READING

ให้รางวัลลูก : เทคนิคการให้ ‘รางวัลเด็กดี’ ที่ได้ผ...

ให้รางวัลลูก : เทคนิคการให้ ‘รางวัลเด็กดี’ ที่ได้ผลตามช่วงวัย

ให้รางวัลลูก

สำหรับเด็กปฐมวัย กำลังใจเชิงบวกจากคุณพ่อคุณแม่ เช่น การกล่าวคำชมเชย โอบกอด บอกรัก และให้รางวัล จะช่วยให้ลูกเรียนรู้ เปลี่ยนพฤติกรรม และเลือกทำสิ่งต่างๆ ได้ดีขึ้น

Katarzyna Bisaga จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ผู้ช่วยศาสตราจารย์คลินิกในแผนกจิตเวชศาสตร์เด็กมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ได้พูดถึงการ ให้รางวัลลูก เอาไว้ว่า การเน้นย้ำพฤติกรรมเชิงบวกด้วยรางวัลเด็กดี จะช่วยให้ลูกเกิดความภาคภูมิใจในตัวเอง เมื่อลูกทำพฤติกรรมเชิงบวกและได้รับคำชมเชยอย่างเหมาะสม และต่อเนื่อง ย่อมมีแนวโน้มที่จะทำพฤติกรรมที่ดีซ้ำอีกในอนาคต

การ ให้รางวัลลูก หรือรางวัลเด็กดี สามารถใช้ได้กับลูกตั้งแต่ก่อนวัยเรียน จนถึงเด็กโต แต่จะได้ผลดียิ่งขึ้น หากคุณพ่อคุณแม่เลือกใช้วิธีที่เหมาะสมกับช่วงวัยของลูก ดังต่อไปนี้ค่ะ

1. เด็กก่อนวัยเรียน : สติกเกอร์เด็กดี

RewardforKids_web_1

Katarzyna Bisaga จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ผู้ช่วยศาสตราจารย์คลินิกในแผนกจิตเวชศาสตร์เด็กมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย แนะนำให้ใช้ ‘สติกเกอร์’ เป็นตัวกำหนดรางวัลเด็กดี เช่น ลูกจะได้รับสติกเกอร์ 1 ชิ้น หลังจากกินข้าวเองเรียบร้อย และจะได้สติกเกอร์ 5 ชิ้น ถ้าลูกเข้าห้องน้ำเองได้โดยไม่ต้องใส่ผ้าอ้อมสำเร็จรูป แล้วติดสติกเกอร์นั้นไว้บนแผนภูมิภาพที่ให้ลูกเห็นชัดเจน

เคล็ดลับที่น่าสนใจก็คือ ควรเลือกสติกเกอร์ลวดลายที่สามารถดึงดูดความสนใจของลูกได้ และกติการในการสะสมสติกเกอร์เพื่อแลกรางวัลจะต้องไม่ยืดเยื้อจนเกินไป เพราะลูกอาจจะท้อแท้และหมดความสนใจก่อนที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตามเป้าหมายได้

ที่สำคัญคุณพ่อคุณแม่จะต้องอธิบายหลักการของการให้รางวัลเด็กดีให้ลูกฟัง เพื่อส่งเสริมให้ลูกมีวินัยที่ดีต่อเนื่องแม้ว่ารางวัลเด็กดีจะจบลงไปแล้ว แต่การเป็นเด็กดีของพ่อแม่จะทำให้ลูกได้รับรางวัลในรูปแบบอื่นอย่างแน่นอน

2. วัยอนุบาล–ประถมต้น : คะแนนและคูปองเด็กดี

RewardforKids_web_2

Anisha Patel-Dunn จิตแพทย์และหัวหน้าเจ้าหน้าที่การแพทย์ในเมืองสกอตส์เดล รัฐแอริโซนา ให้ลองใช้ ‘เครื่องหมายถูก’ หรือ ‘สัญลักษณ์’ เช่น เหรียญทอง รวมทั้งคะแนนที่เป็นตัวเลข เพื่อสร้างแรงจูงใจใหม่ๆ ให้กับลูก

ลูกวัยอนุบาล จะตื่นเต้นและอยากทำเรื่องดีๆ มากขึ้น เมื่อเห็นคะแนนที่เพิ่มขึ้นในแต่ละวัน ยิ่งเมื่อครบกำหนดสามารถนำคะแนนนั้น ไปรับรางวัลแบบเฉพาะเจาะจงได้ เช่น ครบ 30 คะแนนได้ไปเที่ยวสวนสัตว์ ได้คูปองเพิ่มเวลาเล่นเกมเพิ่มขึ้นอีกครึ่งชั่วโมง หรือนำมาแลกสิ่งของที่ลูกอยากได้ต่อไป

ส่วนเด็กประถม คุณพ่อคุณแม่สามารถยืดระยะเวลาการสะสมคะแนนให้ยาวนานขึ้น เป็นรายสัปดาห์ และรายเดือน เพื่อจูงใจให้ลูกทำตามเป้าหมายให้ได้อย่างจริงจัง จนเป็นนิสัย เช่น ทุก 20 คะแนน จะได้คูปองแลกชั่วโมงพิเศษที่ลูกเลือกได้ว่า อยากทำอะไร อยากไปที่ไหน และหากทำไปสะสมคะแนนไปเรื่อยๆ จนครบหนึ่งเดือน ลูกจะได้รับอะไร ก็ขึ้นอยู่กับคุณพ่อคุณแม่และลูกจะเป็นผู้กำหนดเป้าหมายเหล่านี้ร่วมกัน

