงกับเขา มีต้นฉบับหลายเรื่องที่คนเขียนส่งมาเป็นเรื่องที่ดีแต่อาจจะยังไม่เหมาะกับวาดหวังในวันนี้  แต่อาจจะเหมาะในวันหน้าก็ได้เพราะเราตั้งใจจะทำต่อไปเรื่อยๆ ถ้าคนอ่านยังสนับสนุนอยู่

ตอนเริ่มทำ เคยคิดเผื่อใจว่าจะถูกมองในแง่ลบบ้างไหม

ไม่เคยคิดเลยค่ะ คิดไม่ออกด้วย พวกเราคิดกันว่าทำเสร็จคนก็น่าจะชอบที่มีหนังสือใหม่ๆ ออกมา ตอนนั้นคิดแค่ว่าอยากทำให้เสร็จเป็นเล่มก่อนวันเกิด จิตร ภูมิศักดิ์ (25 กันยา) พอทำเสร็จก่อนหนึ่งอาทิตย์ก็ดีใจ แล้วก็ขายกันเงียบๆ ในเพจ มีคนสั่งซื้อวันละ 10-20 ชุด

ผ่านไปประมาณสิบวัน ไม่รู้เกิดอะไรขึ้น อยู่ๆ มีคนสั่งซื้อเข้ามาคืนเดียวเป็นพันคน ตอนนั้นเรายังไม่มีระบบอะไรเลย ต้องพิมพ์ตอบข้อความทีละคน ทีละคน จนต้องไปชวนเพื่อน ชวนคนวาดภาพ ให้มาช่วยกันรับออร์เดอร์หน่อย เราก็ถามคนที่มาสั่งซื้อว่าเกิดอะไรขึ้น เขาก็บอกว่าไม่รู้เหรอว่าหนังสือพวกเรากำลังโดนไล่บี้อยู่นะ เฮ้ย! เรางงมากเลย มาไล่บี้อะไร (หัวเราะ) เป็นสี่วันสี่คืนที่แทบไม่ได้หลับได้นอน เพราะคนสั่งซื้อเข้ามามาก สื่อก็ติดต่อมาขอสัมภาษณ์ สันติบาลก็มาเรียกเพื่อนเราไปกินกาแฟ คนที่มีชื่อเป็นคนเขียนคนวาดก็ต้องมาวุ่นวายไปด้วย เราตกใจมาก ไม่ได้เตรียมในมุมนี้ไว้เลย ไม่ได้คิดว่านิทานเล่มเล็กๆ บางๆ 8 เล่ม จะไปกวนประสาทใครได้ ไม่ได้คิดจะล้างสมองเด็กๆ หรือคนอ่านวัยใดทั้งสิ้น คิดถึงความเป็นจริงสิ ว่าขนาดผู้ใหญ่บอกให้เด็กว่าต้องกินข้าวนะ เด็กไม่อยากกิน เขาโยนทิ้ง เรายังทำอะไรไม่ได้เลยจริงไหม… คนที่บอกว่าเด็กล้างสมองได้นี่คงไม่ได้ใกล้ชิดกับเด็ก มีอคติ ดูถูกเด็ก และดูถูกพ่อแม่ของเด็กด้วย เพราะหนังสือเราไม่ได้ไปวางขายอยู่หน้าโรงเรียน หรือเป็นแบบเรียนบังคับให้เด็กอ่านและไม่ได้ขายตามร้านหนังสือทั่วไป คือพ่อแม่ของเด็กสนใจนิทานวาดหวัง จึงตั้งใจมาสั่งซื้อ เพราะอยากให้ลูกหลานได้อ่าน

คนที่นี่ (อิสราเอล) เห็นข่าว เขายังถามว่าเรื่องตลกหรือเปล่า เขาขำกันมาก เพราะหนังสือเราหน่อมแน้มสุดๆ อย่างเล่ม เด็กๆ มีความฝัน ญาติมิตรที่อิสราเอลหลายคนเอาไปใช้กับผู้สูงอายุ เล่นมองหาว่าน้องมะนาวข้าวปุ้น
อยู่ที่ไหน เขาว่าไม่เคยรู้จักเมืองไทยในแง่มุมศิลปะ หรือเคยเห็นผลงานของนักวาดไทยอย่างนี้มาก่อน แทบทุกคนชื่นชมกันมาก ว่าเนื้อหาดี รูปสวยมาก กระดาษอย่างดี ราคาไม่แพง น่าซื้อ น่าอ่าน น่าแปล และเผยแพร่ในวงกว้าง

เราอยากให้นิทานวาดหวังได้แปลเป็นภาษาต่างประเทศ เพราะเรื่องเป็นสากล หนังสือต้องได้เดินทาง เราถึงอยากให้เนื้อหาของหนังสือไทยกว้างได้มากกว่านี้ และมีโอกาสได้แปลออกไปบ้าง

