READING

ลูกเข้ากับเพื่อนไม่ได้: 4 วิธีช่วยลูกปรับตัวเข้ากั...

ลูกเข้ากับเพื่อนไม่ได้: 4 วิธีช่วยลูกปรับตัวเข้ากับเพื่อนใหม่

ลูกเข้ากับเพื่อนไม่ได้

ตอนลูกยังเล็ก พ่อแม่คือเพื่อนเล่นที่ดีที่สุดสำหรับลูก แต่เมื่อถึงวันที่ลูกเติบโตถึงวัยเข้าโรงเรียน สังคมของลูกก็ใหญ่โตและกว้างขวางมากขึ้น

แต่สิ่งที่ทำให้คุณพ่อคุณแม่ต้องกังวลใจก็คือ ปัญหา ลูกเข้ากับเพื่อนไม่ได้ เพราะวัยอนุบาล คือช่วงวัยแห่งการเรียนรู้ทักษะทางสังคม เด็กบางคนอาจได้รับการตอบรับที่ดีจากเพื่อน แต่เด็กบางคนอาจไม่เป็นที่รักหรือไม่ได้รับการยอมรับเท่าที่ควร

หาก ลูกเข้ากับเพื่อนไม่ได้ หรือลูกถูกเพื่อนปฏิเสธ ไม่เล่นด้วย ไม่ให้เข้ากลุ่ม หรือแม้แต่การถูกเพื่อนละเลยบ่อยๆ อาจทำให้ลูกรู้สึกขาดความมั่นใจในตัวเอง รู้สึกแปลกแยก และ ยังก่อให้ความเครียดซึ่งอาจนำไปสู่การมีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง ไม่ชอบเข้าสังคม และสะสมเป็นปัญหาสุขภาพจิตต่อไป

1. เตรียมการเข้าสังคมให้ลูกตั้งแต่เนิ่นๆ

prosocialskill_web_1

ก่อนเข้าโรงเรียนลูกอาจไม่ค่อยได้เล่นกับเพื่อนวัยเดียวกันมาก่อน เมื่อเข้าโรงเรียน หรือต้องอยู่กับคนแปลกหน้า ลูกจึงไม่รู้วิธีการเข้าสังคม หรือการเข้าหาผู้อื่นที่เหมาะสม เช่น อยากเล่นกับเพื่อนแต่ใช้วิธีแย่งของหรือแกล้งเพื่อนจนทำให้เพื่อนโกรธและไม่อยากเล่นด้วยนั่นเองเพราะฉะนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรสอนให้ลูกเตรียมตัวเข้าสังคม เช่นพาลูกไปเล่นกับเพื่อนวัยเดียวกันบ่อยๆ หรือหาโอกาสให้ลูกได้เข้าร่วมกิจกรรมที่มีเด็กวัยเดียวกันบ่อยๆ เพื่อให้ลูกเรียนรู้การเข้าหาและปรับตัวเข้ากับคนอื่นได้มากขึ้น

2. ให้ลูกได้เล่าและระบายความรู้สึกของตัวเองออกมา

prosocialskill_web_2

ถ้าลูกมีปัญหากับเพื่อน เข้ากับเพื่อนไม่ได้ หรือถูกเพื่อนโกรธ สิ่งแรกที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำคือตั้งสติ ใจเย็น ไม่โวยวาย ไม่เอาอารมณ์ของตนเองเป็นที่ตั้ง ไม่ตำหนิหรือต่อว่าเพื่อนลูกในแง่ร้าย แต่ควรให้ลูกเล่าเหตุการณ์และค่อยๆระบายความรู้สึกของตัวเองออกมา แล้วค่อยช่วยกันถึงพิจารณาหาสาเหตุจากพฤติกรรมของลูกว่าการที่ลูกเข้ากับเพื่อนไม่ได้เป็นเพราะอะไรกันแน่

และเมื่อพบสาเหตุแล้ว คุณพ่อคุณแม่จึงค่อยสอนการเข้าหาผู้อื่นถูกวิธีให้ลูกต่อไปนั่นเองค่ะ

3. คุณพ่อคุณแม่เป็นผู้สังเกตุการณ์

prosocialskill_web_3

วิธีการสอนลูกของแต่ละครอบครัวย่อมแตกต่างกันไป จึงเป็นเรื่องปกติที่เด็กแต่ละคนที่มาจากคนละครอบครัวย่อมมีพฤติกรรมและลักษณะนิสัยที่หลากหลายและแตกต่างกันจนเกิดเรื่องขัดใจและกระทบกระทั่งกันได้เป็นธรรมดา จึงเป็นกลายเป็นหน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่ที่ควรหมั่นสังเกตพฤติกรรมของลูก เช่น หมั่นถามลูกว่าเพื่อนที่โรงเรียนเป็นอย่างไร วันนี้เล่นอะไรด้วยกันบ้าง เพราะบางครั้งความกระทบระหว่างเด็กๆ อาจเป็นเพราะว่าลูกยังไม่มีทักษะการแก้ปัญหาที่ดีพอ ดังนั้น ควรเป็นผู้คุณพ่อคุณแม่สังเกตการณ์และทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาคอยแนะนำวิธีแก้ไขปัญหาให้ลูกในเวลาที่เหมาะสมจะดีกว่าการเข้าไปจัดการทุกอย่างให้ลูกมากเกินไปค่ะ

4. สอนลูกให้ยอมรับในความเป็นจริง

prosocialskill_web_4

เด็กส่วนใหญ่มักเลือกเข้าหาคนที่มีลักษณะเดียวกัน เช่น เด็กผู้ชายก็จะเล่นกับเด็กผู้ชายด้วยกัน เด็กผู้หญิงก็จะเล่นกับเด็กผู้หญิงด้วยกัน หรือเลือกเล่นกับคนที่ชอบเล่นอะไรเหมือนกันมากกว่า ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่อาจบอกให้ลูกลองสังเกตว่าเพราะอะไรเพื่อนถึงไม่ยอมเล่นกับเรา เช่น ลูกอาจกำลังเล่นของเล่นที่เพื่อนไม่ชอบ หรือเล่นด้วยความรุนแรง หรือเล่นเสียงดังเกินไป หลังจากนั้นค่อยอธิบายให้ลูกฟังว่าเราไม่สามารถบังคับให้ใครมาเล่นหรืออยากเป็นเพื่อนกับเราได้ แต่ให้ลูกเริ่มจากการมองหาเพื่อนที่มีความสนใจเหมือนกันหรือเล่นอะไรคล้ายๆ กันจะเล่นด้วยกันได้ดีกว่า

อ้างอิง
หมอเสาวภา เลี้ยงลูกเชิงบวก
theAsianparent

Supinya R.

ชอบอ่านนิยายสยองขวัญ ชอบเขียนไดอารี่ และเป็นคุณแม่จำเป็นในบางเวลา :-)

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST