READING

ลูกอยากมีเพื่อน : เพื่อนสนิทจำเป็นสำหรับเด็กวัยอนุ...

ลูกอยากมีเพื่อน : เพื่อนสนิทจำเป็นสำหรับเด็กวัยอนุบาลจริงหรือ?

ลูกอยากมีเพื่อน

คุณพ่อคุณแม่ยังจำเพื่อนสนิทคนแรกในชีวิตได้ไหมคะ อาจจะเป็นเพื่อนข้างบ้านในวัยเด็ก หรือเพื่อนสมัยเรียนอนุบาล หรือไม่ก็อาจจะจำไม่ได้ขนาดนั้นถึงแม้เราอาจจะจดจำเพื่อนสนิทตอนเป็นเด็กเล็กแทบไม่ได้ แต่สำหรับเด็กๆ การมีเพื่อนสักคนให้ชวนกันเล่นสนุก แบ่งขนม หรือของเล่นด้วยกันก็เป็นเรื่องสำคัญเสมอ เมื่อถึงวัยเข้าโรงเรียน การที่ ลูกอยากมีเพื่อน จึงเป็นเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรมองข้าม

Janine Domingues นักจิตวิทยาคลินิกของ The Child อธิบายว่า ในช่วงวัย 3 ขวบ สมองของเด็กมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว มีการสร้างการเชื่อมต่อของเซลล์ประสาทมากมาย สมองของเด็กๆ กำลังจดจำ และบันทึกสิ่งที่ดี (และสิ่งที่เป็นบาดแผลในใจ) ไว้มากมาย บวกกับเป็นช่วงเวลาที่ ลูกอยากมีเพื่อน เพราะได้เริ่มไปโรงเรียน เริ่มพบเจอเพื่อนใหม่ คุณครูและคนอื่นๆ ที่นอกเหนือจากคนในครอบครัว เริ่มอยู่ห่างจากพ่อแม่ และได้อยู่ใช้เวลากับเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกันมากขึ้นการที่ลูกเลือกจะเล่นกับใครสักคน ย่อมหมายถึงเพื่อนคนนั้นทำให้ลูกรู้สึกดี อยู่ด้วยแล้วสนุก สบายใจ เป็นคนที่ลูกชอบที่สุด และมีอิทธิพลต่ออารมณ์และความรู้สึกของลูกต่อไปได้

นอกจากรับรู้และเข้าใจเมื่อ ลูกอยากมีเพื่อน แล้ว คุณพ่อคุณแม่อาจต้องลองทำความเข้าใจความหมายของคำว่าเพื่อนสนิทของลูกวัยอนุบาล เพื่อช่วยสนับสนุนและส่งเสริมให้ลูกกับเพื่อนมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อไป

1. เพื่อนสนิทวัยอนุบาล มักมีมากกว่าหนึ่งคน

needfriends_web_1

Michael Whitehead นักบำบัดเรื่องการแต่งงานและครอบครัวในรัฐไอดาโฮ ประเมินว่า โดยเฉลี่ยแล้ว เด็กส่วนใหญ่มักจะมีเพื่อน 7-9 คน ซึ่งเป็นคนที่ลูกได้เจอบ่อยๆ หรือทักทายกันเป็นประจำ แต่อาจจะมีเพียงไม่กี่คนในจำนวนนี้ ที่เล่นด้วยกันอย่างเข้าขาและเข้าอกเข้าใจ ขึ้นอยู่กับลักษณะนิสัยและการเข้าสังคมของลูกด้วย

2. เพื่อนสนิทของลูก เกิดขึ้นง่าย ผ่านการเล่นด้วยกัน ทะเลาะกัน และดีกัน

needfriends_web_2

Eileen Kennedy Moore นักจิตวิทยาเด็กและผู้เขียน หนังสือ Growing Friendships ระบุว่า เด็กเล็กสามารถสร้างมิตรภาพที่น่ารัก และมีเพื่อนรักได้ง่าย จากการเล่นด้วยกัน ที่เป็นทั้งการเล่นแบบแยกกันแต่อยู่ใกล้ๆ หรือเล่นแบบที่มีการโต้ตอบมากขึ้น การเล่นในลักษณะนี้ก็เพื่อสร้างมิตรภาพ ค้นหาเพื่อนรัก และรักษาเพื่อนสนิทไปในตัว

เพื่อนสนิทในความหมายของเด็กอนุบาล อาจหมายถึง การที่ลูกชอบเด็กคนหนึ่งมากกว่าเด็กคนอื่น คนที่เล่นดีๆ ด้วย รวมไปถึง คนที่มีน้ำใจชอบแบ่งปัน ก็กลายเป็นเพื่อนรัก ถึงขั้นอาจมีคำพูดประมาณว่า จะแต่งงานกับคนนี้และรักเพื่อนคนนี้ตลอดไป ส่วนอีกฝ่ายจะรู้สึกแบบเดียวกันหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับมิตรภาพที่เด็กๆ ต้องเข้าถึงด้วยตัวเอง