และหากลูกทำผิดพลาด คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรใช้วิธีหักคะแนนที่ลูกทำมา แต่ควรใช้การลงโทษที่กำหนดและตกลงกันไว้ล่วงหน้าแทน เช่น ทำงานบ้านเพิ่มขึ้น หรือต้องใช้เวลามากขึ้น เพื่อจะได้รางวัลชิ้นเดิม หรือได้รับเวลาพิเศษสำหรับเล่นเกมเพียงครึ่งเดียว เพื่อให้ลูกเรียนรู้ความรับผิดชอบต่อการกระทำของตัวเอง

3. เพิ่มแรงจูงใจ ด้วยรางวัลที่มีความหมายต่อลูก

RewardforKids_web_3

Kate Eshleman นักจิตวิทยาเด็กจาก Cleveland Clinic Children’s ระบุว่า รางวัลเด็กดี เป็นระบบเพิ่มแรงจูงใจในการทำบางสิ่งให้ลูก กระตุ้นให้ลูกสามารถทำงานหรือปรับพฤติกรรมให้ได้จนสำเร็จ ซึ่งรวมไปถึงการสร้างความเชี่ยวชาญบางอย่างให้กับลูกไปในตัว

แต่รางวัลนั้นจะต้องมีความหมายกับลูก และเพื่อให้ลูกเต็มใจที่ปฏิบัติตามและได้ผลลัพธ์ปลายทางที่ดี ควรให้ลูกมีส่วนร่วมในการกำหนดรางวัล และแนวทางการใช้ระบบรางวัลนี้ร่วมกับคุณพ่อคุณแม่เสมอ

4. อัปเลเวลคะแนนเด็กดี แบบไม่ต้องมีรางวัล

RewardforKids_web_4

Brittany Schaffner หัวหน้างานการศึกษาภาวะวิกฤตของ Behavioral Health Pavilion ที่ Nationwide Children’s Hospital ระบุว่า รางวัลเด็กดีจะได้ผลดีที่สุด คุณพ่อคุณแม่จะต้องมีใช้วิธีดังต่อไปนี้ อย่างแรกกำหนดพฤติกรรมที่สิ่งอยากให้ลูกเรียนรู้ ตั้งเป้าหมายตามจริง อดทนรอคอยและให้เวลาลูก ใช้แนวทางสอนที่กระชับและชัดเจน กล่าวคำชมเชยและลงมือทำบ่อยๆ สิ่งสำคัญที่สุดคือ ปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอและหนักแน่น

นอกจากนั้น ยังสามารถใช้วิธี อัปเลเวลคะแนนความดี สำหรับงานที่ยากหรือสำคัญสำหรับลูก เช่น รับคะแนนเพิ่มเมื่อลูกควบคุมความโกรธได้ดี

และไม่ว่างานจะยากหรือง่ายแค่ไหน ทุกอย่างย่อมต้องใช้เวลาและความพยายาม การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของลูกก็เช่นกัน การให้รางวัลลูกจึงต้องมีความชัดเจน และคงเส้นคงวา ที่สำคัญคุณพ่อคุณแม่จะต้องหนักแน่น อยู่เคียงข้าง และเฝ้ามองสิ่งที่ลูกกำลังเรียนรู้ เพื่อให้การให้รางวัลเป็นการปรับพฤติกรรมเชิงบวก ไม่ใช่เป็นการติดสินบน หรือสอนให้ลูกทำเพราะอยากได้รางวัลตอบแทน

แต่ทั้งนี้ยังมีรางวัลอีกรูปแบบหนึ่ง หรือที่เรียกว่ารางวัลทางสังคม (Social Rewards) หมายถึง คุณพ่อคุณแม่สามารถให้รางวัลลูกเป็นการแสดงความรัก การกอด หรือหอมแก้ม โดยไม่จำเป็นต้องสิ่งของเสมอไปรวมถึงการกล่าวคำชมเชยที่เฉพาะเจาะจง เช่น วันนี้ลูกเป็นผู้ช่วยที่ยอดเยี่ยมมาก หรือลูกเก่งมากที่เล่นเงียบๆ ระหว่างที่แม่กำลังคุยธุระได้

หรือการให้รางวัลเป็นกิจกรรมต่างๆ ที่ไม่ได้วัดด้วยมูลค่าแต่มีคุณค่าทางจิตใจ เช่น ให้เวลาเล่นกับลูกทั้งวัน ได้ไปสวนสัตว์เต็มวัน กิจกรรมพิเศษที่สร้างความทรงจำที่ดีให้กับลูก สิ่งเหล่านี้คือ รางวัลชิ้นใหญ่ที่จะสามารถสร้างความประทับใจและส่งเสริมให้ลูกทำพฤติกรรมที่ดี มีความคิดที่เหมาะสมตามวัย และเลือกทำสิ่งดีๆ ได้ด้วยตัวเอง

 

— อ่านบทความ: 6 ทริกสำคัญที่จะสอนให้ลูกเป็นเด็กดี
อ้างอิง
parents
verywellfamily
cdc.gov

Saranya A.

ศรัญญา อ่าวสมบัติกุล: คุณแม่มือใหม่ ที่มีความตั้งใจเลี้ยงลูกชายตัวน้อยด้วยการยึดโยงธรรมชาติ และความคิดสร้างสรรค์เข้าด้วยกัน คุณแม่คนนี้หลงรักและทำงานด้านการเขียนมากว่า 12 ปี ตอนนี้มีความฝันอยากเป็นนักวาดนิทานเด็ก

COMMENTS ARE OFF THIS POST