ผลของการถูกเพ่งเล็ง เป็นที่จับตา หรือที่เรียกกันว่าถูกไล่บี้

ตอนหนังสือชุดแรกออกไป เรามีคลิปหรือฟีดแบ็กที่พ่อแม่ส่งมาให้ในเพจเยอะแยะเลยนะ ว่าลูกชอบหนังสือ พอถูกไล่บี้ปุ๊บเราก็ต้องมาลบคลิปพวกนี้ออก เพราะเราเป็นห่วงความปลอดภัยของครอบครัวเขา มันน่าเสียดายนะ มาทำให้เด็กกลัวการอ่าน แล้วเป็นการอ่านหนังสือที่ดีด้วย

ผ่านมาสองปี พิมพ์หนังสือมา 28 ปก ทั้งหมดแสนกว่าเล่มได้แล้ว มีเด็กไทยแสนคนโดนล้างสมองแล้วเหรอ ไม่มีใครเขายอมให้ล้างสมองกันง่ายๆ หรอก มันอาจจะทำได้ในยุคสมัยหนึ่ง หรือยุคสงครามเย็น แต่สมัยนี้ทำไม่ได้แล้ว เราแค่อยากให้เด็กแข็งแกร่ง ใฝ่รู้ ใฝ่เรียน และเลือกทางของตัวเอง

ยังมีความหวังกับหนังสือไทยอยู่

ค่ะ มีอยู่มากๆ หมอนคิดว่า ถ้าคนทำหนังสือคิดไปให้ไกลหรือทะลุกรอบอีกหน่อย แล้วก็อย่าจำกัดว่าเด็กควรรู้แค่ไหน เด็กเขาเลือกเองได้ หรืออย่างน้อยพ่อแม่ก็เลือกให้ลูกเขาได้ เราต้องเชื่อใจพ่อแม่ อย่าลิมิตเด็กให้รู้แค่นี้

ตอนเราเขียน ป๋องแป๋งอยากรู้ แล้วถามว่า มีจู๋ทำไม แรกๆ ถูกด่ามากเลย ทำไมล่ะ พูดคำว่าจู๋ในหนังสือเด็กไม่ได้เหรอ แล้วไม่ได้นำเสนออะไรที่แย่ เด็กผู้ชายทุกคนก็มีจู๋ แล้วมันก็เป็นไปตามพัฒนาการเด็ก เขาอยากรู้ หรืออีกเล่มชื่อ ป๋องแป๋งไม่ยอม คือสอนให้เด็กรู้ว่าถ้ามีคนมายืนเบียดเราบนรถเมล์ต้องทำยังไง หรือถ้าลุงข้างบ้านชวนไปในที่ลับ ต้องทำยังไง มันเป็นเรื่อง sexual harrasment นะ ทำไมถึงจะไม่พูดถึง เด็กไทยก็โดนกระทำทั้งร่างกายและจิตใจเยอะนะ

วันก่อนเศร้าใจมากที่เห็นข่าวเด็กสองขวบที่โดนตีด้วยถาดหลุม เรานึกอยากทำเรื่องนี้เลยนะ อยากทำแคมเปญให้มีกฎหมายออกมาเลยว่า ห้ามตีเด็กและห้ามทำร้ายร่างกายเด็กในทุกกรณี ไม่ว่าจะเป็นใคร ครู ผู้ปกครอง หรือพ่อแม่ ซึ่งอาจจะมีคนค้านว่าถ้าไม่ตีแล้วจะสอนกันยังไง มีอีกตั้งหลายวิธีที่จะสอนเด็ก คำว่า รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี นี่เลิกไปเถอะค่ะ เลิกไปเลย

มีคนชอบบอกว่า ตอนเด็กเราก็ถูกตีมานะ ถึงได้ดีขนาดนี้ เราก็อยากบอกว่าไม่ใช่นะ ถ้าเราไม่ถูกตี เชื่อไหมว่าเราจะมีวัยเด็กที่มีความสุขกว่านี้ แล้วเขาก็บอกว่า นิ้วมือคนเราไม่เท่ากัน ก็ใช่ แต่เวลาล้างมือเราต้องล้างทั้งห้านิ้ว ทาโลชั่นทั้งห้านิ้ว ใส่ถุงมือให้ความอบอุ่นก็ต้องใส่ครบทั้งห้านิ้ว เด็กทุกคนต้องได้รับการดูแลเท่ากัน ผู้ปกครองต้องมีสวัสดิการเท่ากัน คุณอย่าไปมองว่ามันเป็นกรรม นิ้วมือคนเรายังไม่เท่ากันเลย เราคาใจเรื่องนี้มาตั้งแต่เด็กๆ แล้ว

ตอนเป็นครูที่อเมริกา ครูเขาชอบเด็กที่ช่างถาม เรามีลูกสองคน เขาก็มีวิธีเรียนที่ไม่เหมือนกัน คนโตเป็นเด็กชอบอ่าน เขาอยากรู้อะไรก็ไปหาอ่าน แต่คนเล็กนี่เป็นเด็กช่างถาม ครูส่งรูปถ่ายในห้องเรียนมาให้จะมีแต่รูปเขายกมือถาม แล้วครูก็ชื่นชมเด็กที่กล้าถาม เพราะมันทำให้เพื่อนคนอื่นได้ความรู้ไปด้วย หรือถ้าครูไม่มีเวลาตอบทันที อาจจะแค่บอกว่า ขอโทษนะ เดี๋ยวครูตอบหลังจากนี้ได้ไหม ครูขอสอนให้จบก่อน เด็กก็รอได้ เพราะเขารู้ว่าเขาไปถามใหม่ได้