ในบางครั้ง ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนที่ดีที่สุดก็อาจสะดุดลงได้จากความโกรธเคือง แค่เพียงวางของเล่นไม่ตรงช่อง ผลักกันเล็กน้อย แล้วเผลอพูดขึ้นมาได้ว่า ฉันไม่รักเธอแล้ว เพื่อนไม่ใช่เพื่อนของฉัน หรือกลับมาเล่าให้คุณพ่อคุณแม่ฟังว่า วันนี้ไม่รักเพื่อนคนนี้แล้วเพราะเพื่อนไม่เล่นด้วย แต่ท้ายสุดก็ดีกัน และกลับไปเล่นกันเหมือนเดิม

3. การมีเพื่อนสักคนอยู่ใกล้ๆ ทำให้ลูกมีความมั่นใจมากขึ้น

needfriends_web_3

สำหรับเด็กวัยอนุบาล การรู้ว่าตัวเองมีเพื่อน เป็นที่ยอมรับจากเพื่อน หรือมีเพื่อนสักคนที่คอยอยู่ใกล้ๆ จะทำให้ลูกมีความมั่นใจในการทดลองทำสิ่งต่างๆ มากขึ้น มีความกล้าหาญมากขึ้น เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกัน เรียนรู้ที่จะแบ่งปัน พัฒนาทักษะทางด้านอารมณ์ ระหว่างการเล่นยังทำให้ลูกได้เป็นนักเจรจาต่อรอง (ที่นอกเหนือจากต่อรองกับคุณพ่อคุณแม่) และเรียนรู้ความเห็นอกเห็นใจ ในขณะเดียวกัน ก็สามารถได้เป็นตัวของตัวเองอย่างเต็มที่

มิตรภาพที่ดีในช่วงวัยอนุบาล ยังมีส่วนช่วยลดความเครียดหรือความวิตกกังวลในเด็กได้ และมีส่วนช่วยทำให้ลูกรู้สึกภาคภูมิใจในตัวเองมากขึ้นจากความสัมพันธ์เล็กๆ ที่แน่นแฟ้นนี้อีกด้วย

4. ทักษะชีวิตที่ลูกได้รับจากการมีเพื่อน

needfriends_web_4

Renata Klabacha, MA, LMFT นักบำบัดด้านการแต่งงานและครอบครัวในรัฐอิลลินอยส์ ระบุว่า มิตรภาพเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาทักษะชีวิต โดยเฉพาะในวัยเด็ก เพราะการมีเพื่อนรัก เพื่อนสนิท หรือเพื่อนข้างบ้านสักคน จะช่วยให้เด็กๆ รู้สึกดีกับตัวเอง ยิ่งมีเพื่อนที่ดี ก็อยากจะกลายเป็นเพื่อนที่ดีของคนอื่นด้วย

William Bukowski ศาสตราจารย์วิชาจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยคอนคอร์เดีย ระบุว่า หากอยากรู้ว่าในอนาคตเด็กคนหนึ่งจะเติบโตอย่างดี มีความเป็นอยู่ที่ดี ให้ดูมิตรภาพของลูกกับเพื่อนในวัยเด็ก หากลูกมีเพื่อนเล่น และได้เล่นกับเพื่อนบ่อยๆ ตั้งแต่ยังเล็ก มีแนวโน้วที่จะพัฒนาเป็นวัยรุ่น และผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดี และมีความสุขมากยิ่งขึ้น

ดังนั้น ลูกวัยอนุบาล (รวมถึงทุกช่วงวัย) จึงอยากจะเล่นกับเพื่อน อยากมีช่วงเวลาดีๆ กับเพื่อน หรือต้องการมีเพื่อนรักสักคน เพราะนอกจากจะทำให้ลูกรู้สึกมีความสุขและสนุกสนานได้อย่างเต็มที่แล้ว ระหว่างการเล่นกับเพื่อน ลูกยังได้พัฒนาทักษะชีวิตมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการเข้าสังคม การแก้ไขปัญหา การคิดวิเคราะห์ การปรับตัว และการควบคุมอารมณ์ และพฤติกรรมของตัวเอง รวมไปถึงการมีความทรงจำที่ดีในวัยเด็ก เกิดเป็นแหล่งขุมพลังใจไว้ใช้ยามเติบโตอีกด้วย

 

— อ่านบทความ: ลูกเข้ากับเพื่อนไม่ได้: 4 วิธีช่วยลูกปรับตัวเข้ากับเพื่อนใหม่
อ้างอิง
pbssocal.org
verywellfamily.com
thegardnerschool.com

Saranya A.

ศรัญญา อ่าวสมบัติกุล: คุณแม่มือใหม่ ที่มีความตั้งใจเลี้ยงลูกชายตัวน้อยด้วยการยึดโยงธรรมชาติ และความคิดสร้างสรรค์เข้าด้วยกัน คุณแม่คนนี้หลงรักและทำงานด้านการเขียนมากว่า 12 ปี ตอนนี้มีความฝันอยากเป็นนักวาดนิทานเด็ก

COMMENTS ARE OFF THIS POST