สอนเด็กที่นั่นสนุกมาก ตอนเราแนะนำตัวแล้วบอกว่ามาจากเมืองไทย ใครอยากรู้อะไรให้ยกมือถาม เด็กก็ยกมือถามกันใหญ่เลย ดีจัง เราเลยอยากทำหนังสือชุด เป็นสุขที่สงสัย เพราะเด็กจะได้กล้าถาม ไม่ใช่ถามแล้วถูกตี ถูกหักคะแนน ถูกปิดปาก ถูกขังคุก ถูกทำให้สูญหาย

ถ้าไม่นับที่ทำมาแล้ว ยังมีเรื่องอะไรที่อยากทำออกมาเป็นหนังสืออีก

อยากทำเรื่อง ‘วาดหวังพลังวิทย์’ เพราะเป็นคนชอบเรื่องวิทยาศาสตร์มากเลย ตอนเด็กๆ เราอยากรู้ทำไมบางพระจันทร์กลม บางวันพระจันทร์แหว่ง ถามผู้ใหญ่ก็โดนว่าเนอะ หรือ Fibonacci Sequence แพตเทิร์นจากธรรมชาติ เช่น ตาสับปะรด ลายก้นหอย เมล็ดทานตะวัน เขาค้นพบกันมาอย่างน้อยแปดร้อยกว่าปี แต่เด็กไทยยังไม่ค่อยรู้จักเรื่องนี้

หรือตอนที่มีข่าวเยาวชนหรือคนกราดยิงในเมืองไทย เราก็รู้สึกว่าเรื่องแบบนี้มาถึงเมืองไทยแล้วเหรอ เพราะตอนอยู่อเมริกา  ทุกโรงเรียนต้องมีการฝึกการซ้อมว่าถ้าไฟไหม้ต้องทำยังไง มีผู้ก่อการร้ายต้องทำยังไง เมืองไทยก็ต้องมีแล้วเหรอ  เราอยากทำหนังสือเด็กในเนื้อหา บ่ ฮัก บ่ ต้องทำร้าย หรือเรื่องสงคราม ความฝันถึงสันติภาพ คนอาจจะคิดว่ามันเป็นเรื่องในตะวันออกกลาง ฮามาส ปาเลสไตน์ กับอิสราเอล มันไกลตัว ซึ่งที่จริงไม่ใช่ ดูที่ชายแดนประเทศเรา สามจังหวัดภาคใต้ หรือบางกลอยก็ได้

อยากทำเรื่องนักกีฬาไทย ที่อเมริกามีวิชาหนึ่งสำหรับเด็ก ป. 4 ชื่อว่าฮีโร่ของฉัน ของไทยเรามีแต่ให้ท่องประวัติศาสตร์สมัยนั้นสมัยนี้ หรือถ้าอ่านหนังสือก็จะเจอกาลิเลโอ, หลุยส์ ปลาสเตอร์, ชาร์ล ดาร์วิน พอถามว่าแล้วฮีโร่ของไทยมีใครบ้าง เด็กๆ นึกไม่ออกเลย ตอนอยู่ประถม เราอ่านเจอคนหนึ่งชื่อ นายเลื่อน พงษ์โสภณ เป็นช่าง เป็นคนก่อตั้งโรงเรียนช่างกล เป็นช่างเครื่องบิน เป็นนักบิน เป็นคนประดิษฐ์คิดสามล้อถีบของไทย เราประทับใจมากหรือสมัยนี้ คนไทยเก่งๆ ที่น่าจะเป็นฮีโร่ เป็นแรงบันดาลใจให้เด็กๆ มีมากขึ้นมาก อย่างทีมวอลเล่ย์บอลหญิง, พี่เจ ชนาธิป, น้องเทนนิส นักกีฬาเทควันโด  นักกีฬาเหล่านี้เก่งมาก  แต่เราเห็นการนำเสนอแค่ตอนที่เขาทำสำเร็จ ชนะ ได้เหรียญ ได้ถ้วย หรือมีชื่อเสียงแล้ว ไม่ค่อยได้สื่อถึงแรงบันดาลใจ ความพยายาม ปัญหา อุปสรรค การฝึกซ้อม การให้กำลังใจกัน ฯลฯ วาดหวังอยากทำหนังสือสื่อในเรื่องเหล่านี้ค่ะ

 

ตอนนี้นิทานวาดหวังมีทั้งหมด 28 เล่ม สามารถเลือกซื้อเฉพาะเล่มได้นะคะ (ซื้อ 10 ขึ้นไป ราคาเล่มละไม่ถึง 82 บาท) ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ วาดหวังหนังสือ

สัมภาษณ์วันที่  12 พฤศจิกายน 2566

Sisata D.

Editor in Chief, ชอบเล่นกับลูกคนอื่นและอัพรูปหลานลงอินสตาแกรม

COMMENTS ARE OFF THIS POST